เลิกบุหรี่ไม่ต้องรอปีใหม่

quit-smoking

 

รายงานจากทีมวิจัย Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health พบว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่นิยมเริ่มเลิกบุหรี่ในช่วงต้นเดือนมกราคม ทั้งนี้ทีมวิจัยติดตามผลการค้นหาในเว็บไซต์กูเกิลตั้งแต่ปี 2008-2012 ด้วยคำค้น ‘เลิกบุหรี่’ (help quit smoking)

คนส่วนใหญ่ที่ค้นข้อความเลิกบุหรี่ในอินเทอร์เน็ต มักค้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยพบสถิติการค้นหามากที่สุดในวันจันทร์ และผลการค้นหา 6 ภาษา มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน ทั้ง ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน โปรตุเกส รัสเซีย และสเปน การให้ข้อมูลหรือช่วยเหลือให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ในวันจันทร์น่าจะได้ผลที่สุด

ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ความตั้งใจเลิกบุหรี่จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จอห์น เอเยอร์ส หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานดีเอโก (San DiegoStateUniversity) พบความเป็นไปได้นี้ แต่ปัญหาคือ ปีใหม่มีเพียง 1 วันต่อปี ขณะที่วันจันทร์ถือเป็นวันเริ่มต้นใหม่ของทุกๆ สัปดาห์

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) หนึ่งในหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ ประมาณการณ์ว่า นักสูบ 1.6 ล้านรายมีความพยายามเลิกบุหรี่ จากโครงการ ‘Tips From Former Smokers’ โดย CDC ให้ข้อมูลว่า มีประชาชนกว่า 200,000 รายได้รับอิทธิพลจากโครงการและตั้งใจจะปรับพฤติกรรมตนเอง ทีมของ CDC ยังสรุปด้วยว่า นักสูบกว่า 100,000 รายมีความตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่ตลอดชีวิต

“การเลิกสูบเป็นเรื่องยากก็จริง แต่ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับอดีตนักสูบด้วย” ทอม ฟรายเด็น ประธาน CDC กล่าว อย่างไรก็ตามฟรายเด็นยอมรับว่า ผู้สูบบางรายอาจจะต้องใช้ความพยายามหลายครั้งกว่าจะสามารถเลิกได้เด็ดขาด

ผลสำรวจผลตอบรับของนักสูบก่อนและหลังโครงการเลิกบุหรี่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Lancet ระบุ เกือบร้อยละ 80 ของนักสูบ และเกือบร้อยละ 75 ของผู้ไม่สูบ จำได้ว่าตนเคยดูโฆษณาเพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงรณรงค์โครงการตลอด 3 เดือน

รายงานปี 2012 ระบุระหว่างการรณรงค์โครงการ มีโทรศัพท์เข้าไปยังสายด่วนเลิกบุหรี่ถึง 2 เท่าของช่วงเวลาปกติ ทั้งนี้ รวมถึงการเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2011

ทิม แม็คอาฟี ผู้อำนวยการด้านสุขภาพของ CDC ซึ่งดูแลเรื่องบุหรี่โดยตรง ให้ความเห็นว่าการรณรงค์ประชาสัมพันธ์โครงการเลิกบุหรี่ในครั้งนี้ เป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่า ผลศึกษาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถช่วยรักษาชีวิตนักสูบไว้ได้ในราคาที่น้อยกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน

กว่า 8,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คืองบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่บริษัทอุตสาหกรรมยาสูบใช้ในแต่ละปี โครงการให้ความรู้ผู้สูบด้วยประสบการณ์ตรงจากอดีตคนที่เคยและไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนแต่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรง (ที่ผ่านการวินิจฉัยแล้วว่ามาจากบุหรี่) ที่ใช้งบประมาณไป 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงสามารถสร้างแรงกระตุ้นจนนำไปสู่ความตั้งใจจะเลิกบุหรี่อย่างจริงจังของผู้สูบ

เดือนมกราคม 2014 ที่กำลังจะมาถึง ถือเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี ที่มีการเผยแพร่รายงานด้านสุขภาพและผลกระทบจากการสูบบุหรี่อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก โดยได้ข้อสรุปที่ยืนยันว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตและอาการเจ็บป่วยในสหรัฐ จากสถิติพบผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากบุหรี่ 1,200 คนต่อวัน

 

ที่มา: consumeraffairs.com

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า