นมแม่: ทางที่แม่เลือกได้

คำถาม – ข้อใดคือวิธีให้อาหารลูกที่เหมาะสม

ก. ป้อนนมแม่
ข. ชงนมผง
ค. อื่นๆ

คำตอบที่ถูกต้องคือ…

เรื่อง: ลีน่าร์ กาซอ
ภาพ: อนุช ยนตมุติ / ลีน่าร์ กาซอ

 

หลังจากมือทาบอกตกใจกับสถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยที่โผล่ไปอยู่ในกลุ่มท้ายตาราง การรณรงค์ก็ใส่เกียร์เดินหน้าชูธงให้ทารกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และถ้าเป็นไปได้ก็ต่อเนื่องไปอีก 2 ปีร่วมกับอาหารตามวัย แม้ตัวเลขจะยังไม่พุ่งทะยานไปติดอันดับต้นๆ แต่แม่ส่วนใหญ่ก็เริ่มรับรู้และซึมซับประโยชน์ของน้ำนมตัวเองแล้ว

แต่ขณะที่รูปถุงเก็บน้ำนมแช่แข็งกับเรื่องราวชวนซึ้งของนมแม่ถูกโพสต์ขึ้นทั่วโลก

อินเทอร์เน็ต และสื่อต่างๆ มีหญิงสาวกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า เธอไม่สามารถให้นมลูกได้ แม้อยากให้ใจจะขาด

ท่ามกลางเสียงเชียร์นมแม่ที่ดังกระหึ่ม หญิงสาวกลุ่มนี้กำลังมองหาพื้นที่ของตนเอง

img_6032

1

‘ห้ามสุภาพบุรุษเข้า’ ข้อความตัวใหญ่บนป้ายติดหน้าคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง หรือที่บรรดาแม่ๆ ทั้งหลายเรียกกันว่า ‘ห้องนม’ พื้นที่ส่วนตัวสำหรับผลิตสุดยอดอาหารของทารก

เหมือนทุกๆ เช้าที่ ‘เจ’* เภสัชกรของโรงพยาบาล จะวิ่งเข้ามาในห้องก่อนเวลา 10 โมงเพื่อปั๊มนมให้ได้มากที่สุดในเวลาอันจำกัดและรีบกลับไปทำงานต่อ

แม้เด็กน้อยจะไม่ยอมดูดเต้าเลย แต่ตลอดเก้าเดือนครึ่งที่ผ่านมา เธอก็พยายามปั๊มนมให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว แม้การปลีกตัวไปห้องนมจะกระทบกับงานบ้าง แต่ยังดีที่หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานก็เข้าใจ

“ยอมรับว่าเหนื่อยแถมมีเวลาอยู่กับลูกไม่มาก แต่เราอยากให้ลูกได้กินนมที่มีประโยชน์ตามที่เคยศึกษาข้อมูลมา จนถึงตอนนี้ลูกสาวไม่เคยป่วยหนักเลยสักครั้ง”

แต่เพราะการปั๊มนมทำให้เธอต้องคอยแก้ปัญหานมตันตลอด เดือนละสองครั้งที่พยาบาลจะใช้เข็มสะกิดเนื้อเยื่อที่อุดท่อน้ำนมออก ถึงจะเจ็บจนน้ำตาไหล แต่ไม่เท่ากับความหดหู่ที่ต้องเว้นวรรคการบีบนม ยิ่งถ้าน้ำนมหายไปในวันหนึ่ง หญิงสาวจะถือเป็นฝันร้ายที่ต้องแบกรับและหันไปพึ่งนมผงด้วยความจำยอม

อีกมุมหนึ่งของห้อง ‘ทิม’* หญิงสาวผู้ร่าเริงจากดอยสูง เธอกำลังปั๊มนมอย่างขะมักเขม้นเพื่อให้ทันส่งมอบให้หมอ เพื่อส่งต่อให้ลูกของเธอที่ยังคงนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล เด็กน้อยฉลองวันเกิดขวบปีแรกอย่างเงียบเชียบใต้สายระโยงระยางอวลกลิ่นโรงพยาบาล…และห่างไกลสัมผัสจากอกแม่

ลึกลงไปภายใต้เสียงหัวเราะ ทิมเหน็ดเหนื่อยและเคร่งเครียดกับความจริงที่ลูกอาจติดเชื้อมากขึ้นหรือหยุดหายใจได้ทุกเวลา เพราะหลังลืมตาดูโลก มีอาการผิดปกติมากมายอยู่ในร่างกายเล็กๆ นั้น รวมไปถึงโรคหัวใจแทรกซ้อน ทำให้เธอต้องออกจากบ้านมาเช่าหอพักเล็กๆ ใกล้โรงพยาบาลและเดินไปปั๊มนมวันละสองครั้ง โดยอาศัยเงินที่สามีทำนาและปลูกข้าวโพดส่งมาให้ใช้จ่ายค่ากินอยู่ตกเดือนละหลายพันบาท

“เรายอมจ่ายค่ากินอยู่เพิ่มเพื่อให้ลูกเราได้กินนมอย่างที่ควรจะกิน” ทิมว่า “แต่ถ้ามีคลินิกนมแม่อยู่ใกล้บ้านก็คงจะดีกว่านี้”

แต่ไม่ใช่กับ ‘ดาว’* ที่เคยเดินออกจากห้องนมด้วยจิตใจหดหู่ทั้งที่ตั้งใจจะให้นมลูกเองตั้งแต่ตั้งท้องและไม่คิดว่าอาการครรภ์เป็นพิษจะมีผล ผ่านไปเพียงสี่วันหลังคลอด เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำเนื่องจากแผลผ่าคลอดอักเสบซึ่งเป็นผลของอาการครรภ์เป็นพิษ โชคร้ายที่ลูกของเธอก็มีอาการตัวเหลืองในเวลาเดียวกันจนต้องถูกส่งไปรักษาตัวที่ต่างโรงพยาบาล เธอตัดสินใจซื้อเครื่องปั๊ม และให้สามีขนส่งนมไปให้ลูก แต่ปั๊มได้เพียงสองครั้ง ความดันของเธอก็ลดฮวบจนช็อกหมดสติ หมอจึงสั่งให้หยุดปั๊มนม กินยาฆ่าเชื้อและยาควบคุมความดัน เมื่อให้นมไม่ได้ในช่วงนั้น น้ำนมจึงแห้งและหายไปในที่สุด

นอกจากความเจ็บปวดทางกายหลังการผ่าตัดแล้ว จิตใจของเธอก็บอบช้ำและวิตกกังวลไปใหญ่โตเพราะลูกไม่ได้กินนมแม่อย่างที่ตั้งใจไว้ ขณะที่สามียังคอยติดตามและแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับนมแม่ในสังคมออนไลน์ รวมถึงคนภายนอกครอบครัวที่คอยพูดถึงประโยชน์ของนมแม่ไม่หยุดหย่อน

“บางคนถึงขั้นพูดว่าเราขี้เกียจ แผลหายแล้วก็ปั๊มกระตุ้นต่อสิ เผื่อน้ำนมจะกลับมา ตอนนั้นคิดในใจว่าอยากให้ลองมาเจ็บอย่างนี้บ้างจังเลย”

*แม่ทั้งสามขอสงวนชื่อจริง

 

img_6083

2

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อแนะนำให้ทารกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก เช่นเดียวกับการรณรงค์เรื่องนมแม่ทั่วโลกที่เดินหน้าไปตามข้อแนะนำนี้ งานวิจัยเรื่อง ‘Feeding Support Needs to be More Woman-centred’ จากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน (University of Aberdeen) และมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง (University of Sterling) ได้ท้วงขึ้นมาว่า คำแนะนำดังกล่าวคืออุดมคติที่ทำลายความมั่นใจของแม่มือใหม่ให้จมอยู่กับความรู้สึกผิด ความเครียด และความวิตกกังวล ขณะที่บริการด้านสุขภาพที่มีอยู่ไม่ได้ครอบคลุมการช่วยเหลือพวกเธอในการให้นมอย่างถูกต้อง

ศาสตราจารย์แพต ฮอร์ดดินอตต์ (Pat Horddinott) หนึ่งในทีมวิจัยการบริการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ได้เขียนลงในบทความของเธอว่า “ความกังวลเรื่องนมแม่ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับพ่อแม่มือใหม่ บางคนยอมรับว่า รู้สึก ‘อกหัก’ เมื่อตัดสินใจหยุดให้นมแม่ก่อนกำหนด”

ผลการศึกษาดังกล่าวเผยแพร่อยู่ในวารสาร ‘BMJ Open’ ได้ใช้บทสัมภาษณ์ราว 220 ชิ้น จากแม่มือใหม่ คนใกล้ตัว และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ตั้งแต่ช่วงตั้งท้องไปจนถึงหลังคลอดหกเดือน โดยผลการศึกษาได้ระบุว่า การนำเอาเป้าหมายเชิงอุดมคติของนโยบายระดับโลกอย่างการให้นมแม่อย่างเดียวตลอดหกเดือนไปบรรจุเป็นเป้าหมายของผู้หญิงแต่ละคน ถือเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์

แม่อาสาสมัครทั้งหมดในการวิจัยนี้ตั้งใจและพยายามให้นมแม่ แต่พวกเธอก็ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงครอบครัว ทั้งพ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของตน

หญิงสาวคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในช่วงสามสัปดาห์หลังจากคลอดลูกว่า “การโปรโมทเรื่องนมแม่ดูเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ที่น่ารักดี แต่พอกลับมาเจอสภาพจริงที่บ้าน ฉันกลับรู้สึกผิดกับตัวเองเพราะไม่เห็นจะมีประสบการณ์ที่น่ารักอะไรแบบนั้นเลย มีเพียงประสบการณ์ที่ทำให้ฉันลำบากและเจ็บปวด”

เกล จอห์นสัน ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและการพัฒนาอาชีพจาก Royal College of Midwives กล่าวว่า “นมแม่ไม่ควรถูกวางให้เป็นเป้าหมายเชิงอุดมคติ มันควรเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลทารกอย่างต่อเนื่อง นางพยาบาลผดุงครรภ์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพด้านอื่นๆ ต่างมีหน้าที่ในการสนับสนุนพ่อแม่ในการดูแลลูกๆ ของพวกเขา และการให้นมแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น”

“แม่หลายคนประสบความสำเร็จในการให้นมลูกอย่างเดียวตลอดหกเดือน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับบางครอบครัว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทางเลือกส่วนตัว ซึ่งต้องตัดสินใจโดยอิงกับสิ่งรอบด้านและมันเป็นสิทธิของแต่ละครอบครัวโดยไม่สามารถจะเหมารวมทั้งหมดได้” [2]

นอกเหนือจากความพร้อมของครอบครัวและบริการสุขภาพที่จะคอยช่วยเหลือแล้ว ปัญหาทางร่างกายของแม่ก็เป็นส่วนสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการให้นมลูก ความหดหู่ก็อาจเกิดขึ้นมาเมื่อไม่สามารถสนองตอบเป้าหมายเชิงอุดมคติเรื่องนมแม่ได้

ผู้ช่วยศาสตรจารย์อนุชาติ มาธนะสารวุฒิ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาทางร่างกายที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ส่วนใหญ่มาจากอาการป่วยและต้องรับยาหรือการรักษาที่เป็นอันตรายต่อเด็ก

“อย่างแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ต้องเข้ารับคีโมบำบัด ถ้าแม่ให้นม ลูกก็จะได้กินยาฆ่าเซลล์มะเร็งเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างแน่นอนเพราะมันฆ่าทุกเซลล์ ในกรณีนี้ลูกกินนมแม่ไม่ได้เด็ดขาด สำหรับยาตัวอื่นๆ ก็ต้องพิจารณาถึงความรุนแรง และเลี่ยงไปใช้ยาที่ปลอดภัยกว่าแทน”

อาการป่วยยังส่งผลให้น้ำนมแห้งได้ อย่างในกรณีครรภ์เป็นพิษของ ‘ดาว’ ที่มีความดันโลหิตสูง ถือเป็นอาการเจ็บป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง หากน้ำนมจะหยุดไหลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

“นอกจากนี้ น้ำนมแห้งยังอาจมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เพราะการผลิตน้ำนมย่อมต้องมีน้ำเข้าสู่ร่างกายเป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกับความเครียดที่ทำให้น้ำนมแห้งได้เช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์แล้วอาจมีการสั่งยาให้น้ำนมหยุดไหลได้ หากพบว่าแม่ไม่สมควรจะให้นมลูกอีกต่อไป

“ยาดังกล่าวจะเป็นจำพวกยาฉีด โดยส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มฮอร์โมน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ติดเชื้อเอชไอวี เราไม่แนะนำให้ลูกกินนมแม่เพราะอาจติดเชื้อได้ เมื่อลูกกินไม่ได้จะให้แม่ทนคัดเต้าเพราะน้ำนมต่อก็คงเป็นการทรมานแม่ไปเปล่าๆ สู้ให้น้ำนมหยุดไหลและให้ลูกได้กินอาหารที่ไม่ติดเชื้อดีกว่า”

img_6003

3

หลังจากประเด็นเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถูกจุดขึ้นในสังคมไทย กลายเป็นธงหลักในการทำงานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก และปรากฏอยู่ในแผนนโยบายสาธารณสุขอาหารและโภชนาการแห่งชาติ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ภาพของการรณรงค์ก็ยังไม่เข้มข้นเท่ากับการเกิดของ ‘โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว’ ในปี 2548 ท่ามกลางสถิติการให้นมแม่ในเวลานั้นที่ประเทศไทยโผล่ไปติดอันดับรั้งท้าย ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ที่ทำให้เรื่องนมแม่เสียงดังมากขึ้น

ปัญหามันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อกลับไปบ้านแล้ว แม่ไม่มีคนช่วย เมื่อก่อนความรู้ของสาธารณสุขก็ยังมีไม่มากพอ ไม่ค่อยมีการเยี่ยมบ้าน เมื่อแม่เจอปัญหาก็หันไปพึ่งนมผงที่หาซื้อได้ง่าย แต่โครงการสายใยรักฯ ได้พัฒนาความรู้และทักษะด้านนมแม่ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาล รวมถึงกำหนดให้มีคลินิกนมแม่ด้วย เพื่อเป็นตัวช่วยเรื่องนมแม่ให้กับแม่และครอบครัว ทั้งยังกระตุ้นให้มีการทำงานเชื่อมโยงสู่ชุมชนมากขึ้นผ่านเนื้อหาการดูแลแม่และเด็ก สร้างกลุ่มสนับสนุนนมแม่ที่ขยับไปสู่สังคมออนไลน์ ตอนนี้ตัวเลขการให้นมแม่ก็มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นมาก

แพทย์หญิงกรรณิการ์ บางสายน้อย กรรมการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว

ตั้งแต่แรกที่ก่อตั้งจนถึงตอนนี้ ทางศูนย์นมแม่ฯ ได้จับมือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสนับสนุนเพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน หกเดือนได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการที่ร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อรองรับปัญหาของแม่ที่ไม่สะดวกเรื่องนี้ เพราะติดปัญหาทั้งจากสถานที่และเวลาทำงาน

โครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการได้กระจายตัวอยู่ในสถานที่ทำงานกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมอนามัย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการคัดเลือกมุมนมแม่ต้นแบบในสถานประกอบกิจการ ประจำปี 2556 ซึ่งผ่านการคัดเลือกเพียง 31 แห่งเท่านั้น โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง และภาคกลาง 20 แห่ง (ที่มา: ‘จดหมายข่าวมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย’ ฉบับที่ 8 ประจำปี 2555)

“ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าถึงได้ง่าย ถึงเราจะมีสื่อสนับสนุนที่ช่วยกระจายข่าวให้ แต่การตัดสินใจท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ทำงานอยู่ดี” เธอว่า

ก่อนหน้านี้ ทางศูนย์นมแม่ฯ ได้ร่วมผลักดันกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกระเบียบใหม่เมื่อต้นปี 2555 ให้ข้าราชการชายมีสิทธิ์ลาไปช่วยเหลือภรรยาที่เพิ่งคลอดลูกได้ก่อนหรือภายใน 90 วันนับแต่วันคลอด โดยใช้สิทธิ์ลาได้ครั้งหนึ่งติดต่อกันไม่เกิน 15 วันทำการ แต่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น มีผลสำรวจพบว่า ยังไม่ได้รับความสนใจจากข้าราชการชายไปจนถึงผู้บังคับบัญชา

เช่นเดียวกับสิทธิ์ลาคลอดของผู้หญิงที่มีเพียงสามเดือน ขณะที่เนื้อหาการรณรงค์สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อยหกเดือนแรก ในส่วนนี้ แพทย์หญิงกรรณิการ์ ได้แต่บอกว่า ต้องเดินหน้าต่อไป

ในปี 2556 ทางศูนย์นมแม่ฯ ประกาศชัดเจนถึงการทำงานภายใต้พันธกิจที่สนับสนุนเรื่องนมแม่อย่างเข้มข้นขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนานโยบาย ระบบ องค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสังคมนมแม่ รวมถึงการผลักดันเรื่องมุมนมแม่ในที่ทำงานให้เป็นนโยบายระดับชาติ

นอกจากนี้ ศูนย์นมแม่ฯ ยังจับมือกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนในสถาบันผลิตแพทย์ จัดการฝึกอบรมอาจารย์และผลักดันให้ ‘การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่’ ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา รวมทั้งผลิตตำราสำหรับนักศึกษาแพทย์เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับหลักสูตรของสถาบันผลิตพยาบาล

ถ้าจะให้สุดยอดจริงๆ คงต้องมีสถานรับเลี้ยงเด็กที่สามารถพาลูกมาอยู่ใกล้ๆ ให้ได้กินนมแม่ตลอดพร้อมกับทำงานไปด้วยได้ – เธอว่าอย่างนั้น

ถึงจะสนับสนุนเรื่องนมแม่ขนาดไหน แต่สุดท้ายแล้ว แพทย์หญิงกรรณิการ์ ก็ยังย้ำว่า อยู่ที่การตัดสินใจของแม่ และหน้าที่ของ
ผู้รณรงค์คือการให้ข้อมูลและสร้างการสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่เอื้อให้แม่ให้นมลูกได้อย่างสบายใจและต่อเนื่องมากขึ้น

“จริงๆ แล้วมันมีปัจจัยหลายอย่าง คนเป็นแม่ต้องการการสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง เราถือว่ากำลังให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มันส่งผลไปถึงอนาคตของเด็ก แต่เราไม่สามารถไปบังคับเขาได้” เธออธิบาย “เราต้องมีเทคนิคในการให้คำปรึกษา ทำสิ่งที่เป็นธรรมชาติให้เป็นเรื่องปกติ นี่คือหน้าที่ของเรา ส่วนจะตัดสินใจอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ตัวเขาเอง”

img_6072-copy

4

ในฐานะคนหนึ่งที่คุ้นชินกับการทำงานแบบผูกติดกับเส้นตาย จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มคนงาน ‘TRY ARM’ สวนขึ้นมาว่า การรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ผู้หญิงที่ทำงานเข้าระบบประกันสังคมจะมีสิทธิ์ลาคลอดสามเดือน ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน จากประกันสังคมอีก 45 วัน และถ้ากลับมาทำงานก่อน บริษัทก็จะจ่ายตามที่หยุดจริง

ด้วยเหตุนี้พวกเธอจึงให้ลูกดื่มนมตัวเองหนึ่งเดือน อีกสองเดือนต่อจากนั้นก็เป็นช่วงฝึกให้คุ้นชินกับนมผงและหาสถานที่เลี้ยงเด็กหรืออาจส่งให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดช่วยดูแล โดยมีค่าเลี้ยงดูเด็กเดือนละประมาณ 3,000 – 4,000 บาท หากทำได้ตามนี้พวกเธอก็จะไปทำงานแบบไม่ต้องกังวล

‘ความตั้งใจและอดทน’ จึงยังไม่พอที่แม่ทุกคนจะให้นมลูกได้ยาวถึงหกเดือน

“จะให้นมได้ตามนั้นแม่ต้องมีความพร้อมก่อน ทั้งการได้อยู่กับลูกหลังเลิกงานและไม่ต้องทำงานล่วงเวลา แต่ความจริงคือแม่บางคนต้องทำงานเข้ากะไม่มีเวลาประจำ ต้องผลัดเปลี่ยนเวลาการทำงานตลอดสัปดาห์ สิ่งที่ต้องมีมากกว่าความตั้งใจและอดทนคือ รายได้ที่มากพอแบบไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ลูกต้องมีคนดูแลโดยไม่ต้องส่งลูกไปเลี้ยงต่างจังหวัด และแม่ต้องมีเวลาทำงานประจำแน่นอน”

สวัสดิการในที่ทำงานก็มีการพูดถึงหนาหูมากขึ้น หลายส่วนอาจมองไปที่ความร่วมมือของสถานประกอบการ แต่จิตราชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งถึงผู้คนที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมหรือที่ทำงานอยู่ห่างไกลที่พักมากๆ ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แถมต้องต่อรถอีกหลายต่อกว่าจะฝ่าการจราจรกลับถึงบ้าน ไม่ใช่เรื่องสะดวกนักกับการหิ้วนมที่ปั๊มไว้กลับบ้านด้วยสภาพร่างกายที่อิดโรย

รวมถึงสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน ซึ่งแม้จิตราจะเห็นด้วย แต่ปัญหายังติดตรงที่เวลาเปิดบริการของสถานรับเลี้ยงเด็กในปัจจุบันตรงกับเวลาทำงานเป๊ะ

“ความจริงแม่ต้องไปส่งลูกก่อนเวลาทำงาน แต่สถานเลี้ยงเด็กก็ยังไม่เปิด แถมเวลาเลิกงานสถานเลี้ยงเด็กปิดแล้วแต่แม่ยังไปไม่ถึง ตามเงื่อนไขแล้วก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก”

พูดให้ตรงกว่านั้น คือ เนื้อหาการรณรงค์เรื่องนมแม่ตอนนี้ไปคนละทางกับภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคม ที่ทั้งรัฐและเอกชนยังไม่พร้อมเปิดพื้นที่สนับสนุนการให้นมลูกของแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านอย่างทั่วถึง ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างทัศนคติในการให้คุณค่าต่อผู้หญิงก็เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนไม่ได้ฉุกคิด

“การสร้างคุณค่าของการเป็นแม่ที่ดีคือต้องให้นมลูกเองตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และการบอกว่าผู้หญิงไม่ให้นมลูกเพราะห่วงสวยก็ไม่ใช่เรื่องจริงเลย ผู้หญิงส่วนใหญ่อยากให้นมลูกเอง เพราะประหยัดกว่าซื้อนมผงมาก แถมความคิดแบบนี้ยังสร้างปมด้อยให้กับเด็กตั้งแต่แรกเพราะคิดว่าแม่ไม่รักเลยไม่ได้กินนมแม่ ทั้งที่จริงแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้ต่างติดปัญหาเรื่องการทำงานหาเลี้ยงชีพ”

“แม้การงานที่มั่นคงจะมีค่าจ้างและสวัสดิการดีกว่า แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะได้ทำงานที่มั่นคงอย่างนั้น”


การเก็บนมแม่
  • ตั้งทิ้งไว้ (27-32 °C) 3-4 ชั่วโมง
  • ตั้งทิ้งไว้ (16-26 °C) 4-8 ชั่วโมง
  • กระติกน้ำแข็ง (15 °C) 24 ชั่วโมง
  • ตู้เย็นช่องธรรมดา (0-4 °C) 3-8 วัน
  • ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียว 2 สัปดาห์
  • ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูแยก (-4 °C) 4-6 เดือน
  • ช่องแช่แข็งเย็นจัด ตู้เย็นชนิดพิเศษ (-19 °C) 6-12 เดือน
ที่มา: breastfeedingthai.com

img_6045

5

‘หลังจากลูกเราเกิด ภาพในฝันของเด็กทารกที่นอนหลับอย่างสงบสุขจะถูกทำลายลงด้วยเสียงกรีดร้องของเด็กที่หิวโหย เขาอาจจะต้องการดูดนมวันละ 8-12 ครั้ง รวมทั้งการป้อนนมด้วย ซึ่งใช้ทั้งเวลาและพลังงานมากกว่าที่คิด ในขณะที่คนเป็นแม่พยายามต่อสู้ในการที่จะปรับตัวให้ยอมรับกับบทบาทแม่ในโลกแห่งความเป็นจริง

‘คำแนะนำอย่างเช่น “อย่าหวังว่าช่วงเวลาเหล่านี้จะผ่านไปได้ง่ายๆ นะ” และ “เธอไม่รักลูกเธอเลยเหรอ” มักจะทำร้ายจิตใจของผู้เป็นแม่อย่างร้ายแรง แม่คนหนึ่งยอมรับว่า มีบางช่วงเวลาฉันรู้สึกว่าฉันทำผิดอย่างมหันต์ เธอรักลูกของเธออย่างมาก แต่เธอประสบความลำบากในการปรับตัวกับสิ่งที่คาดหวัง’  [2]

ส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง ‘The Reality of Motherhood…What Nobody Tells You ที่ ลอรา ลารอคคา (Laura LaRocca) ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรคือตัวอย่างหนึ่งของความเป็นจริงที่แม่ต้องเจอ

ไม่สวยงามและหนักหนาเอาการกับบรรยากาศของ ‘Baby Blues’ หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอันเป็นบททดสอบของแม่ทุกคนไม่ว่าจะให้นมลูกได้หรือไม่ก็ตาม

นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต ได้อธิบายว่า อาการซึมเศร้าหลังคลอดมีหลายปัจจัย ในช่วง 1-2 เดือนแรกเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายของแม่กำลังเปลี่ยนแปลง จนเกิดความไม่มั่นใจในการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะลูกคนแรก ผสมกับความอ่อนเพลียจากการพักผ่อนน้อยทำให้ซึมเศร้าเพิ่มขึ้น และจะยิ่งแย่ลงถ้ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริม

“หนึ่งในปัจจัยที่ว่านั้นคือ การที่แม่คนหนึ่งไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมของตัวเองได้จนเกิดความเครียด”

เขาอธิบายว่า แม่ที่ให้นมลูกไม่ได้จะมีปฏิกิริยาทางจิตใจหลากหลาย ทั้งแบบที่ยอมรับสภาพความเป็นจริงได้ โดยคิดว่าหากทำได้ก็เป็นเรื่องดี แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับ แม่กลุ่มนี้จะไม่สะเทือนใจกับข่าวสารเกี่ยวกับนมแม่

ขณะที่แม่บางกลุ่มพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรองรับตรงนี้ จะเห็นได้ว่ามีแม่หลายคนออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกในปีแรก แต่ก็ยังมีแม่บางกลุ่มที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ และคอยตอกย้ำให้ตัวเองรู้สึกแย่อยู่ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวสารเรื่องนมแม่

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองต่อตัวเองตามพื้นฐานเดิมของแม่ ความเครียดจะยิ่งเพิ่มได้ง่ายหากรู้สึกไม่ดีกับตัวเองเป็นทุนเดิม ขณะเดียวกัน คนรอบข้างเองก็เป็นตัวแปรสำคัญที่จะผลักดันให้ดีขึ้นหรือฉุดให้เลวร้ายลง

เพราะฉะนั้น กำลังใจจากคนรอบข้างโดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้แม่รับมือกับอาการซึมเศร้าได้ และเปิดใจมองเห็นสิ่งที่ดีรองลงมาจากความสามารถในการให้นม นั่นคือคุณภาพในการเลี้ยงลูกที่ต้องพึ่งพาจิตใจของแม่ที่ผ่อนคลายและมีความสุข

ผมมองว่าอาการซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากการให้นมลูกไม่ได้เพียงอย่างเดียว แต่มาจากความเครียดและความกดดัน ทั้งจากความคิดของตัวแม่เองและสิ่งเร้าจากภายนอกที่ตอกย้ำให้แม่คิดในแง่ลบมากขึ้น

เช่นเดียวกับการรณรงค์ที่เขามองว่า แม้ความพยายามจัดระบบให้เอื้อต่อการให้นมลูกจะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวันลาคลอด มุมปั๊มนมในสถานประกอบการ หรือประเด็นอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความสุขของตัวแม่เอง ไม่ว่าเธอเหล่านั้นจะให้นมได้หรือไม่ก็ตาม

“ถือเป็นมุมกลับของการรณรงค์ซึ่งเกิดขึ้นได้กับการรณรงค์ในทุกหัวข้อ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผมก็ยังคิดว่าการให้ความสำคัญกับเรื่องนมแม่เป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์ แต่ก็ไม่เห็นต้องทำให้แม่รู้สึกแย่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมของตัวเองได้”


ไม่ดีที่สุด แต่ดีกว่าไม่มี
บทความเรื่อง ‘Superfood for Babies’ จากมูลนิธิ Save the Children แนะนำให้แพ็คเกจของนมผงควรมีคำเตือนต่อสุขภาพใหญ่ๆ เหมือนกับซองบุหรี่ว่า ทุกๆ ชั่วโมง ทารก 95 คนจะปลอดภัยหากแม่มือใหม่ให้นมลูกทันทีหลังคลอด ถือเป็นข้อมูลที่เปราะบางสำหรับประเทศโลกที่สาม ซึ่งมีเด็กเล็กเสียชีวิตเพราะแม่ที่ผลิตนมได้ไม่มากพอต่างให้อาหารลูกด้วยอาหารอันตรายอย่าง กาแฟ น้ำผสมขี้เถ้า หรือน้ำผสมน้ำตาล ทำให้คนทำงานด้านสาธารณสุขต้องเสนอนมผงให้กับแม่กลุ่มเสี่ยงนี้
แคลร์ ไบม์-คุก (Claire Byam-Cook) อดีตนางพยาบาล ผดุงครรภ์ ที่ปรึกษาเรื่องนมแม่ และผู้เขียนหนังสือ ‘Top Tips for Breastfeeding’ บอกว่า เธอเข้าใจว่าการรณรงค์เรื่องนมแม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ปัญหาเด็กกินนมผงในอังกฤษไม่เกี่ยวอะไรกับการตายของเด็กๆ ในประเทศโลกที่สาม และการมีหรือไม่มีน้ำนมก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงลูก
อย่างไรก็ตาม แคเธอรีน รอว์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของมูลนิธิ Save The Children หนึ่งในทีมผู้เขียนบทความ ‘Superfood for Babies’ กล่าวถึงรายงานชิ้นนี้ว่า ทำให้ตระหนักถึงความต้องการนมผงของผู้หญิงที่ไม่สามารถผลิตนมให้ลูกได้จริงๆ
“แต่การรณรงค์นี้เป็นการสนับสนุนผู้หญิงที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือกในการให้อาหารลูกๆ ของตัวเอง และเกี่ยวกับการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทผลิตนมทดแทนนมแม่ ซึ่งฉลากบนกล่องนมผงเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าแสตมป์ เราต้องการให้มีข้อความเป็นมาตรฐานติดอยู่ก่อนที่มันจะกระจายออกไป”
อ้างอิงจาก:
Breastfeeding may be Best, but Bottles of Formula Milk aren’t the End of the World จาก telegraph.co.uk

img_5997

6

หลังจากเก็บนมที่ปั๊มออกมาได้มากมายเหมือนเคยเอาไว้ในช่องแช่แข็งของคลินิกนมแม่ ‘เจ’ พุ่งตัวออกไปทำงานต่อ ขณะเดียวกัน ‘ทิม’ ก็มีนมพร้อมสำหรับเอาไปให้หมอแล้ว เธอทิ้งท้ายว่า

“เกิดเป็นคน ก็ต้องกินนมคนสิ จะให้กินนมอย่างอื่นได้ยังไง”

ความโชคดีของการเป็นหญิงสาวในสังคมที่มีการรณรงค์คือ การได้รับรู้ข้อมูลที่เปิดประสบการณ์ของตัวเองและเข้าใจถึงข้อดีของนมแม่ มองเห็นทางเลือกในการมอบอาหารที่ดีให้กับเด็กๆ ได้มากขึ้น

แต่ก็อย่างที่ ‘ดาว’ ว่าไว้ “เหตุผลแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน จริงๆ คนเป็นแม่จะให้ลูกกินอะไร ก็ให้เขาตัดสินใจเองเถอะ เพราะแม่ย่อมรู้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกของตัวเอง”

คำถาม – ข้อใดคือวิธีให้อาหารลูกที่เหมาะสม

คำตอบ ……

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
1 ‘Breastfeeding Guidance Makes Mothers Feel Guilty’ จาก telegraph.co.uk
   ‘Attachment Parenting: More Guilt for Mother’ จาก alternet.org
  ‘Feeding Support Needs to be More Woman-centred’ จาก unicef.org.uk
2 แปลโดย breastfeedingthai.com

 


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 67

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า