หักล้างความเชื่อเดิมๆ ของวิตามินและแร่ธาตุ

 

vitamins

แม้วิตามินจะมาจากคำภาษาละตินว่า ‘Vita’ ที่หมายถึงชีวิต และมีความจำเป็นในแง่ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถเปลี่ยนอาหารให้กลายเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่วิตามินบางตัว หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป กลับส่งผลร้ายต่อร่างกายมากกว่าจะเป็นผลดี

อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเรายังต้องการวิตามินและแร่ธาตุ ขณะที่วิตามินหลายชนิด อย่าง วิตามินเอ ซี อี และเบตาแคโรทีน (รูปแบบหนึ่งของวิตามินเอที่พบได้ในอาหาร เช่น ผักใบเขียว ผักผลไม้ที่มีสีเหลือง อาทิ มะละกอ กล้วย แครอท ฟักทอง) หากได้รับในปริมาณมากเกินไป อาจมีการสะสมในร่างกายและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อาทิ เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งบางประเภท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทดลองจากหลายสถาบันยืนยันตรงกันว่า การเสริมวิตามินซี 200 มิลลิกรัม/วัน หรือมากกว่านั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยป้องกันอาการหวัด ซึ่งถือเป็นการหักล้างทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ในยุคทศวรรษที่ 70 อย่างสิ้นเชิง

 

vitamins-2

+ เสริมวิตามิน จำเป็นจริงไหม?

ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารอายุรศาสตร์การแพทย์ (Annals of Internal Medicine) โดย American College of Physicians (ACP) นำเสนอสิ่งที่หักล้างกับความเชื่อที่ถูกหล่อหลอมโดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนๆ เนื่องจากมีผลการทดลองยืนยันในเรื่องที่ว่า การรับประทานวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ นั้นอาจเป็นเรื่องไม่จำเป็นเสมอไป

นอกจากนั้น ยังมีผลวิจัยสรุปด้วยว่า การรับประทานวิตามินรวมไม่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดอย่างที่เคยเชื่อกัน

ในการทดลองของอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินต่างๆ ขณะที่อีกกลุ่มรับประทานยาหลอก (placebo) ปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานวิตามิน ไม่ถือว่ามีหลักฐานมากพอที่จะยืนยันว่าสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริมวิตามินใดๆ

คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ วิตามินและแร่ธาตุปริมาณเท่าไหร่จึงจะเพียงพอสำหรับร่างกาย และหากรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ จะถือว่าได้รับวิตามินต่างๆ เพียงพอแล้วหรือไม่

หนึ่งในวิตามินที่คนส่วนใหญ่รู้สึกอุ่นใจเมื่อได้รับประทานเพิ่ม นั่นคือ วิตามินซี มันเป็นกรดชนิดหนึ่งที่ถูกแยกออกมาเมื่อทศวรรษที่ 1930 โดย อัลเบิร์ต เซนต์-กีออชี (Albert Szent-Györgyi) นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวฮังกาเรียน

จากการค้นพบดังกล่าวทำให้สามารถผลิตวิตามินซีในระดับอุตสาหกรรมได้ อย่างที่เราคุ้นเคยกับวิตามินซีชนิดเม็ดขนาด 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม ที่กลายเป็นวิธีเพิ่มปริมาณวิตามินซีให้ร่างกายที่ง่ายและสะดวกที่สุดในปัจจุบัน

นักโภชนาการหลายท่านให้ข้อมูลตรงกันว่า ในแต่ละวัน เราควรได้รับวิตามินและเกลือแร่ในระดับที่แนะนำ ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวิตามินและอาหารเสริมสุขภาพแย้งว่าเราอาจมีโอกาสที่ทำให้ได้รับวิตามินไม่เพียงพอ แม้จะรับประทานอาหารครบถ้วนแล้วก็ตาม

 

Assortment of vitamin pills

+ วิตามิน กับ ยาหลอก

ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อปี 1994 ทดสอบในอาสาสมัครผู้สูบบุหรี่ชาวฟินแลนด์ 29,000 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับวิตามินอีร่วมกับเบตาแคโรทีน และกลุ่มที่รับประทานวิตามินหลอก หลังการติดตามผล 5-8 ปี ผู้ที่ได้รับเบตาแคโรทีนก็มีสถิติเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดและโรคหัวใจไม่ต่างจากผู้ที่ได้รับวิตามินหลอกแต่อย่างใด

ในปี 1996 วารสารฉบับเดิมตีพิมพ์ผลการทดลองเรื่องวิตามินเอและเบตาแคโรทีนออกมา โดยทดสอบกับผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดอันเนื่องมาจากการสูดดมฝุ่นแร่ใยหินหรือเป็นผู้สูบบุหรี่

ระหว่างการทดลอง อาสาสมัครได้รับการร้องขอให้หยุดการรับวิตามินและการศึกษาต้องยุติลง เนื่องจากทีมทดลองพบว่าการรับวิตามินเหล่านั้นกลับไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับมะเร็งปอดร้อยละ 46

ในปี 2004 Cochrane Database เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านสุขภาพ (thecochranelibrary.com)  เผยแพร่รายงาน 14 กรณีศึกษาที่พบว่า การรับประทานวิตามินเอ ซี อี เบตาแคโรทีน หรือแร่ธาตุต่างๆ อาทิ ซีลีเนียม ที่รับประทานเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ กลับไปเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคเหล่านั้นแทน

อีกรายงานที่นำเสนอในเว็บไซต์ Annals of Internal Medicine (annals.org) เมื่อปี 2005พบ 19 การทดลองของอาสาสมัครรวมแล้วเกือบ 136,000 ราย ที่รับการเสริมวิตามินอีแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ผลศึกษาปีเดียวกันในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและเบาหวาน ก็พบความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเชื่อมโยงกับการรับวิตามินอี

ในปี 2011 งานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Medical Association: JAMA พบความเชื่อมโยงระหว่างการเสริมวิตามินอีกับอัตราความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่แปรผันตรงกัน

และเมื่อปี 2013 บทความใน Cochrane Database รายงานว่า เบตาแคโรทีนและวิตามินอี รวมถึงการได้รับวิตามินเอที่มากผิดปกติ อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และบางรายอาจเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้

 

carrots-1

+ ผักผลไม้ช่วยได้?

ประเด็นอนุมูลอิสระ (Free radicals) ได้รับความสนใจจากสาธารณชนตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เนื่องจากมันสามารถทำลายดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมในร่างกาย ทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ และผนังหลอดเลือดแดง นอกจากนั้น พวกมันยังส่งผลต่อริ้วรอยบนผิวหนัง ทำให้ดูแก่ก่อนวัย และเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งและโรคหัวใจ

เพื่อปรับสมดุล ร่างกายจะเป็นฝ่ายสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ขึ้นมา ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระบางส่วนก็สามารถพบได้ในผักและผลไม้ต่างๆ ที่เรารับประทานเข้าไป

แม้จะมีผลวิจัยระบุว่าผู้ที่รับประทานผักผลไม้เป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งและโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานผักผลไม้ก็ตาม แต่ตรรกะดังกล่าวอาจใช้อธิบายไม่ได้เสมอไป เนื่องจาก หากผักผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระ ผู้ที่รับประทานผักผลไม้เหล่านี้ก็น่าจะมีสุขภาพดี และผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินเหล่านั้นก็น่าจะมีสุขภาพที่ดีด้วย แต่จากผลศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นมิได้สรุปหรือยืนยันไปในลักษณะนั้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

salon.com
nytimes.com
plosmedicine.org
hsph.harvard.edu

logo

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า