ไพร่นายบนท้องถนน: 41 ปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

judmai 48
ภาพโดย k-9

ไชยันต์ ไชยพร

 

เมื่อ 41 ปีที่แล้ว ตอนอยู่ชั้นประถมปีที่ 5 ผมเดินข้ามถนนพระราม 4 บริเวณตัดกับถนนบรรทัดทอง ตรงที่เป็นทางม้าลาย ผมข้ามมาได้ครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่จอดให้ ผมก็รีบเดินข้าม เพราะไม่อยากให้คนที่กรุณาจอดรถต้องเสียเวลา (วิธีคิดแบบไพร่เกรงใจนาย)

ปรากฏว่ามีรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งวิ่งมาจากไหนไม่ทราบ ผมไม่ทันเห็น ชนผมเข้าอย่างจัง ผมล้มลงไปนอนวัดพื้นอึดใจหนึ่ง แต่ไม่สลบ เพียงแต่มึนๆ เพื่อนผมข้ามมาด้วย แต่เขาไม่ถูกชน เพราะไม่ได้คิดอย่างผม ที่ต้องรีบเดินเพราะเกรงใจรถยนต์ เขาก็มาประคองตัวผมให้ลุกขึ้น ส่วนคนขับรถมอเตอร์ไซค์ก็ล้มลงไป พอผมหันไปมองหน้าเขา เขาก็ตะโกนใส่ด้วยความโกรธแค้นว่า “ไอ้หนู มึงวิ่งตัดหน้ารถทำไมวะ!” เมื่อผมได้ยินอย่างนั้น กอปรกับการที่เพื่อนผมไม่ถูกชน ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเป็นฝ่ายผิด ผมเชื่อแบบนั้นอยู่นาน จนโตขึ้น รู้ความมากขึ้น ผมก็มานั่งขบคิดว่า ตกลงแล้วใครผิด หรือความผิดอยู่ที่ใคร?

ถ้าว่ากันตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร ผมถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะกฎจราจรบอกว่าคนขับรถต้องหยุดให้คนข้าม โดยเฉพาะผมข้ามมาครึ่งทางจนอยู่กลางถนนแล้ว อีกทั้งการอบรมสั่งสอนจากครูและแบบเรียนก็บอกให้ข้ามทางม้าลายเพราะรถจะจอดให้ข้าม แต่ถ้าว่ากันตามวัฒนธรรมและประเพณีการใช้ถนน คนข้ามถนนก็ควรต้องระวังมากกว่านี้ เพราะวัฒนธรรมประเพณีไทย คนขับรถไม่ต้องจอดให้คนข้ามตรงทางม้าลายเสมอไป เหมือนกับวัฒนธรรมทางการเมืองไทย ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องไม่ซื้อเสียงเสมอไป นั่นหมายความว่า คนขับรถจะจอดหรือไม่จอดก็ได้ และนักการเมืองจะซื้อหรือไม่ซื้อเสียงก็ได้ ถ้าไม่จอดให้คนข้าม และไม่มีใครเอาเรื่อง…ก็ถือว่าไม่ผิด เช่นเดียวกัน ถ้าซื้อเสียง และไม่มีใครเอาเรื่อง…ก็ถือว่าไม่ผิด

ปัญหาการไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลาย ผมเขียนและรณรงค์มาหลายครั้งหลายครา ทั้งในนิตยสารนี้และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ กระทั่งการให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมืองทางวิทยุโทรทัศน์ ผมก็มักสอดแทรกปัญหาทางม้าลายมาโดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เหตุที่สอดแทรกในการให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง ก็เพราะผมเห็นว่า เรื่องใกล้ตัวอย่างการข้ามทางม้าลายนี้ เป็นสิ่งที่ควรต่อสู้รณรงค์กว่าเรื่องใหญ่ๆ เท่ๆ อีกหลายเรื่อง เพราะหากได้ประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ประชาชนตาดำๆ ยังข้ามถนนตรงทางม้าลายไม่ได้ หรือได้บ้าง ขึ้นอยู่กับจังหวะของรถที่แล่นมา แล้วแต่ความเมตตากรุณาของรถบางคัน ถึงขั้นขึ้นอยู่กับว่ามีผู้ร่วมข้ามจำนวนมากหรือไม่  ถ้ามาก ก็กล้าเดินรวมๆ กันไป เพราะรถจะไม่กล้าพุ่งฝ่าฝูงชน

 

ในสมัยผู้ว่าฯกรุงเทพฯคนเก่าและคนปัจจุบัน ผมก็เขียนเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ แต่ดูจะไม่ได้ผลอะไร เพราะผู้ว่าฯกรุงเทพฯคนเก่า ช่วงก่อนจะหมดวาระก็กลับใช้งบประมาณหลายล้านไปกับการรณรงค์ให้คนข้ามตรงทางม้าลาย แต่ไม่ยักกวดขันให้คนจอด ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯคนปัจจุบันพร้อมกับผู้บัญชาการตำรวจจราจรสมัยนั้นได้ออกมารณรงค์ให้รถจอดตรงทางม้าลายตอนเปิดภาคเรียนใหม่ๆ เสร็จแล้วก็เงียบหายไป ดูคล้ายเป็นการสร้างภาพเท่านั้น

 

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ลูกชายผมอายุ 17 ปี ข้ามถนนตรงทางม้าลายของจุฬาฯซอย 12 ก็ถูกรถมอเตอร์ไซค์ชนในแบบเดียวกันกับที่ผมถูกชนเมื่อ 41 ปีที่แล้ว นั่นคือมีรถยนต์จอดให้ข้าม เขาจึงรีบข้ามด้วยความเกรงใจรถที่จอดให้ (วิธีคิดแบบไพร่เกรงใจนาย) และก็มีมอเตอร์ไซค์จากไหนไม่รู้ วิ่งมาด้วยความเร็วสูง ทำให้ลูกผมกระเด็นล้มคว่ำไป ที่เชื่อว่าต้องวิ่งมาด้วยความเร็วสูงก็เพราะว่าหากวิ่งด้วยความเร็วไม่มากนัก คนขับมอเตอร์ไซค์คงสังเกตเห็นว่าเป็นทางม้าลายและมีรถยนต์จอดอยู่ ก็น่าจะชะลอ และถ้าชะลอ ก็เชื่อว่าคงไม่รุนแรงถึงขนาดทำให้กระดูกโหนกแก้มและกระดูกขมับของลูกผมแตก ต้องผ่าตัดและดามด้วยไททาเนียม

ตอนที่ผมไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ คนขับมอเตอร์ไซค์อ้างว่า ลูกผมข้ามทางม้าลายในขณะที่ไฟสัญญาณเขียวให้รถไปได้แล้ว! ตำรวจก็แสนดี บอกว่าถึงกระนั้นก็ตาม มันเป็นบริเวณทางม้าลาย และขณะเดียวกันมีรถที่เขาจอดอยู่ น่าจะคาดการณ์ได้ว่าเขาจอดทำไม แต่ผมเชื่อว่า คนขับมอเตอร์ไซค์ย่อมต้องเห็นแต่ไกลแล้วว่ามันเป็นไฟแดง แต่คิดว่ายังไงๆ กูก็จะฝ่าไปตามประสารถมอเตอร์ไซค์ และไม่ได้คาดคิดว่ารถยนต์จะเคารพกฎหมายรอให้คนข้ามถนนให้เรียบร้อยเสียก่อน

เวลาผ่านไป 41 ปี ดูจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักกับเรื่องสิทธิ์ของคนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ดีไม่ดีอาจจะรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะสมัยก่อนมีทางม้าลายแต่ไม่มีสัญญาณไฟประกบ บางครั้งมีทั้งตำรวจและสัญญาณไฟตรงทางม้าลาย รถมอเตอร์ไซค์ก็ยังกล้าฝ่าไปหน้าตาเฉย ส่วนรถยนต์ไม่กล้าฝ่าเพราะออกตัวช้ากว่า

ผมถามตำรวจว่า เมื่อมีมอเตอร์ไซค์ฝ่าไปแบบนี้จะทำอย่างไร? เขาตอบว่า ถ้าจำเลขทะเบียนได้ ก็สามารถแจ้งเพื่อไปปรับตอนต่อทะเบียนรถยนต์ แต่ถ้าไม่มีบันทึกภาพวงจรปิดก็ลำบาก และส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทันจำเลขทะเบียนได้ ครั้นจะขี่มอเตอร์ไซค์กวดตามไปก็ไม่ทัน ถึงตามทัน ก็เท่ากับว่าต้องทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจราจรในบริเวณนั้นไป

ส่วนคนข้ามนั้น ถ้าอยากรักษาสิทธิ์ ก็ต้องเสี่ยงกับการถูกชน เพราะเขาจะต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้รถต้องหยุด และถ้ารถหยุด แต่มอเตอร์ไซค์ก็ฝ่าไฟแดงหรือฝ่าทางม้าลายทุกครั้ง…ทำอะไรไม่ได้ ดูๆ แล้ว งานนี้จนด้วยเกล้าจริงๆ ไม่รู้ว่าจะต่อสู้รักษาสิทธิ์ในการข้ามถนนตรงทางม้าลายอย่างไรกับกรณีมอเตอร์ไซค์

ผมเคยเขียนว่า รถที่ไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลายมีทุกประเภท ตั้งแต่รถใหญ่จนถึงรถเล็ก รถแพงจนถึงรถถูก รถราชยานยนต์หลวงจนถึงรถราชการทุกกระทรวงทบวงกรม รถบริษัทเอกชนจนถึงรถส่วนตัว ส่วนคนที่ข้ามไม่ได้ น้อยนักที่จะเป็นคนชั้นสูงหรือร่ำรวย

ผมตั้งคำถามเหมือนที่เคยทำมา นั่นคือ ทำไมไม่มีใครสั่งให้รถราชยานยนต์หลวงต้องจอดให้คนข้ามตรงทางม้าลายเสมอ ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่สั่งให้รถราชการทุกคันต้องจอดให้คนข้าม ทำไมเจ้าของบริษัทใหญ่ๆ ไม่สั่งเช่นนั้น เพราะหากองค์กรเหล่านี้ทั้งภาคเจ้า ภาครัฐ และภาคเอกชน สั่งกำชับคนขับของตนให้ปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด หมายความว่า เมื่อถึงทางม้าลายรถส่วนหนึ่งจะจอด แล้วรถส่วนบุคคลที่เหลือก็จะต้องจอดตามโดยปริยาย

จะล้มเจ้า จะคลั่งเจ้า จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีองค์กรอิสระหรือไม่มี มันมีประโยชน์อะไรกับคนที่ต้องเสี่ยงชีวิตและความปลอดภัยกับการข้ามถนนตรงทางม้าลาย

**************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2555)

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า