Brexit ยังพอมีความหวังอะไรเหลืออยู่

itchy

หลังจากที่ผลการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจักรชัดเจนว่า 52 เปอร์เซ็นต์ต้องการออกจากสหภาพยุโรป (EU) สามารถเอาชนะฝ่ายที่ต้องการอยู่ต่อซึ่งได้ 48 เปอร์เซ็นต์ เสียงโอดครวญจากคนมีอันจะกินที่ทำมาหารับประทานในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกดังลั่น เพราะเพียงแค่วันเดียว ‘มูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกหายไปถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์’ เช่นเดียวกับเงินปอนด์สเตอริงที่ทำสถิตินิวโลว์ใหม่ทุกวันนับตั้งแต่ปี 1985

แต่หากจะว่าไป เสียงร้องโอดโอยลั่นของคนรวยแม้จะดังลั่นโลกและมีนัยยะสำคัญที่สื่อต้องเกาะติดรายงานทุกระยะลมหายใจ แต่คงไม่เท่ากับความเจ็บปวดและความทุกข์ร้อนของคนใน UK หรืออันที่จริงก็คือตัวแทนของคนไม่รวยทั่วโลกที่ถูกแนวทางเสรีนิยมใหม่ทำร้าย แต่ไม่เคยได้รับการแยแส

จากรายงานของคณะกรรมาธิการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ที่เผยแพร่หนึ่งสัปดาห์หลังการโหวต Brexit ชี้ว่า นับตั้งแต่พรรคอนุรักษนิยมได้กลับขึ้นครองอำนาจบนแผ่นดินสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2010 ได้ใช้นโยบายรัดเข็มขัด (Austerity Policies) อาทิ การตัดลดปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้มีรายได้น้อย แต่ทั้งๆ ที่รู้ รัฐบาลก็ยังใช้นโยบายเหล่านั้น ซึ่งถือว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

คนในสหราชอาณาจักรต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากฟู้ดแบงก์ การว่างงานเพิ่มขึ้น เกิดวิกฤติที่อยู่อาศัย จนนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติในบรรดากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ โดยที่ ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย คนหนุ่มสาว และผู้พิการ ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ชัดเจนว่า การโหวตเพื่อออกจาก EU เป็นภาพสะท้อนความทุกข์ทนของพวกเขาที่ไม่เคยถูกรับรู้

แม้จุดเริ่มต้นของ Brexit จะมาจากการที่อดีตนายกฯ เดวิด คาเมรอน ต้องการแก้ปัญหาการเมืองภายในพรรคอนุรักษนิยม แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า ผลโหวตจะออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะการวิเคราะห์และการประเมินทางเศรษฐกิจต่างโหมชี้ว่า การออกจาก EU จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสหราชอาณาจักรอย่างมหาศาลและรุนแรง

ดังนั้น ช่วงระหว่างที่เปิดให้มีการถกแถลงว่าจะอยู่หรือไปจากสหภาพยุโรปดี ฝ่าย Leave จึงปั้นสรรค์วาทกรรมอย่างที่เรียกว่า ‘ไม่ต้องรับผิดชอบ’ อาทิ ชาตินิยมสุดขั้ว, พ่น hate speech ต่อแรงงานข้ามชาติ และทำได้ถึงขั้นโกหกชุ่ยๆ จะเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพโดยนำเงินที่ต้องลงขัน EU มาสมทบ

ขณะที่ผู้นำพรรคแรงงาน เจเรมี คอร์บิน ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกจาก EU กลับไม่แข็งขันที่จะอธิบายคัดค้าน หรือแม้แต่อธิบายให้สังคมเข้าใจรากฐานปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคนเล็กคนน้อยเพื่อนำไปสู่การร่วมหนทางแก้ไข

สภาพที่เกิดขึ้นก่อนการลงประชามติ จึงเป็นภาวะที่พวกขวาตกขอบโทษทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่รากฐานของปัญหาที่แท้จริง เช่น แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงาน การรับผู้อพยพเป็นภาระ การลงขันสมาชิก EU ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพลดคุณภาพ ฯลฯ เป็นคำอธิบายง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจใช้แค่วาทศิลป์และความเมามันในอารมณ์เท่านั้น ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ ‘Rich people are paying rich people to tell middle class people to blame the poor people.’

สตีเฟน คินเซอร์ อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้ให้ความเห็นในรายงานของ The Boston Globe

“ผู้นำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชูความการรวมกลุ่มประเทศในยุโรปนั้น ถือเป็นของขวัญเพื่อสันติภาพในภูมิภาค แต่ผู้สืบทอดแนวคิดนั้นมาปฏิบัติไม่เคยคิดที่จะหารือประชาชน ไม่แม้แต่จะรับฟังความทุกข์ร้อน หรือไม่คิดที่จะปรับนโยบายต่างๆ ของสหภาพยุโรปให้เข้ากับความต้องการของพวกเขา

“ผู้นำสหภาพยุโรปกลับสมาทานอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ คือ deregulation (การปรับลดกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทุน) privatization (การแปรรูปกิจการของรัฐให้ไปเป็นของเอกชน) และ reduced social spending (ปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐรวมทั้งที่ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม) โดยที่ไม่เคยฟังเสียงประชาชน”

นี่ไม่ใช่แค่แนวคิดของชนชั้นนำในยุโรป แต่คือแนวคิดของชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐในสหราชอาณาจักร ในสหรัฐ และในทุกๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย

อย่างในสหรัฐ การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น นโยบายที่จะไปแก้ไขปัญหาที่ฐานราก โดยเฉพาะการควบคุมพฤติกรรมของทุน การสร้างระบบการค้าการลงทุนที่เป็นธรรม การสร้างระบบสวัสดิการสังคม ตามคำอธิบายของ เบอร์นี แซนเดอร์ ได้รับความสนใจจากคนหนุ่มสาวพอสมควร แต่สื่อหลักไม่ให้ความสนใจ

ผิดกับการหาเสียงสุดขั้วแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวโทษคนนับถือศาสนาอิสลาม แรงงานอพยพ เป็นแพะรับบาป หรือการหาเสียงที่ไม่วิพากษ์การสะสมทุนของคนรวย ไม่แฉพฤติกรรมกลุ่มทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทางการเมืองแบบ ฮิลลารี คลินตัน กลับได้รับการสนับสนุนจากสื่อกระแสหลัก

เช่นเดียวกับพรรคขวาๆ ในยุโรปหลายประเทศกำลังใช้กระแสนี้ดึงคะแนนเสียง หรือในไทยเราก็จะได้ยินวาทกรรมการโทษว่า ‘ทั้งหมด’ เป็นเพราะรัฐบาลก่อนหน้า การคอร์รัปชันของนักการเมือง หรือแม้กระทั่งเป็นเวรกรรมของประชาชน

ในสหราชอาณาจักร เมื่อสิ้นเสียงโอดครวญของคนรวย หลัง Brexit เราก็ได้ยินเสียงความกระตือรือร้นที่จะเจรจาการค้าแบบที่สุดขั้วกว่าใน TTIP (Transatlantic Trade and Investment Partnership) ที่ EU กำลังเจรจากับสหรัฐ ดับฝันการเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่เรียกกันว่า ‘Robin Hood Tax’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมความผันผวนของค่าเงินและเรียกความรับผิดชอบจากทุน รวมทั้งการเตรียมเปิดสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันแบบ fracking ให้แก่ทุนพลังงานทั่วโลกแบบฉับพลัน เพราะตามกฎหมายสหราชอาณาจักรเอง มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่ากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของ EU มาก จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำรายงานผลกระทบหรือการหารือกับประชาชนในพื้นที่

คำถามคือ Brexit จะกลายเป็นแค่การระบายอารมณ์ทางการเมืองของคนจน เพื่อให้คนรวยทำมาหากินกันอย่างสบายใจต่อไปใช่ไหม นี่คือสิ่งที่น่าค้นหาคำตอบ

ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายก้าวหน้าที่ทำงานทางความคิดน้อยเกินไปในช่วงการถกแถลง Brexit เมื่อผลออกมาเช่นนี้ อย่างน้อยก็ยังได้เห็นความพยายามในการตั้งวงทบทวน

Corporate Europe Observatory องค์กรสายก้าวหน้าของยุโรปที่ติดตามและคอยแฉพฤติกรรมทุนและการล็อบบี้อย่างเข้มข้นมาตลอด ออกแถลงการณ์ยอมรับ

“มุมมองที่เจาะลึกถึงรากฐานปัญหาความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายของสหภาพยุโรปในเชิงก้าวหน้าถูกเบียดขับออกไประหว่างการถกแถลง Brexit กลายเป็นพื้นที่ของฝ่ายขวา เช่นเดียวกับพื้นที่การกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปและทุกองคาพยพถูกยึดกุมโดยผลประโยชน์ของทุนแบบเบ็ดเสร็จ จนไม่สามารถเรียกได้แล้วว่า มีการกำหนดนโยบายใดของสหภาพยุโรปที่ยังคงเป็นการเชื่อมโยงแบบประชาธิปไตยระหว่างประชาชนในยุโรปและผู้กำหนดนโยบาย ณ กรุงบรัสเซลส์

หากสถาบันหลักของ EU ยังคงดื้อดึงเดินตามแนวทางนี้ต่อไป ในที่สุดพรรคฝ่ายขวาจะยึดกุมทั่วทั้งยุโรป ซึ่งความทุกข์ทนของประชาชนจากนโยบายรัดเข็มขัดนอกจากจะไม่หายไป แต่จะยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยการเลือกปฏิบัติ เหยียดชาติ เหยียดผิว สุดท้ายจะนำมาซึ่งวิกฤติประชาธิปไตยในยุโรป

เช่นเดียวกับการประชุมของฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มทั่วยุโรปทั้งที่บรัสเซลส์ เบอร์ลิน แฟรงค์เฟิร์ต ปารีส ไม่ว่าจะเป็น Left Unity, Global Justice Now, และ DiEM25 (เครือข่ายองค์กรฝ่ายซ้ายที่ร่วมจัดตั้งโดย ยานิส วารูฟากิส อดีตรัฐมนตรีคลังกรีซ) ที่ชี้รากฐานของปัญหา และทางแก้ไขที่ต้องไม่ปล่อยให้อยู่ในภาวะ ‘รัฐสมคบทุนลากไป-ขวาสุดขั้วสมคบทุนลากมา’

“พวกเราจะยืนหยัดร่วมกันกับขบวนการรากหญ้าก้าวหน้า เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยอย่างถึงแก่น เราต้องหยุดยั้งอำนาจทุนและนโยบายตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เราจะรวมกันสนับสนุนการสร้างยุโรปใหม่บนหลักการความสมานฉันท์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ความรับผิดรับชอบที่เป็นประชาธิปไตย และความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม”

และนี่คือบทพิสูจน์ที่สำคัญของทุกสังคม

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
Commondreams / commondreams.org
Reuters / reuters.com
Corporate Europe Observatory / Corporateeurope.org

 

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า