โรเดล

ในบรรดาคนที่ผมรู้จักช่วงแรกๆ ของการลงภาคสนาม ในปี 2554 ที่ เชสพลาซ่า (Chess Plaza) ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของคนเล่นหมากรุก ในลูเนต้าหรือริซัลปาร์ค บาร์ตโตเรเม หรือ บาร์ต เป็นคนที่กระตือรือร้นอยากคุยกับผมมากที่สุด พร้อมทั้งคอยแนะนำว่า จะกินจะอยู่อย่างไร

แต่ปัญหาคือ บาร์ตไม่จบแม้กระทั่งประถม 4 จึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ส่วนภาษาตากาล็อกของผมแค่เพิ่งเรียนผ่านขั้นต้นมาหมาดๆ แต่งได้แค่ประโยคง่ายๆ คำศัพท์ก็ยังรู้น้อยต้องเปิดดิกชันนารีตลอดเวลา

บาร์ต จึงมองหาใครสักคน ที่พูดภาษาอังกฤษได้ แล้วก็เจอโรเดล คนไร้บ้าน ซึ่งผมก็เพิ่งรู้ที่หลังว่า เขาทั้งสองไม่ได้รู้จักกันมานานนัก เพราะโรเดลเพิ่งมาเตร่ที่เชสพลาซ่าก่อนผมได้แค่อาทิตย์เดียว

โรเดล เป็นคนหนุ่มอายุแค่ 30 ต้น ท่าทางทะมัดทะแมง เขาช่วยให้ผมรู้สึกสะดวกขึ้นมาก เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้ หากคนไร้บ้านคุยอะไรกันแล้วผมไม่เข้าใจ ผมจะขอให้เขาช่วยแปลสรุปความให้ โดยเฉพาะเวลาบาร์ตพูดตลกหยาบโลนเป็นภาษาตากาล็อก ผมตามไม่ทัน ต้องให้โรเดลช่วยแปล

ช่วง 10 อาทิตย์ในปี 2554 นี้ ผมยังไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านเต็มตัว ผมเก็บกระเป๋าเสื้อผ้าไว้ที่สำนักงานเอ็นจีโอของเพื่อน แล้วออกมาข้างนอกสองสามวันจึงกลับไปอาบน้ำที่ออฟฟิศครั้ง และก็ยังคงพกเงินซื้อข้าวกิน บางครั้งก็ซื้อข้าวเลี้ยงคนที่คอยไปไหนมาไหนเป็นเพื่อนผม อย่างบาร์ตและโรเดล ผมชอบทั้งสองตรงที่ไม่ได้แสดงท่าทีอยากได้ประโยชน์จากผม เช่น บาร์ตพาผมไปกินร้านอาหารราคาถูกที่คนไร้บ้านกินกัน ซึ่งถูกกว่าร้านข้าวทั่วไปครึ่งต่อครึ่ง ข้าวมื้อหนึ่งกินกันคนละไม่ถึง 20 บาท

ส่วนโรเดล ผมก็ชอบเขา เพราะเขาไม่เคยร้องขออะไรเป็นพิเศษจากผม แถมยังไปไหนเป็นเพื่อนผมทั้งๆ ที่เขาเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์เป็นคนไร้บ้านมานานนัก เช่นเรื่อง feeding programs ผมอยู่ที่ลูเนต้าไม่กี่วันก็รู้ว่า ที่มะนิลามีโบสถ์หลายแห่งแจกอาหารให้คนไร้บ้าน และที่หนึ่งที่แจกประจำทุกคืน คือที่วัดซิกข์ หรือเรียกกันว่า บุมไบย์ คนฟิลิปปินส์จะเรียกคนที่มีเชื้อสายอินเดียหรือหน้าตา ‘แขกๆ’ ว่า บุมไบย์  ซึ่งก็รวมถึงคนที่ฟิลิปปินส์เชื้อสายอินเดียที่นับถือศาสนาซิกข์ด้วย

คนไร้บ้านที่เชสพลาซ่า นั้นไม่ไป บุมไบย์ พวกเขาหาเงินจากการเล่นหมากรุกหรือวิธีอื่นๆ จึงมีเงินซื้อข้าวกิน ซึ่งถือว่ามีระดับกว่า คนที่ไปต่อคิวกินข้าวฟรี แต่พอผมบอกโรเดลว่า ผมอยากไปบุมไบย์ โรเดลก็อาสาไปบุมไบย์เป็นเพื่อนผม เขาถามทาง ถามเวลาแจกอาหาร จากคนอื่น แล้วก็นัดกันไปในเย็นวันหนึ่ง โดยที่บาร์ตไม่ได้ไปด้วย

เราได้ยินมาว่า บุมไบย์ แจกอาหารตอนหนึ่งทุ่ม แต่เพื่อให้แน่ใจ เราสองคนไปรอกันตั้งแต่หกโมงครึ่ง พอไปถึงยังไม่มีคนไร้บ้านแม้แต่คนเดียว เพราะยังเร็วเกินไป เรานั่งรอด้วยความหิวจากหกโมงถึงสองทุ่มครึ่ง ผมหิวข้าวจนมือไม้สั่น รู้สึกเหมือนจะเป็นลม ไม่อยากพูดอะไรสักคำ คงเป็นเพราะข้าวกลางวันก็กินไม่เต็มอิ่มด้วย

พอได้ข้าวแล้ว ผมกับโรเดลรีบกินกันทันที ที่หน้าวัดนั่นเอง ด้วยความอยากอาหารอย่างหนัก แกงรสชาติเป็นยังไงนั้น จำไม่ได้ รู้แต่ว่า ตอนนั้น ขอให้มีอะไรตกถึงท้องไว้ก่อน พอได้กินข้าวแล้วผมค่อยรู้สึกดีขึ้น แต่กระหายน้ำมาก

พอเดินผ่านร้านเซเว่น ผมก็บอกโรเดลว่า ไปหาซื้อน้ำดื่มกินกัน สะท้อนว่า ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นคนไร้บ้านเต็มตัว แค่ไปเข้าคิวรับแจกข้าวพอมีประสบการณ์หิวชั่วสั้นๆ แต่คล้อยหลังก็ยังใช้เงินซื้อน้ำในร้านเซเว่น อีกอย่างผมคิดว่า โรเดลคงจะหิวไม่ต่างจากผม ผมน่าจะซื้ออะไรให้เขากิน แทนคำขอบคุณ

โรเดลเลือกน้ำส้มที่บรรจุใส่ซองพลาสติกแทนที่จะเป็นน้ำจากขวด พร้อมบอกว่า ถูกกว่าซื้อน้ำในขวด แล้วยังบอกผมว่า ไม่ต้องขอบคุณอะไรเขามาก เราเป็นเพื่อนกัน

ระหว่างทางเดินกลับ โรเดลบอกให้ผมรู้ว่า คนที่เชสพลาซ่าเห็นเขาพูดภาษาอังกฤษสื่อสารกับผมได้ ก็บอกเขาให้พูดขอเงินจากผม สักสี่ห้าร้อยเปโซ แต่เขาไม่ทำ เขาอธิบายบอกคนอื่นๆ ให้เข้าใจว่า ผมเป็นแค่นักศึกษา มีเงินเหมือนพ่อแม่ให้มาโรงเรียน ไม่ใช่คนรวยอะไร จะมาหาประโยชน์อะไรจากผม

ถึงตอนนี้ ผมซาบซึ้งในน้ำใจของโรเดลจนหาคำบรรยายไม่ได้

หลังจากนั้นอีกสองวัน ผมจำเป็นต้องไป ดิวิซอเรีย (Divisoria) ซึ่งเป็นตลาดย่านจอแจที่สุดของเมืองมะนิลา มีทั้งร้านค้าของส่ง ของปลีกและของสด เหมือนมีโบ๊เบ๊ ปากคลองตลาด และคลองถม รวมอยู่ที่เดียวกัน โทรศัพท์ที่ผมถือมาจากอเมริกา แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ซิมการ์ดเครือข่ายของฟิลิปปินส์แล้วใช้ไม่ได้ คนไร้บ้านคนหนึ่งที่เชสพลาซ่าแนะนำว่าจะพาผมไปหาช่างที่ดิวิซอเรียปลดล็อคให้ โรเดลก็อาสาไปเป็นด้วย

ช่วงนั้นเวลาผมไปลูเนต้า บางวันผมพกกล้องถ่ายรูปไปด้วย ไม่ใช่เพราะอยากเป็นนักมานุษยวิทยาถ่ายรูปสนามหรืออะไร แต่ผมมักใช้กล้องและรูปถ่ายในการผูกมิตร คือ ไปถ่ายคน แล้วต่อมาก็อัดรูปให้พวกเขา ผมรู้ว่าคนฟิลิปปินส์บ้ากล้องเข้าขั้นทีเดียว ที่เชสพลาซ่า ผมก็เคยถ่ายรูปคนไร้บ้านและอัดรูปมาฝากพวกเขา

เช้าวันที่ไปดิวิซอเรีย ผมกลับสำนักงานเพื่อน ไปเอาโทรศัพท์ แล้วจึงย้อนมาลูเนต้า ระหว่างทางเดินจากลูเนต้าเพื่อไปขึ้นรถจี๊ปนีย์ไปดิวิซอเรีย โรเดลก็ถามผมว่า ผมพกกล้องถ่ายรูปมาด้วยหรือไม่ ผมก็ตอบว่า พกมา เขาจึงเตือนผมว่า ที่ดิวิซอเรียคนแน่นมากและคนล้วงกระเป๋าก็เยอะ เรื่องนี้ผมพอรู้มาบ้าง

เขาบอกต่อไปว่า หน้าตาและบุคลิกผมไม่เหมือนคนฟิลิปปินส์ ผมจะตกเป็นเป้าหมายของพวกนักล้วงกระเป๋า เขาจึงเสนอว่า ทางที่ดีเอากล้องถ่ายรูปมาเก็บไว้ที่เขาดีกว่า เขาใช้กระเป๋าแบบสะพายข้าง สามารถดึงรั้งกระเป๋าให้มาอยู่ข้างหน้า ไม่มีใครสามารถล้วงกระเป๋าได้ ต่างจากผมที่ใช้แบ็คแพ็ค

ผมฟังดูแล้วก็เข้าที จึงเอากล้องดิจิตอลฝากไว้ที่โรเดล

เมื่อไปถึงดิวิซอเรีย คนก็แน่นตามคาด เราสามคนลงจากรถแล้วก็เดินเบียดเสียดไปจนถึงพลาซ่า หน้าตาคล้ายๆ คลองถมบ้านเรา มีช่างซ่อมโทรศัพท์ตั้งโต๊ะรับซ่อมโทรศัพท์เรียงราย พี่อีกคนที่มาด้วยก็แนะนำให้ไปที่ร้านที่เขาเคยเอาโทรศัพท์มาแก้ปัญหาเรื่องซิมการ์ด ซึ่งก็ดูแล้ว ช่างโทรศัพท์เคยมีประสบการณ์แก้ปัญหาทำนองนี้มาแล้ว จึงไม่น่าจะยากอะไร

ระหว่างรอช่างซ่อมโทรศัพท์ โรเดลก็ขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อน ส่วนผมก็รอช่างซ่อมที่แผงกับพี่อีกคนหนึ่ง จนกระทั่ง โทรศัพท์ที่หิ้วมาจากอเมริกาของผมก็สามารถใช้ซิมการ์ดของเครือข่ายในฟิลิปปินส์ได้ แต่โรเดลยังไม่กลับมาจากเข้าห้องน้ำ

รออยู่พักหนึ่ง ผมจึงเอะใจ นึกขึ้นมาได้

โรเดลคงไม่กลับมาแล้ว เขาไปแล้ว ไปพร้อมกับกล้องดิจิตอลของผม

แวบแรกที่ผมรู้ตัวว่าโรเดลคงไม่กลับมานั้น ผมไม่นึกเสียดายกล้องถ่ายรูปเลยแม้แต่น้อย แต่ผมเสียใจที่ผมเสียเพื่อน โรเดลช่วยผมได้มาก ถ้าเขาจำเป็นต้องใช้เงินและขอเงินจากผมบ้าง ผมก็ยินดีจะให้ อย่างน้อยก็คิดว่าเขาเป็นผู้ช่วยวิจัย หรือครูสอนภาษาให้ผม แต่เขาไปแล้ว

ผมจึงรู้ตัวว่า ที่คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์กับคนไร้บ้านช่ำชองแล้ว พอมาสนามนี้ผมเสียท่าง่ายๆ หลังจากนั้น ผมระมัดระวังมากขึ้น ไม่เคยพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไปสนาม ส่วนโทรศัพท์มือถือก็พกติดกระเป๋าไว้ใช้ยามฉุกเฉินเท่านั้น และไม่ใช้ต่อหน้าคนอื่น

พี่คนหนึ่ง ที่มักจะคุยกับผมประจำที่เชสพลาซ่า สรุปบทเรียนให้ผมว่า “Don’t trust anybody, even me” (อย่าไว้ใจใครทั้งสิ้น แม้กระทั่งฉันด้วย)

 

 

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า