จับโกหกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

drinks-2

 

ธรรมชาติคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน บ้างสูงต่ำดำขาว สั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์อีกนั่นแหละที่มักอยากได้ อยากมี และอยากเป็น ในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้มี…ไม่ได้เป็น

รู้ทั้งรู้ว่าคนเราเกิดมาไม่ได้สมบูรณ์เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง แต่ใครๆ ก็ยังอยากสวย หล่อ เด่น เก่ง ฉลาด จุดนี้เองที่เป็นช่องโหว่ให้บรรดาพ่อค้าหัวใสสบโอกาสแสวงหาประโยชน์จากกิเลสของคน สร้างช่องทางทำเงินด้วยการผลิตสินค้าลวงโลกนานาชนิดเพื่อตอบสนองความต้องการและความไม่รู้เท่าทันของผู้คน

เท่าที่เห็นและได้ยินได้ฟังกันบ่อยที่สุดทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ คงหนีไม่พ้น ‘เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ’ ประเภทต่างๆ ที่อวดอ้างสรรพคุณสุดแสนพิสดาร มอมเมาให้คล้อยตาม จนแทบอยากจะกดโทรศัพท์สั่งซื้อบัดเดี๋ยวนั้น

ด้วยอิทธิพลของโฆษณาและเทคนิดการขายอันแพรวพราว บางครั้งอาจทำให้เราเคลิบเคลิ้มจนลืมนึกไปว่า ถ้อยคำที่พรั่งพรูจากปากของบรรดานักขายเหล่านั้นเป็นจริงหรือลวง และสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในผลิตภัณฑ์ที่ว่านั้นเป็น ‘คุณ’ หรือเป็น ‘โทษ’ ต่อผู้บริโภคกันแน่

 

+ รู้นะว่าหลอก

ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่รู้จบ ทำให้สินค้าที่ประเดประดังออกมามีมากหลาย เพื่อสนองตลาดอันกว้างใหญ่ หากจำแนกแยกแยะสินค้าประเภทเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เข้าข่ายเฝ้าระวังและน่าจับตา อาจแบ่งได้กว้างๆ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย เครื่องดื่มบำรุงสมอง และเครื่องดื่มเสริมความงาม ซึ่งพอจะชำแหละลากไส้ออกมาได้ ดังนี้

 

nest-1

1. เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย

ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มักหากินอยู่บนความทุกข์ของผู้คน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ หรือแม้แต่ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ต่างก็มักมีความหวังว่าจะได้ยาดีมารักษาให้หายขาด ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จึงแฝงตัวอยู่ในคราบสมุนไพรบ้าง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบ้าง บางยี่ห้ออวดอ้างถึงขั้นว่า มีคุณค่าเทียบเท่าอาหารหลัก 5 หมู่ สามารถทดแทนสารอาหารที่ผู้บริโภคอาจได้ไม่ครบจากอาหารมื้อหลัก

กรณีที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อหลายปีก่อน เช่น เครื่องดื่มผสม ‘รังนก’ สำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งที่ถูกตรวจพิสูจน์แล้วว่า มีส่วนผสมของรังนกแห้งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับโฆษณาชวนเชื่อว่ามีรังนกแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการจงใจล่อหลอกให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนักวิชาการตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการของเครื่องดื่มรังนกก็พบข้อเท็จจริงที่ว่า รังนก 1 ขวด ให้ปริมาณพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟอง และยังให้โปรตีนเท่ากับถั่วลิสงเพียง 2 เมล็ดเท่านั้น สุดท้ายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องสั่งระงับการโฆษณาที่มีข้อความ ‘รังนกแท้ 100 เปอร์เซ็นต์’ เพราะสร้างความสับสนแก่ผู้บริโภค

อีกหนึ่งตัวอย่างของเครื่องดื่มประเภทนี้ เช่น การเติมใยอาหาร เน้นเรื่องระบบขับถ่ายสำหรับผู้ที่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริง จากการสำรวจข้อมูลของเครื่องดื่มประเภทนี้ในท้องตลาดโดยพิจารณาจากรายละเอียดที่ระบุไว้ในฉลากจะพบว่า มีการเติมใยอาหารในเครื่องดื่มเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าในเครื่องดื่มที่มีปริมาณ 100 มิลลิลิตร จะมีใยอาหารอยู่เพียง 1 กรัมเท่านั้น ขณะที่ร่างกายต้องการใยอาหารวันละ 25 กรัม

ดังนั้น ปริมาณใยอาหารในเครื่องดื่มจึงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นแต่อย่างใด และหากต้องการใยอาหารให้ครบ 25 กรัม จะต้องบริโภคมากถึง 25 ขวด ซึ่งท้ายที่สุดอาจให้โทษต่อร่างกาย เพราะอาจได้รับส่วนผสมอื่นๆ เกินขนาด เช่น น้ำตาล หรือสารสังเคราะห์อื่นอีกหลายชนิด ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้ง่ายและดีที่สุดคือ การดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีกากใยและประโยชน์ต่อการขับถ่ายมากขึ้น ซึ่งก็คืออาหารตามธรรมชาตินี่เอง รวมถึงฝึกขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร แทนที่จะสิ้นเปลืองเงินทองไปกับเครื่องดื่มปาหี่

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มประเภทที่เติมสาร Co-Q 10 (Coenzyme Q 10) ไคนิทิน (Chinitine) กลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งในความเป็นจริงการเติมสารเหล่านี้ในเครื่องดื่ม ไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดผลดีต่อร่างกายตามคำโฆษณา ที่สำคัญสารเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ หากบริโภคในชีวิตประจำวันครบ 5 หมู่ ย่อมได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย

ส่วนเครื่องดื่มบำรุงร่างกายที่อ้างว่าสกัดจากสมุนไพร ในทางปฏิบัติสามารถโฆษณาได้ แต่หากเมื่อใดที่โฆษณาสรรพคุณในทำนองว่าใช้บำบัดรักษาโรคได้ เช่น แก้เบาหวาน ความดัน ย่อมเข้าข่ายผิดกฎหมายโดยทันที เพราะเครื่องดื่มนั้นจัดอยู่ในประเภทอาหาร มิใช่ยารักษาโรค หรือที่ร้ายกว่านั้นอาจมีการเติมสารสเตียรอยด์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

drinks-4

2. เครื่องดื่มบำรุงสมอง

เครื่องดื่มประเภทนี้มักอวดอ้างสรรพคุณว่ามีส่วนผสมของสารประกอบที่ช่วยบำรุงสมอง ดื่มแล้วฉลาด ความจำดี เรียนรู้เร็ว เพื่อชักจูงให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาหรือคนวัยทำงานหลงเชื่อด้วยมายาคติ โดยมี ‘เปปไทด์’ (Peptide) กรดอะมิโน และวิตามินต่างๆ เป็นตัวเอกชูโรงของผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้

ในความเป็นจริง เปปไทด์ก็คือโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลสั้น กล่าวคือ เมื่อกรดอะมิโน 2 ตัวมาเรียงกันจะทำให้เกิดเป็นเปปไทด์ ซึ่งร่างกายย่อยหรือดูดซึมได้ง่ายกว่าโปรตีนที่มีโมเลกุลยาว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเปปไทด์จะช่วยให้มนุษย์ฉลาดขึ้น เพียงแต่อาจทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งการหยิบข้อมูลนี้มาใช้ในการโฆษณาจึงมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความคาดหวัง เพราะที่จริงแล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดความจำดีย่อมมาจากการฝึกฝน สร้างทักษะอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือไม่มีเครื่องดื่มชนิดใดที่จะเปลี่ยนแปลงสมองของคนให้ฉลาดขึ้นได้ในทันที

ความจริงอีกข้อหนึ่ง ลักษณะโครงสร้างของโมเลกุลโปรตีนที่มีขนาดสั้นจะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการย่อยอาหารตามปกติ ซึ่งอาหารตามธรรมชาติที่เรารับประทานเข้าไปจะค่อยๆ ถูกย่อยสลายจนเหลือเป็นโมเลกุลที่สั้นและสามารถดูดซึมไปหล่อเลี้ยงร่างกายในที่สุด ไม่จำเป็นต้องหวังที่จะฉลาดทางลัดจากเครื่องดื่มประเภทที่ว่านี้

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ เครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อยังโหมประโคมด้วยว่า มีส่วนผสมของ ‘วิตามินบี 12’ พร้อมบรรยายสรรพคุณสร้างภาพให้ผู้คนจดจำว่า ดื่มแล้วจะฉลาดหัวไว แต่สุดท้ายผู้บริโภคก็หัวไม่ไวเท่ากับพ่อค้าเจ้าของผลิตภัณฑ์ และตกเป็นเหยื่อโฆษณาในที่สุด ทั้งที่จริงแล้ววิตามินบี 12 มีอยู่ทั่วไปในอาหารประเภทตับ นม ไข่ และเนย มีส่วนช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยในการทำงานของระบบประสาท โดยร่างกายคนเราต้องการเพียงวันละ 2.4 ไมโครกรัม (ug) เท่านั้น

 

drinks-3

 

3. เครื่องดื่มเสริมความงาม

เครื่องดื่มจำพวกนี้มีจุดขายอยู่ที่ว่า เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะทำให้ผู้ดื่มหน้าเด้งเต่งตึง ใสเนียน ผิวพรรณเปล่งปลั่งเหมือนมีออร่า ช่วยชะลอความแก่ ต่อต้านการเหี่ยวย่น ด้วยสารมหัศจรรย์ที่ชื่อ ‘คอลลาเจน’ (Collagen)

ในความเป็นจริง คอลลาเจนก็คือโปรตีนที่อยู่ในร่างกายของเราในสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 โดยผิวหนังของเราจะมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบหลักถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้ผิวหนังเรียบตึง ไม่หย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก แต่เมื่อคนเราอายุมากขึ้นตามสภาพ ผิวพรรณก็ย่อมค่อยๆ เหี่ยวย่นตามกลไกธรรมชาติ เนื่องจากประสิทธิภาพของคอลลาเจนทำงานได้น้อยลง

แม้จะคิดฝืนกฎธรรมชาติด้วยการพึ่งพาเครื่องดื่มผสมคอลลาเจน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะส่งต่อคอลลาเจนทั้งหมดไปยังผิวหนัง ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างความเต่งตึงชุ่มชื่นให้กับผิวหนังได้ดีที่สุดก็คือ น้ำเปล่าดีๆ นี่เอง รวมทั้งการรับประทานให้ครบหมวดหมู่ ออกกำลังอย่างเหมาะสม

ที่สำคัญหญิงสาวทั้งหลายควรท่องคาถาไว้ในใจว่า ผู้หญิงเรานั้นควรสวยจากข้างใน อันหมายถึงสวยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะต่อให้กรอกคอลลาเจนลงคอเป็นแกลลอนก็คงไม่สามารถทำให้สวยค้างฟ้าได้

 

nest-2

 

+ จับให้ได้ ไล่ให้ทัน

สำหรับข้อคิดคำเตือนที่ประชาชนผู้บริโภคควรรู้เท่าทันโฆษณาปลิ้นปล้อนของสินค้าจำพวกนี้ ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อสังเกตไว้ว่า การเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญ ตัวผู้บริโภคเองควรตระหนักว่าสารแต่งเติมต่างๆ ที่ใส่ลงไปในเครื่องดื่มดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากน้อยเพียงใด

กล่าวโดยสรุปคือ แม้ว่าในเครื่องดื่มจะมีสารประกอบตามคำโฆษณาอยู่จริง แต่ปริมาณที่ใส่ลงไปอาจมิใช่ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อีกทั้งกระบวนภายในร่างกายเมื่อได้รับสารเสริมเข้าไปแล้ว อาจไม่ได้ก่อปฏิกิริยาโดยตรงกับร่างกายทันทีสมดังที่ผู้ขายกล่าวอ้างไว้

ผศ.ดร.วันทนีย์ ย้ำว่า แม้เครื่องดื่มเหล่านั้นจะมีเครื่องหมาย อย. ประดับไว้บนผลิตภัณฑ์ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังคงเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. เป็นการการันตีว่า อย. อนุญาตให้รับประทานได้หรือให้โฆษณาได้ แม้กระทั่งเข้าใจว่า อย. รับประกันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีสรรพคุณดีจริงตามคำโฆษณา

“อันที่จริงเครื่องหมาย อย. บนผลิตภัณฑ์ เป็นการแสดงว่า กระบวนการผลิตสารอาหารหรืออาหารนั้นมีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ขณะเดียวกัน อย. ก็อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์สามารถระบุข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสารอาหาร ซึ่งแตกต่างจากการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) เช่น มีผลทำให้สวยขึ้น ฉลาดขึ้น ซึ่งในประเทศไทย อย. ยังไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างในลักษณะนั้น”

เช่นเดียวกัน ‘ฉลากโภชนาการ’ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญ เนื่องจากฉลากดังกล่าวจะมีรายละเอียดข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีปริมาณสารอาหารเท่าใด และคิดเป็นร้อยละเท่าใดที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งผู้บริโภคสามารถประเมินความต้องการสารอาหารตามความเหมาะสมของตนเองได้

ผศ.ดร.วันทนีย์ บอกอีกว่า กรณีที่มีการอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการโฆษณา มีข้อควรสังเกตคือ ข้อมูลที่ได้นั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด มีการศึกษาวิจัยในรูปแบบที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งบางขั้นตอนอาจยากเกินไปที่ผู้บริโภคจะสืบเสาะค้นหาความจริง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้คือ การสอบถามจากบุคลากรด้านสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานของโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพต่างๆ จะมีนักโภชนาการที่สามารถช่วยให้ความรู้และข้อแนะนำต่างๆ ได้

คำเตือนครั้งสุดท้าย ก่อนที่ผู้บริโภคจะยอมควักสตางค์อออกจากกระเป๋า ควรบวกลบคูณหารให้ดีว่า เงินที่จ่ายออกไปเพื่อซื้อเครื่องดื่มจำพวกนี้ เมื่อเทียบกับคุณค่าทางโภชนาการแล้วคุ้มหรือไม่กับราคาที่ต้องจ่าย เพราะสารอาหารที่ร่างกายเราต้องการ ทุกอย่างล้วนมีอยู่ครบถ้วนในธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเสริมเติมแต่ง

เช่นนี้แล้วจะยอมถูกหลอกอยู่อีกทำไม?

 

สนับสนุนโดย

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า