โลกที่ประกอบด้วยน้ำ

drinking-water-2

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าพื้นที่ผิวร้อยละ 71 บนโลกคือน้ำ ‘น้ำ’ คือสิ่งที่ฟังดูเหมือนไม่น่ามีปัญหาอะไรใหญ่โต สำหรับประเทศที่แค่ใช้มือเปิดก๊อกก็มีน้ำไหล มีฝน น้ำในแม่น้ำหลายสายก็ยังมีคุณภาพไม่เลวร้าย ในวันสงกรานต์เราก็ยังสามารถเอาน้ำมา ‘กราดยิง’ กันต่างกระสุนได้ เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีน้ำ ถ้าจะให้ดู ‘ไฮ’ กว่านั้น การควักกระเป๋าเสียเงินมากหน่อยเพื่อแลกกับน้ำแร่จากแหล่งธรรมชาติสุดขอบโลก ก็เป็นเรื่อง ‘จิ๊บๆ’

แต่ในภาพรวมของโลก น้ำที่สามารถบริโภคได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีเพียงร้อยละ 0.3 สถานการณ์การเข้าถึงน้ำสะอาดดูเหมือนจะไม่ชุ่มฉ่ำและโรแมนติกสักเท่าไหร่…ตอนนี้จะเดินไปหยิบน้ำแร่จากตู้เย็นมานั่งอ่านข้อมูลเหล่านี้ไปด้วยกันก็ได้

 

ตัวเลขของน้ำ

จากข้อมูลของ water.org ระบุว่า

  • ในแอฟริกา ประชากรประมาณ 345 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
  • ในอเมริกาใต้ ประชากรประมาณ 32 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
  • ในเอเชียกลาง ใต้ และตะวันตก ประชากรประมาณ 196 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
  • ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงบางประเทศในโอเชียเนีย ประชากรประมาณ 200 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
  • ส่วนประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็ยังมีประชากรรวมกันกว่า 10 ล้านคนที่ยังประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ

รวมตัวเลขทั้งหมด คือ ‘783 ล้านคน’ ที่ไม่มีโอกาสเอาน้ำมาสาดเล่น มากกว่าประชากรของประเทศสหรัฐถึง 2 เท่าครึ่ง และการอาบน้ำฝักบัวเพียง 5 นาที ก็ใช้น้ำในปริมาณเทียบเท่ากับที่ 1 ใน 783 ล้านคนสามารถดื่มได้ทั้งวัน

…ทีนี้ดื่มน้ำเปล่าในมือคุณให้หมดแก้วแล้วอ่านต่อ

ในแต่ละปี ประชากรโลกประมาณ 3.4 ล้านคนต้องตาย – ไม่ใช่เพราะขาดน้ำ แต่แหล่งน้ำที่พวกเขาใช้ดื่มกินนั้นไม่มีคุณภาพและความสะอาดเพียงพอ แหล่งน้ำที่พอหาได้ตามมีตามเกิดนั้นจึงเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคมากมายและร้อยละ 99 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับกรณีเลวร้ายสุดๆ พวกเขามีอยู่แค่ 2 ทางเลือก หนึ่ง – ขาดน้ำแล้วตายวันนี้ สอง – ยอมดื่มน้ำไม่สะอาดแล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า …ดูเหมือนปลายทางจะไม่สวยหรูนัก

 

น้ำที่ไม่ใช่กงการของรัฐ

หลายพื้นที่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหาเรื่องน้ำสะอาดมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการจัดการของรัฐ ที่ไม่เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล

เราอาจคุ้นชินกับภาพการต่อแถวหาบน้ำของหญิงอินเดีย หรือสีหน้าแสดงอาการปลาบปลื้มสุดขีดเมื่อเห็น ‘น้ำใสๆ’ ของเด็กๆ ในทวีปแอฟริกา – โลกที่เต็มไปด้วยน้ำช่างแห้งแล้งและโหดร้ายขนาดนั้นหรือ

เพื่อไม่ให้ปัญหาที่ว่าทวีความโหดร้ายไปมากกว่านี้ บางชุมชนจึงเริ่มการจัดการตนเอง โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านบ้าง หรือดีไปกว่านั้น ก็มีน้ำใจจากบางองค์กรหยิบยื่นน้ำใสๆ มาให้โดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐจนปากแห้ง

 

drinking-water-1

 

กรณีกัมพูชา

ปัญหาวิกฤตการณ์น้ำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาดูจะเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชากรเกือบครึ่งประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ตลอดจนมีระบบสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (United States Agency for International Development: USAID) รายงานว่าสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในภาวะย่ำแย่มากโดยเฉพาะในชนบท ที่ประชากรเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีห้องน้ำใช้ และ 2 ใน 3 ไม่ได้มีระบบน้ำประปาใช้

แม้ในฤดูฝน ก็ยังไม่ได้ช่วยให้ประชาชนชาวกัมพูชามีคุณภาพชีวิตการใช้น้ำที่ดีขึ้น แม้ในแหล่งน้ำธรรมชาติจะยังพอมีน้ำบ้าง แต่ด้วยระยะทางที่ไกลจากหมู่บ้าน หลายครอบครัวจึงต้องใช้วิธี ‘หาบ’ น้ำหนักๆ มาบนถนนด้วยระยะทางไกลโข

บางหมู่บ้านอาจโชคดีที่มีบ่อน้ำ แต่น้ำในบ่อก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การอุปโภคบริโภค ประกอบกับต้องใช้ระบบปั๊มมือบ้าง หย่อนถังลงไปตัก แล้วหาบกลับบ้านบ้าง ร้ายที่สุดคือบ่อน้ำเหล่านี้ไม่มีฝาปิด เด็กหลายคนจึงต้องจบชีวิตจากการพลัดตกลงไป

ในจังหวัดโพธิ์ซัด ทางตะวันตกของประเทศ ได้เรียกร้องไปยัง พรหม วิหาร ธอร์ (Prom Vihear Thor) เอ็นจีโอท้องถิ่น เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์ปั๊มน้ำ ซึ่งได้มีการเลือกคณะกรรมการบ่อน้ำมา 3 คน เพื่อดูแลบ่อน้ำและปั๊มน้ำ ซึ่งครัวเรือนไหนต้องการใช้น้ำก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 0.125 ดอลลาร์ ในแต่ละเดือนเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษา

ซึ่งคณะกรรมการบ่อน้ำ รวมถึงคนในชาวบ้านในชุมชนได้ผ่านการอบรมจากวิศวกรที่เดินทางมาสาธิตการใช้ปั๊ม และการซ่อมแซมง่ายๆ ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับประเทศที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังมีปัญหามากมาย

ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือการทำน้ำให้สะอาดเพียงพอสำหรับการดื่ม ซึ่งเอ็นจีโอ พรหม วิหาร ทอร์ ก็ได้ช่วยจัดหาระบบกรองน้ำราคาเพียง 10 ดอลลาร์ ซึ่งผลิตโดยกลุ่มเอ็นจีโอ Resource Development International – Cambodia (RDI) สำหรับ 30 ครัวเรือนที่มีความต้องการมากที่สุด ก่อนที่จะให้ครอบครัวเหล่านี้ไปช่วยเหลือคนอื่นในชุมชนต่อ

 

น้ำสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์

ในหมู่บ้านเล็กๆ ของเม็กซิโก สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตน้ำสะอาดได้วันละกว่า 1,000 ลิตร

ที่กลางป่าแห่งแหลมยูคาตัน ต้องใช้เวลาขับรถเป็นวันกว่าจะหาน้ำสะอาดได้ ทีมนักวิจัยของ MIT จึงต้องเดินทางเข้าไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่สามารถอาศัยความช่วยเหลือจากดวงอาทิตย์ได้

ระบบที่มีราคาไม่แพงประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ถังเก็บน้ำ  บวกส่วนของปั๊มน้ำ เครื่องกรอง และระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งหมดมีขนาดประมาณตู้โทรศัพท์เท่านั้น

ระบบการทำงานง่ายๆ คือ กระแสไฟฟ้าจะขับเคลื่อนปั๊มให้ดันน้ำจากบ่อเข้าสู่ชั้นกรอง ด้วยระบบ Reverse Osmosis ซึ่งสามารถกรองเอาโลหะหนักและสิ่งสกปรกออก จนสามารถใช้ดื่มได้เพียงพอสำหรับประชากร 450 คน

น้ำใต้ดินจากบ่อบาดาลไม่สะอาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ได้แค่ทำความสะอาด ส่วนน้ำดื่มต้องพึ่งพาฝนเท่านั้น น้ำในทะเลสาบหรือบึงก็ต้องนำมาต้มก่อน ถึงจะดื่มได้

น้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 20 ลิตรจึงถูกนำมาขายในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกร การจะเอาเงิน 20 เปโซ ไปแลกกับน้ำ ไม่ใช่เรื่องตัดสินใจได้ง่ายๆ ขณะที่น้ำจากเครื่องของทีม MIT ใช้งบไม่ถึง 1 เปโซต่อ 20 ลิตร

หัวหน้าทีม MIT สตีเวน ดูโบวสกี ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอากาศยาน ได้เริ่มต้นโครงการนี้มาได้ 4 เดือนแล้ว โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิ Kellogg Foundation และ Fondo Para La Paz องค์กรในเม็กซิโก

 

drinking-water-3

 

ป้ายโฆษณาผลิตน้ำ

หลายคนขนานนามกรุงเทพฯว่า ‘เมืองบ้าป้าย’ เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่ป้าโฆษณาหลากขนาด ตั้งแต่เท่าคนแคระยันยักษ์ระฟ้า แถมยังมีรถบิลบอร์ดเคลื่อนที่อีก…

ข้ามไปอีกซีกโลกหนึ่ง ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเปรู (University of Engineering and Technology of Peru) ร่วมมือกับบริษัทโฆษณา Mayo DraftFCB พัฒนาป้ายบิลบอร์ดต้นแบบที่สามารถผลิตน้ำดื่มได้ด้วย

เนื่องมาจากปัญหา ‘ขาดน้ำ’ เพราะความแห้งแล้งและปริมาณฝนต่ำในกรุงลิมา ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้น้ำบาดาลจากบ่อใต้ดิน ซึ่งมักจะพบเจอการปนเปื้อนสารพิษเสมอๆ

แต่โชคยังเข้าข้าง เพราะในอากาศกรุงลิมา มีปริมาณความชื้นอยู่ถึงร้อยละ 98 โครงการป้ายบิลบอร์ดผลิตน้ำจึงอาศัยจุดแข็งนี้ โดยใช้ระบบ Reverse Osmosis และกรองด้วยคาร์บอนซึ่งซ่อนอยู่ในป้าย จับความชื้นในอากาศ มาทำให้กลั่นตัวกลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ลงในแท็งค์ขนาด 96 ลิตรใต้บิลบอร์ด ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน บิลบอร์ดดักความชื้นสามารถน้ำสะอาดได้มากกว่า 9,450 ลิตรแล้ว จะเริ่มขยายตัวไปยังเมืองต่างๆ ของเปรูเร็วๆ นี้

 

น้ำก๊อกดื่มได้

สำหรับเหล่าประเทศโลกที่หนึ่ง หรือประเทศพัฒนาแล้ว การเข้าถึงแหล่งน้ำมีระยะทางเท่ากับการเดินเข้าครัว เพราะระบบสาธารณูปโภคของเมืองได้นำน้ำสะอาดมาส่งตรงถึงบ้านโดยไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน ซึ่งความสะอาดของน้ำนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งแหล่งน้ำและระบบท่อส่ง แม้บ้านเราจะเคยมีการอ้างว่า ‘น้ำประปาดื่มได้’ แต่ระบบ ‘ท่อแตก’ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ก็มีส่วนทำให้คุณภาพน้ำที่ปลายทาง…ไปร้านสะดวกซื้อ หรือซื้อเครื่องกรองจากระบบขายตรงคงเข้าท่ากว่า

ฝรั่งเรียกน้ำก๊อกที่ดื่มได้นี้ด้วยคำสามัญว่า ‘Tap Water’ แปลตรงตัว ‘น้ำก๊อก’

 

drinking-water-5

 

Top 10 ประเทศที่น้ำก๊อกสะอาดที่สุด

10. นิวซีแลนด์

9. เยอรมนี

8. สวีเดน

7. อังกฤษ

6. อิตาลี

5. ออสเตรีย

4. ฝรั่งเศส

3. ลักเซมเบิร์ก

2. นอร์เวย์

1. สวิตเซอร์แลนด์

อ้างอิงข้อมูลจาก :

water.org

bigthink.com

huffingtonpost.com

oxfam.com

web.mit.edu

wsws.org

therichest.com

สนับสนุนโดย

 

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า