‘สเตียรอยด์’ ดูดวิญญาณ

Medicine-1

ราวกับฟ้าประทาน เมื่อวงการแพทย์ค้นพบสารประกอบตัวยาสำคัญที่ชื่อ ‘สเตียรอยด์’ (Steroid) ซึ่งมีสรรพคุณสุดแสนอัศจรรย์ สามารถบำบัดรักษาโรคภัยได้สารพัด เห็นผลชะงัดทันตา อย่างชนิดที่เรียกว่าเป็นยาครอบจักรวาล

แต่ดูเหมือนสวรรค์มีตา รู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์ยังเต็มไปด้วยความละโมบไม่สิ้นสุด เมื่อประทานของขวัญสุดพิเศษมาให้แล้ว จึงได้วงเล็บข้อแม้ไว้ว่า การใช้ยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ต้องอยู่ในขอบเขตปริมณฑลที่จำกัดไว้เท่านั้น หากนำไปใช้สุ่มสี่สุ่มห้า หรือใช้ยาผิดประเภท เกินเลยข้อบ่งใช้ ยามหัศจรรย์ที่ว่านี้ก็อาจกลายร่างเป็นยาพิษดีๆ นี่เอง

 

เหรียญสองด้านของสเตียรอยด์

ในประเทศไทย สเตียรอยด์ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ครั้งแรกเมื่อปี 2526 หรือราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา

ในทางการแพทย์ สเตียรอยด์มีประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาโรค และมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยในบางกรณีที่ต้องการการรักษาแบบเฉพาะทาง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหอบหืดหรือภูมิแพ้ขั้นรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบฮอร์โมนของร่างกายที่ผลิตจากต่อมหมวกไต ในกรณีที่ร่างกายเจ็บป่วยหรือไม่สามารถสร้างฮอร์โมนดังกล่าวได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ทดแทน

ตามวิจารณญาณของแพทย์จะใช้สเตียรอยด์ก็ต่อเมื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น หรือในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาชนิดอื่น เพราะถือเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง การใช้ยาชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่สเตียรอยด์มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ค่อนข้างสูง แต่ในมุมกลับกันก็มีผลข้างเคียงที่พึงต้องระมัดระวังให้มาก เพราะอาจให้ผลร้ายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากใช้ยาเกินขนาด เกินความจำเป็น หรือกระทั่งใช้ยาผิดประเภท

แม้จะมีสรรพคุณครอบจักรวาลมากแค่ไหน แต่พิษภัยของสเตียรอยด์ก็มีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกระบบเช่นกัน อาทิ การใช้สเตียรอยด์ในปริมาณสูงจะมีผลต่อการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หากเป็นยาชนิดรับประทานจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีผลต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารบางลง ทำลายตับและไต รวมถึงทำให้กระดูกผุ หากเป็นยาทาภายนอกจะมีผลทำให้ผิวหนังบาง และสำหรับการใช้สเตียรอยด์ในเด็กจะมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย

ในระยะเริ่มต้นที่ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์อาจไม่สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติทางกายภาพได้ แต่เมื่อใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติที่พอจะสังเกตได้ง่าย เช่น ใบหน้ากลมอูมเหมือนพระจันทร์ หรือที่เรียกว่า moon face เป็นสิว หน้าแดง มีโหนกที่แก้ม มีหนอกนูนที่คอ ตัวบวม ซึ่งเป็นอาการที่แสดงถึงภาวะเริ่มต้นของไตวาย และถ้าหยุดยากระทันหันยังทำให้เกิดอาการ ‘ลงแดง’ ถึงขั้นเกิดภาวะช็อคได้

สเตียรอยด์มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ ยาวิเศษจะกลายเป็นยาพิษหากใช้อย่างผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

 

Traditional_Medicines-2

 

กระชากหน้ากากนักค้าความตาย

ความน่าสะพรึงกลัวของสเตียรอยด์ไม่ได้เกิดจากส่วนประกอบของตัวมันเอง หากอยู่ที่ความฉ้อฉลของบรรดาพ่อค้าหัวใสที่หากินบนความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

พ่อค้ายาจอมปลอมเหล่านี้จะอาศัยความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่ต้องการหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นช่องทางในการหลอกขายยาปนเปื้อนสเตียรอยด์ รวมถึงบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ที่มักซื้อหายามารับประทานเองก็มักตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชกรชนบท เปิดโปงถึงวิธีการที่ขบวนการค้ายากระทำต่อเหยื่อว่า รูปแบบของความเลวร้ายที่พบเห็นอยู่เสมอคือ การลักลอบผสมสเตียรอยด์ลงในยาแผนโบราณ ยาชุด ยาลูกกลอน ยาประดง ยาผงสมุนไพร ยากษัยเส้น แน่นอนว่าเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุหรือคนชนบทที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม จึงต้องหันมาพึ่งพายาประเภทที่ว่านี้ เป็นเหตุให้ร่างกายได้รับยาสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว

ด้วยสรรพคุณของสเตียรอยด์ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างทันตาเห็น ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นยาวิเศษ ยาเทวดา ยาผีบอก จนมีการบอกเล่ากันปากต่อปาก ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่สามารถแยกแยะได้ว่ายาชนิดนั้นมีอะไรปลอมปนผสมอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยกลยุทธ์การขายอันแยบยลของขบวนการค้ายายังพยายามอวดอ้างสรรพคุณพิสดารแฝงไว้บนฉลาก บ้างอ้างว่ายานี้มีการปลุกเสกเลขยันต์ บ้างต้องบริกรรมคาถาก่อนรับประทาน บ้างติดทองคำเปลวให้ดูขรึมขลังน่าเลื่อมใส เพื่อมอมเมาให้เหยื่อเกิดความเชื่อและศรัทธา

ซ้ำร้ายเข้าไปอีก เมื่อได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้ เหล่าพ่อค้ายาหัวหมอยังซ้ำเติมเหยื่อด้วยการปั่นราคายาเกินจริง ทำให้ดูเสมือนว่ายาดีต้องราคาแพง ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเคยตรวจพบยาน้ำสมุนไพรยี่ห้อดังซึ่งมีการตั้งราคาสูงถึงหลักพันบาท แต่ภายในกลับปนเปื้อนสเตียรอยด์

ภก.ภาณุโชติ เล่าด้วยว่า ยาประเภทนี้จะไม่สามารถวางขายตามร้านขายยาทั่วไปได้ แต่จะใช้วิธีเร่ขายไปตามหมู่บ้านชานเมืองต่างๆ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างเงียบๆ แต่อีกส่วนหนึ่งที่โจ๋งครึ่มไปกว่านั้นคือ มีการโฆษณาผ่านทางวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตามล้างตามเช็ดได้หมด

หนทางหนึ่งที่พอจะช่วยได้คือ หากประชาชนพบเห็นพฤติการณ์อันไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ต้องช่วยกันแจ้งเบาะแส เพื่อชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ กวาดล้าง และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

“ลำพังเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียวย่อมไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ฉะนั้นประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อจะขยี้ปัญหาให้ตรงจุด” ประธานชมรมเภสัชกรชนบท ระบุ

 

เช็คสต็อกยา-ตัดวงจรแพร่ระบาด

แน่นอนว่า การตรวจสอบ ปราบปราม และจับกุม เป็นวิธีหนึ่งของการกำจัดขบวนการค้ายาปนเปื้อนสเตียรอยด์ ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้เจ้าหน้าที่จะมีปฏิบัติการที่เข้มข้นเพียงใด แต่ก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายทาง

ประธานชมรมเภสัชกรชนบท เสนอว่า การควบคุมที่ต้นตออาจเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยตัดวงจรอุบาทว์นี้ได้ โดยเฉพาะการสร้างกลไกควบคุมเชิงระบบ ซึ่ง อย. จะต้องวางกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในการจำกัดปริมาณสเตียรอยด์ไม่ให้รั่วไหลออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดลักลอบนำไปผสมเป็นยาเถื่อนอีก

เปรียบเทียบให้ภาพชัดๆ เช่น กรณียาแก้หวัดสูตรผสม ‘ซูโดอีเฟดรีน’ (pseudoephedrine) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเช่นเดียวกับยาเสพติดประเภทอื่นๆ และเป็นสารตั้งต้นที่สามารถนำไปผลิตยาบ้าได้ ทำให้ที่ผ่านมาเกิดการรั่วไหลเป็นจำนวนมาก จนท้ายที่สุดกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาล้อมคอกด้วยการจัดระบบควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น

“หลักการเบื้องต้นคือ อย. ต้องมีระบบตรวจสอบว่า มีการนำเข้าสเตียรอยด์เข้ามาในประเทศจำนวนเท่าไหร่ ผลิตเป็นยากี่เม็ด และขายไปเท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะต้องสมดุลกัน และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ผมเชื่อว่า อย. คงพอจะมีข้อมูลนี้อยู่ แต่ยังไม่ได้เอาข้อมูลมาเชื่อมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าสามารถวางระบบนี้ได้ การติดตามของเจ้าหน้าที่ก็จะง่ายขึ้น เพราะสเตียรอยด์ไม่ได้หล่นจากฟ้า แต่มันมาจากคน เพียงแต่ว่าคนจะเอามาจากตรงไหนเท่านั้นเอง”

ขณะเดียวกัน ในการทำงานระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับจังหวัดจะต้องสร้างกลไกตรวจสอบเฝ้าระวังในจุดต่างๆ ที่มีความเสี่ยง ส่วนปลายทางคือ ตัวผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะต้องทำงานในเชิงรุกให้มากขึ้น โดยการให้ข้อมูลความรู้ในการใช้ยาอย่างถูกต้องแก่คนในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง

 

gjdarpfm2g

 

บูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวัง

ในแวดวงเภสัชกรรมของไทยมีการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สเตียรอยด์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนนำมาสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ที่ระบุว่า ยาชุดเป็นยาผิดกฎหมาย รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลายยุคหลายสมัยก็ได้มีการประกาศเตือนภัยสเตียรอยด์มาโดยตลอด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการแพร่ระบาดและเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ไปได้

“จะเห็นได้ว่าหน่วยงานรัฐยังทำงานในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ ยังขาดการบูรณาการ ทำแบบครั้งคราว แม้มีประกาศนโยบายและแผน แต่กลับขาดการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจึง ถือเป็นการประกาศนโยบายซ้ำซาก” ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์บทบาทการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในอดีตที่ผ่านมา

ด้วยเหตุที่ปัญหายังไม่ได้รับการสะสาง ปี 2553 กพย.จึงลุกขึ้นมาขับเคลื่อนโดยบูรณาการการทำงานระดับพื้นที่ โดยร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน ชมรมเภสัชกรชนบท สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ สมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านและภาคี จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อการใช้ยาสเตียรอยด์ให้ปลอดภัยและเหมาะสม

เป้าหมายของโครงการนี้วางไว้ 3 ระดับ หนึ่ง-ต้นน้ำ คือการควบคุมที่วัตถุดิบ การกำหนดรูปลักษณ์ยาสเตียรอยด์ให้มีรูปแบบเดียว เพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นสเตียรอยด์ รวมทั้งพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและปรับปรุงมาตรการทางกฎหมาย

สอง-กลางน้ำ คือการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการสำรวจปัญหาในพื้นที่และการดำเนินการตามกฎหมาย

สาม-ปลายน้ำ คือการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค และให้มีการดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบการปลอมปนสเตียรอยด์ในระดับพื้นที่

ทางด้าน ภก.ภาณุโชติ ระบุเพิ่มว่า แม้ปัญหาการแพร่ระบาดของสารสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมจะไม่สามารถขจัดลงได้ง่ายในเร็ววัน แต่หากมีการดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายที่ร่วมกันเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ก็จะช่วยลดทอนความรุนแรงของปัญหาลงได้ จนสามารถจัดการความเสี่ยงมิให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงจะอุดช่องโหว่ในการแพร่ระบาดของสเตียรอยด์ได้

“ในอนาคตถ้าเราจะยกระดับยาแผนโบราณและยาสมุนไพรต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับก็ต้องช่วยกันพัฒนาต่อยอด เพียงแต่พัฒนาอย่างเดียวไม่พอ มันต้องสร้างระบบป้องกันและจัดการสิ่งที่ไม่ดีออกไป คนจึงจะเชื่อถือมากขึ้น ถ้าคนไทยหันมานิยมยาแผนโบราณที่ดีๆ เงินทองก็ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และสิ่งนี้จะช่วยให้เราพึ่งพาตนเองได้”

ปัญหาการแพร่ระบาดของสเตียรอยด์จึงนับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบยาทั้งระบบ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นอย่างครบวงจร

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า