ข้อมูลเรา ผลประโยชน์เฟซบุ๊ค

SocialMedia-2

 

หากได้ยินว่าใครกำลังพูดถึงประเด็นสิทธิบัตรและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อาจจะรู้สึกไกลตัวจนไม่ค่อยอยากให้ความสนใจกันสักเท่าไหร่ หลายคนรีบปิดประตูแล้วบอกปัดด้วยเหตุผลว่า มันเข้าใจยาก

แต่ถ้ากำลังจะบอกว่า เฟซบุ๊คจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถรวบรวมข้อมูล profile ส่วนตัวทั้งหลายของเราเพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลที่จะเลือกส่งโฆษณา ‘โดนๆ’ ที่เหมาะกับเราให้เราเห็นมากขึ้น หรือแม้แต่การโฆษณาเชิงรุกที่จะโผล่ขึ้นมาบน Feed ที่หน้าวอลล์ของเรามากขึ้นนับจากนี้

เริ่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นบ้างแล้วหรือยัง

 

facebook is watching you.

ค่ำนี้จะกินอะไร พักร้อนนี้จะไปเที่ยวที่ไหน ตอนนี้รู้สึกอย่างไร แม้แต่แนวคิดหรือการแสดงออกทางการเมือง ไหลเรื่อยออกมาจากปลายนิ้วด้วยความเต็มใจของผู้ใช้บริการเอง

จากที่เคยคาดการณ์กันว่าสักวันหนึ่งเหตุการณ์แบบนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์อาจเกิดขึ้นจริงๆ “Big brother is watching you.” กลับกลายเป็นพวกเราเองที่เต็มใจเปิดข้อมูลทุกซอกหลืบให้เห็นได้ อย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน

เชื่อกันว่า เฟซบุ๊คกลายเป็นคลังข้อมูลที่รอบด้านและรู้ลึกสุดๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะมีผู้ใช้งานเป็นประจำ เดือนละมากกว่า 1.19 ล้านรายทั่วโลก (ข้อมูล: ตุลาคม 2013) เฟซบุ๊คเก็บข้อความและภาพจำนวนมหาศาลนับล้านล้าน ใช่แล้ว และนับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้นจนเกินจินตนาการ

ขณะนี้ เมื่อเทียบกับประชากร 7 พันกว่าล้านคนบนโลก ปริมาณผู้ใช้เฟซบุ๊คถือเป็น 1 ใน 7 ของประชากรโลกเข้าไปแล้ว แม้จะมีกรณีที่คนคนเดียวถือหลายแอคเคาท์อยู่บ้างก็ตาม

 

สิทธิบัตรจัดการโปรไฟล์

8 กุมภาพันธ์ 2004 เมื่อแรกก่อตั้ง เฟซบุ๊คมีผู้ใช้ 650 รายชื่อ 9 ปีผ่านไป ปริมาณแอคเคาท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊คทั่วโลกอยู่ที่กว่า 1,190 ล้านรายชื่อ

12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Facebook, Inc. ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรชิ้นที่ 178 สำหรับเทคนิคการจัดการโปรไฟล์ผู้ใช้บริการที่เรียกว่า ‘ประมาณการรายได้ครัวเรือนของผู้ใช้บริการในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค’  (inferring household income for users of a social networking system)

จัสติน วอสคูห์ล และราเมซ ยากราพูรี โปรแกรมเมอร์ของเฟซบุ๊ค แจ้งว่าข้อมูลทั้งหมดเก็บรวบรวมจากผู้ใช้แต่ละราย ตั้งแต่ การโยกย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ระดับการศึกษา วันเกิด สถานภาพปัจจุบัน และแน่นอนรสนิยมและความชอบในเรื่องต่างๆ

เฟซบุ๊คยังขาดเครื่องมือสังเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้เพื่อจะจัดโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยอาศัยรายรับเป็นเกณฑ์ แต่ขณะนี้ พวกเขามีเครื่องมือเหล่านั้นที่จะสามารถประเมินผลออกมาเป็นระดับรายรับของผู้ใช้บริการได้ โดยทำการประมวลผลจากข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การปฏิวัติการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดมหึมาเพิ่งเริ่มต้นขึ้นโดยหน่วยงานที่ยังไร้ซึ่งทักษะและประสบการณ์ทางด้านนี้ พวกเขายังขาดเครื่องมือและวิธีการที่มีเหตุผล น่าเชื่อถือ ที่จะสามารถคาดการณ์และจัดการกับพฤติกรรมมนุษย์

ขณะที่ยังอยู่ในขั้นตั้งไข่ ก็ต้องถือว่าการกำกับดูแลจากภาครัฐยังเข้าถึงประเด็นเหล่านี้ได้น้อยมาก ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อถือเรื่องการจัดการข้อมูล ทีมผู้ช่วยของโอบามาหรือ ‘ถ้ำ’ ของเขาล้วนเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่จบจากไอวีลีก (กลุ่มมหาวิทยาลัยชื่อดัง 8 แห่งในสหรัฐ) ที่ช่วยประมวลผลข้อมูลสถิติประชากรเข้ากับความต้องการของผู้บริโภค ก่อนจะแปรออกมาเป็นการสื่อสารเพื่อหาแนวร่วมเปลี่ยนประเทศไปกับเขา แม้ที่สุดแล้วเราจะเห็นว่ามันเปลี่ยนได้ไม่จริงก็ตาม

 

SocialMedia-1

 

Feed ใหม่ ไม่ไร้สาระ?

2 ธันวาคมที่ผ่านมา ลาร์ส แบ็คสตรอม หนึ่งในผู้บริหาร และผู้จัดการ News Feed ของเฟซบุ๊ค อธิบายการปรับอัลกอริธึ่มใหม่ของหน้า News Feed บนเฟซบุ๊คว่า จากนี้ Feed ที่จะขึ้นบนหน้าวอลล์เฟซบุ๊คของผู้ใช้ จากเดิมที่เคยวัดกันด้วยยอดไลค์ เปลี่ยนเป็นการคัดเลือกอัตโนมัติโดยประเมินจากคุณค่าของเนื้อหา ซึ่งวัดจากความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาและเนื้อหานั้นๆ

ยกตัวอย่าง ภาพล้อเลียน หรือ meme รวมทั้งมุกตลกเสียดสีทั้งหลาย จะถูกลดความสำคัญลง ขณะที่บทความจากเว็บไซต์สำนักข่าวจะถูกนำมาโชว์บนหน้า Feed มากขึ้น เนื่องจากความเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลกสูงกว่าในปี 2012 ถึง 170 เปอร์เซ็นต์ และบางครั้ง ยอดไลค์ก็ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง

อาจต้องรอผลตอบรับการปรับ Feed ในครั้งนี้อีกครั้ง จึงจะตอบได้ว่าเฟซบุ๊คมาถูกทางแล้วหรือไม่

 

ทรัพย์สิน ‘กีดกัน’ ทางปัญญา

เฟซบุ๊คไม่เคยหยุดนิ่ง พวกเขาผลิตนวัตกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ ขึ้นมาท้าทายผู้ใช้งานอยู่เรื่อยๆ

ลักษณะการพิมพ์ประโยคของแต่ละคน คำผิดที่มักพิมพ์ผิดซ้ำๆ แม้แต่ระยะวรรคระหว่างตัวอักษร ก็เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของแต่ละคน ที่บอตคอมพิวเตอร์สามารถแยกแยะคุณออกจากคนอื่นๆ ได้

เฟซบุ๊คได้จดสิทธิบัตรวิธีการแยกแยะตัวบุคคล (methods of individual identification with obviously cybernetic overtones) โดยอนุญาตให้บอตเฟซบุ๊คแยกแยะผู้ใช้งานแต่ละรายด้วย pixilation และลักษณะของภาพที่ถ่ายจากกล้องสมาร์ทโฟนของพวกเขา เมื่อจำแนกผู้ใช้แต่ละรายได้แล้ว ก็นำข้อมูลดังกล่าวเข้ากระบวนการวิเคราะห์ เพื่อจะนำไปการคาดการณ์ และหาทางทำให้พวกเขาตัดสินใจใช้เงินในกระเป๋าไปกับสินค้าที่ลงโฆษณาไว้

สิทธิบัตรทั้งหลายของเฟซบุ๊คล้วนเกี่ยวข้องกับเทคนิกการออกแบบโฆษณาให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงการออกแบบใหม่ให้ดีขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้ใช้งานแต่ละคนเลื่อนลงมาเจอจะมีแนวโน้มคลิกเข้าไปชมทันที

เทคนิกการโฆษณาของเฟซบุ๊คกำลังจะมาในแนวทางของการบอกต่อมากขึ้น คือหากโฆษณานั้นมาจากการแนะนำของเพื่อนๆ ในลิสต์ จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และความเป็นไปได้ที่เราจะหลวมตัวคลิกเข้าไปดูก็มากขึ้นตามไปด้วย

 

SocialMedia-3

 

ทางออกของชาวเฟซบุ๊ค

“สังคมที่ให้อำนาจในการติดตามข้อมูลประชาชนได้โดยที่ไม่มีการตรวจสอบ ก็ไม่อาจคาดหวังถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและวัฒนธรรมที่แท้จริงได้”

จูลี โคเฮน อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ตั้งข้อสังเกตจากการกระทำของโซเชียลมีเดียยอดฮิตไว้ในวารสาร Harvard Law Review

เฟซบุ๊คติดตามผู้ใช้อย่างพิถีพิถัน เก็บข้อมูลทั้งหมดที่เราให้ บันทึกทุกความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานบนหน้าเว็บ จากนั้นจึงส่ง Feed ที่สอดคล้องกับความสนใจและรสนิยม (ตามที่เราให้ข้อมูลด้วยการไปกดไลค์หน้าเพจต่างๆ) กลับมาให้ผู้ใช้ประหลาดใจเล่น

หากยึดตามทฤษฎีระบบราชการ (bureaucracy) ที่ แม็กซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันเสนอว่าระบบราชการควรประกอบด้วย 4 กระบวนการ คือ ประสิทธิภาพ การประมวลผล การคาดการณ์ และการควบคุม ไม่แน่ว่า tech-bureaucracy อาจเป็นระบบใหม่ที่จะมาเข้ามาควบคุมดูแลประชากรโลกในอนาคตอันใกล้

 

แม้วัยรุ่นบางส่วนจะเริ่มเบือนหน้าจากเฟซบุ๊คไปสรรหาโซเชียลมีเดียใหม่ๆ ใช้กันบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันเฟซบุ๊คดูจะเป็นที่รวมของเรื่องเครียดๆ หนักๆ จากเหล่าคนวัยทำงานมากขึ้น ไม่สดใหม่และดึงดูดใจวัยรุ่นเหมือนตอนแรกๆ อีกต่อไป แม้แต่พ่อแม่ก็ยังต้องเข้ามาขอเป็นเพื่อนกับลูกๆ บนเฟซบุ๊คด้วยความห่วงใย

แต่นวัตกรรมใหม่ที่เฟซบุ๊คนำเสนอต่อสาธารณะนั้น คาบเกี่ยวว่าจะเป็นความหวังดีและใส่ใจความต้องการของผู้ใช้งาน แต่ก็อาจจะเป็นความหวังดีที่ประสงค์ร้าย และอาจเลยเถิดจนกลายเป็นความจงใจละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ไปได้เหมือนกัน

 

 

ที่มา: alternet.org /

allthingsd.com /

techradar.com

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า