ทางสู่สายสตรีท

“แล้ววันนี้คนอื่นอยู่ไหน ทำไมมาคนเดียว” คนไร้บ้านที่ สวนริซัล (Rizal Park) หรือ ลูเนต้า (Luneta) ในเมืองมะนิลาถามผม ในเดือนมิถุนายน ปี 2554 เมื่อเห็นผมไปที่นั่นเพียงคนเดียว ไม่มีกลุ่มนักศึกษามาด้วยเหมือนอาทิตย์ที่ผ่านมา

วันนั้นเป็นวันแรกที่ผมลุยเดี่ยวไปสวนริซัลตัวคนเดียว

สองอาทิตย์ก่อนหน้านี้ ผมมาลูเนต้าพร้อมกับนักศึกษาชาวฟิลิปปินส์กลุ่มหนึ่ง พวกเขามาฝึกงานที่มูลนิธิซึ่งทำงานสลัม ที่มีเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ของผมเป็นหัวหน้า ผมคุยบอกเพื่อนซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยผมยังทำงานในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสลัมว่า ผมมีแผนจะไปศึกษาคนไร้บ้านในมะนิลา เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

อันที่จริงองค์กรที่เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ของผมทำงาน ไม่ได้มีพื้นที่ทำงานกับคนไร้บ้านแต่อย่างใด งานหลักของเขาคืองานสลัม แต่เขาก็หาทางช่วยผมด้วยการมอบหมายให้ นักศึกษาที่มาฝึกงานที่องค์กรของเขากลุ่มหนึ่ง ไปทำการสำรวจคนไร้บ้านที่ลูเนต้า เพื่อผมจะได้ติดสอยไปกับนักศึกษาเหล่านี้ ไปรู้จักและแนะนำตัวเองกับคนไร้บ้าน

นี่คือช่องทางที่มีคนพาผมมาถึงปากทางเข้าสู่วิถีชีวิตข้างถนนในมะนิลา แต่หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ผมต้องเผชิญด้วยตนเองตามลำพัง เพราะนักศึกษาฝึกงานแค่สี่อาทิตย์ และตอนที่ผมไปจากวิสคอนซินถึงมะนิลาก็เข้าอาทิตย์ที่สามของการฝึกงานแล้ว พอครบกำหนดฝึกงาน ก็เหลือแต่ผมไปลูเนต้า ตามลำพัง

คนไร้บ้านจึงสงสัยมากว่า ทำไมไม่มีกลุ่มนักศึกษามากับผมเหมือนอาทิตย์ที่ผ่านมา และผมซึ่งเป็นคนไทย จะมาทำอะไรที่ลูเนต้าคนเดียว

 

 

ผมบอกพวกเขาไปว่า พวกนักศึกษาที่เคยมาด้วยกันนั้น พวกเขาฝึกงานแค่สี่อาทิตย์ ส่วนผมเป็นนักศึกษาระดับสูงกว่า จะอยู่ที่นี่สิบอาทิตย์ พวกเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมผมจึงใช้เวลายาวนานกว่ากลุ่มนักศึกษาคนอื่นๆ ผมอธิบายโดยใช้ภาษาตากาล็อกปนอังกฤษว่า ผมเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก จะมาศึกษาเตรียมการก่อนจะมาทำวิทยานิพนธ์เต็มตัวอีกปีหรือสองปีข้างหน้า และก็พบว่าคำอธิบายของผมล้มเหลว โดยสิ้นเชิง

คนไร้บ้านที่ผมคุยด้วยวันนั้น ที่ เชสพลาซ่า (Chess Plaza) ในลูเนต้า ไม่เข้าใจว่า “PhD student” ที่ผมพูดนั้นหมายความว่าอะไร สำหรับพวกเขา ใครเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็นับว่าหรูแล้ว ไม่รู้ว่าในมหาวิทยาลัยยังมีการแบ่งระดับกันอีก ส่วนคำว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (dissertation) ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครรู้จักคำนี้

พอผมจะใช้คำว่า study เพื่อให้เข้าใจง่าย พวกเขาก็ยิ่งสงสัยต่อว่า ถ้าจะศึกษา ก็ควรไปอยู่ที่มหาวิทยาลัย ไม่ใช่มาลูเนต้า พวกเขาไม่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยจึงต้องมาอยู่ลูเนต้า ส่วนผมมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะมาศึกษาอะไรที่ลูเนต้า

ผมจึงลองพยายามอธิบายโดยใช้คำใหม่ว่า ผมเป็น a doctoral student แล้วก็รู้สึกดีใจขึ้นมาหน่อยว่า คำนี้คงทำให้พวกเขาเข้าใจ เพราะหลายคนทำท่าพยักหน้า แล้วใครคนหนึ่งก็พูดว่า เขาเข้าใจแล้วว่า ผมเรียนอะไร ที่ผมเรียนนั้นหมายความว่า ถ้าผมเรียนจบและพวกเขาไม่สบาย ผมก็สามารถรักษาพวกเขาได้ใช่หรือไม่

ผมต้องรีบปฏิเสธยกใหญ่ว่า ผมไม่ได้เรียนไปเป็นหมอ คำว่า doctoral เป็นคนละคำกับคำว่า doctor  

สุดท้าย ผมก็จนปัญญาที่จะอธิบายให้คนไร้บ้านกลุ่มนี้เข้าใจ ไม่ใช่แค่เรื่องข้อจำกัดของภาษา แต่เพราะประสบการณ์และโลกของเขาต่างจากผมมาก

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ของผมกับคนไร้บ้านในกรุงเทพฯและโตเกียว บอกผมว่า ลำพังการอธิบายด้วยคำพูดไม่ค่อยเกิดประโยชน์เท่าไรนัก คนอาจจะฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่เชื่อ ต้องทำให้ดูเลยดีกว่า

ตอนที่ผมอยู่โตเกียวนั้น ผ่านไปสามเดือน คนไร้บ้านยังเข้าใจผิดว่า ผมเป็นอาสาสมัครมาช่วยทำอาหารแจกคนไร้บ้านเหมือนคนมีบ้านอื่นๆ ที่พวกเขาเคยเจอ ไม่เข้าใจนักว่า ผมอยากมาคลุกคลีกินอยู่แบบเขา กว่าจะเข้าใจว่าผมไม่ได้อยากเป็นแค่อาสาสมัคร และมีคนชวนผมไปนอนที่เต็นท์ในสวนสาธารณะก็ย่างเข้าเดือนที่สี่แล้ว

โดยไม่สาธยายหลักการอะไรมาก ผมบอก บาร์ต หรือ บาร์ตโตเรเม คนไร้บ้านที่ดูท่าทีสนใจคนต่างแดนอย่างผมมากกว่าคนอื่น และก่อนหน้านี้ ผมก็เห็นเขากระตือรือร้นคุยกับนักศึกษาอย่างออกรสว่า ผมอยากจะนอนข้างถนน ผมจะไปนอนกับเขาได้หรือไม่

บาร์ตไม่แน่ใจว่าเขาเข้าใจผมถูกหรือไม่ จึงถามผมซ้ำ ด้วยการทำท่าประกอบ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อผมมากับนักศึกษา ผมจะกลับไปนอนที่สำนักงานของเพื่อน ยังไม่เคยนอนข้างถนน พอผมตอบว่า ใช่ บาร์ตก็ยังไม่แน่ใจ สักพัก บาร์ตเจอคนไร้บ้านอีกคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ บาร์ตก็ให้เขาถามผมเป็นภาษาอังกฤษอีกทีว่า เข้าใจตรงกัน ผมก็ยืนยันอีกครั้งว่า ใช่ ว่าผมจะไม่กลับไปนอนที่สำนักงานของเพื่อน ผมจะนอนข้างถนนกับเขา

ถึงตอนนี้ บาร์ตยิ้มแกมสนเท่ห์ ให้กับความคิดประหลาดๆ ของผม แล้วก็บอกว่า ดีล่ะ ผมจะได้รู้ว่า เวลานอนข้างถนนมันหนาวขนาดไหน ตอนนั้นผมนึกกระหยิ่มอยู่ในใจว่า มะนิลาจะหนาวแค่ไหนเชียว ผมเรียนอยู่ที่วิสคอนซิน ที่นั่นขึ้นชื่อเรื่องอากาศหนาว อุณหภูมิติดลบนับสิบองศา ผมยังอยู่จนชินแล้ว มะนิลานี่จะแค่ไหนเชียว คงไม่ต่างกับกรุงเทพฯเท่าไหร่

แต่แล้วต่อมาผมถึงได้รู้ว่า ผมคิดผิดไปถนัด เพราะเอาเข้าจริง ในบางคืนที่ข้างถนนในมะนิลา หนาวกว่าที่วิสคอนซิน เพราะที่วิสคอนซินนั้น ผมนอนในอพาร์ตเมนต์ มีเครื่องทำความร้อน และก็มีเสื้อกันหนาวคุณภาพดี แต่นอนข้างถนนในมะนิลา สวมเสื้อยืดตัวเดียว คืนไหนพายุเข้า ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง หนาวจนนอนไม่หลับ ได้ยินเสียงลมพัดหวีดหวิวสลับกับซู่ซู่ตลอดคืน

ในคืนแรกนั้น บาร์ตพาผมไปนอนที่ เบย์วอล์ค ซึ่งเป็นทางเดินที่มีสวนหย่อมเล็กๆ ขนานไปกับอ่าวมะนิลา ห่างจากลูเนต้าไปสักกิโลกว่าๆ คนไร้บ้านจำนวนมากไปนอนที่นั่น ในการนอนคืนแรก บาร์ตห่วงใยความปลอดภัยผมเต็มที่ ด้วยความที่เคยเป็นมิจฉาชีพมาก่อน เขาสอนวิธีป้องกันไม่ให้ถูกขโมยของเวลานอน อันดับแรกต้องคว่ำกระเป๋าแบ็คแพ็คให้ด้านหน้าที่มีซิปคว่ำลงเพื่อไม่ให้ซิปถูกเปิดโดยง่าย และก็ต้องคว่ำกระเป๋าโดยให้ที่รูดซิปหันเข้ามาด้านใน อยู่ใกล้คอ ไม่ใช่ปลายหัว มากกว่านั้น เวลานอนก็ต้องเอาสายสะพายของกระเป๋าคล้องหัวไหล่ไว้ เพราะเวลานอน หัวอาจตกกระเป๋า มิจฉาชีพสามารถดึงกระเป๋าไปได้

 

 

นอกจากนี้ ก่อนนอนก็ต้องไม่ลืม ซ่อนรองเท้าแตะเข้าไปใต้พลาสติกปูนอน ถ้าถอดวางไว้เฉยๆ พรุ่งนี้เช้าตื่นมาไม่เจอแน่นอน บาร์ตบอกว่า ดีที่สุด ก็ควรใช้รองเท้าแตะหนุนเป็นหมอนซะเลย แต่ผมที่โตมาในสังคมที่ถือเรื่องความสูงต่ำของศีรษะกับเท้า รู้สึกทำใจไม่ได้ที่จะนอนหนุนรองเท้าแตะ

รุ่งขึ้นเช้าวันใหม่ในเบย์วอล์ค คนไร้บ้านบางคนที่จำได้ว่าผมเป็นคนไทยที่เคยมาสำรวจคนไร้บ้านกับนักศึกษา ก็ถามไถ่ว่า ผมมานอนที่เบย์วอล์คได้อย่างไร บาร์ตโตเรเมก็แอ็คได้ไม่น้อยว่า เขามีชาวต่างประเทศมานอนเป็นเพื่อน เที่ยวพูดบอกคนอื่นว่า ผมเป็น Thailander ใครพูดภาษาอังกฤษได้ คุยกับผมหน่อยซิ

ส่วนผมก็ภูมิใจไม่น้อย ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ ก็ได้มานอนเหมือนที่คนไร้บ้านเขานอนกันแล้ว คนคงพูดกันไม่น้อย มีไอ้คนไทยมานอนที่เบย์วอล์ค

 

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า