พระราชา กับ ประชาธิปไตย

กลางปี 2553 อธิคม คุณาวุฒิ นัดสนทนากับ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เพื่อนำเนื้อหามาตีพิมพ์ใน October ฉบับเดือนตุลาคม 2553

ประเด็นหลักของการพูดคุยคือ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์นองเลือด และสังคมกำลังเผชิญภาวะการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ มิติ

คำถามส่วนใหญ่มุ่งสะท้อนข้อสงสัยของคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน

ขณะที่คำตอบทั้งหมด ล้วนเป็นทัศนะของผู้ที่เคยเป็น ‘ซ้ายจัดสุดขั้ว’ มาก่อน…

 

 

อธิคม คุณาวุฒิ : สัมภาษณ์

ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล : ภาพ

ที่มา : พูดจากันฉันพี่น้อง October ฉบับเดือนตุลาคม 2553

 

แรกเริ่มเดิมที ผมตั้งใจจะตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ให้เก๋ๆ ยาวๆ ว่า “วิวัฒนาการของนักหนังสือพิมพ์ไดโนเสาร์ผู้ไม่ยอมกลายเป็นเหี้ย แต่กลายพันธุ์จากคอมมิวนิสต์เป็นรอยัลลิสต์”

แต่ก็นั่นแหละ ฟังดูนอกจากจะไม่ค่อยเก๋ ไม่ค่อยเก็ทแล้ว ยังยาวย้วยโดยใช่เหตุ

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เคยต้องโทษถูกจับขังคุกคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2527 เนื่องจากให้ความช่วยเหลือมิตรสหายคนหนึ่งซึ่งเป็น ‘คอมมิวนิสต์แท้’ และดูเหมือนเขาจะเป็นคนยุคท้ายๆ ในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเกียรติถูกจับในข้อหานี้

ก่อนหน้านั้น 10 ปี เขาเคยเข้าคุกมาแล้ว 1 ครั้ง ข้อหาเขียนบทความละเมิดอำนาจศาล เหตุการณ์ครั้งนั้น ‘เพื่อน’ ก็มีส่วนร่วมอีกเหมือนกัน จนเขาต้องระบายออกมาเป็นบทกวีชื่อ “เพื่อนเราเผาเรือนแล้วลูบหลัง”

ชัชรินทร์เกิดเมื่อปี 2499 หมายความว่าตอนติดคุกครั้งแรกข้อหาหมิ่นศาล เขามีอายุเพียง 18 ปี

ตอนติดคุกครั้งที่ 2 เขาเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่กำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ มีโจทย์ท้าทายทางวิชาชีพหลายประการรอให้คนหนุ่มวัย 28 กระโจนเข้าไปพิสูจน์ตัวเอง

นี่คือยังไม่นับเหตุการณ์เล็กๆ ที่เคยถูกมือลึกลับใช้ของแข็งฟาดศีรษะจนเลือดอาบหน้าสำนักงานตัวเอง เนื่องจากช่วงนั้นเขียนข่าววิพากษ์วิจารณ์ทหารเอาไว้ไม่น้อย
ด้วยเส้นทางดังกล่าวจึงเป็นที่รับรู้กันว่า หากจะ ‘นับอายุ’ ชัชรินทร์ ต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเป็นตัวทดค่า ‘วุฒิภาวะ’

………

วุฒิภาวะไม่ได้แปลว่าต้องเคยติดคุกหรือถูกตีหัว แต่หมายถึงกรรมวิธีในการทำงานที่ประณีต รอบด้าน และรอบจัด เขามักเล่าเสมอว่านักข่าวฝ่ายก้าวหน้ายุคซ้ายครองเมืองไม่ยอมแม้กระทั่งหาข่าวจากฝั่งตำรวจและทหาร แต่จะหาข่าวจากนักศึกษาและฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันเองเท่านั้น (สมัยก่อนใช้คำว่า ‘หาข่าว’ ไม่ใช่ ‘ทำข่าว’ เหมือนในปัจจุบัน) ซึ่งเขาเองไม่ยอมที่จะเป็นฝ่ายก้าวหน้าแบบนั้น เมื่อบวกกับท่วงท่าลีลา การพูดจา ไลฟ์สไตล์ และการแต่งตัวที่เนี้ยบผิดปกติวิสัยปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ข้อหาสายลับสันติบาลและซีไอเอจึงลอยมากระทบเป็นระยะ

เขากล่าวบ่อยๆ อีกว่า การประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของนักวิชาการ รวมถึงนักเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการปฏิเสธไม่ยอมเข้าไปทำความรู้จักตัวตนความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามทางความคิด

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ 01

 

ในยุคหนึ่ง แม้นว่านักศึกษาตามตึกกิจกรรมจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ที่เขาทำ ศึกษาบทวิเคราะห์ที่เขาเขียน แต่ดูเหมือนตัวเขาเองจะไม่ได้ให้น้ำหนักหรือเข้าไปคลุกคลีกับ ‘งานมวลชน’ หรือหากใช้ศัพท์ปัจจุบันก็คือ ‘การเมืองภาคประชาชน’ มากนัก สิ่งที่เขาสันทัดกลับเป็นการดีลกับตัวละครที่อยู่ในอำนาจ…ซึ่งเขามักเอ่ยภายหลังว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ใน ‘สายโจร’ ทั้งสิ้น

ไม่ต้องเอ่ยว่าตัวละครลึกลับในสังกัดสายโจรที่ว่านั้นจะเป็นใครบ้าง เอาแค่ความสัมพันธ์กับตัวละครในที่แจ้ง ก็อาจสะท้อนให้เห็นวิธีคิดบางประการของเขา…
ช่วงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหารกลุ่มยังเติร์ก นอกจากจะทำหน้าที่เป็นกุนซือร่วมวางแผนยึดอำนาจแล้ว เกมบนดินชัชรินทร์ยังทำหน้าที่เขียนบทความ ‘หวด’ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งทีเล่นและทีจริง

10 กว่าปีหลังเหตุการณ์เมษาฮาวาย ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเขาคือผู้มีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาอาทิตย์ อุไรรัตน์ รักษาการประธานรัฐสภาในขณะนั้น เปลี่ยนชื่อทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ กลายมาเป็น อานันท์ ปันยารชุน…

ทั้งหมดนี้จะถือเป็น ‘วีรกรรม’ หรือไม่ก็ตามแต่ แต่มันคือพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งเน้นไปที่ศูนย์กลางอำนาจเสมอ เหมือนที่เขามักเปรียบเปรยว่า “ต่อให้มวลชนลุกฮือแค่ไหน แต่หากทรอตสกีไม่สั่งยิงปืนใหญ่ใส่ศูนย์บัญชาการ สงครามก็ไม่มีวันจบ”

………

อย่างไรก็ตาม ต่อให้แนวรบด้านการเมืองเหตุการณ์จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่โฉมหน้าธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ก็เปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน

ตอนที่ตัดสินใจยุติกิจการนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของตัวเองนั้น เขานำคำพูดของอากร ฮุนตระกูล มาใช้อธิบายความรู้สึกตนเองว่า “เรายอมเป็นไดโนเสาร์ที่ตายในยุคสูญพันธุ์ ดีกว่ามีชีวิตรอดด้วยวิธีวิวัฒนาการมาเป็นเหี้ย”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ชั่วโมงนี้ใครจะสน จะเป็นเหี้ยหรือเป็นไดโนเสาร์มันก็แค่คำเปรียบเปรย แต่เรื่องจริงที่คนส่วนใหญ่เห็นในเวลานี้ก็คือ จากที่เคยด่าพลเอกเปรมอยู่แหม็บๆ วันนี้พี่เล่นเขียนคอลัมน์สรรเสริญป๋าเอาดื้อๆ ไหนจะยุส่งให้ทหารเร่ง ‘กระชับพื้นที่’ ในเหตุการณ์ 91 ศพอีกต่างหาก กระทั่งตอนที่นั่งคุยกันในวันแรก ชัชรินทร์บอกกล่าวตั้งแต่ต้นว่าทัศนะที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นมุมมองของ ‘รอยัลลิสต์’ ล้วนๆ

ข้อสงสัยทำนองนี้ ถูกนำไปขยายความและร่ำลือกันว่า ปัจจุบัน ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ รับงานเข้าไปบรีฟข่าวให้ราชนิกูลฟังทุกสัปดาห์

เมื่อรับทราบข่าวนี้ เขาหัวเราะชอบใจ กำชับกับผมว่า “เป็นเรื่องดี…ช่วยเอาข่าวนี้ไปขยายให้กว้างๆ หน่อยนะ”

ขบคิด จินตนาการ ขยายความ และร่ำลือ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่เมื่อคนเริ่มต้น ‘สงสัย’

เรื่องทำนองนี้หากเกิดขึ้นกับคนธรรมดาก็คงไม่มีอะไรมาก แต่หากเป็นความสงสัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบระดับบ้านเมืองแล้ว สัญชาตญาณนักข่าวมักเรียกร้องให้ทำอะไรมากกว่าการนั่งคิดและจินตนาการเอาเอง

ชัชรินทร์บอกเสมอว่า แม้ปัจจุบันจะใช้เวลากับการค้นคว้าอ่านตำรับตำราประวัติศาสตร์และศาสนาเป็นหลัก แต่พื้นฐานของเขาเติบโตมาจากการเป็นนักข่าว…นักข่าวที่หาข่าวจากทุกด้าน แม้นว่าด้านนั้นจะเป็นฝั่งที่ตนเองไม่เคยเห็นด้วย

“โต้มา…มีอีกมั้ย…โต้มาเลย” เขากระตุ้นด้วยถ้อยคำทำนองนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง ตลอดหลายชั่วโมงที่เรานั่งคุยกัน

แม้นจะช่วยสร้างความครึกครื้น แต่วูบหนึ่งผมก็อดรู้สึกผิดบาปไม่ได้ที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเรากำลังนั่งโต้กัน

มันควรเป็นบทสนทนาธรรมดาๆ ระหว่างพี่กับน้อง ใครสงสัยก็ถาม ใครมีความรู้มีประสบการณ์ก็ตอบ สรรพนามที่ใช้ในการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ จึงตั้งใจรักษาถ้อยคำเดิมเอาไว้ โดยไม่เปลี่ยนจาก ‘พี่’ เป็น ‘คุณ’ ตามขนบการทำนิตยสารทั่วไป

หากมิใช่ผู้มีปัญหาทางจิต…ลึกๆ แล้วเราทุกคนล้วนต้องการบรรยากาศแบบนั้นไม่ใช่หรือ

 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราพอพูดได้ไหมว่ามีการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือและข้ออ้างทางการเมืองอย่างค่อนข้างหนักหนาที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา 

ก็ไม่น่าจะสรุปได้อย่างนั้น เพราะถ้าบอกว่าหนักหนาสาหัส ก่อนหน้านั้นช่วงก่อนและหลัง 2475 มันก็น่าจะหนักยิ่งกว่า ไม่ว่าเรื่องของการเมือง แม้กระทั่งเศรษฐกิจ เรื่องของการเมืองก็อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ก็คือการเปลี่ยนระบบการปกครอง เชื้อพระวงศ์ทั้งหลายถูกถอดออกจากตำแหน่งบ้าง ติดคุกบ้าง ด้านเศรษฐกิจก็มีการยึดกุมแบงก์ชาติ วังบางขุนพรหม อะไรก็โดนยึดหมด

ยิ่งกว่านั้นในแง่ของมวลชนก็ยังรุนแรงไม่น้อย มีการออกหนังสือพิมพ์โจมตีสถาบันอย่างหนักอาจจะเรียกว่าพอๆ กับเว็บไซต์ยุคนี้ก็เป็นได้ มีการปราศรัยไฮปาร์คกลางสนามหลวง พูดถึงกรณีสวรรคต พูดถึงว่าใครเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ เรียกว่าเราเคยผ่านยุคที่หนักหน่วงรุนแรงไม่น้อยไปกว่ายุคนี้เลย หรือดีไม่ดีอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

 

ถ้าเรามองในแง่การเซ็ตตัวของอำนาจสถาบันนับตั้งแต่หลังปี 2500 เป็นต้นมาล่ะครับ หมายถึงในยุคที่เริ่มสะสมพระราชอำนาจควบคู่ไปกับบทบาทจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราจะพอพูดได้ไหมว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ ถือว่ากระทบกระเทือนต่อสถาบันหลักไม่น้อย

ก่อนอื่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าพระราชอำนาจนั้นมันไม่มีระบุไว้ในกฎหมายใดๆ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญเองก็ต้องถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แทบจะไม่มีอำนาจอีกแล้ว ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งสังคมโดยตรง แต่จะเป็นการใช้อำนาจผ่าน คือลงพระปรมาภิไธย ทูลเกล้าฯเสนออะไรต่างๆ

อันที่จริงไม่ควรนับตั้งแต่ 2500 คือต้องนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ได้ครองราชย์มา สิ่งซึ่งน่าที่จะพูดถึงมากที่สุด เราน่าจะใช้คำว่าพระบารมี ไม่ใช่พระราชอำนาจ ซึ่งสองคำนี้ต่างกัน

ผู้ที่เคยเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้เอาไว้ค่อนข้างชัดก็คืออาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยเทียบว่าสิ่งที่เรียกว่าพระราชอำนาจยุคก่อนนั้นมันแสดงออกโดยสัญลักษณ์ เช่น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหลาย เช่น พระแสงดาบอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ใช้แล้ว ยุคก่อนเราลองนึกภาพฮ่องเต้ใช้ดาบอาญาสิทธิ ยุคนี้บางทีผ่านพระพุทธรูป ภปร. อะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่เป็นพระบารมี มันเป็นความพยายามสร้างสมบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีอยู่ในกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย เป็นอำนาจที่สร้างขึ้นมาเอง

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ 02

 

ในกระบวนการสร้างพระบารมีดังกล่าว มีตัวละครอื่นเข้าไปมีบทบาทบ้างไหมครับ

เกินขีดความสามารถที่เราจะไปรับรู้…แต่แน่นอนมันน่าจะอยู่ที่ในหลวงเอง ด้วยคำว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม’ ไม่ว่ากระบวนการจะสร้างมาอย่างไรก็ตาม แต่ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า คำพูดคำนี้น่าจะไม่มีลักษณะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น เพราะมันมีกระบวนการหลายอย่างที่เรียกว่าพระราชจริยาวัตร แสดงให้เห็นถึงการประพฤติปฏิบัติในข้อบังคับของกษัตริย์ที่เรียกว่าทศพิศราชธรรม มีการประพฤติปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอพอสมควร

ส่วนกระบวนการที่ว่า ใครจะเป็นที่ปรึกษาให้ทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาอะไรอย่างนั้น ก็คงจะเกินขีดความสามารถจะไปรับรู้ได้ แต่ถ้าดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมาก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรมการกระทำ การคิด การพูด มีร่องรอยที่อยู่ในสิ่งที่เรียกว่าทศพิศราชธรรม อันนี้แหละที่ทำให้เกิดบารมีขึ้น

 

การสะสมพระบารมีที่ว่ามันก็ดำเนินคู่ขนานคาบเกี่ยวไปกับแรงเหวี่ยงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เหตุจูงใจและวิวัฒนาการของสองอย่างนี้มันสัมพันธ์กันอย่างไร

อย่างนี้ต้องลากยาวไปตั้งแต่ว่าความเป็นกษัตริย์คืออะไร

 

หมายถึงว่าละครในหมู่ชนชั้นนำนั้น เขามีส่วนในกระบวนการสะสมพระบารมีนี้มากน้อยแค่ไหน

คือที่ต้องพูดไปถึงเรื่องความเป็นกษัตริย์เพราะว่า ความหมายของกษัตริย์คือหน้าที่ ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นกษัตริย์จะอยู่นอกรัฐธรรมนูญหรือในรัฐธรรมนูญ แรกเริ่มเดิมทีมันมีสิ่งที่เรียกว่าทศพิศราชธรรมกำกับ นี่คือกษัตริย์ในตะวันออก

ต่างกับแบบตะวันตก ถ้าเราดูแบบตะวันตกนี่ เราต้องไปหาหนังเรื่อง Excalibur มาดู …ลูเธอร์นั้นขึ้นมาเป็นกษัตริย์ก็มีเมอร์ลินคนหนึ่งเข้ามา หรือไปปล้นเมียคนอื่นมา…พวกฝรั่งมันจะเป็นอย่างนี้ แต่กษัตริย์ตะวันออกมันจะอิงอยู่กับเรื่องธรรมะมาโดยตลอด ถ้าเราไปดูตั้งแต่ในพระไตรปิฎกที่ได้พูดว่า นับแต่สังคมเกิดการขาดแคลนอาหาร ข้าวปลาขาดแคลน เกิดการแก่งแย่งกัน ที่ประชุมจึงมีมติให้มีบุคคลผู้หนึ่งซึ่งก็คือผู้ทำความอิ่มใจให้กับผู้อื่น เรียกว่าราชาผู้เป็นใหญ่แห่งท้องนา หรือเรียกว่ากษัตริย์ ปรากฏขึ้นมา

คือตะวันออกมันมาจากรูปแบบประชาธิปไตยนั่นแหละ…การเป็นกษัตริย์ไม่ได้ขัดอะไรเลยกับประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งไม่เอาจากอินเดีย เอาจากจีนก็ตาม ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม ตั้งแต่มีเทพ 3 องค์สอนชาวจีนให้ทอเสื่อ ปลูกพืช คนเหล่านั้นก็เป็นกษัตริย์โดยอาศัยการลงมติของขุนนาง ไม่มีการสืบสันตติวงศ์

ด้วยเหตุที่พื้นฐานเป็นอย่างนี้ไง สิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือทศพิศราชธรรมมันจึงเป็นเหมือนกฎหมายสำหรับกษัตริย์หรือผู้มีหน้าที่…สืบทอดมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าผู้ใดผู้หนึ่งเข้าใจหน้าที่เหล่านี้หรือไม่ และปฏิบัติตามหน้าที่เหล่านั้นหรือเปล่า ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็เกิดกษัตริย์ที่เลว ถ้าปฏิบัติตามหน้าที่มันก็เกิดกษัตริย์ที่ดี ระบบเหล่านี้มันก็ดำเนินมาอยู่เรื่อยๆ ในสังคมตะวันออกเสมอมา

ย้อนมาถึงคำถามที่ว่าแล้วทำไมจะต้องสร้างสมบารมี จุดมุ่งหมายตัวนี้เราคงจะไปตอบแทนกษัตริย์ไม่ได้ ว่าทำไมท่านถึงทำอย่างนี้ แต่เราพอจะพูดได้ว่ากษัตริย์เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับหน้าที่ เมื่อเป็นกษัตริย์แล้วเป็นกษัตริย์ที่ดีทำตามหน้าที่ ก็ต้องอยู่ในทศพิศราชธรรม ไม่อย่างนั้นก็ถือว่าไม่เป็นกษัตริย์ที่ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้พูดว่า ท่านจะเป็นผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม ก็คือท่านปฏิญาณว่าท่านจะเป็นกษัตริย์ที่ดี จุดมุ่งหมายเบื้องหลังท่านจะเป็นยังไงเราไม่รู้ แต่เราพอจะพูดได้ว่า เท่าที่ผ่านมานับตั้งแต่ท่านเป็นกษัตริย์ ท่านพยายามดำเนินอยู่ภายใต้กฎของความเป็นกษัตริย์ 10 ประการ…ด้วยอะไรก็ไม่รู้ และสิ่งเหล่านั้นเองไงที่ทำให้เกิดพลังอะไรบางอย่างที่เหนือไปกว่าอำนาจความเป็นกษัตริย์ หรือพระราชอำนาจ นั่นก็คือพระบารมีก็จึงได้เกิดขึ้นมา

คือถ้าเราจะไปมองว่ามีกระบวนการมีซีไอเอมาขอให้ทำอย่างนี้มั้ย มีกลุ่มสายลับของอังกฤษมายุยงท่านมั้ย ผ่านอาจารย์คึกฤทธิ์มั้ย ผ่านอาจารย์เสนีย์มั้ย นั่นเป็นการวิเคราะห์ในแบบที่…พูดๆ กันไป ยากที่จะไปพิสูจน์ว่ามันเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ แต่ก็พอสรุปได้ว่าถึงแม้ว่าจะมีใครยุยงหรืออะไรก็ตาม มีการวางแผนอะไรก็ตาม แต่ถ้ากษัตริย์พระองค์นั้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ก็คงจะไม่มีบารมีได้

ไม่เช่นนั้นสีหนุก็คงทำได้ เบาได๋ก็คงทำได้ไปเสียทั้งสิ้น เพราะทุกคนก็มีที่ปรึกษาเป็นทั้งซีไอเอ เป็นทั้งเคจีบีหมด แต่เหตุที่กษัตริย์พระองค์นี้ทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากสีหนุ หรือเบาได๋ หรือปูยี ไม่ว่าจะมีตัวละครชิงกันอลหม่านยังไงก็ตาม ต้องยอมรับว่านั่นเป็นบทบาทการทำหน้าที่ของพระองค์เอง จึงได้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา จึงเกิดการฟื้นพลังของกษัตริย์ขึ้นมา ทั้งๆ ที่อำนาจตามกฎหมายได้จำกัดบทบาทลงไปแล้ว

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ 03

 

ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้น สิ่งที่ชนชั้นนำจำนวนหนึ่งพยายามทำให้เกิด ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การอภิวัฒน์ หรืออะไรก็ตามแต่ โอเคมันอาจจะมีปัญหากันเองภายในกลุ่มของคนที่คิดอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าพัฒนาการของกลุ่มคนที่ทำการอภิวัฒน์นั้นมันถูกปล่อยให้ดำเนินของมันไปโดยไม่มีการสะสมพระบารมีของสถาบันคู่ขนานไปด้วยนั้น…

นั่นเราพูดเหมือนกับประเทศไทยอยู่บนอวกาศ ใครล่ะจะเป็นผู้ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไปได้ คำว่าใครน่ะหมายถึงใคร…ใช่มั้ย
ก็ทุกอย่างมันปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ที่พูดนี้หมายถึงว่าจะให้ท่านละเว้นการทำหน้าที่กษัตริย์ที่ดี เพื่อที่จะให้กระบวนการอภิวัฒน์ดำเนินไป…ความหมายคืออย่างนั้นหรือเปล่า

 

ถามแบบไร้เดียงสาเลยก็คือ การสะสมพระบารมีของสถาบันกษัตริย์ มันส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย

อันนี้ไม่ไร้เดียงสานะ (หัวเราะ) คือถ้ากระบวนการอภิวัฒน์นั้นมันอภิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่ดีจริงๆ พูดในแง่ทฤษฎีแล้วมันไม่น่าจะขัดแย้งกับกระบวนการสั่งสมพระบารมี มันตีคู่กันไปได้ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าหากเป็นการอภิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่ดี

เช่นเราก็เคยเห็นความเปลี่ยนแปลงระยะหลังของท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้ใฝ่ดี มีความรักชาติบ้านเมืองจริง และในระยะหลังๆ ยังมีแนวโน้มไปสู่ทางพุทธศาสนาอีกด้วย สัมพันธภาพระหว่างท่านปรีดีกับกลุ่มชนชั้นกษัตริย์ในระยะหลังก็ค่อยๆ ไปได้ดีไม่น้อยทีเดียว ถ้าหากไม่เกิดเหตุปัจจัยจำนวนมหาศาลที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถอยู่บนอวกาศได้ นั่นก็คือกระบวนการของจักรวรรดินิยมอเมริกันที่ต้องการที่จะเข้ามาแทนที่จักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส การแทรกแซงของจีน เป็นสถานการณ์ภายนอกที่อุตลุดชุลมุนวุ่นวายจนทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบไปด้วย

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งการแย่งชิงอำนาจ และทำให้กระบวนการอภิวัฒน์นำไปสู่ทิศทางที่ไม่ดี เช่น อภิวัฒน์เพื่อนำไปสู่อำนาจส่วนตัว ไม่ได้นำเอาอำนาจนั้นไปสู่ประชาชนที่แท้จริง นำไปสู่การเผด็จการ นำไปสู่การคอรัปชั่น นำไปสู่การประพฤติที่ขัดต่อคุณธรรมศีลธรรม สิ่งเหล่านี้มันก็เลยต้องขัดแย้งกระทบกระทั่งกันไปโดยปริยาย แต่ว่าการกระทบกระทั่งนั้นเท่าที่มีข้อมูลความเป็นไป เป็นหลักเป็นฐานพอเชื่อถือได้ ก็ยังไม่เห็นร่องรอยใดๆ ที่จะสามารถสรุปได้ชัดเจนว่า กระบวนการสร้างพระบารมีนั้นเป็นไปเพื่อต้องการแทรกแซงหรือทำลายกระบวนการประชาธิปไตย ยังไม่มีอะไรปรากฏให้เห็นชัดเจนแม้แต่น้อย

ตรงกันข้ามกลับมีหลักฐานข้อพิสูจน์พอที่จะยืนยันได้ว่า กระบวนการสร้างพระบารมีโดยเฉพาะในช่วงหลังๆ นั้น มักจะเป็นไปในทางให้โอกาสและส่งเสริมต่อประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เช่น ถ้าสถาบันกษัตริย์ต้องการที่จะแปรสภาพพระบารมีให้กลายเป็นพระราชอำนาจ นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบบที่กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะทำได้ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่จำเป็นจะต้องปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาทำอะไรเละเทะวุ่นวายจนเกิด 6 ตุลา หรือในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ถ้าพระมหากษัตริย์ได้ใช้พระบารมีในการยุติเหตุการณ์ความวุ่นวาย แล้วก็ถือโอกาสที่จะแทรกแซงด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ หรือทำให้รัฐธรรมนูญถวายอำนาจคืนให้แก่พระมหากษัตริย์ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้…ก็สามารถทำได้เสมอ

แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไมธรรมกษัตริย์ถึงเข้ามาในช่วงที่เกิดกลียุค แล้วก็มักจะถอยในช่วงเวลาสั้นๆ เสมอไป โดยทำให้บุคคลที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์นั้นโดนหาว่าเป็นมะเขือเผาบ้าง โดนหาว่าเป็นขมิ้นอ่อนบ้าง และทุกสิ่งทุกอย่างกระบวนประชาธิปไตยก็ดำเนินไป โดยที่ร่องรอยของพระมหากษัตริย์ที่จะมาเกี่ยวข้องกับการเมืองกลับไม่ได้ปรากฏ อย่างเช่นการแย่งชิงอำนาจของสีหนุ นั่นชัดเจนเลย ก็คือกษัตริย์ต้องการเข้ามาจริงๆ มีการติดต่อซีไอเอติดต่ออะไรต่อมิอะไร… แต่แปลกสิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฏในประเทศเรา

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ 04

 

โดยเงื่อนไขสถานการณ์ก็คงไม่เหมาะที่จะใช้อำนาจวิธีนั้นกระมังครับ

และนั่นหมายถึงฉลาด หรือว่าโกง หรือไม่ดีล่ะ…

ธรรมะมันก็คือความฉลาดชนิดหนึ่ง ธรรมะไม่ใช่ความซื่อไร้เดียงสา คนที่มีธรรมะไม่ได้หมายถึงคนที่ซื่อ ปัญญาอ่อน ไม่ใช่แบบนั้น (หัวเราะ) ธรรมะมันหมายถึงความเข้าใจธรรมชาติที่ลึกซึ้งมากเพียงพอที่จะทำอะไรไม่ขัดกับหลักธรรมชาติ มิเช่นนั้นคำฉลาดๆ แบบว่า ดินและฟ้ามีอายุยาวนาน เพราะดินและฟ้ามิได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง จะเกิดได้ยังไง มันก็คือวิถีชีวิตของกษัตริย์นั่นเอง นั่นล่ะที่ปรากฏในเล่าจื๊อ มันก็เป็นอย่างนั้น ถามว่าเล่าจื๊อซ่อนพิษซ่อนคมหรือเปล่า (หัวเราะ) มันก็ยากที่จะพูด หรือพระพุทธเจ้า…แหม เนียนเหลือเกิน (หัวเราะ) ก็ต้องยอมรับว่าท่านเนียนฉิบหายเลย พระเยซูก็เนียนจริงๆ เลยใช่มั้ย ก็เหมือนกันทุกคนแหละ

(ยังมีต่อ – ดาวน์โหลดอ่านฉบับสมบูรณ์ได้ ที่นี่ )

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า