ดื่มกาแฟตอนไหนดีที่สุด

coffee-2

การดื่มกาแฟตอนเช้ากลายเป็นวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น แต่เวลาที่เหมาะกับการดื่มกาแฟนั้นคือเวลาใดกันแน่ นักวิทยาศาสตร์เองก็สงสัยเรื่องนี้ และพยายามศึกษาว่าเหตุผลหรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน

หลังจากเราตื่นนอน สารเคมีที่ชื่อว่า แอเดโนซีน (adenosine) จะทยอยเข้าไปสะสมในสมองตลอดทั้งวัน เมื่อมีปริมาณพอสมควร มันจะเข้าไปจับรวมกันแล้วส่งผลให้สมองทำงานช้าลงตามธรรมชาติ นี่คือสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยในช่วงเลิกงาน แต่เมื่อไม่สามารถงีบหลับในช่วงบ่ายได้ หลายคนจึงมักหากาแฟสักถ้วยให้ตัวเอง เพราะในทางเคมี คาเฟอีน ก็คือสารที่มีลักษณะคล้ายแอเดโนซีนนั่นเอง

เมื่อดื่มกาแฟเข้าไป โมเลกุลคาเฟอีนจะเข้าไปยังสมอง โดยจะแข่งกับแอเดโนซีนที่ร่างกายหลั่งออกมาเพื่อเข้าจับกับตัวรับสัญญาณสมอง แอเดโนซีนทั้งหมดจึงไม่ได้เข้าไปยังสมองตามปกติ นี่เป็นเหตุผลทำให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น แม้ร่างกายจะพยายามส่งสัญญาณว่าได้เวลาพักแล้ว

แต่หลังจากนั้น เมื่อร่างกายตรวจจับได้ว่านี่เป็นการลวงสมองด้วยคาเฟอีน กาแฟแก้วเดียวอาจเริ่มไม่เพียงพอจะทำให้ฝืนหนังตาเอาไว้ได้ หลายคนจึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณกาแฟขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอัตราความง่วง

เวลาใดเป็นเวลาเหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับคาเฟอีนที่สุด งานนี้นักวิทยาศาสตร์มีคำตอบ

ฮอร์โมนจากสมองอีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องนี้ คือ คอร์ติซอล (cortisol) หรือที่รู้จักกันในนามฮอร์โมนแห่งความเครียด มันคือสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้เตรียมพร้อม ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเราเครียด หรือรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย

ส่วนที่ควบคุมและคอยปล่อยสารคอร์ติซอลคือ นาฬิกาภายในร่างกาย (circadian rhythm) ส่วนใหญ่เราจะมีปริมาณคอร์ติซอลมากที่สุดระหว่างเวลา 8.00-9.00 น. นั่นก็หมายความว่า การดื่มกาแฟในตอนเช้าของเราจะทำงานซ้ำซ้อนกับการที่ร่างกายปล่อยสารคอร์ติซอลออกมาตามธรรมชาติ ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายตื่นตัวขึ้นเป็น 2 เท่าแต่อย่างใด

อีก 2 ช่วงเวลาที่ร่างกายจะผลิตคอร์ติซอลสูงสุด คือ ระหว่างเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมง และ 17.30-18.30 น. เพื่อไม่ให้กาแฟทำงานซ้ำซ้อนกับฮอร์โมนคอร์ติซอล จึงควรเว้นการดื่มกาแฟในช่วงเวลาดังกล่าว

ในกรณีที่คุณตื่นเช้ากว่าปกติ นาฬิกาในตัวจะผลิตคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำว่าควรรออีกสัก 1 ชั่วโมง ค่อยเริ่มต้มกาแฟดื่ม

ส่วนเวลาที่ควรงดกาแฟเพราะอาจส่งผลต่อการนอนของคุณ ทีมศึกษา ‘Caffeine Effects on Sleep Taken 0, 3, or 6 hours Before Going to Bed’ โดย ดร.คริสโตเฟอร์ เดรค ศูนย์วิจัยด้านการนอน (Sleep Disorders & Research Center) โรงพยาบาลเฮนรีฟอร์ด สหรัฐ ก็ได้คำตอบมาแล้วว่า ควรนับย้อนมาจากเวลานอนของคุณ 6 ชั่วโมง

 

ที่มา: alternet.org

asapscience.com

ncbi.nlm.nih.gov

aasmnet.org

logo

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า