มองปรากฏการณ์การเมืองก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


ภาพประกอบ: พีรเวทย์ กระแสโสม

chaiyan-wayt-dec2015

พ.ศ. 2535-2549 เป็นช่วงแห่งความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าช่วง ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายฐานกว้างมากขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย รวมทั้งได้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญดังต่อไปนี้

หนึ่ง ในช่วงที่บทบาทของกองทัพลดน้อยถดถอยลง บทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองโดดเด่นขึ้น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างนักการเมืองกับประชาชนที่เป็นฐานเสียงส่งผลให้เกิดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่นักการเมืองต้องลงทุนในลักษณะต่างๆ กับประชาชนส่วนใหญ่เพื่อให้ได้คะแนนเสียงชนะพรรคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์ และนโยบายประชานิยมในทุกรูปแบบ

สอง การเลือกตั้งได้กลายเป็นเดิมพันสำคัญทางการเมืองและธุรกิจมากขึ้นกว่าในสมัยพลเอกเปรมที่เป็น ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกองทัพยังมีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่มาก ส่งผลให้ ‘คนนอก’ ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด

สาม บทเรียนจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกทำรัฐประหารโดยกองทัพเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างรุนแรง และรัฐประหารโดย รสช. ได้รับการตอบรับจากสังคมในช่วงแรก แต่เพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และภาพลักษณ์ในด้านลบของทหารได้กลบภาพการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเอิกเกริก ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมุ่งแก้ปัญหาที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความชอบธรรมในการทำรัฐประหารในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง นั่นคือ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลต้องอาศัยการผสมพรรคน้อยที่สุด เพื่อให้ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะผู้นำเข้มแข็ง มีองค์กรอิสระและให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น

สี่ การปรับตัวของพรรคการเมืองในกระแสประชาธิปไตยของไทยในช่วงที่เริ่มมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2540 ที่มุ่งปฏิรูปการเมือง เริ่มมีองค์กรอิสระกำกับการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคหันไปใช้นโยบายประชานิยม ที่ให้ประโยชน์เฉพาะหน้าและไม่ยั่งยืน รวมทั้งหันไปใช้วิธีการที่แยบยลมากขึ้นในการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ส่งผลให้เกิดวิกฤติการเมืองไทยครั้งสำคัญรุนแรงที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน

ห้า ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ ได้ส่งผลให้นักรัฐศาสตร์อย่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สร้าง ‘ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย’ ที่อธิบายว่า ความไม่มั่นคงลงตัวของระบอบประชาธิปไตยนับแต่ต้นทศวรรษ 2520 (ประชาธิปไตยครึ่งใบ) จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2530 (ที่มวลชนคนชั้นกลางลุกขึ้นขับไล่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) เป็นผลมาจากคนชั้นกลางในเมืองและชาวนาชาวไร่ในชนบท ซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการประชันขันแข่งทางการเมืองระหว่างคณะทหารและพรรคการเมือง มีโลกทัศน์ต่อ ‘ประชาธิปไตย’ แตกต่างกัน จนกล่าวได้ว่า คนชนบทเป็นผู้ ‘ตั้ง’ รัฐบาล เพราะเป็น ‘ฐานเสียง’ ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง ขณะที่คนชั้นกลางเป็นผู้ ‘ล้ม’ รัฐบาล เพราะเป็น ‘ฐานนโยบาย’ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องกดดันรัฐบาล ไปจนถึงการเชื้อเชิญให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองโดยการรัฐประหารยึดอำนาจ

สำนึกรู้และความเข้าใจ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ต่างกันนี้กลายเป็นมูลเหตุให้การเมืองไทย ‘เหวี่ยงไปมาระหว่างเผด็จการที่ล้าหลังกับประชาธิปไตยที่ขาดความชอบธรรม’ และการที่จะก้าวพ้นจากสภาพสองนคราประชาธิปไตยได้ก็คือ การแสวงหามาตรการให้ชนชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกันด้วย

และจากทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า พรรคไทยรักไทยได้นำไปประยุกต์สร้างยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่ ‘แสวงหามาตรการให้ชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกันด้วย’ ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางการเมืองของพลังประชาชนของผู้ใช้แรงงานในชนบท รวมทั้งที่เติบโตเป็นชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองออกมาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีชนชั้นกลางที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยด้วย แม้ว่าจะมีจำนวนไม่ชัดเจนก็ตาม

หก นอกจากยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่นำมาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งสนับสนุนพรรคไทยรักไทยจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ผลพวงจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ต้องการลดจำนวนพรรคการเมืองในสภา ได้เสริมให้เหลือพรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรคเท่านั้น อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคใหญ่สองพรรค อันได้แก่ พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์

แม้ว่าทั้งสองพรรคจะมีฐานเสียงที่จงรักภักดีกระจายทั่วไปตามกลุ่มชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันไปแล้ว ฐานเสียงของแต่ละพรรคยังแบ่งไปตามภูมิภาคอีกด้วย นั่นคือ โดยส่วนใหญ่แล้ว พรรคไทยรักไทยมีฐานเสียงในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงเข้มแข็งในภาคใต้ ส่งผลให้ประชาชนที่ออกมาสนับสนุนและต่อต้าน นอกจากจะแบ่งไปตามกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันไปแล้ว ยังแบ่งออกไปตามฐานเสียงในภูมิภาค ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกแบ่งแยกแบบภูมิภาคนิยมอย่างเข้มข้นชัดเจนอีกด้วย ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงเข้มข้นมากขึ้นและปรากฏการณ์ที่ประชาชนออกมาสนับสนุนและต่อต้านจำนวนมากก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย

เจ็ด และท่ามกลางความขัดแย้งในข้อหก ผนวกกับพัฒนาการการเติบโตและตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไป ได้มีการสร้างและใช้วาทกรรมเกินจริงของผู้นำมวลชนหรือนักปลุกระดมในการขับเคลื่อนมวลชน สร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม และไม่เปิดโอกาสให้มวลชนของตนได้มีบทสนทนากับมวลชนของฝ่ายตรงข้าม ผู้นำมวลชนไม่ต้องการที่จะสร้างมวลชนที่สามารถคิดวิเคราะห์วิพากษ์ด้วยความคิดของตัวเองได้พอที่จะทำให้เกิด ‘การเมืองภาคประชาชน’ ที่เข้มแข็ง อิสระ และมีคุณภาพ อีกทั้งการเผยแพร่วาทกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายใต้พัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสารที่เข้าถึงผู้คนในเวลาเดียวกันพร้อมกันทันที และกว้างขวาง ส่งผลให้การสร้างและใช้วาทกรรมเกินจริงของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นโดยแกนนำมวลชนนักปลุกระดม มีอิทธิพลผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพต่อมวลชนในจำนวนที่มากกว่าในช่วงที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย

แปด และความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งเพิ่มความรุนแรงเข้มข้นมากขึ้นไปอีก เมื่อมีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผ่านการอ้างมาตรา 7

และเก้า จากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไปนี้ ก็ได้นำมาซึ่งการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดนั่นคือครั้งที่ 13+/- ของไทย อันเป็นรัฐประหารครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 และเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังจากที่การเมืองไทยมีเสถียรภาพ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีความต่อเนื่องของระบบรัฐสภามาเป็นเวลาถึง 14 ปี นับเป็นเวลาของเสถียรภาพทางการเมืองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยส่งผลให้เกิดข้อกังขาว่าการเมืองไทยจะกลับเข้าสู่วังวนของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอีก ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็ดูจะเป็นวิกฤติการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยเช่นกัน

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า