ที่แห่งนั้น : ปลายทางที่อาจไม่มีวันไปถึง

เรื่องและภาพ : นิธิ นิธิวีรกุล

 

[…] ลูกๆ ของเราถูกนำตัวไปที่อื่น สายใยระหว่างเรากับมนุษย์ชาติถูกตัดขาด เราถูกสาปให้อยู่กับความโดดเดี่ยว ขณะที่ลูกๆ ของเรายังคงมีชีวิต เราถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับสิ่งเดียวที่อาจเยียวยาเรา[1] […]

ท่ามกลางสรรพเสียง ทั้งเสียงประกาศจากศูนย์การค้า ทั้งเสียงเพลงบรรเลงภายในศูนย์การเรียนรู้บนชั้น 8 ของศูนย์การค้าแห่งนั้น รวมถึงเสียงทักทายของผู้คนจากชายแดนภาคใต้ สลับปนเปทั้งภาษาท้องถิ่นและภาษากลาง ผมเดินเข้าสู่งานเปิดตัวหนังสือ ‘หลังรอยยิ้ม’ เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้ ซึ่งจัดขึ้นโดย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกับ มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร และสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของ The United Nations Democracy Fund (UNDEF) สหประชาชาติ

ก่อนจะมาถึง ผมไม่เคยรับรู้อะไรมาก่อนเกี่ยวกับที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ แม้เป็นยุคที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกสิ่งทุกอย่างได้จากโทรศัพท์มือถือ จนอาจพูดได้ด้วยซ้ำว่า โดยแท้แล้ว หากพ้นไปจากปริมณฑลของคำว่า ‘การท่องเที่ยว’ แล้ว ผมแทบไม่เคยสนใจมิติอื่นในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ต่างจังหวัด’ หรือกล่าวให้ชัดกว่านั้น ไม่เคยสนใจสถานที่อื่นๆ ที่พ้นไปจากตัวตนเลย

เช่นกันกับเรื่องราวของผู้อื่นในชายแดนภาคใต้ที่รับรู้มาตลอดหลายสิบปี เพียงประโยคเดียวที่อยากได้ยินมาตลอด คือ “เมื่อไหร่จะจบสิ้นลงเสียที?”

หลังช่วยสนับสนุนทุนค่าจัดพิมพ์แล้ว ผมเลือกที่นั่งในเก้าอี้ว่างแล้วเริ่มต้นอ่านหนังสือที่บรรจุเรื่องเล่า 20 เรื่องที่ผสมผสานทั้งจดหมาย ชั้นเชิงภาษาในทางวรรณกรรม ก่อนเรื่องราวในหนังสือจะค่อยๆ กลบสรรพเสียงนั้นให้เงียบลงจนเหลือแต่เพียงเสียงเดียวที่ควรได้ยิน

เสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้

1.

[…] เมื่ออ่านดูการเล่าเรื่องเหล่านี้ เราจะได้เห็นภาพสะท้อนจากมุมมองและอัตวิสัยที่ต่างกัน โดยผ่านสัญญะและความหมายที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่น่าประทับใจที่เห็น ‘น้องโอม’ เด็กกำพร้า ขี้อาย อายุสิบเอ็ดปี ซึ่งพ่อเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกยิงตายกลางตลาด เมื่อถูกถามว่ามุสลิมกับพุทธเหมือนกันไหม? คำตอบง่ายๆ คือ “ไม่เหมือนกันครับ กลุ่มหนึ่งเล่นฟุตบอล อีกกลุ่มหนึ่งเล่นตะกร้อ[2]” […]

‘บทนำ’ ที่เปรียบเสมือนการแนะนำเรื่องราวที่กำลังจะได้อ่านในหน้าถัดไปนั้นบอกถึงสิ่งที่รู้อยู่แล้ว กระนั้นก็กลับชี้ชวนให้ตระหนักว่า ที่คิดว่ารู้นั้น รู้มากน้อยเพียงไร มิพักต้องพูดถึงความเข้าใจในสิ่งที่รู้ด้วยซ้ำ ชั่วขณะที่ผมละสายตาจากหน้าหนังสือ พิธีกรได้กล่าวแนะนำรายการ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สินค้าจากคนในพื้นที่ ก่อนจะแนะนำการแสดงจากครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบที่จะมาแสดง ‘ดิเกฮูลู[3]’ ให้ได้รับชม ผมพักหน้าหนังสือที่อ่าน มองชายหญิงและเด็กชายเดินจากด้านข้างเข้ามานั่งลงบนเสื่อ ทั้งหมดอยู่ในเครื่องแต่งกายแบบชาวมุสลิม โดยมี ‘ปะป๊ะ’ หรือพ่อนั่งอยู่ทางซ้ายมือ มีกลองวางอยู่ตรงหน้า เด็กชายในลำดับถัดมา นั่งล้ำออกมาใกล้ผู้ร่วมฟังเล็กน้อย ขณะที่ ‘มา’ หรือแม่ นั่งถัดจากเด็กชาย

ชั่วขณะของความเงียบงัน เสียงดนตรีจากการให้จังหวะของปะป๊ะเริ่มดังขึ้น จากนั้นเป็นเสียงในทำนองที่ชวนสนุกสนานด้วยท่วงท่าของเด็กชายตรงหน้าที่ขยับเขยื้อนท่อนแขนไปมาในลีลาที่ทำให้นึกถึงการเคลื่อนไหวของสายน้ำ จวบจนเมื่อการร้องรำในภาษามลายูประกอบจังหวะกลองจบสิ้นลงด้วยน้ำตาที่เอ่อล้นของปะป๊ะ บรรยากาศก็เหมือนตกอยู่ในมนต์สะกดผสานด้วยคำถามที่ลอยเคว้งอยู่ในอากาศ ก่อนพิธีกรจะกล่าวเชิญชวนให้ปรบมือ

ชั่วขณะนั้น คำถามก็เกิดขึ้นในใจแล้วว่า ไยบทเพลงที่ให้อารมณ์สนุกสนานกลับทำให้ผู้ขับร้องเองถึงกลับหลั่งน้ำตา จนเมื่อ ‘อาอีซะห์ ตีมุง’ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ ได้ทำหน้าที่ล่ามเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ของครอบครัวนี้ รวมถึงแปลเนื้อความบางส่วนของบทเพลงที่ทำให้ผมต้องรีบเปิดไปยังบท ‘ที่รักอยู่ในเรือนจำ’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเพลง ความรู้สึกที่มีต่อบทเพลงและการร่ายรำของเด็กน้อยเมื่อครู่ก็เปลี่ยนไป นาทีนั้น ผมแอบเห็นน้ำตาของใครหลายคน ไม่แม้แต่ ‘ฮามือเสาะ หะยีเจ๊ะสนิ’ ‘นาวารี ดิง’ รวมไปถึง ‘เด๊ะลัน’ เด็กชายตัวน้อยในวัยเจ็ดขวบเศษที่แหงนหน้าขึ้นมองทั้งพ่อและแม่

อาอีซะห์ทำหน้าที่สื่อสารภาษากลางให้เราได้รับรู้ว่า เรื่องราวในบทเพลงนั้น เริ่มต้นในวันหนึ่งระหว่างที่นั่งรอเข้าเยี่ยมภรรยาซึ่งถูกจำคุก ฮามือเสาะ หะยีเจ๊ะสนิ เกิดความรู้สึกที่อยากจะแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนของความรู้สึกที่มีต่อการทำได้เพียงมองภรรยาที่อยู่หลังลูกกรง โดยใช้ท่วงทำนองเพลงของนักร้องเพื่อชีวิตคนหนึ่ง จากนั้นใส่เนื้อร้องในภาษามลายูเข้าไป เนื้อร้องนั้น แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “…ตั้งแต่ตัวเธอเดินจากไป ฉันจะอยู่อย่างไร เพราะคิดถึงเธอทุกวัน ที่รักของฉันอยู่ในเรือนจำ…”

ชั่วขณะที่ผู้เข้าร่วมฟังได้แต่นิ่งงันด้วยน้ำตาที่เอ่อท้นกับน้ำเสียงที่สั่นเครือของอาอีซะห์ แม่ของเด็กชายเด๊ะลันก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อต้องหวนนึกถึงชะตากรรมที่ตนได้รับ เธอหันซบไหล่หญิงอีกคนที่ยืนเคียงเพื่อร่ำไห้ ชั่วขณะนั้นเองที่ผมรู้สึกว่า ณ ที่แห่งนั้น บนชั้น 8 ของศูนย์การค้าใจกลางเมืองหลวงอันทันสมัย เราทุกคนเสมือนถูกกักขังร่วมไปด้วยกับครอบครัวของฮามือเสาะ หะยีเจ๊ะสนิ  และไม่เคยได้ก้าวออกมาอย่างแท้จริง

อาจจะเหมือนเรื่องราวของ ‘อิบนูดาวูด’ โต๊ะอิหม่ามหนุ่มที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แทนโต๊ะอิหม่ามเดิมที่ถูกยิงเสียชีวิต จนกระทั่งอิบนูดาวูดถูกเรียกตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไปเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพยังค่ายกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร วันที่ 20 สิงหาคม 2550 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาในเช้าตรู่ของวันที่ 18 พฤศจิกายนปีเดียวกัน เพื่อ ‘เฉลิมฉลองวันดีกับครอบครัว’ ตามคำสั่งของผู้บัญชาการทางทหารในเวลานั้น ภาพของหมู่บ้าน ภาพของมัสยิด กระทั่งใบหน้าที่เคยคุ้นกลับกลายแปรเปลี่ยน จนเมื่อนึกถึงขึ้นมาคราใดก็กลับทำให้โต๊ะอิหม่ามหนุ่มกลับต้องรู้สึกเจ็บแปลบทุกครั้ง และกลับกลายเป็นดั่งคำถามที่อิบนูดาวูดได้แต่ถามตัวเองเหมือนอย่างที่ถ่ายทอดไว้ในหนังสือว่า

[…] หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ทำให้บรรยากาศสังคมเปลี่ยนตาม ความคุ้นเคยในชุมชนจางหาย แตกต่างกับหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่ผมเคยกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเป็นครั้งคราว แต่ดูวันนี้ผู้คนนั้นเงียบหายไป ต่างใช้ชีวิตสันโดษและเป็นส่วนตัวมาก ความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจกันแทรกซึมอยู่ทุกห้วงอณูในสังคมแห่งนี้ “เขาจะไว้ใจเราไหมนะ?”[4] […]

2.

ความคิดของผมยังวนเวียนจากเรื่องราวที่เปิดอ่านเพียงไม่กี่บท ผสมปนเปกับเสียงเพลง ‘ที่รัก…เธออย่าร้องไห้’  จวบจนเมื่อเสียงพิธีกรกล่าวนำเข้าสู่วงสานเสวนา ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนมอบหน้าที่ผู้ดำเนินรายการต่อให้ ‘จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์’ ซึ่งเริ่มต้นบรรยากาศเบาๆ ก่อนถาม ‘คอลิเยาะ มะลี’ หนึ่งในตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง ซึ่ง ‘ก๊ะ’ ก็เล่าว่าผลกระทบที่ตนเองได้รับนั้นเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้คนที่รายล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ตลอดจนทั้งหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าคดีบางคดีที่ศาลจะตัดสินจบสิ้นลงไปแล้ว แต่ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ คอลีเยาะไม่ได้มองว่าบทบาทในฐานะภรรยาของสามีที่ถูกจับได้จบลงไปด้วย คอลีเยาะเข้าร่วมกับกระบวนการสานเสวนา ปรับเปลี่ยนตัวเองจากหญิงมุสลิมชาวบ้านธรรมดาที่ไม่เคยตอบโต้ ไม่กล้าพูดจาใดๆ แม้ในยามเจ้าหน้าที่นำกองกำลังเข้ามาบุกค้นบ้าน จนในที่สุดเธอก็กลับเป็นคนที่กล้าพูด กล้าเจรจา อีกทั้งยังกลายเป็นแกนนำในหมู่บ้าน

ขณะที่ ‘ละออ พรหมจินดา’ หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเรียกว่า ‘ก๊ะละออ’ หญิงไทยพุทธที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยิงโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าด้านหลังทะลุปอดจนต้องพักรักษาตัวอยู่เกือบเดือน จึงได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล โดยการที่เป็นตัวแทนของคนไทยพุทธ ละออได้สะท้อนมุมมองในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงว่า ลำพังคนในพื้นที่นั้นไม่ได้ปัญหาใดๆ ค้างคาใจ แม้เปลือกนอกจะมีความหวาดระแวงต่อกัน แต่ก็มีความผูกพันกันในส่วนลึก

ละออเองไม่อาจให้คำตอบได้ว่า ทำไมถึงเกิดเรื่องราวทั้งหมดขึ้น

“จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม เราก็รักกันเหมือนเดิม ไม่ว่าไทยพุทธจะน้อย หรืออิสลามจะเยอะ แต่ทุกคนก็มีน้ำใจต่อกันนมนานมาแล้ว” ละออกล่าว

จากนั้น ‘นารี เจริญผลพิริยะ’ ในฐานะนักสันติวิธีและผู้พัฒนากระบวนการสานเสวนา ได้ตอบคำถามจากประเด็นที่มุ่งเน้นไปยังผู้หญิงในพื้นที่ว่า เป็นเพราะผู้หญิงมีความเข้มแข็ง และมีความยืดหยุ่นที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ดียิ่งกว่า หากทว่าความหวาดระแวงยังเป็นสิ่งที่คงอยู่ แม้การสานเสวนาจะเข้ามาประสานความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านมุสลิมและชาวบ้านด้วยกันเอง ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม

สอดคล้องไปกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของ ‘พลตรีชวลิต เรียนแจ้ง’ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ได้ให้ความเห็นว่า จากกรณีหมู่บ้านกูจิงลือปะภายหลังเหตุการณ์ครูจูหลิงเสียชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยความระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านอย่างสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมีเวทีกลางในการแลกเปลี่ยน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับรู้ความรู้สึกของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้สื่อสารกับชาวบ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านวิธีการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศัพท์อันคุ้นเคย คือ ‘การเมืองนำการทหาร’ โดยในมุมมองของพลตรีชวลิต การเมืองนำการทหาร คือการทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน การสร้างความเข้าใจ และการปลดล็อกเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในอดีต

เงื่อนไขในอดีตที่พลตรีชวลิตเองก็รับรู้เป็นอย่างดี คือ เงื่อนไขของสถานการณ์ในชายแดนใต้ที่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษสามฉบับ ประกอบไปด้วยกฎหมาย 1) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2457 2) พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 และสุดท้าย 3) พระราชบัญญัติความมั่นคงปี 2551

“อันนี้แหละครับที่สร้างผลกระทบ ซึ่งเราก็พยายามสร้างพันธกรณีในการปลดล็อกเรื่องกฎหมายที่ติดพันอยู่”

จากข้อจำกัดที่ว่านี้เอง นอกจากก๊ะคอลีเยาะที่ได้รับผลกระทบแล้ว ‘ยาการียา สะแปอิง’ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงภายหลังเหตุการณ์ครูจูหลังเสียชีวิต ด้วยความที่เป็นคนในชุมชนกูจิงลือปะ ซึ่งให้บังเอิญว่าภรรยาของยาการียาอยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการจับครูจูหลิงเป็นตัวประกันอยู่ ทั้งยาการียาและภรรยาต่างถูกจับกุม และถูกศาลตัดสินจำคุกทั้งคู่ ทั้งที่ในวันเกิดเหตุ ตัวเขาเองกำลังนั่งนับเงินบริจาคอยู่ในมัสยิด

คำถามหนึ่งที่ยาการียาได้รับเมื่อออกไปนอกพื้นที่ คือคำถามที่ทิ่มแทงเข้าไปในความรู้สึกที่ว่า “ทุบครูทำไม?”

ในฐานะคนนอกพื้นที่ ผมรับฟังเรื่องราวและได้รับรู้ว่า ภายหลังเหตุการณ์ในวันที่ครูถูกจับนั้น มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่กูจิงลือปะอีก 13 คน ในจำนวนนี้เป็นแม่กับลูกที่ถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกันในสวนยาง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐเอง ไม่นับผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงอีกนับร้อยชีวิต รวมถึงยาการียาและภรรยาเองด้วย

หากคำถามที่ยาการียาได้รับ ทิ่มแทงเข้าไปในความรู้สึกของเขา คำถามที่ทิ่มแทงเข้ามาในความรู้สึกของผม ก็คือเราเคยเข้าใจพวกเขาจริงๆ แค่ไหน?

ไม่ใช่ในนามของคนพุทธ แต่ในนามของมนุษย์ด้วยกัน

3.

ผมไม่ได้รู้จักทั้งครูจูหลิงและผู้ได้รับผลกระทบที่มาบอกเล่าเรื่องราวเพียงบางส่วนจากทั้งหมด 20 เรื่องที่บรรจุอยู่ในหนังสือ ‘หลังรอยยิ้ม’ แต่เมื่องานจบลง และทุกคนลุกขึ้นจากเก้าอี้เพื่อกลับไปสู่ชีวิตของแต่ละคน กลับไปสู่บ้านของแต่ละคนเพื่อเริ่มต้นวันทำงานในวันรุ่งขึ้น

ภาพใบหน้าของ ‘คำมี ปงกันมูล’ ในวีดิทัศน์ที่มาบอกเล่าความรู้สึกต่อผู้ทำร้ายลูกสาวของตนด้วยการให้อภัย ไม่โกรธแค้น ไม่ต้องการเอาเวรอะไรกันอีกหวนกลับมา แทรกซ้อนด้วยเสียงร้องของฮามือเสาะ หะยีเจ๊ะสนิ ก่อนที่ผมจะก้าวพ้นจากศูนย์การค้าแห่งนั้นเพื่อเดินลงสู่สกายวอล์กเพื่อขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน ผมไม่รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่แม่คนหนึ่งต้องการนั้นจะเกิดขึ้นจริงได้แค่ไหน ไม่ใช่แต่เพียงที่กูจิงลือปะ อาจไม่เกินไปด้วยซ้ำที่จะกล่าวว่าไม่ใช่แต่เพียงในพื้นที่ชายแดนใต้ ดินแดนที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ เรารับรู้แต่เพียงว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง พื้นที่สีแดง พื้นที่ไม่สงบ และเต็มไปด้วยความขัดแย้งของคนสองศาสนา

แม้ทุกวันนี้ รอยยิ้มของผู้ได้รับผลกระทบจะกลับคืนมา แต่ก็อาจเหมือนในจดหมายที่ออสการ์ ไวลด์ เขียนถึงอัลเฟรด ดักลาส ว่า ‘…น้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ในคุกนั้น วันที่เราไม่ได้หลั่งน้ำตาคือวันที่หัวใจเราแข็งกระด้าง ไม่ใช่วันที่หัวใจเราเป็นสุข[5]

หลังรอยยิ้มของผู้คนในชายแดนใต้ คือความเจ็บปวด คือความสูญเสียที่การเยียวยาใดๆ อาจทำได้เพียงบรรเทาให้แต่ละวันขณะที่ยังมีลมหายใจไม่รู้สึกว่าโลกนั้นโหดร้ายเกินต้านรับ ไม่ว่าจะด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า หรือเพียงโชคชะตาบันดาล

สำหรับผมที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำของความสุขที่ไม่อาจเรียกคืนจากความรุนแรง คงทำได้แต่เพียงเท่านี้ บันทึกเรื่องราวของพวกเขา บันทึกที่คงเป็นได้เพียงจดหมายในขวดแก้วที่ลอยคออย่างเคว้งคว้างในทะเลแห่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเรื่องราวของผู้สูญเสีย เรื่องราวของผู้ที่กว่าจะก้าวข้ามความเจ็บปวดเพื่อมอบรอยยิ้มนั้นไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวของพวกเขาเอง และอาจไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนใหญ่จะอยากสนใจรับรู้อีกต่อไป

รถไฟฟ้ากำลังจะเทียบชานชาลาสถานีปลายทาง เพียงชั่วขณะหนึ่งนั้น ผมนึกอยากให้รถไฟฟ้าแล่นต่อเนื่องไปอย่างไม่มีสิ้นสุด


สำหรับสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล สามารถติดต่อซื้อหนังสือ
‘หลังรอยยิ้ม : เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้’ ได้ที่ สำนักงานเครือข่ายผู้หญิง ภาคประชาสังคมฯ
ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
อีเมล์ [email protected]  โทรศัพท์ 061 214 8132

[1] จาก ‘ที่ใดมีความเศร้า’ Da Profundis : Oscar Wilde รติพร ชัยปิยะพร : แปล สนพ. freeform
[2] บางส่วนจาก บทนำ ‘เรื่องเล่า’ จากชีวิตที่สะท้อนปรากฏการณ์วิทยา แห่งความเป็นมนุษย์ในกระแสความรุนแรง โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปัตตานี
[3] ‘ดิเก’ หรือ ‘ลิเก’ เป็นศัพท์ภาษาเปอร์เซีย มีสองความหมายคือ 1) เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า เรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า ‘ดิเกเมาลิด’ กับ 2) กลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นหมู่คณะ ใช้ไม่ไผ่มาตัดท่อนสั้นแล้วหุ้มกาบไม้ข้างหนึ่งให้เกิดเสียงดังประกอบการร้องรำ
[4] บางส่วนจากบท ‘กว่าวันนั้นจะมาถึง กว่าวันหนึ่งจะผ่านไป’ โดย อิบนูดาวูด (นามสมมติ)
[5] อ้างอิงจากข้อ 1 ในเชิงอรรถ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า