เดินไปกับนานายโรส

ภาพ: บุญเลิศ วิเศษปรีชา

 

“เดินอีกแล้วเหรอ”

ผมพูดเสียงอ่อนกับ นานายโรส ในเช้ามืดที่ตัวเองยังเพลียและไม่อยากตื่น แต่ก็ต้องลุกเตรียมตัวออกเดิน เพราะคนไร้บ้านคนอื่นๆ ที่นอนอยู่ด้วยกันเขาลุกและเก็บข้าวของกันเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ผมที่ยังช้าอยู่

“Exercise” นานายโรสพูดตอบผมเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่ตัวแกเองพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ ไม่รู้ว่าแกไปจำคำนี้มาจากไหน พร้อมทำท่าสะบัดเหยียดแขนให้ผมดูว่า คนวัยเกิน 60 อย่างแกยังไหว แล้วคนหนุ่มอย่างผมจะไม่ไหวได้ยังไง

คำว่า นานาย (nanay) แปลว่า ‘แม่’ ใช้เรียกคนอายุคราวแม่ คราวป้า คำนี้จึงบอกอยู่ในตัวว่า – แกรุ่นไหน

ผมรีบเก็บพลาสติกปูนอนพับใส่กระเป๋า ล้างหน้าพอลวกๆ ด้วยน้ำจากขวดประจำตัว แล้วออกเดินไปกับพวกเขา มุ่งหน้าไปที่โบสถ์ซางตาครูส ที่นั่นมีอาหารแจกให้คนไร้บ้านตอนเจ็ดโมงเช้า

นี่เป็นวิถีของคนไร้บ้าน ประเภทที่อยู่ได้ด้วยการเดินตระเวนไปกินข้าวตามโบสถ์ที่มีการแจกอาหาร แต่ละวันมีแต่เดินกับเดิน ทำให้ผมซึ่งเพิ่งมาลิ้มลองชีวิตแบบนี้อ่อนเปลี้ย แทบไม่อยากจะลุกตื่นในตอนเช้า

ในช่วงต้นที่ผมไปอยู่มะนิลากับคนไร้บ้านยาวนาน 14 เดือน ระหว่างปี 2556-2557 สองเดือนแรกผมอยู่กับกลุ่มอาเตะอาร์ลีน นั่งประจำอยู่ที่สวนลูเนต้า คนพื้นที่เรียกตรงนี้ว่า คาราบาว (karabaw-สะกดแบบภาษาฟิลิปปินส์) เพราะมีรูปปั้นควายตัวใหญ่สองตัว ตกค่ำก็เดินไปนอนที่เบย์วอล์ค กลุ่มอาเตะอาร์ลีนดูดีกว่าคนไร้บ้านทั่วไป เพราะหาเงินจากการขายพลาสติกปูนั่งในสวน พอมีเงินซื้อข้าวกินเอง และก็อยู่กันเงียบๆ

พอเข้าเดือนที่สาม เมื่อผมฝึกพูดฝึกใช้ภาษาตากาล็อกที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินจนคล่องขึ้น สมควรแก่เวลาที่ผมจะท่องยุทธภพไปอยู่กับคนไร้บ้านที่เป็นคนข้างถนนแท้ๆ ประเภทไม่มีเงินติดตัว แต่ละวันต้องเดินไปกินข้าวฟรี เพื่อร่วมประสบการณ์ตรงว่า คนเหล่านี้เขาอยู่กันได้อย่างไร

แรกเริ่มเดิมที ผมไม่มีแผนมาอยู่ในกลุ่มนานายโรส ผมคิดว่าจะขอติดสอยไปกับ เจสัน คนไร้บ้านหนุ่มที่ดูสุภาพและพูดภาษาอังกฤษได้ จำได้ว่าวันแรกที่ผมแยกจากกลุ่มอาเตะอาร์ลีนเป็นวันอังคาร ผมไปรอกินข้าวมื้อเที่ยงตั้งแต่ตอนสายที่ลาวโต้น (Lawton) เชิงสะพานข้ามแม่น้ำปาสิก (Pasig) มีคนมาชวนร้องเพลงและเรียนไบเบิลสั้นๆ ก่อนจะแจกข้าวสวยใส่ถุงกับลองกานิซา (longganisa) รูปร่างคล้ายไส้กรอกอีสาน คือ อ้วนสั้น แต่มีรสหวาน

เสร็จจากที่นั่น เจสันบอกผมว่า คนไร้บ้านจะไปที่โบสถ์นอกซ์ (Knox) ที่นั่นแจกชัมโพราดอ (champorado) ข้าวต้มรสช็อกโกแลตราดด้วยนมสด ตอนบ่ายแก่ๆ แต่ต้องเดินข้ามแม่น้ำปาสิกไปอีกฝั่ง ผมก็เดินกลางแดดเปรี้ยงตอนเที่ยงวันไปกับเขา ระยะทางเบาะๆ แค่กิโลครึ่ง แต่พอได้ของกินเสร็จ เจสันก็บอกว่า ผมไปกับเขาไม่ได้แล้ว เพราะเขามีธุระ (ธุระที่เขาไม่ได้บอก แต่ผมดูออกก็คือ เขากำลังจะไปกับหญิงคนไร้บ้านอีกคนหนึ่ง)

ผมจึงต้องมองหาคนไร้บ้านคนอื่นๆ แล้วก็เจอนานายโรสที่เคยเห็นหน้าผมที่โบสถ์ปาโกะ เพราะผมเป็นอาสาสมัครช่วยทำกับข้าวที่นั่นทุกวันอาทิตย์ ชวนผมให้ไปกับกลุ่มแก ผมจึงเดินตามแกข้ามแม่น้ำกลับไปที่ถนนยูเอ็น

ระยะทางขากลับเดินไกลร่วม 4 กิโล ยังจำภาพได้ดีว่า ผมเดินตามหญิงสูงวัย ผมสั้น รูปร่างเล็กทะมัดทะแมงคนหนึ่ง เธอสะพายกระเป๋าแบ็คแพ็ค มือสองข้างก็หิ้วถุงพลาสติก เดินดุ่มๆ ไม่เหนื่อยไม่ล้า ขณะที่ผมเมื่อยขาและก็เดินช้าลง จนแกต้องหยุดและหันมาดูเป็นระยะๆ ว่าผมยังไหวอยู่หรือเปล่า

จนถึงที่หมาย คือทางเท้าริมถนนยูเอ็น จึงได้นั่งพัก พอทุ่มหนึ่ง แกก็พาผมเดินต่อไปที่วัดซิกข์ที่คนไร้บ้านเรียกว่า บุมไบย์ เพราะคนฟิลิปปินส์จะเรียกคนที่มีเชื้อสายอินเดียว่า ‘บุมไบย์’ ดังนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาซิกข์มีเชื้อสายอินเดียจึงถูกเรียกว่าบุมไบย์ด้วย บุมไบย์แจกอาหารมื้อค่ำให้คนไร้บ้านทุกวันไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะพายุเข้า หรือน้ำท่วมก็แจก ผมรอจนหิวแสบท้อง เหนื่อยก็เหนื่อย ถึงสองทุ่มกว่า จึงได้รับแจกข้าวสวยกับแกงถั่วเขียวและแผ่นโรตี (จาปาตี) ที่ต่อมากลายเป็นมื้อเย็นเกือบทุกวันของผมอยู่เป็นปี

หลังจากกินข้าวที่หน้าบุมไบย์เสร็จ นานายโรสยังแนะนำผมว่า ให้ผมเอาขวดน้ำที่พกติดตัวไปรองน้ำก๊อกเก็บไว้เหมือนคนไร้บ้านคนอื่นๆ จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ ส่วนข้าวสวยกับแผ่นจาปาตีก็อย่าทิ้ง เก็บไว้กินตอนเช้าได้ ไม่เสีย แล้วผมก็กลับมานอนกับคนไร้บ้านร่วมสิบคน ปูพลาสติกบนฟุตบาธที่คนเดินผ่านไปมานั่นเอง แถมยังได้กลิ่นฉี่ตลบอบอวลอยู่ใกล้ๆ

พอข้ามวัน ฟ้ายังไม่ทันสว่าง สักตีห้าก็ต้องตื่น ด้วยเสียงไม้กวาดจากคนกวาดถนนแกรกๆ ดังใกล้เข้ามา เหมือนข้าศึกกำลังเข้าโจมตีประชิดมาเรื่อยๆ พร้อมกับฝุ่นฟุ้งบังคับให้คนไร้บ้านต้องลุก ไม่อย่างนั้นจะกลายร่างเป็นมนุษย์คลุกฝุ่น

เดินไปถึงซางตาครูส ก็นั่งรอมื้อเช้า ส่วนใหญ่เป็นข้าวต้ม บางวันเป็นเส้นหมี่ต้มน้ำ นานายโรสสอนให้ผมเอาแผ่นจาปาตีฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับข้าวสวย คลุกกับข้าวต้ม เพื่อจะได้อิ่มท้องมากขึ้น

สภาพของเมืองมะนิลาแย่มาก ทั้งมลภาวะฝุ่นควันคละคลุ้ง ถนนอบอวลด้วยกลิ่นฉี่ เพราะห้องน้ำสาธารณะมีจำกัด เจอเข้าแบบนี้ ต่อให้เป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างผม เดินได้แค่สามวันก็ป่วย เพราะฝนตกลงมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยในวันอากาศร้อน ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน

เย็นวันนั้นเป็นเย็นวันศุกร์ หน้าโบสถ์เคียโปะ (Quiapo) ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ย่านตลาดที่มีคนจอแจ มีแจกข้าวต้มที่คนฟิลิปปินส์เรียกว่า ลูกาว (lugaw) ใส่ถ้วยพลาสติกเล็กๆ ต้องเวียนเข้าแถวรับหลายรอบกว่าจะพออิ่ม คืนนั้นนานายโรสบอกว่า จะไม่กลับไปนอนที่ถนนยูเอ็น แต่เลือกนอนแถวเคียโปะแทน เพราะตอนเที่ยงคืนจะมีครอบครัวคนรวยเอาเงินมาแจกให้คนละ 20 เปโซ

หลังจากตลาดหน้าโบสถ์เคียโปะวาย คนไร้บ้านก็นั่งกันเป็นแถวรอรับเงิน ผมนึกถึงสมัยเป็นคนไร้บ้านอยู่เมืองไทย และไปนั่งรอรับแจกเงินจาก เสี่ยปอ ประตูน้ำ แต่คืนนั้นไม่มีแรงจะพูดอะไร เพราะปวดหัว ถึงขั้นที่ผมปูพลาสติกนอนเอาหน้าลานเสียเลย

นานายโรสมีน้ำใจมาก ไม่รู้ว่าแกได้อาหารเหลือของใครมาจากไหน อยากแบ่งให้ผมกิน แกปลุกผมให้ขึ้นมากินข้าวกับแก จะได้อิ่มท้อง ดีกว่ากินแค่ข้าวต้ม แต่ผมปวดหัว ไม่รู้สึกหิว รู้แต่ว่าเพลียและอยากนอน บอกแกว่าไม่ต้องสนใจผม กระทั่งใกล้เที่ยงคืน ผมก็ถูกบังคับให้ตื่น ไปนั่งในแถวให้เป็นระเบียบเหมือนคนอื่น เพื่อให้เศรษฐีเดินแจกเงินหว่านยาจกได้สะดวก

พอได้เงินแจก 20 เปโซ (15 บาท) นานายโรสก็พาผมลงไปนอนที่ทางเดินใต้ดิน – เป็นอุโมงค์ลอดถนนที่กว้างขวาง ตอนกลางวันมีแม่ค้านั่งขายของเต็มไปหมด แต่ตอนนี้เหลือแต่ที่ว่างให้คนไร้บ้านลงไปเลือกที่นอนได้ตามสะดวก ผมนอนไม่ห่างจากนานายโรส และคนไร้บ้านที่มาจากถนนยูเอ็นด้วยกันอีกสองคน ด้วยความที่ปวดหัวเป็นทุนเดิม ผมจึงหลับง่ายแม้อากาศร้อนอบอ้าว

เสียงคนเอะอะคุยกันกลางดึก ผมลืมตามองขณะยังนอนอยู่ เห็นชายคนหนึ่งนอนห่างจากผมไม่ถึง 5 เมตร มือเกร็ง ตาเหลือก เสียงคนที่พูดคุยกันจับความได้ว่า ชายคนนี้คงนอนฝันร้ายและตายแล้ว เรียกในภาษาตากาล็อกว่า บางูหงด (bagungod) นาทีนั้นผมไม่รู้สึกกลัวแม้แต่น้อย เพราะตัวเองปวดหัวอยากนอนอย่างเดียว กระทั่งใกล้สว่างแล้ว ตำรวจจึงมาและไล่คนที่นอนให้ลุกออกไป เพราะต้องขนย้ายศพ นั่นแหละผมจึงต้องตื่น

คืนแรกที่เคียโปะของผมกลายเป็นคืนแห่งความทรงจำ – มีคนนอนตายอยู่ใกล้ๆ

ผมไปไหนมาไหนร่วมกับนานายโรสได้ราวอาทิตย์กว่า อันที่จริงผมไม่ได้ไปเป็นคู่กับแก เพราะมีคนอื่นอีกสองสามคนเดินตามๆ กันไปด้วย เพียงแต่นานายโรส คอยดูแลผมมากเป็นพิเศษ

นานายโรสบอกเล่าชีวิตของแกให้ผมฟังไม่มาก บอกแค่ว่า เกิดที่ต่างจังหวัด แต่มาโตในมะนิลา ฐานะยากจน ต้องช่วยน้าขายน้ำชงใส่ขวดโหลขายตามตลาด แกมีบ้านอยู่ในสลัมไม่ไกลจากมะนิลา แต่บ้านถูกไฟไหม้ เหลือสภาพไม่ดี อยู่อาศัยไม่ได้แล้ว แกกำลังทำเรื่องขอความช่วยเหลือ ระหว่างนี้จึงมาเป็นคนไร้บ้าน ส่วนลูกๆ โตกันหมดแล้ว คู่ชีวิตไม่ตายก็แยกกันไป แต่ผมเข้าใจว่า แกยังคงมีญาติที่นานๆ จะกลับไปหาและให้เงินช่วยเหลือนิดหน่อย ถือว่าแกปรับตัวกับชีวิตข้างถนนได้ดีทีเดียว

คืนหนึ่ง หลังจากที่กินข้าวกลับมาจากบุมไบย์ กำลังปูพลาสติกนอน ชายคนไร้บ้านอายุมากกว่าผมเล็กน้อยก็มาขอเงินสองเปโซจะไปซื้อบุหรี่สูบ ผมบอกไม่มี กับคนขอเศษเงินเช่นนี้ บางครั้งผมก็ให้ บางครั้งผมก็ไม่ให้ โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจไถเงิน ผมถือว่าให้บ่อยๆ จะนึกว่าไถผมได้ตลอด แต่โดยมากก็ไม่ค่อยมีใครขอเงินผม เพราะเห็นผมมาอยู่กินแบบคนไร้บ้าน ไม่น่าจะมีอะไรให้ขอ

พอผมบอกไม่มี ชายคนนี้ก็ถามย้ำว่า แน่ใจนะว่าไม่มี แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีก้าวร้าวอะไร

นานายโรสอยู่ใกล้ๆ ก็เลยตวาดชายผู้นี้ว่า “บอกว่าไม่มีก็ไม่มี อย่ามาขอกันแบบนี้บ่อยๆ”

“ฉันพูดกับเขา ไม่ได้พูดกับแก” ชายผู้นี้ตอบ โดยไม่ได้หันมามองหน้านานาย

“ก็บอกว่า ไม่มี จะเอาอะไรอีก” นานายเสียงดังกว่าเดิม

“เขาเป็นผัวแกเหรอ แกถึงต้องมาร้อนตัว”

“ไม่ใช่” คราวนี้เป็นเสียงผมที่ตอบเสียงดังขึ้นมาแทน

เรื่องขอเงินสองเปโซซื้อบุหรี่สักตัว กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย ผมชักตะหงิดขึ้นมาว่า ที่ผมเดินๆ อยู่กับนานายโรส เพราะคิดว่า แกแก่คราวแม่ผม คงไม่มีใครคิดอะไร ผมไม่ได้เอะใจว่า กำลังถูกมองเป็นผัวแก นึกถึงสายตาของหญิงอ้วนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับนานาย บางทีแกพยักพเยิด น่าจะส่อความถึงเรื่องนี้ และมันไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ชายหญิงคู่หนึ่งที่นอนอยู่ที่หน้าถนนยูเอ็นก็เป็นแบบนี้ ผู้หญิงสูงวัยคราวป้ากับหนุ่มขาขาดคนหนึ่งเขายังคบหาดูแลกันได้ แล้วทำไมคนไร้บ้านคนอื่นๆ จะไม่คิดจับผมเข้าคู่กับนานายโรส

การถูกเข้าใจผิดอย่างนี้ไม่เป็นผลดีสำหรับผม จึงต้องคิดต่อไปว่า พรุ่งนี้จะเดินกับใคร ที่ไม่ใช่นานายโรส

อย่างไรก็ดีแม้ระยะหลัง ผมจะมีเพื่อนสนิทกลุ่มใหม่ แต่เมื่อเจอนานายโรสทีไร ก็คุยเล่นกันได้เหมือนคนสนิท ถึงวันสุดท้ายที่ผมลากลับเมืองไทย มีผู้หญิงแค่คนเดียวที่หลั่งน้ำตาให้ผม เธอคือ นานายโรส

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า