ทำไมข้าพเจ้าจึงมีความหวังกับอนาคตของโลกใบนี้…

240616 vichakเท็นซิน เกียตโซ* เขียน / วิจักขณ์ พานิช แปล
(*เท็นซิน เกียตโซ, องค์ทะไลลามะที่ 14 ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต)

บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Washington Post ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2016 หนึ่งวันหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมมือปืนยิงกราดที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในช่วงสายของวันที่ 13 มิถุนายน ระหว่างการเยือน The U.S. Institute of Peace ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ทะไลลามะนำภาวนาในความเงียบเป็นเวลาหนึ่งนาที อุทิศแด่ผู้สูญเสียในโศกนาฏกรรมที่เมืองออร์แลนโด

เป็นเวลาเกือบหกทศวรรษแล้ว ที่ข้าพเจ้าต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง และกลายเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณความเมตตาจากรัฐบาลและประชาชนชาวอินเดีย ที่ช่วยให้ข้าพเจ้าและผู้คนชาวทิเบตได้พบกับบ้านหลังที่สองในประเทศอินเดีย พวกเราสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเสรีภาพ อีกทั้งยังสามารถรักษาภาษา วัฒนธรรม และประเพณีปฏิบัติของพุทธศาสนาให้มีชีวิตรอดอยู่ได้

คนรุ่นข้าพเจ้าต่างเป็นสักขีพยานต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากมายตลอดทั้งชีวิต นักประวัติศาสตร์บางคนประเมินตัวเลขว่า ผู้คนมากกว่า 200 ล้านคนถูกฆ่าท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 จนถึงทุกวันนี้ ความรุนแรงอันเหี้ยมโหดในตะวันออกกลางก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด และในกรณีของประเทศซีเรียก็ได้นำไปสู่วิกฤติผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดในยุคสมัย ยังไม่นับรวมถึงความน่าเกลียดน่ากลัวของภัยก่อการร้าย – อย่างโศกนาฏกรรมที่เราต้องพบเจอมันอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา – ทั้งหมดนี้ได้สร้างความหวาดกลัวที่ฝังลึกในจิตใจ ซึ่งง่ายมากที่ผู้คนจะรู้สึกสิ้นหวังและหดหู่ต่อสถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้น ทว่าสิ่งสำคัญยิ่งกว่าในช่วงเวลาเช่นนี้คือ การมองโลกอย่างที่เป็นจริง ซึ่งหมายรวมถึงการมองให้เห็นด้านบวกของสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ด้วย…

มีเหตุผลมากมายที่เราควรรู้สึกมีความหวัง ทุกวันนี้การตื่นรู้ต่อคุณค่าสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากล รวมถึงสิทธิ์ในการเลือกและตัดสินใจชีวิตของตนเอง ได้ขยายออกไปเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้เมื่อศตวรรษก่อน ไม่ว่าจะมองไปทางใดในโลกใบนี้ เราจะเห็นมติอันเป็นเอกฉันท์ของประชาคมโลกที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและความเคารพต่อผู้หญิง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นหนุ่มสาว ที่ต่างปฏิเสธการก่อสงครามในฐานะหนทางแก้ไขปัญหา ทั่วโลกเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่กำลังช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันลัทธิก่อการร้าย งานอันมีคุณค่าเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงรากลึกของความเข้าใจผิดๆ และแนวคิดการแบ่งแยก ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกเขา’ ว่าอันตรายเพียงใด จำนวนการครอบครองอาวุธทำลายล้างอย่างระเบิดนิวเคลียร์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหมายถึงเป้าหมายในการลดจำนวนอาวุธเหล่านี้ต่อไปในอนาคต กระทั่งสามารถกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปได้ในที่สุด – และนี่เองเป็นส่วนหนึ่งของถ้อยคำปาฐกถาอันกินใจของ ประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งกล่าวไว้ ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้เราตระหนักว่าเป้าหมายแห่งสันติภาพของโลกไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป

แนวคิดแบบชัยชนะเบ็ดเสร็จที่ข้างหนึ่งฟาดฟันอีกข้างหนึ่งได้กลายเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ในบางสถานการณ์ มีความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมาจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นสงครามหรือสันติภาพ ความรุนแรงก่อให้เกิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแท้จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าการต่อต้านความรุนแรงด้วยแนวทางสันติวิธีจะนำไปสู่จิตสำนึกประชาธิปไตยอันมั่นคงและสันติ และเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในการถอนรากถอนโคนเผด็จการอำนาจนิยมได้ดียิ่งกว่าการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง

มันไม่เพียงพอที่จะภาวนาหรือสวดมนต์อ้อนวอนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีทางออกจากปัญหามากมายที่เราเผชิญอยู่ อันจำเป็นต้องถูกค้นพบ ไม่ว่าจะด้วยความสำคัญของการแลกเปลี่ยนสนทนา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องถูกส่งเสริมไปพร้อมๆ กับระบบการศึกษาที่เน้นย้ำถึงคุณค่าทางศีลธรรม คุณค่าทางศีลธรรมที่ว่านี้ต้องหยั่งรากอยู่ในมุมมองที่ว่า เราทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมนุษยชาติ และสามารถร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ร่วมกันได้

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มันช่างเป็นอะไรที่อบอุ่นใจยิ่งนักที่ได้เห็นผู้คนธรรมดาๆ ทั่วโลกแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพความทุกข์ยากของผู้อพยพลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่ช่วยชีวิตพวกเขาเหล่านั้นจากท้องทะเล หรือผู้คนที่มอบที่พักพิง มิตรภาพ หรือความช่วยเหลือต่างๆ ให้ ในฐานะที่เป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญ และเมื่อได้ตระหนักถึงความทุกข์ยากนั้น เราก็ควรทำทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยเหลือพวกเขา

ข้าพเจ้ายังเข้าใจความหวาดกลัวของผู้คนที่อยู่ในประเทศทั้งหลายที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งอาจกำลังรู้สึกท่วมท้นต่อสถานการณ์นี้อยู่ไม่ใช่น้อย ด้วยการเกิดขึ้นของหลายๆ เหตุการณ์พร้อมๆ กัน ได้ปลุกให้ผู้คนหันมาใส่ใจต่อความสำคัญของการลงมือกระทำร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูสันติภาพอันแท้จริงต่อผืนแผ่นดินที่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นต้องจากมา

ผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมีประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ แม้เราจะยังไม่สามารถหวนคืนผืนแผ่นดินเกิดของเราได้ก็ตาม พวกเราชาวทิเบตรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่พวกเราได้รับตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจากมิตรสหายทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกา
ที่มาของความหวังอีกประการหนึ่งคือการร่วมมือกันอย่างจริงจังของนานาประเทศต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ตามสนธิสัญญากรุงปารีส เมื่อภาวะโลกร้อนคุกคามสุขภาวะของโลกใบนี้ ซึ่งเป็นเพียงบ้านหลังเดียวของพวกเรา มีเพียงการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมที่ใหญ่กว่าของโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันเท่านั้น ที่จะทำให้ประโยชน์ของท้องถิ่น ประโยชน์ระดับประเทศ และประโยชน์ระดับนานาชาติ กลายเป็นเรื่องเดียวกันได้ ข้าพเจ้ามีสายสัมพันธ์ส่วนตัวต่อประเด็นนี้ เพราะทิเบตคือที่ราบสูงที่สูงที่สุดของโลก และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกเกือบสามเท่า ทิเบตยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำที่ใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากขั้วโลกทั้งสอง และเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำที่ซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อ 10 ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก

การจะหาทางออกจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งรุนแรงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในศตวรรษที่ 21 จำเป็นจะต้องมีการแสวงหาคำตอบใหม่ แม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าทางออกนี้จะพบได้ในจิตสำนึกที่ไป ‘พ้นศาสนา’ ด้วยการส่งเสริมแนวคิดที่เรียกว่า ‘จริยธรรมโลกวิสัย’ (secular ethics) แนวทางดังกล่าวคือการศึกษาหาความรู้ที่ตั้งอยู่บนการแสวงหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ตรงและสามัญสำนึก ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนแนวทางอันเป็นสากลยิ่งกว่าในการส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เราต่างมีร่วมกัน

เป็นเวลากว่าสามทศวรรษแล้วที่การเสวนากับนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และนักเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลก ได้เผยให้ข้าพเจ้าเห็นถึงความห่วงใยต่างๆ เหล่านี้ที่เรามีร่วมกัน กระทั่งเราได้ช่วยกันพัฒนาระบบซึ่งหลอมรวมการศึกษาของหัวใจ ทว่าตั้งอยู่บนการศึกษาการทำงานของจิตและอารมณ์ผ่านงานวิชาการและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แทนที่จะเป็นการปฏิบัติทางศาสนา เพราะเราต้องการหลักศีลธรรมอันประกอบด้วยความรักความกรุณาการเคารพผู้อื่น และความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติในทุกแง่มุมของกิจกรรมมนุษย์ เราพยายามช่วยให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสร้างโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวในการพัฒนาพลังการตระหนักรู้ในตนเองยิ่งๆ ขึ้น เรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ที่ทำลายล้างและบ่มเพราะทักษะทางสังคม การฝึกฝนนี้ได้ถูกหลอมรวมไปในหลักสูตรของโรงเรียนหลายแห่งในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งข้าพเจ้าได้มีส่วนร่วมกับหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยอีมอรี (Emory University) ซึ่งเกี่ยวข้องกับจริยธรรมโลกวิสัย (secular ethics) ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกสอนในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นความรับผิดชอบที่เรามีร่วมกันเพื่อจะได้มั่นใจว่าศตวรรษที่ 21 จะไม่เดินไปซ้ำร้อยความทุกข์และการนองเลือดในอดีต…

…เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความรักและความกรุณาอยู่โดยพื้นฐาน ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นไปได้ที่ทศวรรษต่อจากนี้เราจะได้เห็นยุคสมัยแห่งสันติภาพ ทว่าสิ่งสำคัญคือ เราจะต้องเคลื่อนไหวร่วมกันในฐานะพลเมืองแห่งโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

 

Author

วิจักขณ์ พานิช
เป็นคลื่นลูกใหม่ในหลายฐานะ ทั้งบทบาทด้านการตีความพุทธศาสนา จับสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านแง่มุมทางจิตวิญญาณ วิพากษ์วิจารณ์ผ่านข้อเขียน ทำสำนักพิมพ์ 'ปลากระโดด' จนคลี่คลายบทบาทล่าสุดสู่ชีวิตแบบอนาล็อกบนพื้นที่ของ 'วัชรสิทธา' -- พื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า