อังคาร กัลยาณพงศ์: ห้วงยามสังขารเสื่อม หัวใจพระพุทธยังอยู่มิเสื่อมคลาย

เรื่อง: พรเทพ เฮง
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

แดดเดือนเมษาฯร้อนระอุเผาผิวเนื้อปานจะมอดไหม้ เปลวของไอร้อนที่ต้องฝ่าไปแต่เมื่อเข้าสู่ร่มเงาชายคาบ้านของ อังคาร กัลยาณพงศ์ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่าท่านอังคารก็รู้สึกได้ถึงไอแห่งความร่มเย็นสุขสงบเข้ามาผ่อนคลาย

ท่านอังคารเป็นศิลปินที่เป็นเลิศเอกอุทั้งงานด้านจิตรกรรมและกวีนิพนธ์ ซึ่ง .ศิวรักษ์ ยกย่องให้เป็น 1 ใน10 บุคคลที่มีอิทธิพลต่อคนไทยในรอบ 1,000 ปีไม่จำเป็นต้องพูดถึงรางวัลซีไรต์สาขากวีนิพนธ์ในปี 2529 หรือการได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ในปี 2532

บ้านที่ท่านอังคารซึ่งมีวัยย่างเข้า 81 ปีพักอยู่อาศัยกับครอบครัวนั้น แวดล้อมมากมายด้วยภาพเขียนจิตรกรรมที่เป็นงานของท่านเอง ดูเหมือนไม่เป็นระเบียบแต่มีจังหวะและลมหายใจของมันเองเป็นความงามในอีกรูปแบบหนึ่ง

เดินย่างก้าวมาอย่างสงบแล้วนั่งลงหัวโต๊ะอย่างเนิบนิ่ง ใบหน้าอิ่มเอิบเอื้อนเอ่ยวาจาช้าๆ แต่มั่นคง ท่านอังคารเริ่มต้นพูดคุยถึงชีวิตของตัวเอง

ผมเรียนมาทางจิตรกรรมประติมากรรมไม่ได้เรียนอย่างอื่นหรอก เรียนหนังสือหนังหามาความสุขก็ไม่ได้คิดหรอก แต่ก่อนผมไม่มีบ้านอยู่ เป็นนักย้ายบ้านตัวยง ตอนสมัยเรียนก็ไม่ค่อยมีตังค์ อดๆ อยากๆ สมัยรีเสิร์ชกับอาจารย์เฟื้อ (เฟื้อ หริพิทักษ์) ก็ลำบาก ไปอยู่ทุกบ้านทุกเมือง แต่ว่าแต่ละเมืองก็ไปอยู่ในที่กันดารในป่าในดงจนเคยชิน วัยหนุ่มส่วนมากอยู่กับปูชนียสถาน โบราณสถาน

แววตาที่ระยิบระยับเมื่อเท้าความหลังครั้งวัยหนุ่มให้ฟังอย่างยืดยาว โดยเฉพาะการผจญภัยบุกเบิกในแหล่งโบราณสถานทั้งที่พระนครศรีอยุธยา, สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, กำแพงเพชร, เพชรบุรี ซึ่งเป็นเบ้าหลอมเพาะบ่มให้แกร่งกล้า

ชีวิตของผมก็ออกศึกษาค้นคว้าอย่างนี้สองคนกับอาจารย์เฟื้อ วัยหนุ่มก็ใช้ชีวิตทำงาน ว่างก็เขียนรูป ปัจจุบันก็เขียนรูปเรียนหนังสือ ส่วนมากผมเรียนหนังสือหลายชนิด เรียนให้มันรอบรู้ขึ้นมา เรียนเพื่อเอาวิชาเรียนประวัติศาสตร์ เรียนทุกเรื่องแหละ

ผมไม่ทำอะไรหรอก ถ้าว่างก็เรียนหนังสือ หนังสือเยอะแยะยังอ่านไม่จบ เรียนทุกอย่างที่เป็นหนังสือดีๆ ที่เขาเรียก สุ จิ ปุ ลิ หัวใจอยู่ตรงนั้นต้องเรียนสิแบบพระราหุล ตอนเช้าทุกเช้าท่านจะกอบทรายขึ้นมาแล้วโปรยตั้งปณิธานว่าวันนี้จะเรียนวิชาจากครูบาอาจารย์ให้มากที่สุด มันไม่ไหวหรอกถ้าไม่เรียน พูดอยู่เรื่อยเหมือนเราฉลาด ไม่ได้คิดว่าเราฉลาดหรอก แต่ว่าเราอย่าไปโง่ก็แล้วกัน

กิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้นอกจากอ่านหนังสือ ท่านอังคารบอกว่าตื่นนอนขึ้นมาก็เขียนรูปและกวีนิพนธ์

ตื่นแต่เช้าก็ต้องดรออิ้งเอาชาร์โคล (แท่งถ่านสำหรับวาดรูป) มาวาดรูปคนมันต้องฝึกออกกำลังนิ้ว สายตาเราก็เสื่อมลงไม่ค่อยดีก็ต้องฝึก ต้องฝึกทุกอย่าง คนไม่ค่อยรู้หรอกว่าผมเขียนรูปอยู่ตลอดเวลา กวีก็ทำเอาเอง กวีไม่ได้เรียนที่ไหนหรอกเรียนด้วยตัวเอง กวีเขาไม่ได้สอนหรอก ปกติบทกวีคนก็อ่านไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว สำคัญบางคนไม่อ่านหรอก เอาไปพับถุงหน้าตาเฉย พับถุงฝรั่งดอง

บางคาบพระจันทร์พระอาทิตย์ยังถูกราหูอมเลย ประสาอะไรกับมนุษย์ที่จะไม่เกิดแก่เจ็บตาย ไม่ถูกชราพยาธิมรณะเบียดเบียน นั่นคือมรณานุสติที่ท่านอังคารบอกเล่าถึงแม้จะผ่านอาการเจ็บป่วยมาหลายครั้งแบบหนักหนาก็ตาม

ตอนนั้นที่เจ็บป่วยมากๆ ก็ไม่ได้ทำงาน แต่ป่วยคราวที่แล้วทำบนเตียงพยาบาล ชุดกวีนิพนธ์นครศรีธรรมราชก็เขียนตอนอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ บังเอิญโชคดีได้อยู่ห้องพิเศษ หมอเขาช่วยได้ห้องพิเศษ บางทีก็นั่งแต่งหนังสือได้โรคภัยก็ไม่มีอะไร ก็รักษาไปสิ แก่แล้วก็เป็นหลายโรค แก่แล้วไม่ต้องห่วงหรอก มันเป็นอุทยานของโรค โรคต่างๆ ก็มาอยู่กันตรงนั้น มีเบาหวาน หัวใจ ตับ เยอะแยะ อะไรที่เป็นโรคคนแก่ สังขารมันก็เสื่อมสิ

อังคาร กัลยาณพงศ์

ความสุขของท่านอังคาร ก็คือการศึกษาทางพุทธศาสนา ความสุขแบบโลกียชนซึ่งคนทั่วไปเขาเรียกความสุขการปรุงแต่งทางจิต อย่างนั้นไม่ใช่เส้นทางที่จะเดินไป

ความสุขจริงๆ ต้องเข้าใจเรื่องของพระพุทธเจ้า ก็หามาสิ ท่านเจ้าคุณมหาประยุทธ์ปยุตโต ท่านแต่งไว้เล่มใหญ่ พุทธธรรมซื้อเอามาอ่านถูกกว่าเบียร์เสียอีก เบียร์กี่ขวดล่ะพุทธธรรมนั่น แต่กินเบียร์ก็ดีเหมือนกันมันได้เป็นนายพล กินโหลหนึ่งก็ขึ้นเป็นพลตรี อีกโหลหนึ่งหาเมียน้อยขึ้นเป็นพลโท ดีของวิธีเบียร์ไม่รู้จะพูดอย่างไร

ชีวิตมีความสุขในช่วงที่เรารู้จักพระพุทธเจ้า ทำวิปัสสนามีสมาธิจิต เวลาทำวิปัสสนาจิตใจได้สมาธิบ้าง ในปรโลกเขาก็รู้ คือปิศาจมาหาก็แล้วกัน ปิศาจมาขอส่วนบุญมาข่วนผนัง วันที่เราปฏิบัติธรรมแล้วจิตได้สมาธิเห็นนิมิตทิพย์อะไรมันมีความสุข คือผมพูดไปก็ลำบาก ชาติก่อนผมเป็นพระพรหมมา หลักของพระพรหมคือว่า สัตว์ไหนที่มาจากพรหมโลก แม่จะกินดิน แม่จะหิวดิน เวลาตั้งท้องเขามีหลักอยู่สัตว์ต่างๆ ที่จะมาปฏิสนธิหรือมาเกิด ถ้าแม่อยากกินดิน สัตว์นั้นมาจากพรหมโลก

แล้วงานที่ผมทำนี่เป็นงานนฤมิตกรรมทั้งนั้น ทีนี้ผมเองต้องมาเป็นปุถุชน มันก็ลืมฌานลืมสมาธิเดิม มายุ่งอยู่กับกิเลสมนุษย์ กิเลสที่เขาเรียกมารกิเลสต่างๆ โลภโกรธหลง เพียงแต่ว่าถ้าชาตินี้เรารู้จักกิเลส เราก็ปราบลงให้มันดี ให้มันเหลือน้อยทุกอย่าง ทั้งโลภหรืออะไรต่างๆ รู้จักสันตุฏฐี (สันโดษ) บ้าง โกรธหลงอะไรอยู่ในตัวเราทั้งนั้นแหละ ถ้าเรารู้จักพระพุทธเจ้า เราก็กำราบลงได้ เอาบารมีของพระองค์พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์มากำราบ รู้จักกรรมรู้จักผลของกรรม รู้จักการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า รู้จักพุทธศิลป์อะไรด้วยนี่แหละ เป็นวิถีทางของความสุข

ท่านอังคารย้ำว่ามนุษย์ยังไม่มีความสุขจริงหรอก มีหนี้มีสินเยอะแยะ อยู่ในป่าดอกเบี้ยจะมีสุขอะไร ป่าดอกเบี้ยหล่นใส่หลังเป็นรูหมด

บอกว่าหลงป่าดอกเบี้ยมีความสุขเหรอ ดีไม่ดีหลงไปในธนาคาร ไปเจอผีดิบดูดเลือดหมดเลย ไม่มีโลหิตเหลือซีด พอออกมาซีดนั่นหรือคือความสุข คนที่หลงป่าดอกเบี้ยมันไม่มีความสุข มนุษย์จะไปรู้จักความสุขอะไร ความสุขมันต้องไปบวชเป็นสมณะ เป็นพระแบบพระสารีบุตร นั่นถึงจะมีความสุข เป็นพระโมคคัลลาน์อย่างนี้ เหาะขึ้นไปข้างบนตรงทางช้างเผือก เอาเม็ดพันธุ์ผักกาดเต็มฝาบาตรไปหยอด ไม่ใช่พวกที่ดัดจริตพูดความสุข

ด้วยความเป็นกันเองและจิตใจที่สงบเยือกเย็นพร้อมมีอารมณ์ขันอยู่ลึกๆ ท่านอังคารสรุปแบบขำๆ ถึงชีวิตว่า

ผมไม่ทำอะไรหรอกนอกจากเรียนหนังสือ แต่งกลอนแต่งโคลง เขียนรูป ทำอะไรก็ไม่ทันแล้ว โลงก็ต้องไปจ้างเขา เดี๋ยวนี้ไม้ทำโลงก็หายากแล้ว ไม้สักก็จะหมดแล้ว

*****************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ happy together / way#07 / เมษายน 2550)

 

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า