‘ป้ายยี่ห้อ ป้ายสำนัก’ จิตวิญญาณสำคัญแท้ของชาวจีน

คำว่า ‘ป้าย’ มาจากภาษาจีน คำว่า ‘牌’ แต้จิ๋วออกเสียงว่า ‘ไป๊’ ไทยยืมคำมา เพี้ยนเสียงเป็น ป้าย
เรื่อง / ภาพ: นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล
คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ป้ายโบราณ จิตวิญาณบรรพชน

มีนักศึกษาทำงานวิจัยเรื่องป้ายยี่ห้อ (字号招牌) ในเยาวราชมาปรึกษาผมว่า ป้ายร้านยี่ห้อเก่าๆ ในเยาวราช แตกต่างกับป้ายร้านสมัยใหม่อย่างไร

ผมจึงได้แนะนักศึกษาว่า เรื่องนี้ควรพิจารณาให้ลึกถึงจิตวิญญาณ เนื้อหา ความตั้งใจ ของป้ายร้านค้าเหล่านั้น มิใช่ดูเพียงแค่ รูปลักษณ์ รูปแบบ วัสดุ ที่เห็นต่างเพียงภายนอก

ป้ายร้าน ป้ายยี่ห้อ (字号) สมัยก่อน มันสะท้อนถึงความตั้งใจจริงในตัวมันเองอย่างแท้จริง

เริ่มจาก การตั้งชื่อร้าน…ที่มักจะใช้คำดีๆ เจ๋งๆ สื่อความหมายถึงความเจริญ ร่ำรวย สำเร็จ เช่น เฮง 兴, เซ้ง 成 (สำเร็จ), เส็ง 盛 (รุ่งเรือง), หลี 利 (กำไร), ฮั้ว 和 (ร่วมมือ), ฮวด 发 (เจริญ), ใช้ 财 (โชคลาภ) เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง (和成兴大金行) ถอดความได้ประมาณ ‘ห้างขายทองร่วมมือแล้วจะเฮงสำเร็จ’

ยี่ห้อร้านประกอบด้วยคำดีๆ งดงาม ฟังแล้วก็สดชื่นปลุกขวัญสร้างธุรกิจให้รุ่งเรือง ทำนองเดียวกับยี่ห้อร้านภาคภาษาไทย ที่ตั้งเอาตามคำดีๆ พวกคำ เจริญ ไพบูลย์ รุ่งเรือง เช่นเดียวกัน

ป้ายจีนที่มีความหมายดีทั้งภาษาจีนและภาษาไทย

ชนิดแบบตั้งชื่อเอาฮา เอามัน สร้างจุดเด่นเหมือนยุคปัจจุบัน ‘จวนเจ๊งซีฟู้ด’ ‘ปัง เว้ยเฮ้ย’ ฯลฯ ไม่มีคิดไม่มีทำกันครับ

ป้ายสมัยเก่า มักทำจากแผ่นไม้เนื้อดีแผ่นขนาดเขื่อง แกะสลักตัวอักษรทั้งภาษาจีนและภาษาไทย อักษรจีนนั้น ก็จะเชิญนักลายสือศิลป์ (书法家) ผู้มีชื่อเสียงและลายมือพู่กันจีนอันงดงามเขียนให้ ปิดทองอย่างวิจิตรสวยงาม ด้านล่างป้าย มีสัญลักษณ์มงคล พวกเหรียญทอง สิงโต จัดใส่ลงไป

ป้ายเหล่านี้จะใช้กันชั่วชีวิตคนหนึ่ง ส่งผ่านต่อลูก ให้หลาน อยู่สถาพร เป็นเกียรติภูมิของบรรพชนผู้สร้าง หลายๆ กิจการหากเติบโตรุ่งเรืองขยายใหญ่โต ก็จะอัญเชิญป้ายเก่า แรกเริ่ม มาประดิษฐานในสถานที่สง่า ให้ลูกหลานเคารพและรำลึกถึง

ป้ายจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ส่วนปัจจุบันนี้เป็นป้ายไฟ ป้ายทำจากอะครีลิค พลาสติก หรือไม่ก็แผ่นไวนิล ง่ายๆ ทันสมัย ไม่เอาก็เปลี่ยนใหม่ พิมพ์ข้อความลวกๆ บ้างผิดไวยากรณ์ บ้างก็ไม่ค่อยมีความคิด ความตั้งใจ ได้แต่ใช้ถ้อยคำโน้มน้าว พิมพ์ใส่ไวนิล แป๊บเดียวเสร็จ เกียรติ์ศักดิ์ศรีลีลา ห่างกันลิบลับ

ป้ายแห่งศักดิ์ศรี ไม่ได้มีไว้เพื่อทำลาย

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง เรื่องราวของจิตวิญญาณศักดิ์ศรีของป้ายสำนัก ป้ายสถาบัน ในวิถีของชาวจีนอีกประการ

สมัยผมเริ่มเป็นเด็กวัยรุ่น ผมชื่นชอบดาราฮ่องกง บรู๊ซ ลี กับ เหมียวเข่อซิ่ว  (李小龍  苗可秀) ในภาพยนตร์กังฟู ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง (精武门) ภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวการต่อสู้พิทักษ์เกียรติภูมิของสำนัก

ภาพยนตร์: ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง

 

ไอ้หนุ่มซินตึ๊งเป็นเรื่องราวสมัยที่ประเทศจีนถูกญี่ปุ่นบุกรุนรานเมืองเซี่ยงไฮ้ เจ้าสำนักมวยจิงอู่ (精武门) มีอาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย (霍元甲) เป็นกำลังสำคัญต่อต้านญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นก็เล็งว่าอย่างไรก็ต้องจัดการโค่น ฮั่วหยวนเจี่ย เสียก่อน

ภายหลังฝ่ายญี่ปุ่นใช้แผนสกปรกเล่นงานอาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ยจนตาย ปลดป้ายสำนักจิงอู่ออก จากนั้นลูกศิษย์เอกของสำนักคือ ‘เฉินเจิน’ (陈真) แสดงโดย บรู๊ซ ลี เมื่อทราบข่าวอาจารย์เสียชีวิต ก็เร่งเดินทางกลับจากต่างแดนมายังเซี่ยงไฮ้เพื่อสืบสาวไล่เรียงความจริง

เฉินเจินเอาชนะฝ่ายญี่ปุ่น ปลดป้ายสำนักมวยญี่ปุ่นลงมา ล้างแค้นให้อาจารย์สำเร็จ คืนเกียรติยศ เกียรติภูมิของสำนัก และศักดิ์ศรีแห่งชาติบ้านเมือง

เป็นอันชื่นมื่น หน้าใส ไปตามๆ กัน

นี่แหละครับ แผ่นป้ายยี่ห้อสำนักจึงเป็นตัวแทนแห่งจิตวิญญาณสูงสุด ใครมาปลดหรือรื้อลงมา ถือเป็นการหยามศํกดิ์ศรี และหมิ่นหยามกันอย่างรุนแรง

ดังที่ภาษิตจีนว่า “可杀不可辱” ฆ่าได้หยามมิได้ คงต้องชำระความว่ากันไป

ทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องราวของมิจฉาชีพ ป้ายไม้จีนรุ่นเก่าๆ เป็นที่ต้องการนักของบรรดาโจรในแหล่งชุมชนชาวจีนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ป้ายเหล่านี้ถูกงัดขโมยไปจากหน้าบ้าน สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้แก่ลูกหลาน หลายๆ บ้าน หลายๆ ร้าน แถบเยาวราช จึงนำแผ่นป้ายยี่ห้อร้านเก่าที่สืบทอดครั้งแต่สมัยอากง-อาม่าบุกเบิกกิจการไปเก็บไว้ภายในบ้านให้ปลอดภัย ส่วนด้านนอกก็ทำป้ายร้านแบบสมัยใหม่มาแทนที่เดิม ดูแลช่วยตัวเองไว้ก่อน ดีแล้วครับ

ผมเองก็ยืดอกอย่างภาคภูมิใจ ว่าป้ายเก่าของบรรพชนผมเองก็เอาเข้ามาเก็บไว้แล้วเช่นกัน

ป้ายแห่งความกตัญญู ความตายที่ไม่มีวันตาย

แต่เรื่อง ‘ป้าย’ ที่มีผลต่อจิตใจของชนชาวจีนมากที่สุด และอยู่ในสถานะสูงสุดของแต่ละบ้านแต่ละครอบครัวคือ ‘ป้ายสถิตวิญญาณบรรพชน’ จีนเรียกได้หลายชื่อ 神牌,神位,祿位 ,靈位, 神主牌 (ญี่ปุ่นและเกาหลี เรียกว่า 位牌)

‘ป้ายสถิตวิญญาณบรรพชน’ เป็นผลผลิตของลัทธิ ‘หยู’ (儒家คำสอนท่านขงจื่อ ศาสดาลัทธิหยู โดดเด่นเน้นเรื่องราวของความกตัญญู มีความเชื่อว่า หากพ่อ-แม่ถึงแก่กรรม วิญญาณจะไม่ไปไหน ยังวนเวียนคุ้มครองลูกหลาน

คือ ‘ความตายที่ยังไม่ตาย’

ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หรือ ตงฮั่น (东汉) มีการแกะสลักไม้เป็นรูปเหมือนคนเพื่อไหว้เคารพ ปรากฏในคัมภีร์เรื่อง ยี่สิบสี่กตัญญู (二十四孝) ต่อมาเพื่อความสะดวก จึงปรับเปลี่ยนเป็นการใช้แผ่นไม้ สลักภาษาจีนชื่อแซ่บิดา-มารดาไว้ กลายเป็น ‘แผ่นป้ายสถิตวิญญาณ’ หากเป็นตระกูลใหญ่อาจตั้งสถิตไว้กลางบ้าน หรือรวมไว้ที่หอของบรรพชนตระกูล (家族祠)

หอบรรพชน เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องให้ความเคารพเกรงใจ ประดุจผู้อาวุโสผู้ใหญ่ของตระกูล (ที่จากไปแล้ว) ยังอยู่ในหอห้องนั้น

เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น วันตรุษจีน วันเช็งเม้ง สารทจีน วันไหว้พระจันทร์ หรือวันคล้ายวันตาย ลูกๆ หลานๆ จะพร้อมเพรียงกันนำอาหาร เหล้า น้ำชา มาเซ่นไหว้ที่แผ่นป้าย

หรือหากเกิดศึกสงคราม หรือเหตุอันต้องพลัดพรากทิ้งจากถิ่นฐาน สิ่งสำคัญที่หัวหน้าครอบครัวต้องพกพาติดตัวคือ ‘ป้ายสถิตวิญญาณ’ – เหมือนนำบรรพบุรุษไปด้วย

ป้ายสถิตวิญญาณบรรพชนจึงเป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญู ผู้อื่นใดมาแตะต้อง ทำลาย เหมือนผู้นั้นได้มาทำร้ายพ่อแม่ตนเอง ถือเป็นการหมิ่นหยามรุนแรงอำมหิตที่สุด – เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้จริงๆ

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า