‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ และ ‘อาศัยช่วงชุลมุนหลบหนีไป’

chaiyan-july-2016
ภาพประกอบ: พีรเวทย์ กระแสโสม

 

วลีข้างต้นเป็นวลีที่เรียกได้ว่าเป็น ‘วาทกรรม’ ประจำบ้านเมืองของเรา เพราะยามเมื่อเกิดไฟไหม้ตึกรามบ้านช่องโดยทั่วไป ไม่นับในช่วงเทศกาล สื่อมวลชนที่รายงานข่าวก็มักจะลงท้ายว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบสาเหตุไฟไหม้ สันนิษฐานในเบื้องต้นคาดว่าเกิดจาก ‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ ส่วนอีกวลีหนึ่ง มักพบได้ในกรณีอุบัติเหตุรถชน โดยมักจะลงเอยรายงานข่าวว่า ส่วนคนขับ ‘อาศัยช่วงชุลมุนหลบหนีไป’ อยู่เสมอ ซึ่งการอาศัยเหตุชุลมุนหลบหนีไปนี้ มิได้จำกัดอยู่แต่เรื่องขับรถ แต่ยังรวมถึงการกระทำผิดอื่นๆ ด้วย

ใครที่ไม่เชื่อว่าสองวลีนี้เป็น ‘วาทกรรมคู่บ้านคู่เมือง’ ก็ขอให้ลองพิมพ์ข้อความดังกล่าวและเช็คกับกูเกิลดู! และเชื่อว่านักวิชาการที่เล่นเรื่อง ‘วาทกรรม’ ก็คงไม่ปฏิเสธถึงการมีสถานะเป็นวาทกรรมของสองวลีนี้ เพราะมันล่องลอยอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ทั้งถูกใช้และกระทำต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนชาวไทยทั่วไป แม้ว่าคนไทยอาจจะไม่เชื่อว่า สาเหตุของไฟไหม้เกือบทุกครั้งมาจากไฟฟ้าลัดวงจร และก็อาจจะไม่เชื่อว่า คนขับหรือผู้ร้ายหลบหนีไปได้เพราะอาศัยเหตุของความชุลมุนวุ่นวาย แต่คนไทยก็อยู่กับมันได้  และยอมรับมันเสมือนว่ามันเป็นความจริง หรือสัจธรรมอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งเกินจะตั้งข้อสงสัยตรวจสอบได้ อีกทั้งยังอมยิ้มทุกครั้งเมื่อได้ยิน หรือไม่ก็จะรอพูดพร้อมผู้รายงานข่าวในวิทยุโทรทัศน์ในตอนท้ายข่าวนั้นๆ ว่า “คาดว่าสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจร” และ “อาศัยเหตุชุลมุนหลบหนีไป”

ผมไม่รู้ว่าวาทกรรมทั้งสองนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่? แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สมัยผมเด็กๆ ไม่ค่อยจะได้ยินคำอธิบายแบบนี้มากนัก โดยเฉพาะเรื่องไฟไหม้ แถวบ้านเก่าผมสมัยก่อนประถม 5 อยู่กันแบบห้องแถวไม้ผสมปูนติดกันเป็นพืด บ้านไหนด่ากันบ้านติดกันก็ต้องได้ยิน หรือถ้ามีการกระโดดถีบกันแล้วพลาดมาถีบฝาผนังบ้าน เท้าที่ถีบในบ้านหนึ่งก็จะมาปูดเป็นรูปเท้าบนฝาผนังอีกบ้านหนึ่งให้เห็นทันที เหมือนในหนังอนิเมะเลย แต่ในสมัยโน้น หากมีไฟไหม้ วาทกรรม ‘วางเพลิง’ ดูจะเป็นที่นิยมมากกว่า จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ต้องใช้กฎหมายเบ็ดเสร็จยิงเป้าคนวางเพลิง เรื่องวางเพลิงก็ดูจะซาๆ ไป

ที่จริงก็น่าจะมีใครลงไปศึกษาวิจัยในหัวข้อ ‘วาทกรรมสาเหตุไฟไหม้: จากวางเพลิงถึงไฟฟ้าลัดวงจร’ จะได้รู้เช่นเห็นชาติกันไปว่า ตกลงแล้ว วาทกรรมวางเพลิงมันเริ่มหายหรือน้อยลงไปเมื่อไหร่ และวาทกรรมไฟฟ้าลัดวงจรมันเริ่มขึ้นช่วงไหน แต่ที่แน่ๆ ช่วงนี้มันก็ยังพีคอยู่

ส่วนคนขับหรือผู้ร้ายที่ ‘อาศัยเหตุชุลมุนหลบหนีไป’ นั้น ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่ค่อยได้ยินเท่าไหร่นัก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสมัยก่อนเวลาเกิดรถชนหรือเกิดเหตุร้าย มันไม่ค่อยจะชุลมุนหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ จึงไม่ค่อยมีการรายงานว่า คนร้ายหนีไปได้เพราะความชุลมุน แต่หลังๆ มันลงเอยเช่นนี้ทุกครั้ง

การจะหลบหนีไประหว่างความชุลมุนนั้น คนร้ายจะต้องเลียนแบบพฤติกรรมในหนัง เพราะไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย หากจะหลบหนีไปในช่วงชุลมุน จะต้องทำตัวให้เนียน จะต้องทำตัวเหมือนคนปกติ ให้ดูกลมกลืน หรือไม่ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าไปเลย ในกรณีของคนขับรถที่ต้องมีเครื่องแบบ แกอาจจะถอดเสื้อให้เหลือแต่เสื้อกล้าม ทำตัวคล้ายคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น หรือทำตัวเป็นหนึ่งในไทยมุง  นั่นคือ จริงๆ ไม่ได้หลบหนีไปไหน แต่แกล้งยืนหน้าตาเฉยรวมอยู่กับบรรดาไทยมุง และเอ่ยปากด่าทอคนขับรถไปด้วย

มุกนี้ผมก็เคยใช้ตอนอยู่มัธยม 3 ตอนนั้น ผมจัดงานปาร์ตี้มีดนตรี และขายบัตรใบละ 30 บาท แต่พอถึงวันงาน ปรากฏว่า ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ เอารถกระบะติดตราโล่มาคอยท่า โดยแจ้งว่า จะจัดงานต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นทางการ หากไม่มีใบอนุญาต จะจับทั้งคนจัดและคนมาเที่ยวไปหมด ตอนนั้น บรรดาผู้ที่ซื้อบัตรต่างทยอยมาหน้างาน และพบกระดานดำแผ่นตั้งอยู่บนขาตั้งมีข้อความว่า ‘ขออภัย งานงด ติดต่อคืนบัตรได้กับคนที่ท่านซื้อ!’

มีนักเที่ยวขาเดฟคนหนึ่งตรงรี่มาที่ผม (ตอนนั้น ผมในฐานะโต้โผใหญ่ จึงแต่งตัวมาเต็มที่) พอเขาเข้าใกล้ ผมก็รีบเอ่ยปากไปก่อนเลยว่า “เฮ้ย รู้จักไอ้คนจัดงานไหม? อยากเล่นแม่ง เอาเงินกูไปแล้ว ชักดาบไปเฉยๆ” นักเที่ยวขาโจ๋ตอบว่า “กูไม่รู้ แต่ก็อยากรู้เหมือนกันว่ามันเป็นใคร กูจะแทงพุงแม่งสักหน่อย” ว่าแล้วมันก็ชักมีดปลายแหลมออกมาโชว์ผม ผมหดพุงไปโดยไม่ให้มันสังเกตได้ แล้วก็พยายามตอบด้วยเสียงที่กร้าวไม่แพ้กันว่า “กูก็อยากแทงแม่งเหมือนกัน เดี๋ยวกูจะลองเดินรอบๆ หามันก่อน เผื่อจะเจอ” มันก็บอกว่า “ดี!”

ผมไม่รู้ว่า ในสถานการณ์แบบนั้น จะเรียกได้ว่าเป็นการ “อาศัยความชุลมุนหลบหนีไป” ได้หรือเปล่า?

ผมว่าทางการหรือรัฐบาลเขาก็คงตระหนักรู้ถึงเรื่องวาทกรรมไฟฟ้าลัดวงจรที่ว่าไปนี้อยู่เหมือนกัน เพราะล่าสุดทราบว่า มีการออกกฎหมายบังคับให้เจ้าของตึกต้องติดเครื่องจับสัญญาณความร้อน หากจุดใดเริ่มร้อนก่อนจะติดเป็นไฟ  ส่งสัญญาณเตือนได้ทัน เพราะหากไฟฟ้าลัดวงจรจริง ก่อนไฟไหม้ มันจะเริ่มร้อนก่อนเสมอ เหมือนคำพังเพยที่ว่า ‘ที่ใดมีไฟ ที่นั่นต้องมีควัน’ ที่ไหนไฟฟ้าลัดวงจร ก่อนมีไฟต้องมีความร้อน ถ้าการบังคับใช้กฎหมายประสบความสำเร็จ เข้าใจว่าจะเกิดเหตุไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรน้อยลง แต่ปัญหามันก็คงอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายนั่นแหละ

หากไฟฟ้าลัดวงจร ก่อนจะไฟไหม้ จะมีความร้อนฉันใด ก่อนที่จะชุลมุนวุ่นวายจนต้องทำรัฐประหาร มันก็ต้องมีการอุ่นเครื่องของการชุมนุมของผู้คนฉันนั้น ดังนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ก็เปรียบได้กับกฎหมายติดเครื่องจับสัญญาณความร้อน แต่อีกนั่นแหละ ปัญหาก็อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเช่นเคย

ในกรณีการเมือง คนร้ายที่ปาระเบิดหรือยิงปืนใส่ผู้คนในที่ชุมนุม ก็น่าจะเข้าข่ายอาศัยความชุลมุนหรือทำตัวเนียนหลบหนีไปได้ แต่ถ้าเป็นคนมีระดับ ก็มักจะหายตัวไปจากประเทศไทยไปได้เฉยๆ ไม่รู้ออกไปทางไหน หรือไม่ก็อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งก็ดูจะเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยพันธมิตร นั่นคือ ‘ใช้โล่มนุษย์’ ซึ่งตอนนี้ก็ดูจะเป็นวิถีปฏิบัติไปแล้ว สำหรับคนที่มีบารมีกับมวลชน อย่างเช่น กรณีพระธัมมชโย ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะแก้ยังไง!  เจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องทำให้เกิดความชุลมุนกับโล่มนุษย์ แล้วอาศัยความชุลมุนนั้นเอาตัวผู้ต้องหามาให้ได้ แต่ก็ต้องระวังว่าผู้ต้องหาจะอาศัยความชุลมุนนั้นหลบหนีออกไปได้ (ตามเคย) ด้วย

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า