วิธีรับมือโฆษณาอาหารขยะรอบโลก

cereal-2

แม้องค์การอนามัยโลกจะยืนยันว่า โฆษณามีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคอาหาร โดยผลกระทบนี้จะมีผลอย่างมากต่อเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งอยู่ในวัยที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ

ผลสำรวจโดยทีมศึกษา มหาวิทยาลัยมินเนโซตา (University of Minnesota) ในสหรัฐ พบว่า เด็กๆ อเมริกันได้ชมโฆษณาอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงผ่านโทรทัศน์ อย่างเช่น อาหารขยะต่างๆ ซีเรียลอุดมน้ำตาล เครื่องดื่มและน้ำอัดลม และลูกกวาด เฉลี่ยหนึ่งชิ้นต่อการออกอากาศห้านาที

ดูวิธีการตอบโต้และรับมือปัญหาโฆษณาอาหารขยะในแปดประเทศรอบโลก โดยมาตรการจำกัดการเผยแพร่ ส่งเสริมการขาย และเทคนิคในการป้องกันผู้บริโภคตัวน้อยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

แคนาดา

มลรัฐควิเบกผ่านกฎหมายในปี 1980 จำกัดการโฆษณาอาหารขยะสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้การบริโภคอาหารขยะลดลงร้อยละ 13 ขณะที่มลรัฐอื่นๆ ของแคนาดาประสบปัญหาเด็กๆ น้ำหนักเกิน ควิเบกพบปัญหาเรื่องนี้น้อยที่สุด

ชิลี

กฎหมาย (Law of Nutritional Composition of Food and Advertising) จำกัดการโฆษณาอาหารที่มีแคลอรีสูง ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และโซเดียมสูง ที่พุ่งเป้าหรือทำตลาดกับกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี กฎเกณฑ์ดังกล่าวบังคับใช้กับรายการโทรทัศน์ เว็บไซต์ รายการวิทยุ และนิตยสารสำหรับเด็ก หรือสื่ออื่นๆ ที่มีผู้ชม 1 ใน 5 เป็นเด็กและเยาวชน โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะไม่สามารถโฆษณาหรือเผยแพร่ได้ในรั้วโรงเรียน ทั้งนี้ ในการจัดรายการส่งเสริมการขายที่ใช้ตัวการ์ตูนหรือของเล่น ไปจนถึงแอนิเมชั่นประกอบโฆษณา จะไม่สามารถกระทำได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2016

ฝรั่งเศส

นอกจากข้อจำกัดนานาประการเพื่อกีดกันโฆษณาอาหารขยะ รัฐบาลฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้โฆษณาของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา ได้แก่ ปริมาณไขมันสูง เติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือมีโซเดียมสูง ต้องเพิ่มเติมคำบรรยายและแนะนำหลักการบริโภคที่เหมาะสม อาทิ ‘เพื่อสุขภาพที่ดี ควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยห้าชนิดต่อวัน’

ไอร์แลนด์

อาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ถูกแบนจากการเผยแพร่โฆษณา การเป็นผู้สนับสนุนโครงการต่างๆ รายการสั่งซื้อสินค้าทางไกล และผลิตภัณฑ์ที่ให้การสนับสนุนรายการโทรทัศน์และวิทยุสำหรับเด็ก ที่มีผู้ชมมากกว่าร้อยละ 50 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี

ในไอร์แลนด์มีการควบคุมและไม่อนุญาตให้เหล่าดาราและคนดังมาโฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าอายุต่ำกว่า 13 ปี ห้ามใส่ข้อความกล่าวอ้างด้านสุขภาพหรือใช้ตัวการ์ตูนชื่อดังในการโฆษณา นอกจากนั้น โฆษณาอาหารขยะเหล่านี้ถูกจำกัดพื้นที่ในสื่อโทรทัศน์ให้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 25 ของโฆษณาทั้งหมด

เม็กซิโก

รายงานโดยทางการเม็กซิโกระบุว่า เด็กและเยาวชนของพวกเขาเสพสื่อโฆษณาอาหารขยะมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 12,000 ชิ้นต่อปี

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการป้องกันเด็กๆ จากการรับชมโฆษณาอาหารในหลายระดับ ตั้งแต่จำกัดการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด การจำกัดนี้ใช้บังคับกับรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากกว่าร้อยละ 35 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี โดยจำกัดเวลาเผยแพร่ไว้ที่ 14.30 – 19.30 น. ในวันธรรมดา และตั้งแต่ 7.00 – 19.30 น. ในวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 รัฐบาลเริ่มขยับมาตรการเพื่อบังคับใช้กับภาพยนตร์

นอร์เวย์

ในกฎหมายการกระจายเสียงและแพร่ภาพ (Broadcasting Act) ปี 1992 รัฐบาลนอร์เวย์จำกัดการออกอากาศโฆษณาที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน ในปี 2013 รัฐบาลก้าวมาอีกขั้น โดยได้รับความร่วมมือจากฝั่งผู้ประกอบการ ด้วยมาตรการสมัครใจในการจัดการตนเอง โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์จะเป็นผู้ตัดสินใจไม่ทำการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเครือข่ายองค์การอนามัยโลก ซึ่งประกอบด้วย 28 ประเทศ ร่วมกันจับตาและผลักดันให้ลดการโฆษณาในกลุ่มเยาวชน

ไต้หวัน

1 มกราคม 2016 ไต้หวันเริ่มต้นจำกัดการโฆษณาอาหารสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี การโฆษณาอาหารที่มีปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง ถูกจำกัดการเผยแพร่ในช่องโทรทัศน์สำหรับเด็ก ระหว่างเวลา 17.00 – 21.00 น. ซึ่งในไต้หวันมีช่องสำหรับเด็กด้วยกัน 13 ช่อง

นอกจากนั้น ยังกำหนดว่า ผู้ประกอบการด้านอาหารไม่สามารถส่งเสริมการขายสินค้าด้วยการแถมของเล่นหรือให้สิทธิพิเศษในการแลกซื้อ ซึ่งมาตรการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่เชนร้านฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่โดยตรง

อังกฤษ

หลังจากเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ที่รัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามการเผยแพร่หรือโฆษณาอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ในรายการโทรทัศน์หรือวิทยุที่มีผู้ชมในวัยต่ำกว่า 16 ปี ร้อยละ 20 ขึ้นไป จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปัจจุบัน เด็กๆ เข้าถึงสื่อโฆษณาลดลงร้อยละ 37 และมีรายงานว่า งบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนลดลงร้อยละ 40


อ้างอิงข้อมูลจาก:
alternet.org
wcrf.org

 

logo sponsor

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า