บุญเลิศ วิเศษปรีชา: นักมานุษยวิทยาสายสตรีท

boonlert1

ภาพถ่าย: อนุช ยนตมุติ

บุญเลิศ วิเศษปรีชา ใช้ชีวิตเป็นโฮมเลสที่กรุงมะนิลาเป็นเวลา 16 เดือน

“เปโร มะซายะ” บุญเลิศ ถ่ายทอดภาษาตากาล็อกให้ WAY ฟัง และอธิบายถึงความหมายของคำนี้ว่า difficult but happy เป็นคำที่เพื่อนโฮมเลสของเขาที่ฟิลิปปินส์ใช้พูดกับชีวิตตนเอง: ‘เปโร มะซายะ’

ในฐานะนักมานุษยวิทยา เขาเก็บเกี่ยวเพื่อนโฮมเลสไว้มากมาย ดอกผลคือความพยายามเข้าใจชีวิตอื่น บุญเลิศพาตัวเองเข้าไปยืนอยู่ในวัตถุศึกษาที่เขาสนใจ – โฮมเลส

“ถ้าคุณอยากจะเข้าใจคนอื่น คุณต้องลองไปยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ผมอยากเข้าใจโฮมเลส ฉะนั้นผมก็ต้องมาใช้ชีวิตเป็นโฮมเลสเพื่อที่จะเข้าใจว่าโฮมเลสใช้ชีวิตอย่างไร” บุญเลิศบอก

ปี 2546 วิทยานิพนธ์หัวข้อ เปิดพรมแดน: โลกของคนไร้บ้าน ได้รับเกียรติบัตรวิทยานิพนธ์ดีเด่น จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีเดียวกันนั้น บุญเลิศปรับปรุงเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ โลกของคนไร้บ้าน ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมา โลกของคนไร้บ้าน ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกพันธ์ รางวัลหนังสือวิชาการดีเด่นประจำปี 2550

ปี 2547 บุญเลิศทำวิจัยหัวข้อคนไร้บ้านที่โตเกียว แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเรียนต่อปริญญาเอกที่ University of Wisconsin-Madison ในปี 2552
บุญเลิศลงเรียนภาษาตากาล็อกเป็นเวลา 1 เทอมก่อนเดินทางไปลงฟิลด์ที่กรุงมะนิลาเป็นเวลาสองเดือนในปี 2554 จากนั้นเขาเก็บข้าวของมาใช้ชีวิตเป็นโฮมเลสที่กรุงมะนิลาอีก 14 เดือนในช่วงปี 2556-2557

Structural violence and homelessness: Searching for  Happiness on the streets of Manila คือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนักมานุษยวิทยาสายสตรีทผู้นี้

ที่กรุงมะนิลา เขามีตารางการทำงานชัดเจน หกวันต่อสัปดาห์คือเวลาทำงานภาคสนาม เขาเช่าห้องเล็กๆ ไว้สำหรับเก็บข้าวของส่วนตัว เช้าวันจันทร์เดินทางออกจากบ้านไปเป็นโฮมเลส ก่อนจะกลับมาบันทึกข้อมูลที่ได้มาในเย็นวันอาทิตย์

พาสปอร์ตหายและหนีคดี คือข้อสงสัยของโฮมเลสกรุงมะนิลาที่มีต่อบุญเลิศ แต่กว่า 16 เดือนที่ใช้ชีวิตเป็นโฮมเลส บุญเลิศมีเพื่อนเป็นโฮมเลสหลายคน เพื่อนในความหมายให้ที่พักพิงและสามารถพูดคุยกันได้

เขากินข้าวที่โบสถ์ซิกข์แทบทุกวันเหมือนเพื่อนโฮมเลสคนอื่น เขาเดินเท้าไปตามสถานที่แจกอาหารต่างในกรุงมะนิลาเหมือนเพื่อนโฮมเลสคนอื่น เขานอนอยู่ baywalk hotel โรงแรมระดับ 5 ดาวของโฮมเลสในกรุงมะนิลา

WAY หลงใหลระเบียบวิธีการทำงานของเขา ตั้งแต่ครั้ง โลกของคนไร้บ้าน และวิทยานิพนธ์ของเขาในหัวข้อ Structural violence and homelessness: Searching for  Happiness on the Streets of Manila ได้พาเราไปฟังเกร็ดความรู้จากงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ และสีสันที่ติดมาจากการศึกษาภาคสนาม


คาแรคเตอร์ของโฮมเลสใน 3 ประเทศนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง

ผมจะพูดในด้าน enjoy กับ suffer เพราะเป็นประเด็นที่ผมกำลังสนใจ

เวลาเรานึกถึงโฮมเลส ชีวิตของพวกเขาต้องซัฟเฟอร์ใช่มั้ย แต่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม Structural violence and homelessness: Searching for  Happiness on the streets of Manila พูดกลับกัน ผมพูดถึงการค้นหาความสุขบนท้องถนนของคนไร้บ้านที่ฟิลิปปินส์ คนเหล่านี้อาจจะไม่ซัฟเฟอร์ก็ได้ ช่วงเวลา 2 เดือนแรกในฟิลิปปินส์ทำให้ผมพบสิ่งน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง ผมจะเล่นต่อคำกับคนไร้บ้าน เช่น เขาจะบอกว่า “บุน มะฮิรับ” (บุนคือชื่อที่โฮมเลสฟิลิปปินส์ใช้เรียกบุญเลิศ – กองบรรณาธิการ) แล้วผมจะต้องต่อประโยคให้สมบูรณ์ ผมจะบอกว่า “มะฮิรับ เปโร มะซายะ” คำนี้แปลว่า difficult but happy แม้ชีวิตจะยากลำบากแต่เรามีความสุข มันสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมของคนฟิลิปปินส์

ถ้าเทียบความเอ็นจอยไลฟ์ ผมคิดว่าคนฟิลิปปินส์มีระดับความเอ็นจอยมากที่สุด สังคมฟิลิปปินส์เป็นสังคมที่ไม่เครียด ตกงานก็ไม่เครียด ผมดูข่าวไฟไหม้ในโทรทัศน์ กล้องแพนไปเห็นบรรยากาศผู้คนชูมือชูไม้ยิ้มให้กล้องทั้งๆ ที่บ้านกำลังไฟไหม้ เพื่อนฟิลิปปินส์บอกผมว่า คุณเห็นมั้ยว่าฟิลิปปินส์ยังยิ้มได้  คนฟิลิปปินส์ปรับตัวเข้ากับชีวิตที่ยากลำบากและเอ็นจอยกับชีวิตได้มากที่สุด

ส่วนคนไร้บ้านในญี่ปุ่นผมคิดว่า suffer หนักที่สุด ทั้งๆ ที่หากเปรียบเทียบแล้ว ญี่ปุ่นมีระบบสวัสดิการที่ดีกว่า มีห้องน้ำสาธารณะที่ดี ฟิลิปปินส์แย่กว่าญี่ปุ่นเยอะ คุณสามารถเห็นคนถ่ายข้างถนนได้ในกรุงมะนิลาแต่โฮมเลสฟิลิปปินส์กลับเอ็นจอยกับชีวิตของพวกเขาได้มากกว่าโฮมเลสญี่ปุ่น

ส่วนคนไร้บ้านในไทย อยู่ตรงกลาง เอ็นจอยบ้าง ไม่มาก แต่ก็ไม่ถึงขั้นซัฟเฟอร์อะไรมาก

เพราะอะไรเหรอ? ผมขออธิบายง่ายๆ แบบนี้ ว่าถ้าคุณเป็นคนจนท่ามกลางประเทศที่มีคนจนจำนวนมากคุณจะไม่รู้สึกเป็นตัวประหลาด ในขณะที่ถ้าคุณเป็นคนจนในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง คุณก็จะเป็นคนส่วนน้อย ด้วยเหตุนี้ โฮมเลสในญี่ปุ่นจึงถูก treat จากสังคมแบบน่ารังเกียจค่อนข้างชัดมาก ถ้าคุณเป็นโฮมเลสที่เดินไปตามสถานีรถไฟ คนทั่วไปไม่แม้กระทั่งจะเหลียวตามองคุณเลยนะ เขามองคุณเป็นวัตถุที่ไม่ใช่มนุษย์เลยนะครับ ผมเคยขึ้นรถไฟไปกับโฮมเลสญี่ปุ่น จะเห็นได้ชัดเลยถ้าคนข้างๆ เห็นว่าบุคลิกของคุณคือโฮมเลส เขาไม่อยากอยู่ใกล้คุณขึ้นมาทันที ความรู้สึกของการถูกเลือกปฏิบัติสำหรับโฮมเลสในญี่ปุ่นรุนแรงกว่าในสังคมฟิลิปปินส์ พวกเขาจึงค่อนข้างซัฟเฟอร์

ประเด็นต่อมา ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโฮมเลสระดับสากลมีสองขั้วใหญ่ๆ ขั้วแรก มองว่า คนที่เป็นคนไร้บ้าน มีสาเหตุจากปัญหาโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีงานทำ ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการ อีกขั้วหนึ่งมองว่าเป็นความบกพร่องส่วนบุคคล สำหรับผม ผมเขียนว่า ทั้งสองปัจจัยต่างส่งให้คนคนหนึ่งเป็นโฮมเลส แต่ผมให้น้ำหนักกับปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมมากกว่า ผมคิดว่าความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ต่างกันได้ shape คาแรคเตอร์คนไร้บ้านในแต่ละสังคมขึ้นมา เราจึงเห็นคนไร้บ้านที่มีลักษณะหน้าตาแบบต่างๆ กัน ระบบเศรษฐกิจฟิลิปปินส์แย่กว่า คนตกงานมากกว่า จำนวนคนไร้บ้านก็มากตามไปด้วย ทั้งคนวัยหนุ่มสาว ส่วนคนไร้บ้านญี่ปุ่นเป็นผู้สูงอายุ เฉลี่ยราว 50 กว่าปี เพราะแก่เกินกว่าจะหางานทำได้ แต่ยังไม่แก่พอที่จะได้รับสวัสดิการ ส่วนในสังคมไทยเราถือว่าเรามีการจ้างงานดี เราเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้วยเหตุนี้จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯของเราจึงน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร

13427887_10153538249776456_3555466261882060175_n
บุญเลิศ วิเศษปรีชา ลงพื้นที่ภาคสนามศึกษาชีวิตโฮมเลสที่กรุงมะนิลา ภาพนี้ถ่ายที่ถนน Otis ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งที่โฮมเลสฟิลิปปินส์และบุญเลิศใช้นอน

ในบรรยากาศบ้านเมืองที่เราอาจพบเห็นคนขับถ่ายข้างถนนได้ แต่วิทยานิพนธ์ของคุณมุ่งหาความสุขของคนไร้บ้านที่ฟิลิปปินส์?

จริงๆ มี 2-3 ประเด็น ประเด็นแรก การศึกษาเรื่องโฮมเลสเราต้องตอบคำถามว่าทำไมคนจึงมาเป็นโฮมเลส ผมก็ตอบว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างอะไรบ้างที่ทำให้คนเป็นโฮมเลส ประเด็นที่สอง เมื่อเขามาเป็นคนไร้บ้าน เขาใช้ชีวิตอย่างไรให้รอด ซึ่งประเด็นนี้คล้ายประเด็นที่ผมทำที่เมืองไทย แต่ส่วนที่ผมดึงออกมาให้เด่นชัดคือแง่มุมที่ว่าคนฟิลิปปินส์มีทัศนคติกับชีวิตแบบหนึ่งก็คือ “มะฮิรับ เปโร มะซายะ” เขาคิดแบบนี้เขาพูดแบบนี้ได้อย่างไร ผมก็วิเคราะห์ให้ความกับคำพูดของเขาว่า “เปโร มะซายะ” ความจริงก็เป็นกลยุทธ์ในการบอกกับตัวเองว่า ชีวิตของเราไม่ได้ขื่นขมทุกข์ระทมมากมาย อย่างน้อยก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถามว่าถ้าเขามีทางเลือกที่ดีกว่า เขาก็ต้องอยากไปจากที่นี่อยู่แล้ว แต่เขาคิดแล้วว่าทางเลือกที่จะออกจากข้างถนนนั้นยาก เพราะฉะนั้นจะไปบอกทำไมว่าตัวเองล้มเหลว ก็บอกไปเลยสิว่า เปโร มะซายะ ซึ่งก็ไม่เลวนักใช่มั้ย

คุณเปิดตัวเองในฐานะนักศึกษานักวิจัยหรือปิดบังอำพรางตัวเอง

ในฐานะนักมานุษยวิทยา ผมไม่สามารถปิดบังตัวเอง ผมบอกว่า ผมเป็นนักศึกษา แต่เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ นั่นอีกเรื่องนึงนะครับ

เวลาใครถามผมว่า “บุญเลิศ ยูปลอมตัวเป็นโฮมเลสรึเปล่า” ผมจะบอกคุณเลยว่า ‘ปลอมตัว’ ใช้ไม่ได้ เพราะว่าในเชิงจริยธรรมเราต้องบอกคนที่เราจะไปคุยด้วยว่า เราเป็นนักศึกษามาศึกษา เราไม่หลอกเขาว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวมานั่งเล่น และเราจะไม่บอกให้คุณคาดหวัง เพราะคุณอย่าคาดหวังว่าผมจะช่วยอะไรคุณ ผมไปครั้งแรก ปี 2011 ใช้เวลา 2 เดือน ในสองปีถัดมาผมกลับไปอีกรอบ พยายามหาเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น ผมไปอยู่ทั้งหมด 14 เดือน ซึ่งก็ได้บทเรียนเยอะแยะทีเดียว ผมมีเพื่อนเป็นโฮมเลส เขาถามว่า “บุน ถามจริงๆ อย่าโกรธกันนะ what is an anthropologist?” อะไรคือนักมานุษยวิทยา? เขาไม่รู้จัก เขาสงสัยว่า ทำไมผมจะต้องมากินมานอนอยู่ข้างถนน

ช่วงแรกๆ ไม่มีคนเชื่อว่าผมเป็นนักศึกษา คนเข้าใจว่าผมเป็นนักท่องเที่ยวพาสปอร์ตหาย เป็นเรื่องที่ลือกันไปกว้างขวางเลยว่ามีไอ้คนไทยทำพาสปอร์ตหายแล้วกลับเมืองไทยไม่ได้ ผมก็ไปรับแจกข้าว คนไร้บ้านแนะนำผมว่า ทำไมผมไม่ไปสถานทูต ไปขอทำพาสปอร์ตใหม่ จะได้กลับเมืองไทยได้ รับแจกข้าวในฟิลิปปินส์ได้ คุณจะต้องเข้าไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในโบสถ์ก่อนแล้วถึงจะได้รับข้าว ผมก็ร้องเพลง Hallelujah แบบภาษาตากาล็อก พอผมอยู่นานเข้าคนก็เริ่มคิดว่า ผมไม่น่าจะใช่นักท่องเที่ยวพาสปอร์ตหาย น่าจะเป็นคนหนีคดีจากเมืองไทย มาหลบอยู่ฟิลิปปินส์

ตอนที่เพื่อนถามว่า what is anthropology? คุณบอกเพื่อนว่าอะไร

ผมก็บอกแนวคิดพื้นฐานของมานุษยวิทยาว่า ถ้าคุณอยากจะเข้าใจคนอื่น คุณต้องลองไปยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ผมอยากเข้าใจโฮมเลส ฉะนั้นผมก็ต้องมาใช้ชีวิตเป็นโฮมเลสเพื่อที่จะเข้าใจว่าโฮมเลสใช้ชีวิตอย่างไร เนื่องจากโฮมเลสในมะนิลาคุ้นเคยกับคนนอกอย่าง social worker ที่นานๆ มาสัมภาษณ์คนไร้บ้าน ผมก็ถามเขากลับบ้างว่า ถ้ามีนักสังคมสงเคราะห์จะมาสัมภาษณ์คุณ…คุณจะทำอย่างไร? เพื่อนผมตอบแบบไม่คิดเลยว่า “I will lie” เขาตอบผมทันทีเลยนะว่า เขาจะโกหก ถ้าพวกนี้มาหวานหมูเขาเลยนะ จะมาสัมภาษณ์เหรอ มีเรื่องเล่าให้ฟังเพียบเลย แต่เขา lie นะ เขารู้ว่าจะเล่าเรื่องอะไรเพื่อให้ได้รับความเห็นใจ และอาจจะได้รับความช่วยเหลือ ผมก็เลยบอกเขาไปว่าเพราะผมรู้ว่าเขาจะทำแบบนี้ ดังนั้นผมจึงเข้ามาเป็นเพื่อนกับเขาก่อน เขาก็เข้าใจว่าทำไมผมต้องทำแบบนี้

การศึกษาโฮมเลสเป็นหัวข้อที่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณถามเรื่องประวัติชีวิต “ทำไมคุณจึงมาเป็นคนไร้บ้าน” คำถามนี้ตอบยากมาก มันไม่เหมือนคุณถามโปรเมย์ว่าทำไมคุณถึงเล่นกอล์ฟได้ เธอจะมีเรื่องเล่าภาคภูมิใจ ความขยันหมั่นเพียร แต่คำถามที่ว่าทำไมถึงเป็นโฮมเลส เป็นเรื่องเล่าที่ไม่น่าภาคภูมิใจ เขาก็ไม่อยากจะเล่าให้เราฟังใช่ไหมครับ

ทุกคนก็จะสร้างสตอรี่ที่ทำให้เรื่องเล่าของเขาพอที่จะรับฟังได้ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่าที่เขาจะบอกว่า อะไรเป็นอะไร โฮมเลสคนหนึ่งเคยมาขอโทษผมว่า เรื่องที่เขาเคยเล่าให้ผมฟังไม่จริงนะ เขาขอเล่าให้ฟังใหม่นะ แต่ผ่านไปอีกสามเดือน เขาก็บอกว่าเรื่องที่เล่าเมื่อสามเดือนก่อนก็ไม่จริงอีก คุณคิดดูสิ ชั้นเชิงเยอะขนาดไหน  เรื่องบางเรื่องเขาจะถ่ายทอดให้คุณฟังโดยไม่ต้องนั่งสัมภาษณ์ แต่มาจากบทสนทนาในชีวิตประจำวัน หลังจากที่ผมลงสนามเป็นปีก็อยากหาคำตอบว่าทำไมคนจึงเลือกจะเก็บของเก่าแทนการเป็นลูกจ้าง ผมก็คบโฮมเลสเป็นเพื่อนและก็เก็บของเก่ากับเขา วันหนึ่งหลังจากเก็บของเก่าสักพัก เขาก็ชวนผมนั่งพัก แล้วเขาก็บอกผมว่า บุนเห็นรึยังการเป็นคนเก็บของเก่าดีตรงนี้ เหนื่อยก็นั่งพักได้ ไม่เหมือนทำงานก่อสร้าง ค่าแรงก็ถูก แล้วยังถูกสั่งให้ทำโน่นทำนี่ พักก็ไม่ได้  เรื่องแบบนี้ บางที เขาอาจจะอธิบายออกมาตอนเราสัมภาษณ์เขาไม่ได้ แต่เขาจะโชว์ออกมาเองตอนที่เรามีประสบการณ์ร่วมกับเขา

img_3916

 

คุณใช้วิธีอยู่กินแบบโฮมเลสที่ฟิลิปปินส์เลยหรือ

ผมมี schedule อยู่ข้างถนนหกวันต่อสัปดาห์ ผมจะออกจากบ้านวันจันทร์อยู่ข้างถนนจนถึงเย็นวันอาทิตย์ เย็นวันอาทิตย์ผมจะกลับห้อง ผมเช่าห้องไว้เก็บของ วันอาทิตย์ผมจะกลับห้องมาพิมพ์ข้อมูลใส่คอมพิวเตอร์ เพราะว่าตอนอยู่ field ผมแค่จดลงสมุดโน้ต ผมไม่ใช้เครื่องบันทึกเสียงเพราะการพกของพวกนี้จะทำให้เป็นเป้าของคนที่จะลักขโมย ผมจะใช้เครื่องบันทึกเสียงตอนทำ formal interview ในช่วงท้ายของการลง field ส่วนใหญ่ผมก็ใช้ชีวิตอยู่กับโฮมเลสที่ไปกินข้าวตามสถานที่ที่มีการแจกอาหาร ในเมืองไทยก็จะมีสภาสังคมสงเคราะห์ใช่ไหมครับ แต่ฟิลิปปินส์เป็นสังคมคาทอลิก โบสถ์จะแจกอาหาร ทั้งโบสถ์คริสต์และซิกข์ ผมกินข้าวที่โบสถ์ซิกข์แทบทุกคืน กินเสร็จก็เดินไปนอน ผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับการกินข้าวข้างถนน

ความเป็นคาทอลิก มีผลอะไรไหมกับการใช้ชีวิตของโฮมเลสฟิลิปปินส์

มีผลทีเดียว ผมเขียนวิจารณ์องค์กรทางศาสนาที่นั่นเหมือนกัน ผมอยู่นานพอจะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าได้ในเวลาก่อนกินข้าว ผมเขียนวิเคราะห์เพลงและคำสอนในโบสถ์ว่า ทั้งหมดได้ให้ความชอบธรรมและให้คำอธิบายต่อคนไร้บ้านว่า ไม่เป็นไร…คุณอยู่ข้างถนนก็ไม่แย่เท่าใด คุณเป็นคนดีได้ตราบใดที่คุณมาโบสถ์ มาร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า คุณได้เดินตามรอยเท้าพระเจ้าแล้ว คุณไม่ต้องกังวลเรื่องชีวิตข้างถนน ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกกดขี่ ผมคิดว่าคำอธิบายในเรื่องพระเจ้ามีผลไม่น้อยต่อการกล่อมเกลาคนให้ยอมรับกับชีวิตที่มีข้อจำกัด

เปรียบเทียบกับสังคมไทย ก็จะทำนองบอกว่าเพราะกรรม ที่เราอยู่แบบนี้มีชีวิตแบบนี้ก็เพราะกรรม ไม่ว่าจะอธิบายด้วยพระเจ้าหรือกรรม ผลเหมือนกันคือทำให้ยอมรับชีวิตข้างถนน เบี่ยงเบนไปจากการถูกกดขี่ในสังคม แล้วก็หันไปรักพระเจ้า แล้วพระเจ้าจะรักยู แล้วยูจะมีความสุข

14805507_10210581434830494_1292865506_n
คนไร้บ้านเข้าโบสถ์ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าก่อนรับอาหาร

ในแต่ละวันพวกคุณทำอะไร

คนไร้บ้านก็มีหลายแบบ แบบที่ไปกินข้าวตามโบสถ์ ตอนเช้าไปรับข้าวที่หน้าโบสถ์ซางตาครูส ซึ่งมีแจกทุกเช้า คนจะไปกินข้าวกันที่นั่น จากนั้นตอนกลางวันและตอนเย็นก็จะมีสถานที่แจกต่างๆ กัน โดยทั่วไปแต่ละโบสถ์จะแจกอาทิตย์ละวัน ยกเว้นที่ซางตาครูส แจกทุกเช้า กับอีกแห่งที่บุมไบย์ คือโบสถ์ซิกข์ของคนฟิลิปปินส์เชื้อสายอินเดีย แจกทุกคืน ชีวิตโฮมเลสก็จะผูกติดกับสถานที่รับอาหาร พวกเขารู้ว่าวันไหนจะต้องไปที่ไหน กินมื้อเที่ยงที่นี่แล้วไปไหนต่อ ชีวิตก็จะเดินตลอด เมื่อก่อนผมผอมและดำมาก เพราะเดินทั้งวัน

อย่างไรก็ดี การที่ผมอยู่นานทำให้เห็นพลวัตของคน คนไม่ได้หยุดนิ่ง คนไม่ได้อยู่กับการไปกินข้าวโบสถ์ทุกวัน ถ้าช่วงแรกที่คนตกงานมา ก็จะใช้เงินที่มีเหลือก่อน พอเงินหมดคนจะสอนให้ไปกินข้าวตามโบสถ์ นี่คือวิถีชีวิตที่เขาเรียกว่า ‘ยากิต’ (yagit) เป็นภาษาตากาล็อกใช้เรียกคนข้างถนน ‘ยากิต’ ตามศัพท์แปลว่า ‘ขยะ’ ฟังดูหยาบมากนะครับ เมื่อเขากินข้าวตามโบสถ์และใช้ชีวิตข้างถนนมาสักพัก คนจะเริ่มพัฒนาตัวเองโดยการทำงาน เช่น เก็บของเก่า หรือไปเป็นคนเรียกคนขึ้นรถโดยสารตามป้ายรถเมล์ แล้วไปเอาเศษตังค์กับคนขับรถ หรือไม่ก็ขายบุหรี่ ที่มะนิลายังมีคนขายบุหรี่แบ่งขายนั่งตามป้ายรถเมล์ คนเดินผ่านมาซื้อมวนละ 2 เปโซ ถ้าคนไร้บ้านมีเงินเก็บ จะอยากขายบุหรี่ ถือว่ารายได้ดี และไม่ลำบาก

14813014_10210581365788768_553518584_o
บุมไบย์ โบสถ์ซิกข์ที่คนไร้บ้านมารับอาหาร

ความบันเทิงของโฮมเลสส่วนใหญ่เป็นแบบไหน นินทาคนนู้นคนนี้หรือคุยเรื่องใหญ่โตระดับเปลี่ยนแปลงประเทศ?

เขาจะแชร์เรื่องข้อมูลในชีวิตประจำวัน ถ้าคุณมีข้อมูลดีๆ เช่น วันนี้ที่ไหนมีแจกอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า…ก็จะบอกกัน อย่างถ้ามีการแจกขนมขบเคี้ยวพวกเราก็จะไปเวียนเทียนรับกันเลย ปีที่ผมอยู่มีการเลือกตั้งผู้ว่าเทศมนตรีเมืองมะนิลา คนจะแชร์ข้อมูลว่าตรงไหนที่เขาแจกเงินแจกข้าวสารกัน หรือมีงานเลี้ยง ก็จะมีการแชร์ข้อมูลกัน

ที่ผมบอกว่า คนฟิลิปปินส์เอ็นจอยกับชีวิต เพราะเขามีเรื่องตลกเยอะ เวลาคนถามว่าผมนอนที่ไหน ซึ่งเขามักจะคิดว่าผมน่าจะนอนโรงแรมเพราะเป็นคนต่างประเทศ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบถูกถามแบบนี้ ผมต้องการให้คนมองเห็นว่าผมเป็นโฮมเลส ถ้าใครมาถามว่าผมนอนโรงแรมไหน ผมจะตอบว่า Baywalk Hotel เขาจะเลิกถามผมต่อทันที เพราะว่าคำว่า Baywalk Hotel จะมีแต่โฮมเลสเท่านั้นที่รู้ คนที่ได้ยินจะรู้ทันทีว่าผมต้องอยู่แถวนี้นานพอที่จะรู้จักตอบว่า Baywalk Hotel มันไม่มีโรงแรมชื่อ Baywalk Hotel มีแต่โฮมเลสที่เรียกกันเองว่านอนที่ Baywalk คือทางเดินริมอ่าวมะนิลา แต่เรียกว่า Baywalk Hotel อย่างกับมีสตางค์นอนโรงแรม แต่จริงๆ แล้วก็คือข้างถนนนี่เอง

มุกตลกคือสิ่งสะท้อนทัศนคติที่เขามีต่อชีวิต…ยังหัวเราะได้ อย่างมุก ‘บ้านใหญ่’ ในภาษาไทย ‘บ้านใหญ่’ เป็นคำสแลงหมายถึงติดคุก ที่ฟิลิปปินส์ คำว่า ‘บ้านใหญ่’ คือ “มาลากิง บาฮาย” คนไร้บ้านจะบอกใครว่าพวกเขาไม่มีบ้าน ความจริงแล้วเขาเป็นคนมีสตางค์ มีบ้าน บ้านหลังใหญ่มาก ไม่เชื่อก็ดูสิว่ามีใครเหมือนพวกเราบ้าง บ้านเราหลังใหญ่มาก มี รปภ. เยอะแยะ เพราะในสวนสาธารณะมี รปภ. เยอะ

วันหนึ่งผมเดินไปรับข้าวที่บุมไบย์ แล้วเดินกลับมากินข้าวที่สวน แล้วจะเดินไปนอนที่ Baywalk เฉพาะช่วงมื้อเย็นเดินไปกลับก็ 3-4 กิโลแล้วนะ คือจาก Baywalk เดินไปรับข้าวที่บุมไบย์ จากบุมไบย์ เดินกลับมาที่พาร์ค จากพาร์คเดินไปที่ Baywalk เราก็เมื่อยมาก อยู่ๆ พี่คนหนึ่งก็บอกว่า “บ้านเรานี่มันหลังใหญ่จังเลยเนอะ ระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องกินข้าว มันไกลกันมาก แล้วกว่าจะเดินไปถึงห้องนอนก็ไกลอีก”

ทำไมคนเหล่านี้จึงผลิตมุกตลกที่เสียดเย้ยชีวิต

สำหรับผมนะ ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ คุณต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน มันยากที่จะข้ามพ้นภาวะไร้บ้าน ดังนั้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เย้ยหยันความยากลำบาก

อาจารย์ที่ปรึกษาถามผมนะ เพราะเขาคิดว่าคนจนต้องรวมตัวกันเปลี่ยนแปลงสังคม เขาจะไม่ชอบที่คนจนทำได้เพียงเสียดสีแต่แก้ไขอะไรไม่ได้ ฟิลิปปินส์มีการจัดตั้งคนจนเมืองที่เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสังคมนะ แต่โฮมเลสยังไม่มีใครมาออร์แกไนซ์ไปในทิศทางนั้น ฉะนั้นเมื่อเขาเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างแบบนี้ไม่ได้ คุณจะไปเรียกร้องให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม…มันทำไม่ได้ คุณจะดำรงอยู่โดยไม่ทุกข์ได้อย่างไร คุณก็ต้องเสียดสี ตลกไปกับชีวิตตัวเอง อย่างน้อยคุณยังหัวเราะกับชีวิตได้

คนญี่ปุ่นก็จะคิดอีกแบบ คนญี่ปุ่นจะคิดว่าเรามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร ทำไมชีวิตเราตกต่ำเพียงนี้ ต้องดิ้นออกไปให้ได้ เขาจึง suffer

14697004_10210581356148527_1101806792_n
Baywalk Hotel หรือ ทางเดินริมอ่าวมะนิลา ถูกใช้เป็นที่นอนของคนไร้บ้านในกรุงมะนิลา

นอกจากมุกตลก มีอะไรที่เขาเอ็นจอยกับชีวิต

ผมอยากจะบอกว่า เรื่องบางเรื่องยากที่จะเข้าใจถ้าคุณไม่ได้อยู่ในบริบทนั้นหรือในสังคมนั้น คุณจะเอ็นจอยกับมันไม่ได้เลย

ในชีวิตประจำวันที่แทบไม่มีอะไรพิเศษ แต่เมื่อใดที่คุณได้สิ่งหนึ่งที่พิเศษ คุณจะรู้สึกว่าชีวิตวันนั้นโคตรมีความสุขเลย when you gave something extra. อย่างวันนี้ ให้ผมมองย้อนกลับไปนะ ผมยังสงสัยตัวเองว่า ผมมีความสุขในวันนั้นได้ยังไง ผมขอยกตัวอย่างนะ

ชีวิตประจำวันนะ ผมไปกินข้าวที่บุมไบย์ เป็นโบสถ์ซิกข์ ซึ่งจะมีข้าวสวย แผ่นจะปาตี (แผ่นโรตี) และมีแกงถั่วเขียว ไม่มีเนื้อนะ แต่มีรสชาติ นี่คือชีวิตประจำวัน นานๆ ทีจะมีของหวาน คนอินเดียเรียก ‘รัดดู’ เป็นก้อนกลมๆ คล้ายกับทองหยอดเม็ดใหญ่ทำจากถั่ว นานๆ ทีจะมีแจก และที่นานกว่านั้นคือจะมีแจกสลัด สลัดที่มีผลไม้แล้วราดน้ำสลัด เป็นนมข้น วันไหนที่มีของหวาน ผมเขียนในสมุดโน้ตของตัวเองวันนั้นว่า “วันนี้เราโชคดี ได้กินขนมหวานด้วย” ผมเขียนในสมุดโน้ตเลยนะ (เน้นเสียง) “วันนี้โชคดีที่ไปต่อคิวที่บุมไบย์ ตอนแรกว่าจะเดินกลับแล้ว แต่มีคนตะโกนว่ามีขนมหวาน ก็เลยเดินข้ามไปต่อคิวรับของหวาน” ระหว่างต่อคิว ผมยังบอกกับตัวเองเลยว่า วันนี้เราโชคดีฉิบเลย

คุณรู้สึกแบบนี้จริงๆ เลยใช่มั้ย

มันมีความสุขเลย คุณจะเข้าใจความสุขแบบนี้ไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่เคยอยู่ในชีวิตประจำวันที่ไม่มีอะไร วันไหนคุณได้กินของพิเศษ เช่น อย่างวันนี้ ถ้าคุณได้กินไก่ทอดชิ้นหนึ่ง คุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร เพราะคุณเห็นไก่ทอดทุกวัน แต่โฮมเลสเขาไม่เคยเจอเนื้อเลย ไก่ทอดชิ้นนี้มันคงพิเศษมาก คุณจะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่ได้อยู่ในบริบทแบบเขา ฉะนั้นเขาอยู่ได้ด้วยความหวังว่าว่าวันหนึ่งจะมีของพิเศษตกลงมา เช่น จะนอนแล้ว แต่มีคนเอากล่องโฟมมาให้คุณที่หัวนอนแล้วบอกว่า “บิยาย่า” คือของฝากจากพระเจ้า เป็นความกรุณาจากพระเจ้า เปิดออกมาแล้วพบว่าเป็นข้าวกล่อง มีหมูย่างชิ้นใหญ่อยู่ข้างใน คนฟิลิปินส์เรียกว่า ‘เลชโชน’ เพื่อนๆ กินกันอย่างมีความสุขมาก ผมเองยังไม่เคยซื้อเลชโชนกิน คนไร้บ้านยังบอกผมว่าอย่าลืมจดลงในสมุดโน้ต ว่าได้กินเลชโชนจากบิยาย่า พอถึงตอนเช้าไปเจอคนไร้บ้าน เขาก็คุยก็ถามกันว่าเมื่อเช้าเขาตื่นขึ้นมาแล้วได้ บิยาย่า คนที่นอนที่อื่นได้ บิยาย่า เหมือนกันมั้ย

ซึ่งแตกต่างจากคาแรคเตอร์ของโฮมเลสญี่ปุ่น?

ใช่ครับ ที่ญี่ปุ่น ผมไม่ค่อยได้ยินเสียงหัวเราะบ่อยเหมือนในฟิลิปปินส์

คาแรคเตอร์ที่เด่นชัดของโฮมเลสในญี่ปุ่นคือเป็นคนแก่ อายุเฉลี่ย 55.9-56 ปี ซึ่งคนวัยนี้มักเป็นคนระดับล่างของสังคม เมื่อสังคมญี่ปุ่นฟองสบู่แตก เรามักนึกว่าคนชั้นกลางทำงานบริษัทคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แต่ความจริงคนที่ได้รับผลกระทบก็เป็นคนที่ทำงานในเซคเตอร์แรงงานก่อสร้าง คนเหล่านี้มีความไม่มั่นคงด้านการงาน พวกเขาจะมารวมกันในย่านซันยะ เป็นย่านแรงงานของโตเกียว ย่านนั้นก็จะมีโฮมเลสอยู่

โฮมเลสสูงวัยในญี่ปุ่นน่าสนใจมาก มันสะท้อนลักษณะระบบสวัสดิการของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีระบบสวัสดิการดีนะครับ ซึ่งจะมีสวัสดิการชุดหนึ่งที่เขาให้กับคนชรา แต่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ยังแก่ไม่พอที่จะได้รับสวัสดิการ ต้องอายุ 65 จึงจะได้รับสวัสดิการ ขณะเดียวกันเขาแก่เกินไปที่จะทำงาน แต่เทรนด์ระยะหลังต่อมาแนวโน้มของคนที่เป็นโฮมเลสอายุน้อยลงเรื่อยๆ นะครับ

ระบบการจ้างงานที่เราเคยเห็นในญี่ปุ่น เรารู้จักกันว่า lifetime employment หรือการจ้างงานตลอดชีพ ถ้าคุณทำงานกับบริษัทคุณสามารถฝากชีวิตไว้ได้เลย นั่นมันอดีต ตอนหลังการแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัตน์ทำให้บริษัทเลือกที่จะจ้างงานแบบ flexible จ้างงาน part-time จ้างงานระยะสั้น ก็ส่งผลให้ความมั่นคงของคนก็น้อยลง ดังนั้นเทรนด์ของคนรุ่นอายุน้อยๆ จะหางานยาก แล้วมาเป็นโฮมเลสก็มากขึ้น

ผมขอย้อนกลับไปพูดอีกนิดนึง เรื่องที่บอกว่าโฮมเลสมาจากคนชั้นล่างในยุคก่อน ประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องชี้ก็คือว่า คนไร้บ้านที่มีจำนวนมากที่สุดไม่ได้อยู่ในโตเกียวนะครับ แต่อยู่ที่โอซาก้า ทำไมโอซาก้าจึงเป็นเมืองที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด เพราะโอซาก้าเป็นเมืองอุตสาหกรรม ดังนั้นเทรนด์ในโอซาก้าที่สะท้อนปรากฏการณ์ทั่วโลกก็คือ เมื่อค่าแรงของคนญี่ปุ่นสูง สินค้าอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นแข่งขันไม่ได้ นายทุนก็ต้องย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า เพราะฉะนั้นงานอุตสาหกรรมที่เคยรองรับคนจำนวนมากได้ลดน้อยลง คนไม่สามารถเข้าถึงงานที่มั่นคงได้ พวกเขาก็กลายเป็นโฮมเลส

img_3836

ระบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยหนึ่งของโฮมเลสญี่ปุ่น คำถามที่ตามมาก็คือ โฮมเลสญี่ปุ่นเขา ‘เลือก’ ที่จะออกมาเป็นคนไร้บ้าน หรือถูกบีบให้เลือกครับ

คำว่า ‘เลือก’ น่าสนใจมาก สำหรับผมผมคิดว่าเขาถูกบีบ เหมือนทางเลือกของเขามีน้อยลง เพราะฉะนั้นมันคือทางที่เขาจำต้องเลือกก็แล้วกัน คือออกจากบ้านมาตกงาน เราอาจจะต้องพูดถึงประเด็นทางวัฒนธรรมเสียหน่อย โดยทั่วไปแล้วสัดส่วนระหว่างชายและหญิงของคนไร้บ้านจะมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ในญี่ปุ่นมีสัดส่วนโฮมเลสชายเกิน 95 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนนี้สะท้อนค่านิยมทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น คือ ผู้ชายต้องหาเลี้ยงครอบครัว

ผมเคยถามคนไร้บ้านว่า “คุณตกงาน คุณออกจากบ้าน คุณไม่เป็นห่วงลูกเมียที่บ้านเหรอ” ตอนหลังผมจึงเข้าใจว่า ถ้าผู้ชายล้มเหลวไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เขาจะ… เรียกว่า ‘เลือก’ ก็ได้ เขาต้องกอบกู้ศักดิ์ศรีเพราะการอยู่บ้านไปโดยเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียไม่ได้ มันน่าอับอาย ออกจากบ้านมาเป็นโฮมเลส หลบลี้หนีหน้ามาจากโลกที่เขาเคยอยู่ ออกมาเป็นโฮมเลสดีกว่า ส่วนลูกเมียก็ไปขอสวัสดิการจากรัฐ มันก็สะท้อนว่าเมื่อผู้ชายออกจากบ้าน รัฐก็จะมาเทคแคร์ครอบครัว ถ้าพูดในมุม gender นะครับ มันก็ชัดมากว่ารัฐเหมือนเป็นพ่อ เป็นผู้ปกครองที่จะเข้ามาดูแลครอบครัวของคุณในกรณีที่สามีดูแลไม่ได้ รัฐก็สะท้อนความเป็น Patriarchy อำนาจของผู้ชาย อำนาจของพ่อ

การ ‘เลือก’ เป็นโฮมเลสในฟิลิปปินส์น่าจะต่างจากญี่ปุ่น?

สิ่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ที่สะท้อนอะไรบางอย่างได้ดี ในภาษาตากาล็อกคือ ‘บาริก บาริก’ (balig balig) แปลว่า ‘ไปๆ มาๆ’ โฮมเลสที่นี่มีลักษณะไปๆ มาๆ คุณอาจจะหนีพ้นจากชีวิตข้างถนนได้พักหนึ่ง เมื่อคุณมีงานทำ คุณอาจจะพอมีเงินเช่าที่พัก แต่พอตกงาน คุณก็กลับมาที่ข้างถนนใหม่อีกครั้ง ซึ่งสะท้อนว่าเขาไม่สามารถมีงานที่มั่นคง หรือเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวได้ หรืออาจจะพอหางาน หาเงินในระดับหนึ่ง แต่การเช่าที่อยู่อาศัยอาจสร้างภาระให้เขา เขาเลยตัดสินใจนอนข้างถนนแบบนี้แหละ

เพื่อนผมเป็นลูกจ้างร้านอาหารข้างถนน ทำงานเช้า เย็นกลับมานอนข้างถนน มีงานประจำนะ แต่รายได้ไม่มากพอจะเช่าที่พัก ดังนั้นการอยู่ข้างถนนก็อาจจะสบายกว่า มันไม่ต้องแบกรับค่าน้ำค่าไฟ ถ้าเขาอยู่ชินแล้ว เขาก็รู้สึกว่าไม่แย่อะไร อย่างที่ผมบอก คุณเป็นคนจนในประเทศที่คนส่วนใหญ่จน คุณก็ไม่รู้สึกว่าแย่อะไร คุณนอนข้างถนนก็มีเพื่อนนอนเป็นเพื่อนเยอะแยะ แต่คุณรู้สึกดีกว่าคนอื่นอีก เพราะคุณเป็นคนนอนข้างถนนที่มีงานทำ

img_3872

 

คุณมีเพื่อนที่พัฒนาตัวเองจากการเป็นโฮมเลสไหม

มีนะ ผมเห็นรูปแบบของการขยับขยายตัวเองด้วยนะ เศรษฐกิจของโฮมเลสไม่มั่นคงใช่มั้ย เขาอาจจะทำงานได้ระยะหนึ่ง แล้วตกงานและกลับมานอนข้างถนนอีก แต่อีกด้านหนึ่งของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ มันก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเป็นคนมีบ้านกับคนไม่มีบ้าน…บางมาก คุณสามารถข้ามกลับไปกลับมาได้ง่ายๆ

การขายบุหรี่เป็นอาชีพที่ทำกำไรได้ดีสำหรับโฮมเลส ผมมีเพื่อนขายบุหรี่ เขาทำกำไรได้วันละ 100-200 เปโซ คุณมีกำไรวันละ 200 เปโซ คุณกินข้าววันละ 100 เปโซ คุณเหลือเงินไปเช่าห้องเดือนละ 1,000 เปโซ ห้องกระจอกๆ เลยนะ ห้องแบบไม่มีห้องน้ำในตัว ผมเคยไปนอนนะ ไม่มีห้องน้ำ ต้องไปหิ้วถังน้ำ ยืนอาบน้ำบนถุงทราย ราดน้ำลงไป ส่วนถ่ายไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มีส้วม ถ่ายใส่ถุงพลาสติก แล้วเอาไปขว้างลงอ่าว

คุณสามารถเช่าห้องราคาถูกไว้เพื่อเก็บของได้ ถามว่าคุณภาพดีมั้ย ไม่มีดีหรอก แต่พอคุ้มหัวคุณได้ ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นนะครับ ญี่ปุ่นมีเส้นแบ่งการเป็นโฮมเลสกับการเช่าอพาร์ตเมนต์ต่างกันมาก  ต่อให้คุณมีงานทำ แต่อพาร์ตเมนต์ในญี่ปุ่นต้องการเก็บเงินคุณล่วงหน้าอย่างน้อย 4-5 เดือน คุณจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย คุณต้องเสียค่านายหน้า คุณไม่สามารถเดินไปหาบ้านที่แปะป้ายว่า มีห้องว่างให้เช่า…ไม่มีนะครับในญี่ปุ่น คุณต้องเช่าผ่านนายหน้า ถ้าคุณเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายเท้า เขายิ่งไม่อยากให้เช่า ในญี่ปุ่น ถึงขนาดมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่การันตีให้โฮมเลสไปเช่าที่พัก ถ้าคุณทำงานกรรมกรแต่จะเช่าอพาร์ตเมนต์ คุณต้องมีเจ้านายไปรับรอง มีเอ็นจีโอไปรับรอง เส้นแบ่งการข้ามระหว่างการเป็นคนไม่มีบ้านไปเป็นคนมีบ้านหนากว่าในฟิลิปปินส์ และก้าวข้ามยากมาก

ผมมีรุ่นพี่ชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งเป็นโฮมเลส ผมรู้จักเขาตั้งแต่ปี 2011 เขาเป็นโฮมเลสที่มะนิลาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับผม ตอนนั้นเขาเพิ่งเป็นโฮมเลสใหม่ๆ ยังมีคาแรคเตอร์แบบใส่เสื้อผ้าดีกว่าคนอื่น ตอนนั้นเขาบอกผมว่า “ฤดูฝนกำลังจะมา พี่ว่าพี่อาจจะอยู่ไม่ได้ พี่อาจจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด” ปี 2013 ผมกลับไปมะนิลาอีกครั้ง แล้วก็เจอเขาอีก เขาจำได้ว่าเคยบอกผมว่า จะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด แต่เขาบอกว่าไม่กลับแล้วนะ “ยูเห็นมั้ย ฉันสามารถอยู่กับฤดูฝนได้” ผ่านไปปีสองปีเขาคงชินแล้ว

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมกลับไปเยี่ยมเพื่อนก็เจอพี่คนนี้อีก เขายังนอนข้างถนนอยู่ แต่ไม่เรียกตัวเองว่าโฮมเลส เพราะเขาเป็นหุ้นส่วนขายส่งเสื่อปูนั่ง ให้คนไร้บ้านซื้อไปเดินขาย เขาก็นอนที่เดิมนะ ข้างถนนแต่เขาบอกว่าเขาไม่ใช่โฮมเลสนะ เขามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง ผมถามว่า จะไม่หาที่อยู่เหรอ เขาบอกว่า ไม่จำเป็น ชินแล้ว

เงินคือเรื่องสำคัญในการบอกกับตัวเองและผู้อื่นว่าฉันเป็นใครเหรอ

การสามารถพึ่งตัวเองได้ คุณไม่ต้องกินข้าวที่โบสถ์ เมื่อไรที่คุณพึ่งพาตัวเองได้ คุณไม่ต้องไปกินข้าวที่โบสถ์ เมื่อไรที่คุณหิวแล้วคุณมีเงินซื้อข้าว คุณไม่ต้องรอรับการแจกข้าว คุณยกระดับตัวเองขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เท่านี้ก็มีความหมายมากแล้ว เพื่อนผมที่ขายบุหรี่เล่าว่า สมัยก่อนที่เป็นยากิตหิวข้าวก็กินไม่ได้ เพราะต้องรอโบสถ์ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าหิวเขามีเงินสามารถไปซื้อข้าวกินได้

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า