ทางเลือกไม่เลื่อนลอย

บางครั้งการอยู่ในสังคมที่ตีบตันมากๆ ก็พานให้จิตตกได้ง่าย ระบบสวัสดิการที่ปูพื้นฐานไว้ค่อนข้างดี แทนที่จะพัฒนาโดยยึดหลักการความถ้วนหน้าและยิ่งเพิ่มคุณภาพ ก็มีแต่คนจ้องจะล้ม จะบังคับให้ประชาชนร่วมจ่ายเมื่อป่วย เพื่อแบ่งกำไรให้หมอพาณิชย์-อุตสาหกรรมยาให้อิ่มหมีพีมัน อ้างงบประมาณไม่พอ แต่นี่จะเสนอให้โยกเงินไปให้อุตสาหกรรมประกันภัย แถมยังมีปัญญาเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง #ที่สำคัญมั่กๆ

บ่นหนักขนาดนี้ ครั้นจะย้ายชีวิตไปตั้งรกรากอยู่เมืองนอกเมืองนาตามคำชี้แนะของ ‘ท่านที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ก็ดูเกินจริง จึงได้แต่หาความเจริญใจเจริญสมองให้ตัวเองผ่านการรับรู้เรื่องดีๆ จากบ้านอื่นเมืองอื่น เพื่อหวังว่า เรื่องราวดีๆ เหล่านี้จะสร้างพลังให้สามารถสู้ใน ‘บ้านคัลท์เมืองคัลท์’ ได้ต่อไป

2016-09-23-1

ไล่จับคนรวยหนีภาษี

เมื่อเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists) หรือ ICIJ ออกมาตีแผ่ข้อมูลการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) ที่อยู่ในฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายชื่อ มอสแซค ฟอนเซกา (Mossack Fonceka) บริษัทรับจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปานามา และมีสาขาอยู่ใน 42 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย หรือที่รู้จักกันในนาม ปานามาเปเปอร์ส (Panama Papers) หรือ ปานามาลีกส์ (Panama Leaks) ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลของบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมด 214,000 บริษัท ครอบคลุมคนรวย คนดัง ผู้มีอิทธิพล ที่ใช้บริการในกว่า 200 ประเทศ เราได้เห็นอาการใบ้รับประทานของหน่วยราชการหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ประกาศกวาดล้างคอร์รัปชัน ‘เปิดไฟไล่โกง’

เช่นเดียวกับที่เคยเงียบเป็นเป่าสากมาแล้ว ในปี 2013 สำนักข่าวอิศราและ ICIJ เจาะการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต พบนักการเมือง มหาเศรษฐี นักร้องดัง หลากอาชีพกว่า 600 ราย เป็นเจ้าของบริษัทในพื้นที่ปลอดภาษีทั่วโลก แต่ไม่ใช่กับเดนมาร์ก

คาร์สเทน ลอริทเซน (Karsten Lauritzen) รัฐมนตรีกระทรวงภาษีเดนมาร์ก (Danish Ministry of Taxation) ประกาศว่า ได้ตัดสินใจซื้อข้อมูลจากบุคคลนิรนามที่ช่วยแยกและกรองข้อมูลปานามาเปเปอร์สให้เหลือข้นๆ เฉพาะชาวเดนนิชที่ไปตั้งบริษัทออฟชอร์ 600 คน เพื่อให้สรรพากรของเดนมาร์กนำมาขุดคุ้ยต่อว่า การตั้งบริษัทของคนรวยและผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้มีความจำเป็นในการประกอบธุรกิจจริงๆ หรือมีไว้เพื่อการหลบเลี่ยงภาษี เพื่อจะปฏิบัติการตามล่ามาจ่ายภาษีให้ประเทศอย่างครบถ้วน

แน่นอนล่ะว่า การจ่ายเงินซื้อข้อมูลครั้งนี้ ว่ากันว่าน่าจะอยู่ที่ 1.2 ล้านยูโร ย่อมมีคนไม่เห็นด้วย หนึ่งในนั้นคือโฆษกพรรคร่วมฝ่ายค้าน Liberal Alliance กล่าวหาว่า “เลวทรามอย่างที่สุด” เพราะเท่ากับ ‘คนใน’ ขโมยข้อมูล (เด็ดๆ) มาขายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม งานนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลเดนมาร์ก เพราะรัฐมนตรีภาษีผู้นี้แย้มว่า ข้อมูลชุดนี้ได้รับการสะกิดจากหน่วยงานด้านภาษีของประเทศอื่น จึงประเมินกันว่า อย่างน้อยอีกสามประเทศ คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ได้ซื้อข้อมูลที่แยกแยะและคัดกรองทางลึกเฉพาะพลเมืองของตนแล้ว

และอย่างที่เคยเล่าให้ฟัง ในคอลัมน์นี้เมื่อ 4-5 ปีก่อน การซื้อข้อมูลเช่นนี้ แม้ดูเหมือนจะแพง แต่การเรียกเก็บภาษีจากคนรวยไม่น่ารักพวกนี้ นับว่าคุ้มมากๆ ตัวอย่างเช่น แคว้นไรน์-เวสต์ฟาเลียเหนือ (North Rhine-Westphalia) เยอรมนี แค่จ่ายค่าซีดีข้อมูล 3-5 ล้านยูโร ได้เงินภาษีกลับเข้าคลังประเทศไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านยูโร

ที่สนุกยิ่งกว่าคือ บางครั้งเจ้าหน้าที่สรรพากรแทบไม่ต้องตั้งทีมวิเคราะห์ข้อมูลมาตามคุ้ย ตามควักเงินเลย แค่รัฐบาลท้องถิ่นประกาศต่อสาธารณะว่า เราได้ซื้อ ซีดีภาษี มาแล้วนะจ๊ะ งวดนี้หวยออกที่ธนาคารนี้ ธนาคารนั้น ไม่เกินสามวันเจ็ดวัน บรรดาอภิมหาเศรษฐีตัวเป้งๆจะแจ้นเข้ามารายงานตัวสารภาพเองเลยว่า เอาเงินไปแอบไปซ่อนไปซุกที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้ขอผ่อนผันหรือลดหย่อนบ้างเล็กน้อย ในฐานะเข้ามาแบบเต็มใจ

เมื่อรีดภาษีจากคนรวยมาได้ ก็นำไปพัฒนาสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ มีการแยกแยะให้ผู้จ่ายภาษีเห็นชัดเจนว่ารัฐนำไปใช้ด้านใดบ้างอย่างโปร่งใส ไม่มีหมกเม็ด หรือกระจุกตัวไปใช้บางหน่วยบางกระทรวงที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์…ชื่นใจ

2016-09-23-2

ลดขยะได้ ซ่อมได้ กู้โลกได้

ในขณะที่บ้านคัลท์เมืองคัลท์กำลังขะมักเขม้นกับการไล่รื้อชุมชนเพื่อสร้างสวนสาธารณะไร้ชีวิต ถนนดาดแข็งและเสาตอม่อบึกบึนเลียบแม่น้ำ เร่งสร้างเตาเผาขยะในชุมชนผลิตอาหาร แล้วชูว่าสร้างพลังงานตามเป้าหมายลดการใช้พลังงานฟอสซิล เราลองไปบ้านอื่นเมืองอื่นดูนโยบายดีๆ ที่เป็นจริงบ้าง

ฝรั่งเศสประสบปัญหาขยะล้นเมืองเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ทุกๆ 1 วินาทีจะมีแก้วน้ำประเภทใช้ครั้งเดียวถูกทิ้งลงขยะเป็นจำนวน 150 ใบ นั่นทำให้ในแต่ละปี ฝรั่งเศสมีขยะพลาสติกประเภทนี้ถึง 4,730,000 ล้านชิ้นเลยทีเดียว แม้ว่าเมื่อกลางปี ฝรั่งเศสเพิ่งออกคำสั่งแบนการใช้ถุงพลาสติก แต่นั่นยังห่างไกลเป้าหมายที่ว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณในปี 1990 ขั้นกว่าจึงต้องมาที่การลดขยะพลาสติก ซึ่งรวมถึงแก้ว ช้อนส้อม และมีดแบบใช้แล้วทิ้ง

เดิมรัฐบาลฝรั่งเศสมุ่งมั่นจะห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งเหล่านี้ให้ได้ภายในต้นปี 2017 แต่มีเสียงขู่จากกลุ่มอุตสาหกรรม Pack2Go ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในยุโรป จะฟ้องล้มกฎหมายนี้ต่อคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งทำหน้าที่เหมือนคณะรัฐมนตรีของสหภาพยุโรป ให้จัดการกับรัฐบาลฝรั่งเศส “ถ้าพวกเขาไม่ทำ เราจะล้มมันเอง” ทำให้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสเขยิบเป้าหมายไปที่ต้นปี 2020 ก็ต้องให้กำลังใจกันเต็มที่สำหรับประเทศแรกในโลกที่กล้าขนาดนี้ เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกขู่หนักมาก

ส่วนสวีเดน ที่นั่นกำลังหาทางลดขยะจากวัฒนธรรมเสีย-ทิ้ง-ซื้อใหม่ ด้วยมาตรการทางภาษีที่ชาญฉลาดและเป็นคำตอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน กฎหมายนี้เริ่มมีผลบังคับต้นปีหน้า นั่นคือ ลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้นำข้าวของไปซ่อมแทนที่จะซื้อใหม่ ไล่ตั้งแต่ข้าวของชิ้นเล็กอย่างรองเท้า จาก 25 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ จนถึงสิ่งของใหญ่ๆ อย่างตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน จักรยาน ที่จะได้รับภาษีคืนครึ่งหนึ่งของค่าแรงซ่อม ส่วนพวกที่ขยันซื้อของใหม่ ก็จะโดนบวกภาษีใหม่เพิ่มเข้าไป นั่นคือ ‘ภาษีเคมี’ (chemical tax) เพื่อนำไปชดเชยการทำลายสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีและส่วนประกอบที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้

เปอ โบลุนด์ (Per Bolund) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและการพาณิชย์ (Financial Markets) จากพรรคกรีน (Green Party) กล่าวว่า “ถ้าเราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยทางออกที่ยั่งยืน เราต้องจัดการกับการบริโภค” คุณต้องทำให้การซ่อมสินค้าถูกกว่าและสะดวกกว่าการซื้อใหม่ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีผลพลอยได้ คือ กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจซ่อมแซม และเพิ่มการจ้างงานผู้อพยพ

รัฐบาลสวีเดนที่เป็นรัฐบาลผสมจากพรรคโซเซียลเดโมแครต (Social Democratic Party) และพรรคกรีน ประเมินว่า ภาระงบประมาณต่อปีจากการลดหย่อนภาษีซ่อมสินค้าชิ้นใหญ่ๆ อยู่ที่ประมาณ 190 ล้านโครเนอร์ ส่วนการลดภาษีมูลค่าเพิ่มกับการซ่อมเสื้อผ้ารองเท้าอยู่ที่ 270 ล้านโครเนอร์ แต่สามารถเก็บภาษีเคมีเพิ่มได้มากถึง 2,000 ล้านโครเนอร์ต่อปีเลยทีเดียว (อัตราแลกเปลี่ยน 1 โครเนอร์ = 4 บาท)

ไม่เพียงเท่านั้น นี่ยังช่วยเพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสวีเดนได้อีกมาก เพราะปัจจุบัน สวีเดนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าทำได้ไม่เลวทีเดียว เมื่อเทียบกับปริมาณในปี 1990 และใช้พลังงานทางเลือกมากกว่าครึ่งของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศ

ปิดท้ายที่สก็อตแลนด์ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานทีมกินเปลี่ยนโลกได้รายงาน ‘เที่ยวกองขยะ’ โดยพาไปเยี่ยมชมระบบการจัดการขยะของเมืองเอดินเบอระ (Edinburgh)

การแยกขยะเริ่มที่บ้าน โดยมีถังขยะแยกให้ มีคู่มือแปะฝาบ้าน และแจ้งเวลาการจัดเก็บตามตารางเวลา นอกเวลา และของชิ้นใหญ่หรือของจำนวนมาก เทศบาลเมืองเอดินเบอระจัดเตรียมสถานที่ให้ประชาชนทิ้งของเพื่อรีไซเคิลด้วยตัวเอง โดยระบบรองรับการแยกสิ่งของอย่างชัดเจน ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่น้อย ทีวี ตู้เย็น แบตเตอรี เหล็ก ไม้ ไม้อัด บอร์ด กระดาษแข็ง พลาสติกแข็ง อ่อน หีบห่อบรรจุภัณฑ์ ขวด ฯลฯ จอดรถง่าย ทิ้งง่าย เพียงแต่ต้องแยกทิ้งให้ถูกที่ถูกจุดที่จัดไว้ให้ เรียกว่าต้องขยับรถมาเรื่อยๆ จอดทิ้งตามจุดที่จัดให้ ไม่ใช่ใส่รวบมาถุงเดียวแล้วโยนโครม แม้แต่ถุงพลาสติกใส่ของมาทิ้ง ยังต้องแยกทิ้งให้ถูก

“พอทิ้งของหมดครบถูกต้องทุกสถานี เกิดความรู้สึกเหมือนกู้โลกเสร็จยังไงยังงั้น” ผู้ประสานงานทีมกินเปลี่ยนโลกบอกเล่าประสบการณ์

“ชัดเจนว่ากระบวนการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องวินัย หรือสำนึกส่วนตัวเพียงลำพัง แต่ระบบที่ดี การจัดโครงสร้างที่ดีเท่านั้น จึงจะทำให้การจัดการไม่ว่าเรื่องใดๆ ปฏิบัติได้ เป็นจริงได้”

สู้ๆๆๆ

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
The Guardian / theguardian.com
BBC / bbc.co.uk
The Independent / independent.co.uk
yesmagazine.org
The Local / thelocal.se
Facebook: Food4Change
หนังสือพิมพ์ Post Today

 

 

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า