ปักกิ่งในม่านหมอก

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนจะดี แต่ที่มาพร้อมๆ กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมคือมลพิษ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระดับสูงจนหาทางลงไม่เจอ

กว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วที่ท้องฟ้าของกรุงปักกิ่งและหลายเมืองทางตอนเหนือของจีนถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกควัน ยอดตึกระฟ้าทั้งหลายแทบหายไปในอากาศ ปริมาณมาณควันพิษและฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนกว่า 460 ล้าน

ต้นเหตุของหมอกควันพิษ 40 เปอร์เซ็นต์มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 22 แห่งซึ่งตั้งอยู่รอบกรุงปักกิ่ง ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเลี้ยงระบบอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และไปยังบ้านเรือน ซึ่งต้องทำงานหนักเป็นพิเศษในฤดูหนาว

สำหรับจีน ถ่านหินคือแหล่งพลังงานหลัก 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีนยังยืนกรานใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป แม้จะประกาศทำสงครามกับมลภาวะทางอากาศหลายปี แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลจีนดูเหมือนจะไม่เอาจริงเอาจังกับพลังงานทดแทน จนประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงอาการไม่พอใจผ่านโซเชียลมีเดียของจีน ในประเด็นการจัดการแก้ไขปัญหานี้ในวงกว้าง

ระหว่างปี 2008-2013 เทคโนโลยีและกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าชาติอื่นๆ ทำให้ราคาลดลงมาได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จีนควรจะเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานทดแทน แต่ตรงกันข้าม โรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 200 แห่งยังดำเนินการก่อสร้างต่อไป และคาดกันว่า ภายในทศวรรษหน้า แม้รัฐบาลจีนจะปิดโรงไฟฟ้าเก่าๆ แต่จากจำนวนโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า ภายในปี 2020 ระบบกระแสไฟฟ้าของจีนจะต้องพึ่งพาถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์

ปักกิ่งและอีก 24 เมืองในจีนกำลังเผชิญมลภาวะในระดับสูงสุด เฉพาะกรุงปักกิ่ง ตำรวจสิ่งแวดล้อมจะคอยตรวจตราไม่ให้เกิดฝุ่นควันเพิ่ม เช่น ห้ามย่างเนื้อสัตว์ เผาขยะ จัดการถนนที่มีฝุ่นปกคลุม และให้ประชาชนอยู่ในตัวอาคาร ทางการกรุงปักกิ่งรับปากว่าจะลดการใช้ถ่านหินให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ยกเลิกพาหนะเก่า 300,000 คัน โรงงานที่ก่อมลพิษจะถูกปิด และอีก 2,000 กว่าแห่งต้องปรับปรุงระบบควบคุมมลพิษใหม่ รวมถึงเตรียมติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้กับโรงเรียนและโรงเรียนอนุบาล

ความล้มเหลวในการจัดการถ่านหิน ทำให้จีนแซงหน้าสหรัฐไปยึดตำแหน่งผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเสียชีวิตกว่า 366,000 คนในปี 2013 ล่าสุด ทางการจีน โดยสำนักงานพลังงานแห่งชาติ (The National Energy Administration: NEA) ประกาศทุ่มงบประมาณ 360,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะให้ได้ภายในปี 2020

งบประมาณดังกล่าวคือการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อมาทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง

เช่นเดียวกับแผนโร้ดแม็ปห้าปีซึ่งประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาของคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) ซึ่งเตรียมลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ 140,000 ล้านดอลลาร์ กับพลังงานลม 100,000 ล้านดอลลาร์ และ 73,000 ล้านดอลลาร์กับพลังงานน้ำและพลังงานน้ำขึ้น-น้ำลง ภายในปี 2020

อย่างไรก็ตาม NEA บอกว่า แม้จะมีการทุ่มงบแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศมหาศาล แต่ในปี 2020 พลังงานหมุนเวียนจะเข้ามามีสัดส่วนในระบบเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
europe.newsweek.com
bbc.com
popsci.com
news.sky.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า