ผลไม้ ไม่จำกัด (มหาชน)

Fallen Fruit

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

ภาพ: fallenfruit.org

 

 

 

บ้านใครก็ต้องมีรั้ว ยิ่งเป็นบ้านในเมืองใหญ่ ความสูงของรั้วจะแปรผันตรงกับฐานะของผู้อยู่อาศัย คนชนบทมีรั้วไม้ไผ่ คนในเมืองมีรั้วก่ออิฐสูงลิบ เพื่อแบ่งอาณาเขตระหว่างกัน เวลาผ่านไป รั้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่กั้นเฉพาะพื้นที่ แต่ปฏิสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านก็ถูกปิดล้อม จนสิ่งเหล่านี้หายไปจากชีวิตคนเมืองโดยไม่รู้ตัว

โดยเฉพาะในบ้านใครมีไม้ผลต้นใหญ่ ลูกดก กิ่งก้านสาขายื่นยาว เผยลูกไม้ออกมายั่วน้ำลายใครที่ผ่านไปมาให้เปรี้ยวปาก การที่จะปีนป่ายเอื้อมมือไปหยิบสอยลงมากิน โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเป็นเหตุให้เราถูกผู้เป็นเจ้าของบ้าน ‘สอย’ ร่วงแทนได้

แต่หากมองในมุมที่ว่า โลกนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียว ทุกผืนแผ่นดิน ต้นไม้ทุกต้น มนุษย์ทุกคนย่อมมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ได้ถูกครอบครองโดยใครคนใดคนหนึ่ง

เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของอเมริกา ได้มีกลุ่มคนริเริ่มทำ ‘แผนที่ผลไม้’ ขึ้นมา เพื่อแสดงตำแหน่งของต้นไม้ผลที่เป็นสมบัติสาธารณะ ใครก็สามารถเก็บผลของมันกินได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาเขม่น

 

**********************************

Fallen Fruit Group

 

ศิลปินลูกไม้ร่วง

“ผลไม้สด คือสิทธิของมนุษย์” คำประกาศของพวกเขา

Fallen Fruit คือ ชื่อของกลุ่มคนทำงานศิลปะสมัยใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกระดับแกนนำ 3 คน เดวิด เบิร์นส์, มัทเธอัส วีกเนอร์ และ ออสติน ยัง โดยศิลปินกลุ่มนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลายแขนง ทั้งภาพถ่าย วิดีโอ การแสดง และประติมากรรม ลงบนพื้นที่สาธารณะในหลายพื้นที่ของแอลเอ เพื่อรณรงค์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน การอยู่ร่วมกันในชุมชน สิทธิหน้าที่พลเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

พวกเขาเลือกที่จะใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่าน ‘ผลไม้’

“มันแสดงถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้าน ไม่เคยมีใครคิดเลยว่า ต้นไม้เหล่านี้ก็เป็นสมาชิกของชุมชนเหมือนกัน และมันก็อยู่ที่นี่มาก่อนเรานานแล้ว” นี่คือแนวคิดเริ่มแรก ต้นไม้ คือเพื่อนบ้าน

โดยเป้าหมายของการสื่อสารผ่านงานศิลปะนั้น คือการมองพื้นที่สีเขียวสาธารณะระดับเมืองในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามเท่านั้น เพราะต้นไม้ที่เลือกใช้ สามารถเปลี่ยนเป็นไม้ผลที่ให้ทั้งร่มเงา ความสวยงาม และกินได้

 

Fallen Fruit-1

ผลไม้สาธารณะ

ในปี 2004 กลุ่ม Fallen Fruit ได้สร้างแผนที่ชิ้นหนึ่งขึ้นมา พวกเขาเรียกมันว่า ‘แผนที่ผลไม้สาธารณะ’ โดยแผนที่นี้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปะ และเป็นเอกสารแจกฟรี เพื่อให้คนในชุมชนรู้ว่า ในพื้นที่รอบๆ บ้านของพวกเขา มีต้นไม้ที่เป็นสมบัติสาธารณะอยู่ และทุกคนสามารถเก็บลูกของมันกินได้

แต่ถ้าหากมีใครจิตใจดี ต้องการจะยกต้นไม้ในรั้วบ้านตัวเองให้เป็นสาธารณะ ก็ไม่ว่ากัน ถือว่าเป็นการเสียสละรับเลี้ยงต้นไม้ของชุมชนอีกต่างหาก

แผนที่ชิ้นแรกนั้น เริ่มต้นที่ ซิลเวอร์เลคซิตี้ ในแอลเอ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา โดยกลุ่ม Fallen Fruit ทั้งสามคน จะเดินตะลุยไปทุกตรอกซอกซอยในเมือง เพื่อทำการระบุตำแหน่งของต้นไม้ที่ถูกปลูกและเติบโตขึ้นในพื้นที่สาธารณะ หรือที่ดินไม่มีเจ้าของ รวมไปถึงต้นไม้ที่อยู่สองข้างถนน ว่าต้นไหนมีผลให้เก็บกินได้

และแผนที่นี้ ก็ทำหน้าที่เหมือน ‘โฉนดผลไม้ชุมชน’ นั่นเอง

fallen fruit map

“ทุกวันนี้ มีอาหารถูกทิ้งขว้างอยู่ข้างถนนมากมาย เราก็แค่ช่วยหามัน ถ้ามันอยู่ในบ้านคุณ ก็แบ่งให้โลกเหมือนที่โลกให้คุณบ้าง แล้วก็อย่าซื้อขายกันนะ คุณไม่ต้องเสียอะไรไปเลย นอกจากความหิวเท่านั้น” เสียงหนึ่งจาก Fallen Fruit

ใน ซิลเวอร์เลคซิตี้ มีทั้ง แอปเปิ้ล ส้ม พีช พลัม กล้วย วอลนัท อยู่ตามตรอกซอกซอยจำนวนมาก และต้นไม้พวกนี้ คนที่ผ่านไปมาก็มองว่ามันเป็นเพียงเครื่องประดับทางภูมิทัศน์เท่านั้น ไม่ได้มีใครสนใจว่านี่แหละคือแหล่งอาหารฟรีที่มีอยู่สองข้างทางตลอดทั้งปีในแอลเอ

“ในอเมริกา ผลไม้ที่พวกเรากินนั้นต้องเดินทางกว่า 1,000 ไมล์ จากต้นสู่จาน” นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ว่าทำไมเราควรจะเดินไปเก็บผลไม้หน้าบ้านกิน

เมื่อมีการเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายในการขนส่งแพง ก็ส่งผลให้ราคาของผลไม้ในท้องตลาดของอเมริกาสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ครอบครัวอเมริกันจำนวนหนึ่งบริโภคผักและผลไม้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะรู้สึกว่าผลไม้เป็นอาหารที่แพงเกินจำเป็น

แต่เมื่อต้นไม้ที่ให้ผลเป็นสาธารณะอยู่ในละแวกบ้านแล้ว ผู้คนก็จะได้กินผลไม้ที่สด สะอาด ไม่เสียค่าขนส่ง ไม่ได้เป็นผลผลิตจากฟาร์มที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ใช่สายพันธุ์จีเอ็มโอ และไม่มีสารฆ่าแมลง จึงรับประกันได้ว่า งานนี้คนในชุมชนมีแต่ได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องควักเงินเลยแม้สักหรียญเดียว

กิจกรรมหนึ่งที่พวกเขาจัดขึ้นให้ชุมชนก็คือ การทัวร์หาอาหารค่ำ (Nocturnal Fruit Forages) โดยพวกเขาจะชักชวนคนในชุมชน ให้ออกมาเดินไปรอบๆ เมือง เพื่อสอยผลไม้กันตอนพลบค่ำ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ เหมือนแนะนำสมาชิกเก่าแก่ให้คนรู้จัก และผลจากต้นไม้สาธารณะ ก็จะถูกแจกจ่ายกันกินเป็นอาหารมื้อค่ำไปเลย

นอกจากผลประโยชน์โดยตรงที่เป็นผลไม้แล้ว กิจกรรมที่ Fallen Fruit รณรงค์นั้น เป็นพิธีกรรมทางสังคมอย่างหนึ่งที่พวกเขาพยายามสร้างขึ้นมา เพราะนอกจากจะแนะนำให้คนได้รู้จักเพื่อนบ้านหน้าเก่าอย่างต้นไม้ในมุมมองใหม่แล้ว พวกเขายังได้ออกมาพบปะทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนบ้านหน้าใหม่ๆ อีกด้วย

นอกจากเมือง ซิลเวอร์เลคซิตี้ แล้ว กลุ่ม Fallen Fruit ยังทำ ‘แผนที่ผลไม้สาธารณะ’ นี้กับอีกหลายชุมชนในแอลเอ และขยายไปสู่หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโก และ โคลัมเบีย และแนวคิดนี้ก็ถูกส่งต่อไปยังนักกิจกรรมในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก

หากในหนึ่งชุมชน มีพื้นที่ปลูกผลไม้ ที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงคนเดียว นั่นหมายความว่า แหล่งอาหารของชุมชนจะเพิ่มขึ้นมา โดยไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน และแน่นอนว่า เมื่อมีผลไม้ลูกหนึ่ง ร่วงหล่นลงมาจากต้น ก็หมายถึงอาหารชิ้นหนึ่ง จะตกใส่ท้องบำบัดความหิวของคนหนึ่งคนได้แล้ว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: fallenfruit.org

 

(ตีพิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2553)

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า