ด้านมืดของสบู่ฆ่าเชื้อโรค

antibacterial-soap-1

สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่โฆษณาด้วยสรรพคุณ ‘ผสมสารกำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรีย’ อาจฟังดูไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้ร่างกายของเราปลอดภัยได้อีกต่อไป เมื่อผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดบ่งชี้ว่า สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้ร่างกายปราศจากเชื้อโรคได้จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่วนประกอบหลักของสารทำความสะอาดที่มีสรรพคุณฆ่าเชื้อโรคมักมีส่วนผสมของไตรโคลซาน (Triclosan) ซึ่งเป็นสารเคมีในหมู่ฟีนอลที่มีคุณสมบัติหลักในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ไตรโคลซานถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ทั้งในสบู่ ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นๆ อีกมากมาย

ตามปกติแล้ว ความไม่สมดุลในการทำงานของระบบฮอร์โมนในร่างกายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์มะเร็งเต้านมเจริญเติบโตและกลายเป็นเนื้อร้ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine-Disrupting Chemical: EDC) เลียนแบบฮอร์โมนในร่างกายจนทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะภายใน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Chungbuk National University และ Korea Research Institute of Bioscience and Biotechnology ทำการศึกษาควบคู่กันระหว่างการทดสอบเนื้อเยื่อของเซลล์มะเร็งเต้านม และทดสอบกับสัตว์ทดลองที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งเข้าไป พวกเขาพบว่า เมื่อให้หนูและเซลล์มะเร็งเต้านมได้รับสารไตรโคลซาน เซลล์มะเร็งเต้านมจะเจริญเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

รายงานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Chemical Research in Toxicology โดยสมาคมเคมีอเมริกัน  (American Chemical Society: ACS) ฮเย-ริม ลี หัวหน้าทีมวิจัยสรุปว่า ไตรโคลซานเป็นหนึ่งใน EDC ที่ทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดเพี้ยน ซึ่งหากได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและสะสมในร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ จากข้อมูลของทีมนักวิจัยยังพบอีกด้วยว่า มีสารไตรโคลซานตกค้างอยู่ในปัสสาวะของประชากรอเมริกันกว่าร้อยละ 75

นอกจากไตรโคลซาน สารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จำพวกสีและยาฆ่าแมลงอย่าง ออคทิลฟีนอล (Octylphenol) ก็เป็นสาร EDC อีกหนึ่งชนิดที่ทำให้เซลล์มะเร็งเต้านมเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ ไตรโคลซานกลายเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำมาใช้ เนื่องจากมีการค้นพบว่าเมื่อไตรโคลซานทำปฏิกิริยากับคลอรีนในน้ำประปาจะทำให้เกิดก๊าซคลอโรฟอร์มขึ้น ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่มีเสียงคัดค้านว่าการทดลองดังกล่าวต้องมีการควบคุมปริมาณของสารซึ่งเกิดขึ้นได้ยากในความเป็นจริง ไตรโคลซานจึงถูกควบคุมและยังได้รับการอนุญาตให้ใช้จากหน่วยงานของรัฐตามปริมาณที่กำหนดไว้

 

             ที่มา: naturalnews.com

sciencedaily.com

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า