ความฝันของผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก

bill-gates

 

ผมกำลังยืนอยู่ในโถงรับแขกเพดานสูงลิ่ว ภายในตึก 5 ชั้น สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (The Bill and Melinda Gates Foundation) ที่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา

ระบบอัตโนมัติของอาคารส่งเสียงครางเบาๆ ขณะที่กำลังปรับมูลี่เพื่อให้รับแสงจากภายนอกได้พอเหมาะพอดี ลดการใช้พลังงานให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด มองไปรอบๆ อาคารที่ทันสมัยนี้ ผมเห็นพื้นและผนังประดับไปด้วยบรรดาผ้าทอมือจากประเทศกำลังพัฒนา ช่วยให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของหมู่บ้านในแอฟริกา หูพลันแว่วเสียงกลองและควันไฟ พนักงานที่เห็นอยู่รอบๆ มีทุกสีผิว ไม่ว่าขาว เหลือง ดำ แต่เป็นผู้หญิงทั้งหมด!

โอ้…นี่มันยุคพระศรีอาริย์หรือไร?

ผมมากับทีมงานแปลกๆ ที่ประกอบด้วยหมอ ทหาร นักวิทยาศาสตร์ และนักบริหาร เป็นทีมลูกผสมคนไทยและคนอเมริกัน ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์มาด้วยกันมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว

ภารกิจครั้งนี้ก็ง่ายๆ แค่เราต้องเกลี้ยกล่อมให้ลูกน้องของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ยอมควักกระเป๋าสมทบเงินเพื่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกัน HIV/เอดส์ ขึ้นในประเทศไทย หากสำเร็จก็จะเป็นโรงงานผลิตวัคซีน HIV แห่งแรกของโลก เพราะถึงจะมีหลายทีมวิจัยแข่งกันอยู่ในขณะนี้ แต่ยังไม่มีที่ไหนทำได้สำเร็จมาก่อน ฝันของเราคืออยากให้ทำสำเร็จที่เมืองไทย

มูลค่าโครงการนี้ก็ร่วมๆ พันล้านบาท แม้ส่วนที่ไทยและสหรัฐกำลังลงทุนก็ไม่น้อยอยู่แล้ว แต่เงินสมทบที่หวังก็ยังไม่ใช่ก้อนเล็กๆ แต่เป็นหลายร้อยล้านบาท แน่ล่ะ…ถึงจะเป็นมหาเศรษฐีขนาดไหน ก็ต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่ที่จะลงทุน และที่สำคัญคือต้องมี ‘ความเชื่อ’ ร่วมกันก่อนว่า วัคซีนนี้ทำขึ้นมาเป็นสิ่งจำเป็น และใช้ได้ผล

มองไปโนโลกนี้ ณ อายุ 58 ขวบ ผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก มีชีวิตที่ค่อนข้างสมถะ ถ้าเทียบกับทรัพย์สมบัติ 2.5 ล้านล้านบาทของเขา เขามีบ้าน 3 หลัง เครื่องบิน 1 ลำ และไม่มีเรือยอทช์ มักใส่กางเกงสีกากี รองเท้าแตะหุ้มส้น และเสื้อไหมพรมคอตัววี แว่นตาก็สวมทรงเดิมมา 40 ปีแล้ว

บิล เกตส์ ไม่ใช่ ‘คนดี’ ในความหมายของ คสช. หรือกระทรวงศึกษาธิการแน่นอน เขาเรียนหนังสือไม่จบมหาวิทยาลัย เป็นแฮคเกอร์ตัวพ่อ ตอนหนุ่มๆ เขาเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์เจาะเข้าไปในระบบโทรศัพท์เพื่อแอบโทรฟรี บริษัทไมโครซอฟท์ของเขากับเพื่อนก็ตั้งหน้าตั้งตาจะให้คอมพิวเตอร์ทุกตัวในสุริยจักรวาลนี้ติดตั้งระบบปฏิบัติการ  Windows ให้หมด ภาพของเขาคือคนที่เอาแต่กอบโกย

แต่เขามีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ในการแก้ปัญหา สำหรับนักเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง บิล เกตส์ โลกทั้งใบคือระบบปฏิบัติการขนาดยักษ์ เป็นโปรแกรมซอฟท์แวร์ที่เขาต้องการแก้บั๊ก ต้องหาข้อบกพร่องให้เจอ ปัญหาของโลกไม่ว่าจะความยากจน โลกร้อน พลังงานขาดแคลน หรือโรคระบาด มนุษย์ควรแก้ไขได้ ถ้ามีเครื่องมือที่ดีและคนทำเชี่ยวชาญพอ

เขาเชื่อว่าเขาทำได้ และที่สำคัญ (สำหรับเรา) เขาเชื่อว่า วัคซีนคือเครื่องมือที่ใช้ป้องกันและกำจัดโรคระบาดสำคัญของโลกได้ ตั้งแต่โปลิโอ วัณโรค ไปจนถึง HIV/เอดส์

เมื่อ 15 ปีก่อนบิลกับเมลินดา ภรรยาของเขา จึงตั้งมูลนิธิขึ้นมาโดยใช้ทรัพย์สมบัติของพวกเขาเอง จนปัจจุบันนี้กลายเป็นมูลนิธิเอกชนที่โปร่งใสที่สุดและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โครงการดังๆ ของมูลนิธิเกตส์และภรรยาไม่ได้อัดฉีดแต่เงินอย่างเดียว แต่เล่นกับเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ ด้วย เช่น เอานักนิวเคลียร์ฟิสิกส์มาทำคุกกี้อุดมสารอาหารให้แก่คนจนในประเทศกำลังพัฒนา เอาวิศวกรระดับมันสมองมาสร้างห้องน้ำที่ดีกว่าให้คนแอฟริกา ไปจนถึงเอานักนาโนเทคโนโลยีมาทำถุงยางอนามัย

ดูไป มูลนิธิเกตส์ก็เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพแบบไมโครซอฟท์เมื่อตอนก่อตั้งใหม่ๆ เพียงแต่มองตลาดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็น ‘มวลมหาประชามนุษย์’ เท่านั้นเอง

วัคซีนเอดส์ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่มูลนิธิเกตส์หยิบจับอยู่ไม่น้อย แต่มาถึงวันนี้โลกก็ยังไม่มีวัคซีนใดๆ ที่ใช้ป้องกันโรคเอดส์ได้ ยกเว้นวัคซีนที่ทีมของเราเตรียมมานำเสนอ ซึ่งเป็นผลจากโดยหลายฝ่ายร่วมกัน ตั้งแต่บริษัทข้ามชาติ มหาวิทยาลัย ทหาร และภาครัฐของไทยและสหรัฐ

ผลจากการทดลองในคนเมื่อหลายปีก่อนบ่งชี้ว่า วัคซีนตัวนี้มีอัตราได้ผลประมาณ 1 ใน 3 เป็นที่ตื่นเต้นกันไปทั้งโลก ถึงนิตยสาร TIME เอาไปลงว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โจทย์คือ ต้องปรับปรุงแก้ไขประสิทธิผลให้ดีกว่าร้อยละ 50 และวันนี้ทีมงานได้ไปพัฒนาวัคซีนนี้เพิ่มเติมแล้ว เหลือแต่เตรียมทดสอบในคนอีกครั้ง พร้อมกับเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมายังประเทศไทย

บรรดาเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ให้ทุนวิจัยเห็นตรงกันว่า ไหนๆ จะต้องทุ่มเงินทดลองในคนอีกทีแล้ว ควรต้องเตรียมความพร้อมผลิตวัคซีนนี้ให้ได้เลยทันทีที่รู้ผล ไม่อย่างนั้นจะต้องเสียเวลาอีกหลายปีกว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างโรงงานเสร็จ ระหว่างนั้นโรคจะแพร่ขยาย คนต้องติดเชื้อหรือตายอีกมาก

และนี่คือโจทย์ที่ท้าทายมาก ก่อนที่บ้านเราจะผลิตวัคซีนตัวนี้เองได้ ไหนจะต้องสร้างคนที่พร้อมรองรับและใช้เทคโนโลยี คนของเราจะต้องมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญคือ เราต้องมีเงินเยอะพอที่จะตั้งโรงงานหรือขยายโรงงานเดิมที่มีอยู่ให้ผลิตวัคซีนได้จริง

 

อุปสรรคหนึ่งอยู่ตรงที่ว่า เงินทองในโลกนี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ส่วนใหญ่ไหลไปรวมกันอยู่ที่แอฟริกา ที่ซึ่งการแพร่ระบาดเป็นปัญหาหนักมากที่สุด และเชื้อที่ระบาดในแอฟริกาส่วนหนึ่งก็ดันตรงกับสายพันธุ์ที่เป็นกันในกลุ่มสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับในบ้านเรา

 

ความพยายามครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ของคนกลุ่มน้อยของ ‘โลกเอดส์’ คือคนในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาวุธสำคัญ คือ ผลการวิจัยที่บอกว่าวัคซีนของเราเป็นตัวแรกในโลกและเป็นตัวเดียวที่ใช้ได้ผลอยู่ในเวลานี้

แต่การต่อสู้เพื่อให้มีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์สำหรับคนไทยและคนเอเชียในครั้งนี้ อุปสรรคขวากหนามไม่ใช่แค่ต้องสู้กับค่ายแอฟริกาเพื่อแย่งชิงความสำคัญมายังฝั่งเอเชียเท่านั้น เพราะถ้ามองภาพมุมกว้างก็จะเห็นว่า แม้แต่คำว่า ‘วัคซีน’ ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาจากสังคม แม้จนวันนี้ทุกๆ ครั้งที่มีวัคซีนตัวใหม่ก็มักจะต้องผ่านการพิสูจน์จากสังคมเป็นเวลาหนึ่ง กว่าจะได้รับการยอมรับ

ลองคิดแบบทฤษฎีเกมดูบ้าง สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งไม่ว่าแท้จริงจะเกิดจากความกลัวเข็มฉีดยา กลัวความเสี่ยงของวัคซีน หรือเหตุผลทางศาสนาก็ตาม ได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงสำคัญขึ้นมาก็คือ เมื่อนโยบายบังคับฉีดวัคซีนเริ่มได้ผลและอัตราการเกิดโรคติดเชื้อลดลง บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเริ่มรู้สึก
‘ตายใจ’ และหันไปใช้ทางเลือกที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองที่สุดคือ ทางเลือกที่เหมาะที่สุด กลายเป็น ‘ไม่ฉีด’ เพราะสามารถยืมภูมิคุ้มกันหมู่มาช่วยป้องกันตัวได้ระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นพวก ‘โหนรถเมล์ฟรี’ กลุ่มประชากรไหนที่มีคนโหนรถเมล์ฟรีมากเกินไป ย่อมพร้อมที่จะสูญเสียภูมิคุ้มกันหมู่ และเกิดความเสี่ยงที่โรคจะแทรกตัวเข้ามาทำร้ายได้แม้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

กรณีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ถ้าเรามีวัคซีนที่ใช้ได้ผลและผลิตได้สำเร็จ จะมีคนกล้ามาฉีดไหม เพราะถ้ายอมมาฉีด ก็เท่ากับยอมรับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเอดส์ (พี่ๆ กอง บก. นิตยสาร WAY จะยอมมาฉีดกันไหมครับ) และแน่นอนที่สุดที่จะมีคนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมขึ้นมาอีกว่า ถ้ามีวัคซีนที่ป้องกันเอดส์ได้ คนเราก็จะมีพฤติกรรมสำส่อนเพิ่มขึ้นอีกใช่ไหม อันนี้คล้ายๆ กรณีข้อโต้เถียงเรื่องถุงยางว่าควรให้เยาวชนเตรียมไว้ป้องกันตัวเองดีหรือเปล่า

บิล เกตส์เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Rolling Stone เมื่อต้นปีนี้ว่า เขาเป็นห่วงโรคที่ ‘แอบ’ ตัวเองได้เป็นระยะเวลานานๆ อย่างโรคเอดส์ที่สามารถซ่อนตัวอยู่ได้ถึง 6 ปีหลังติดเชื้อ โดยไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา มากกว่ากลัวโรคระบาดที่หวือหวาอย่างไข้หวัดใหญ่ เพราะโรคเอดส์ในช่วงไม่แสดงอาการเป็นโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายออกไปได้สู่คนอีกหลายล้านคน

ถึงเขาจะมีความเชื่ออย่างแรงกล้า (ถึงขั้นหมกมุ่น) ว่าเขาสามารถขจัดโรคติดต่อให้หมดไปจากโลกได้ และสำหรับโรคโปลิโอเขาทำได้สำเร็จไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น อินเดีย และกำลังลุยไปปราบโปลิโอในท้องที่ทุรกันดารอย่างชายแดนปากีสถาน อัฟกานิสถาน และไนจีเรีย แต่ปัญหาที่เกตส์เจอที่นั่นคือการต่อต้านและความคลางแคลงใจในวัคซีน กลุ่มตาลีบันประกาศแบนวัคซีน และมีการพยายามแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนความจริง ถึงขั้นเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยฉีดวัคซีนถูกทำร้ายก็มี ความเชื่อในวัคซีนของบิล เกตส์ กำลังถูกท้าทายด้วยการเมือง สงคราม และขนบในท้องถิ่นที่แตกต่าง

ระหว่างที่ผมกำลังนึกอิจฉาคนที่ทำงานที่นี่อยู่ว่า ไม่ต้องคอยห่วงว่าจะหาเงินมาได้อย่างไร คิดเพียงว่า จะแก้ปัญหาอย่างไรให้โลกนี้ดีขึ้น ก็พอดีพนักงานสาวผมทองที่รูปร่างหน้าตาคล้าย นิโคล คิดแมน เดินเข้ามาแนะนำตัวก่อนที่จะพาเราผ่านเข้าประตูไปสู่ห้องประชุมเจรจา…

…บิล เกตส์ที่รัก ฝันของเรายังเป็นฝันเดียวกันอยู่ไหม?

 

*******************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 80, ธันวาคม 2557)

Author

นเรศ ดำรงชัย
นักคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี ผ่านงานในสายวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งศึกษาวิจัยและบริหาร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ นเรศ ดำรงชัย รักที่จะหยิบเรื่องราวของงานวิจัยล่าสุดมาแบ่งปันในคอลัมน์ Dualism เสน่ห์ที่เป็นจุดเด่นคือการแบ่งปันมุมมองที่เปี่ยมอารมณ์ในทุกตัวอักษร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า