เหนื่อยไหม สิ่งที่เธอทำอยู่

ภาพประกอบ: Shhhh

วิ่งสอบเหนื่อยไหม

ช่วงนี้เข้าเทศกาลการสอบสารพัด นักเรียนที่เราสอนอยู่เคยเอาตารางสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาให้ดู โดยเล่าว่า “นี่น้อยแล้วนะ’จารย์” มาดูว่าการสอบน้อยๆ ที่ว่าเป็นอย่างไรกัน

13 สิงหาคม 59 สอบ KEPT (ภาษาอังกฤษ) ยื่นแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น (500 บาท)
10 ตุลาคม 59 สอบสัมภาษณ์ มอ.หาดใหญ่ (ค่าสมัครสอบ 200 บาท)
22-23 ตุลาคม 59 สอบแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
29-30 ตุลาคม 59 สอบ GAT/PAT 1/60 (วิชาละ 140 บาท)
  • 29 ตุลาคม สอบ GAT กับ PAT1
  • 30 ตุลาคม สอบ PAT2 กับ PAT5
5 พฤศจิกายน 59 สอบวิชาแพทย์ (กสพท. – กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย)
24-25 ธันวาคม 59 สอบ 9 (7) วิชาสามัญ (700 บาท)
23 มกราคม 60 สอบสัมภาษณ์วิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พอเห็นแล้วก็ชวนนึกว่าชีวิตวิ่งรอกสอบแทบทุกเดือนจะเป็นอย่างไร ต้องวิ่งเข้าสนามนี้สนามโน้นเป็นพัลวัน แต่ละสนามอาจไม่ได้อยู่ใกล้กัน ต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ และไม่นับแรงกดดันจากครอบครัว ซึ่งหากต้องกระเบียดกระเสียรด้วยแล้ว ความกดดันจะเพิ่มทวีคูณเพียงใด (แน่นอนว่า ไม่วิ่งก็ได้ สอบเข้าที่ที่แน่ใจว่าจะสอบติดก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่นี่มิได้เป็นเพียงเรื่องระบบโครงสร้างใหญ่ของการศึกษาไทยเพียงอย่างเดียว แต่มันยังยึดโยงแนบสนิทกับโครงสร้างค่านิยมในประเทศนี้จนเป็นเนื้อเดียวกัน)

ต้องบอกใครว่าฉันไม่ไหวแล้ว

ระหว่างตรวจข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวัดระดับความสามารถเข้าสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ข้อความนี้ปรากฏขึ้น

ย้อนกลับไปสมัยเริ่มเป็นครูใหม่ๆ เราคงหงุดหงิดที่นักเรียนไม่สามารถเขียนประโยคง่ายๆ อย่าง I am sorry. หรือคำง่ายๆ อย่าง sorry ให้ถูกต้องได้ และมองข้ามข้อสอบฉบับนั้นไปอย่างไม่ไยดี แปลกที่วันนี้รู้สึกต่างออกไปมาก แทนที่จะหงุดหงิด เรากลับมองเห็นภาพนักเรียนคนนั้น คนที่ครั้งหนึ่งเราก็เคยเป็น

 

 

นักเรียนคนหนึ่ง นั่งอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่มาสอบอีกเป็นร้อยๆ คน แต่ละคนคร่ำเคร่ง เขียนข้อสอบมือเป็นระวิง แอร์เป่าลมเย็นออกมาเป็นห้วงๆ เก้าอี้ทั้งแข็งทั้งเย็นเฉียบราวกับก้อนน้ำแข็ง นักเรียนคนนั้นนั่งจ้องข้อสอบ จรดปากกาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลับคิดอะไรไม่ออก ไม่เข้าใจคำถาม ไม่รู้ว่าจะเขียนตอบออกมาได้อย่างไร พ่อแม่รออยู่ด้านนอกกระมัง กระวนกระวายว่าลูกจะทำข้อสอบได้หรือเปล่า จะได้เข้าโรงเรียนนี้ไหม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโรงเรียนดีที่หลายคนอยากเข้า ณ ขณะนั้น เขาจะรู้สึกกดดันมากเพียงใด

คำถามที่เราได้ถามตัวเองคือ อะไรทำให้เขาตัดสินใจเขียนข้อความ “ขอโทษ” ที่เขา “ไม่รู้” หรือทำข้อสอบไม่ได้ เขาขอโทษใคร ครู พ่อแม่ โรงเรียน หรือเราผู้กำลังตรวจข้อสอบฉบับนี้อยู่ และทำไมเขาถึงรู้สึกผิดต่อผู้อื่นกัน

การแสดงออกเหล่านี้อาจถูกสั่งสมมาโดยวัฒนธรรมของเราเอง John R. Weisz (นักวิจัยด้านจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่นแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) และคณะได้เสนอ Suppression-Facilitation Model ในปี 1987 ซึ่งอธิบายว่า วัฒนธรรมอาจกดทับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเอาไว้ ในที่นี้คืออาการต่อต้านผู้ใหญ่ของเด็ก ซึ่งนั่นก่อให้เกิดพฤติกรรมอีกอย่างที่เป็นปัญหาได้ ในที่นี้คือ อาการควบคุมตนเองมากกว่าปกติ ความกดดันและอาการหวาดกลัวต่างๆ

เราเหนื่อยกันมาตั้งแต่รากเหง้าของวัฒนธรรมการสอบเลย

การสอบ ‘จอหงวน’ ไม่ได้หมายถึงการสอบ แต่หมายถึงคนที่สอบได้คะแนนสูงสุดในการสอบระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และราชสำนัก ถือเป็นการสอบคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสมัยที่ประเทศจีนยังปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช และรางวัลที่ ‘จอหงวน’ จะได้รับ คือการนับหน้าถือตาอย่างสูงสุดในสังคม

เพื่อให้เห็นภาพ คนจีนนั้นใช้คำว่า Lóng Mén (龙门) หรือประตูแห่งมังกรและเรื่องเล่าของปลาที่กลายเป็นมังกร เป็นภาพแทนการสอบผ่าน และการสอบผ่านได้สำเร็จนั้น นักเขียน นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของจีนอย่าง Hong Mai (洪邁) ถือว่าเป็นหนึ่งในความสุขอันยิ่งใหญ่สี่ประการของชาวจีน ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรมจีนยังมีเทพ Kui Xing (魁星) หรือเทพแห่งการสอบให้ได้บูชากันอีกด้วย

ดังนั้นการสอบนั้นถือเป็นการได้เลื่อนชนชั้นทางสังคม จากครอบครัวธรรมดากลายเป็นข้าราชการของราชสำนัก จึงไม่ยากที่จอหงวนจะกลายเป็นความสำเร็จอันพึงปรารถนาของคนทั่วประเทศจีนสมัยนั้น เมื่อการสอบเป็นคุณค่าและหมุดหมายหลักไป ผลที่ตามมาคือการแข่งขันมหาศาลของคนในสังคม ว่ากันว่า ที่สนามสอบนานกิงอาจมีผู้เข้าสอบเสียชีวิตถึง 35 คนต่อวัน เนื่องจากว่าพวกเขาต้องถูกกักกันไว้ในห้องสอบเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ข้อสอบหลักๆ คือการจดจำงานเขียนของขงจื๊อที่ประกอบไปด้วยอักษรจีนกว่า 800,000 ตัวอักษร

เหนื่อยนักวิ่งตามฝัน…ของใคร

‘หน้าตา’ ถือเป็นค่านิยมหลักอย่างหนึ่งในสังคมรวมหมู่ (collectivism) อย่างเช่นสังคมไทย พ่อแม่มักให้คุณค่ากับคุณภาพการศึกษาของลูกผ่านโรงเรียนที่สังคมยอมรับ ลูกถือเป็น ‘หน้าตา’ อย่างหนึ่งของพ่อแม่ การศึกษาและโรงเรียนของลูกก็เช่นกัน สิ่งที่ตามมาคือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสถาบันครอบครัว กลายเป็นปัญหางูกินหาง พ่อแม่ต้องการมอบการศึกษาที่ ‘ดี’ ที่สุดให้ลูก ตามแบบแผนที่สังคมวางไว้ และลูกควรน้อมรับความปรารถนาดีนั้น แม้ตนเองไม่แน่ใจนักว่าจะต้องรู้สึกอย่างไร

การมีภาพความฝันอันแจ่มชัดนั้นเป็นประโยชน์ มันสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับมนุษย์ทุกคน แต่บางครั้งมันมาในรูปแบบภาระความคาดหวังจากพ่อแม่ ครอบครัว ครู และสังคม จนกลายมาเป็นการกดดันตัวเองของนักเรียนไปในที่สุด อีกทั้งสังคมไทยนิยมภาวะสงบสุข ภาวะไร้การปะทะ ความสุภาพอ่อนน้อม และการแสดงความเคารพนบนอบต่อผู้อื่น นั่นจึงอาจทำให้พ่อแม่และครูในวัฒนธรรมไทยนั้นไม่ยอมรับพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากความคาดหวังของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่ลูกๆ และนักเรียนอยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง

สิ่งที่เด็กๆ ต้องทำคือ การกดทับความรู้สึกต่างๆ เอาไว้ ภาวะเหล่านี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างที่พวกเขาเองอาจควบคุมไม่ได้ เช่น อาการวิตกกังวล หรือแม้กระทั่งอาการหวาดกลัว

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ การให้ความสำคัญกับการจัดอันดับต่างๆ ทั้งลำดับคะแนนสอบ อันดับโรงเรียนหรือแม้กระทั่งป้ายบิลบอร์ดต่างๆ ที่เขียนขึ้นว่า โรงเรียนของเราสอบเข้าที่นี่ที่นั่นได้กี่คน หลายครั้งเราเห็นชื่อนักเรียนที่สอบเข้าได้ตามป้ายเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นรางวัลอย่างหนึ่งตามค่านิยมของสังคมที่ให้ค่าความสำเร็จจากการตัดสินโดยสังคมมากกว่า แต่เมื่อมันมาจนสุดทาง เราได้หลงลืมไปหรือไม่ว่า นักเรียนมาโรงเรียนเพื่อเหตุผลใดกันแน่ เพื่อพ่อแม่ เพื่อครู หรือเพื่อกระบวนการเรียนรู้ที่พวกเขาจะนำไปต่อยอดใช้ได้ในชีวิต และท้ายที่สุดการแข่งขันมหาโหดสุดโต่งเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไรบ้างกับทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ นี่คงเป็นสิ่งที่ทั้งสังคม พ่อแม่ ครู สถาบันการศึกษา ผู้ออกนโยบายการศึกษาต้องไปทบทวนกัน

เมื่อสังคมช่วยผลักดันให้ต้องมีความฝันแบบเดียวกันกับที่พ่อแม่และสังคมต้องการ นักเรียนไทยจึงเหลือพื้นที่เล็กน้อยเหลือเกินสำหรับตัวเอง อาการ ‘ขอโทษ’ แบบที่เห็นข้างต้นจึงดูธรรมดาสามัญ และอาจเป็นเรื่องชินตา หากแต่มันแฝงไปด้วยความรู้สึกอึดอัด การกล่าวโทษตัวเอง และการพยายามเรียกร้องหาความเห็นใจจากระบบครอบครัวและระบบการศึกษาประเทศนี้อยู่ โดยที่ตัวเองอาจไม่คาดหวังที่จะได้รับความเห็นใจนั้นเสียด้วยซ้ำ

สุดท้ายอยากฝากข้อความไปถึงนักเรียนคนนั้นว่า ไม่ต้องขอโทษใครทั้งนั้น ถ้าทำไม่ได้เราจะมาคุยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น และเราต้องแก้ไขอะไรบ้าง ถ้าไม่ชอบ ก็ขอให้รับรู้ไว้ว่าการไม่ชอบอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องผิดบาป มันเป็นสิทธิพื้นฐานอันพึงจะมีของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว การขอโทษใดๆ จึงไม่จำเป็นเลย

#ถ้าเห็นแล้วอยากคุยหลังไมค์มานะ
#เป็นห่วง

 


อ้างอิงข้อมูลจาก: Sandberg, S. (ed). 2002. Hyperactivity and Attention Disorders of Childhood. Cambridge: Cambrige University Press.
chinasage.info/examinations.htm

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า