เทคโนโลยีการเกษตรในอิสราเอล

 

 

1

เรื่อง: อุบลทิต จังติยานนท์

 

ทุกคนรู้อิสราเอลว่าเป็นประเทศที่อยู่ในแถบตะวันออกกลาง แต่ใครจะรู้บ้างว่า จากพื้นที่ 20,000 ตารางกิโลเมตรนั้น มีพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถเพาะปลูกเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และอย่างที่กล่าวไป 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยทะเลทราย ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้นจัดว่าเป็นพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประเทศนั้นก็จะมาอาศัยอยู่ในส่วนนี้นี่เอง

การพัฒนาภาคการเกษตรของอิสราเอลจัดว่าเป็นการพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้อง จนนำมาซึ่งเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การย่อยสลายแบบไร้อากาศ ระบบการปลูกพืชในเรือนกระจก รวมทั้งการวิจัยการเกษตรในทะเลทราย (desert agriculture) และการกำจัดเกลือ (Desalinity) เป็นต้น จึงทำให้อิสราเอลได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น ส่งผลให้หนึ่งในสามของผลผลิตที่ได้สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเลยทีเดียว

เรามาดูกันต่อว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้อิสราเอลเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรกันดีกว่า

 

4.1

 

น้ำและระบบชลประทาน

ประเทศอิสราเอลมีทะเลทรายปกคลุมเสียมากกว่าครึ่ง ส่วนแหล่งน้ำของประเทศก็มีแต่ทะเล ทั้งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเดดซี อิสราเอลจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการกลั่นน้ำเค็มและการรีไซเคิลน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำจืดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ขณะเดียวกัน หากมีฝนตก น้ำที่ได้ก็จะถูกเก็บกักไว้ที่อ่างเก็บกักน้ำที่ได้สร้างไว้ตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ก็อย่างว่านะ…น้ำในประเทศเหล่านี้อาจเทียบได้กับทองทีเดียว เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้อย่างคุ้มค่ากันหน่อย สำหรับน้ำจืดจริงๆ นั้นจะถูกกันไว้สำหรับกิจกรรมเฉพาะ เช่น ใช้เพื่อการบริโภคอุปโภค การท่องเที่ยว ตกปลา และพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น และในพื้นที่ที่แห้งแล้งมากๆ จริงๆ น้ำเพื่อการเกษตรนั้นจะถูกจัดสรรสู่แหล่งเพาะปลูกภายใต้ระบบปิดเท่านั้น เพื่อลดการสูญเสียน้ำระหว่างการส่งผ่านให้เกิดน้อยที่สุด

สำหรับอีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือระบบชลประทาน ระบบชลประทานที่ขึ้นชื่อมากของประเทศอาหรับแห่งนี้ก็คือ ระบบชลประทานน้ำหยด (Drip irrigation หรือบางครั้งเรียกว่า trickle irrigation) ที่มีประสิทธิภาพการจ่ายน้ำ 90 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น เมื่อเทียบกับระบบน้ำฉีดน้ำฝอย (Springer) ที่จะมีประสิทธิภาพการจ่ายน้ำเพียง 75-85 เปอร์เซ็นต์ หลักการก็คือ การปล่อยน้ำแบบหยดติ๋งๆ ให้ซึมไปเรื่อยๆ ซึ่งวิธีนี้นั้นเหมาะกับประเทศแถบทะเลทรายเป็นอย่างมาก เพราะอย่างแรก น้ำที่หยดไปแต่ละหยดนี้จะถูกซึมซับเข้าสู่เนื้อดินอย่างรวดเร็วก่อนที่จะระเหยไป และอย่างที่สองก็คือ เป็นการใช้น้ำอย่างตรงเป้าหมาย (ซึ่งก็คือรากของพืช) อย่างสุดๆ ไม่ได้ฉีดน้ำกระจายไปทั่ว โดนบ้างไม่โดนบ้าง อันนี้ก็เป็นการสิ้นเปลืองน้ำไปมากกว่า แต่ระบบชลประทานน้ำหยดจะทำให้พืชได้รับน้ำแบบชัวร์ๆ เน้นๆ สุดๆ กันไปเลย

4.2

 

การวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและพันธุ์พืช

เพราะอิสราเอลเป็นประเทศเกษตรกรรมเข้มข้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศแถบทะเลทรายให้มากที่สุด โดยพืชนำเข้า (ตั้งแต่ประมาณสองทศวรรษที่แล้ว) ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของอิสราเอลไปแล้ว ก็คือ โจโจบา (Jojoba) ซึ่งน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดของมันจะถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง กระบองเพชรไร้หนามที่มีชื่อว่า Tuna (Opuntia) นั้น ใบของมันสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ และผลของมันก็เป็นผลไม้เศรษฐกิจด้วย และที่ขึ้นชื่อในตลาดยุโรปที่สุดก็คือ มะเขือเทศอิสราเอล นอกจากเจ้าสามตัวที่เป็นพืชทำเงินให้อิสราเอลแล้ว อิสราเอลยังมีรายชื่อสายพันธุ์พืชอีกมากมายที่มีการพัฒนาทางพันธุกรรม เพื่อให้มีความสามารถในการทนต่อน้ำเค็ม ทนดินแล้งและโรคพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ความร่วมมือของสถาบันต่างๆ

เนื่องจากปัจจัยสำคัญของพืชส่งออกนั้นคือเรื่องของคุณภาพ ประกอบกับข้อจำกัดต่างๆ ในการเพาะปลูกในพื้นที่อันแห้งแล้งนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรชั้นสูง (advanced agro-technologies) ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องมีการปรับตัวให้มีความรู้ความสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากมากในการให้ความช่วยเหลือด้านการให้ความรู้ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การตั้งกลุ่มในชุมชน การสนับสนุนบทบาทของสตรี และการนำผลงานวิจัยต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่จริง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันภาครัฐยังให้ความสนใจในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตร (agro-industry) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (agro-tourism) รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีระบบเกษตรกรรมที่ล้อมรอบเขตเมือง (peri-urban agriculture) และการสร้างความเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกร (farmer entrepreneurship) เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนอีกด้วย

หันกลับมามองที่บ้านเรา จริงๆ ก็คงมีระบบแบบนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่เพื่อให้เป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรในทำนองแบบนี้คงต้องเอามาปรับใช้กันบ้างละมัง.

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Horizon  ฉบับที่ 6

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า