รักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังเสี่ยง

stemcell-1

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าด้านการสาธารณสุขทั่วโลกมีแนวโน้มพัฒนาไปข้างหน้าอย่างชัดเจน หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งก็คือ โลกกำลังจะต้องรับมือกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

เทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือที่รู้จักกันในนามของการทำสเต็มเซลล์ (Stem Cell Theraphy) นั้น มีการทดลองและรับรองผลการรักษาในโรคทางโลหิตวิทยาและมะเร็งบางชนิดตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มันคือความหวังเดียวของผู้ป่วยที่เชื่อว่าสักวันหนึ่งจะสามารถหายขาดจากอาการป่วยที่เป็นอยู่ ปัจจุบัน ยังมีคนไข้ที่ป่วยด้วยอาการอื่นๆ ตัดสินใจเข้ารับบริการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ด้วยความหวังว่าจะหายจากอาการป่วยเสียที

นอกจากนั้น สเต็มเซลล์ยังกลายเป็นคำตอบของหญิงสาวและผู้รักความสวยความงามในยุคนี้ เนื่องจากเชื่อว่าการฉีดสเต็มเซลล์จะช่วยคงความอ่อนเยาว์ให้ผิวพรรณและร่างกาย แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันความจริงในข้อนี้อย่างชัดเจน

 

stemcell-2

 

ออสเตรเลียเตือนประชาชน

ทีมนักวิจัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 8 มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำในนาม Stem Cells Australia เป็นห่วงในเรื่องการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ทดลองกับคนไข้โดยตรง เพราะผลการรักษาโดยสเต็มเซลล์ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ทั้งที่มีบริการแพร่หลายในออสเตรเลีย สหรัฐ และเกือบทั่วโลก

พวกเขาให้ข้อมูลว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis: MS) และพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) มีแนวโน้มถูกชี้นำให้เข้ารับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งมีสนนราคาอยู่ที่ 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่แทบพิสูจน์ไม่ได้ว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์

เมื่อเทียบกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ติดเชื้อ ไปจนถึงเกิดการเจริญของเซลล์ที่ผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกหรือเนื้อร้าย มาร์ติน เปรา หัวหน้าทีม Stem Cells Australia เสนอให้คนไข้ลองชั่งน้ำหนักเทียบกันดู

กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียเองก็ออกประกาศเตือนประชาชนเรื่องการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองผลชัดเจน วอร์วิค แอนเดอร์สัน หนึ่งในสภาสุขภาพและการแพทย์นานาชาติ (National Health and Medical Research Council: NHMRC) กล่าวว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ต้องผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการที่ยืนยันผลสัมฤทธิ์ทางการรักษาก่อนจะเปิดให้บริการต่อสาธารณะอย่างจริงจัง

ในสหรัฐ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยด้านสเต็มเซลล์อย่างแพร่หลาย จากฐานข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) ระบุว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเกือบ 2,000 ชิ้น (สืบค้นจาก clinicaltrials.gov) ก็ยังไม่อาจยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่นอกเหนือจากโรคเกี่ยวกับเลือดและมะเร็งได้

ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างอุตสาหกรรมสเต็มเซลล์ออกมาโต้ว่า มีหลักฐานยืนยันว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ปลอดภัยแน่นอน เนื่องจากเซลล์ที่ฉีดกลับเข้าไปในร่างกายคนไข้ไม่ใช่เซลล์แปลกปลอมแต่อย่างใด เพราะเป็นการนำเซลล์ของคนไข้แต่ละรายที่ได้เซ็นชื่ออนุญาตให้ทำการรักษาเรียบร้อยแล้ว

 

stemcell-4

 

สเต็มเซลล์เมืองไทย

ในเมืองไทย กฎหมายอนุญาตให้ใช้สเต็มเซลล์เฉพาะการรักษาโรคในระบบโลหิตวิทยาและมะเร็งบางประเภทเท่านั้น

“ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคในระบบเลือด ซึ่งก็คือการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ทำกันมานานแล้ว” วีระพงษ์ ประสงค์จีน เภสัชกรปริญญาเอกผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์ต้นกำเนิดให้ข้อมูล

จากข้อมูลของแพทยสภา ยกตัวอย่างโรคหรืออาการที่ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ได้แก่ โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia),  โรคโลหิตจางพันธุกรรม (Thalassemia),  มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง (leukemia), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และมะเร็งในเซลล์พลาสมาชนิดมัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma: MM)

แม้ค่ารักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกจะสูงมาก แต่ผู้ป่วยก็มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ค่อนข้างครอบคลุม ไม่ว่าจะอยู่ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคม โดยผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการสามารถทำรายการเบิกจ่ายตรงได้ กรณีของผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะได้รับค่าชดเชยแบบเหมาจ่าย 800,000 บาท ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายให้ผู้ประกันตนในอัตรา 750,000 บาทแก่สถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดกระบวนการ

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์สเต็มเซลล์ในแง่การฟื้นฟูและเสริมความงาม และรักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ไม่มีการรับรองผลอย่างเป็นทางการ พวกเขาจึงต้องดั้นด้นและเดินทางไปเข้ารับการรักษาในประเทศที่เปิดให้บริการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อาทิ สหรัฐ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้

การนำสเต็มเซลล์มาช่วยรักษาความงามนั้น วีระพงษ์มองว่าเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เขายืนยันว่าเครื่องสำอางที่อ้างว่ามีส่วนผสมของสเต็มเซลล์เป็นการดูถูกสติปัญญาของผู้บริโภค เพราะการที่จะสามารถรักษาชีวิตของสเต็มเซลล์เอาไว้ได้ เครื่องสำอางเหล่านั้นจะต้องอยู่ในสภาวะควบคุมทั้งอุณหภูมิ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นไปไม่ได้แน่นอนที่จะสามารถคงชีวิตของสเต็มเซลล์เอาไว้จนถึงมือผู้บริโภค

ขณะที่การดูดเซลล์ไขมันในร่างกายออกมาแล้วฉีดเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดกลับเข้าไปในตัวคนไข้เพื่อชะลอริ้วรอย วีระพงษ์เตือนว่าถ้ายังไม่มีรายงานวิจัยรับรอง อย่าเพิ่งเอาตัวเข้าไปเสี่ยงทดลองจะดีที่สุด พร้อมแนะนำว่า การเสริมสร้างสเต็มเซลล์ใหม่ที่ดีที่สุดทำได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ผู้บริโภคพึงตระหนักไว้เสมอคือ ดาบสองคมของเซลล์ต้นกำเนิด ที่สามารถแบ่งตัวเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ ก็สามารถแบ่งตัวขยายจำนวนขึ้นมาเป็นเนื้อร้ายได้เช่นเดียวกัน

 

ที่มา: abc.net.au

nhmrc.gov.au

stemcellsaustralia.edu.au

สนับสนุนโดย

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า