กาแฟหรือชาดีกว่ากัน?

Cappuccino-1

 

คำถามเก่าแก่อย่างน้อยๆ ก็ 3 ศตวรรษที่ยังไม่เคยได้คำตอบชัดเจนว่าการดื่มชาหรือกาแฟนั้นดีกว่ากัน

ก่อนอื่น เรามาดูที่ปริมาณการบริโภคหรือความนิยม จะพบว่าคนทั่วโลกดื่มกาแฟ 1,600 ล้านถ้วยต่อวัน ขณะที่ชาสูงกว่านั้นอีกเท่าตัว

สำหรับในสหรัฐ กาแฟคือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงกว่า โดยคนอเมริกันบริโภคกาแฟเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ชามียอดจำหน่ายที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่ขณะนี้ ความนิยมดื่มชาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สถิติจากสมาคมชาแห่งสหรัฐ (Tea Association of the USA) รายงานว่า ในแต่ละวันชาวอเมริกัน 160 ล้านคน เลือกดื่มชา ทั้งแบบร้อนและเย็น

ความเชื่อของผู้บริโภคเมื่อเปลี่ยนมาดื่มชาคือ พวกเขาจะสามารถลดปริมาณคาเฟอีนลงได้ ความเชื่อหลักๆ เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนคือ มันจะทำให้คุณกระหายน้ำยิ่งขึ้น เนื่องจากร่างกายถูกดึงน้ำออกไป ซึ่งนี่อาจเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น หลังจากผลการทดลองในปี 1928 เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานและผลของคาเฟอีนต่อกระบวนการไฮเดรชั่น หรือกระบวนการรักษาความชุ่มชื้นในร่างกาย จากการทดลองให้อาสาสมัครดื่มกาแฟวันละ 4 ถ้วย ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้ดื่มชา น้ำเปล่า และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนด้วย หลังจากตรวจวัดปริมาณปัสสาวะเมื่อเทียบกับปริมาณของเหลวที่ได้รับเข้าไป ทีมศึกษาไม่พบความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ

การทดลองที่นำทีมโดย ลอว์เรนซ์ อาร์มสตรอง จากมหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต พบว่าคาเฟอีนมีคุณสมบัติช่วยขับปัสสาวะก็จริง แต่ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะได้รับคาเฟอีนหรือไม่ได้ พวกเขาก็ยังสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ

 

Tea_in_different-1

การทดลองจากทีมสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะดื่มเฉพาะชาดำเทียบกับอีกกลุ่มที่ดื่มแต่น้ำเปล่า ก็ไม่พบความแตกต่าง หรือแม้แต่ผลงานศึกษาจาก Institute for Scientific Information on Coffee ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเอกชน ตีพิมพ์บทความยืนยันในวารสารด้านสุขภาพว่าการดื่มกาแฟวันละ 4 ถ้วย ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกายเท่ากับการดื่มน้ำในปริมาณเท่ากัน

เมื่อพูดถึงชาก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชาดำ ชาเขียว ชาขาว หรือชาอู่หลง ซึ่งผลิตจากยอดอ่อนและใบชา สารประกอบสำคัญก็คือ ฟลาโวนอยด์ ซึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับชาส่วนใหญ่ล้วนเชื่อมโยงเข้ากับผลดีทางด้านสุขภาพ ขณะที่งานศึกษาด้านโภชนาการของชาในอังกฤษพบว่าชาสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและมะเร็งบางประเภทได้

สารอีกตัวในชา คือ catechins ที่งานวิจัยของประเทศออสเตรเลียพบว่าสามารถช่วยให้กระดูกแข็งแรง ลดความเสี่ยงของอาการกระดูกพรุนได้ นอกจากนั้นยังเป็นตัวเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออีกด้วย

งานวิจัยในไต้หวันเมื่อปี 2004 ที่เผยแพร่ใน Archives of Internal Medicine ว่าร้อยละ 46 ของอาสาสมัครที่ดื่มชา 4-20 ออนซ์อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง

สถาบันวิจัยสาธารณสุขสหรัฐ (National Institutes of Health: NIH) ก็เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการดื่มชา โดยพบความเชื่อมโยงระหว่างชาและการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสัน ทั้งยังชี้ว่าการดื่มชาสามารถป้องกันอัลไซเมอร์ได้

รายงานจากสถาบันอาหารนานาชาติให้ข้อมูลว่า สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง การได้รับคาเฟอีน 300 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยทั้งเรื่องสุขภาพและความกระฉับกระเฉงระหว่างวัน

การได้รับคาเฟอีนอาจเป็นตัวช่วยให้คุณเลิกนิสัยที่ทำร้ายสุขภาพอย่างการสูบบุหรี่ จากสถิติพบว่า ชาวเอเชียนิยมสูบบุหรี่มากที่สุดในโลก แต่สถิติผู้ป่วยด้วยมะเร็งและโรคหัวใจกลับต่ำกว่าอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก มีผู้ให้คำจำกัดความว่านี่คือ ‘Asian Paradox’

บาวเออร์ ซัมพิโอ หัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลในนิวฮาเวน ตีพิมพ์รายงานการศึกษาเรื่องชาใน Journal of the American College of Surgeons โดยพบว่าพฤติกรรมการดื่มชาเขียววันละ 1.2 ลิตร น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเอเชียมีสุขภาพดี สารโพลีฟีนอลที่อยู่ในชาเขียว รวมถึงชาชนิดอื่นๆ คือคำตอบและตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้สูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

กาแฟเองก็มีประโยชน์ไม่แพ้ชา จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ช่วยยืนยันว่าการดื่มกาแฟในปริมาณเหมาะสม จะช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งหลายชนิด ตั้งแต่มะเร็งเต้านม มะเร็งอัณฑะ มะเร็งตับ ไปจนถึงมะเร็งผิวหนัง

เคยมีงานวิจัยที่สรุปว่า เราสามารถดื่มกาแฟได้ถึง 6 แก้วต่อวันโดยไม่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหรือมะเร็ง งานวิจัยโดย Harvard School of Public Health พบว่าการดื่มกาแฟสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 35 ขณะที่งานวิจัยในโปรตุเกสพบว่ากาแฟช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน ส่วนงานวิจัยร่วมระหว่างฟินแลนด์และสวีเดนพบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อความเครียดและอาการอัลไซเมอร์น้อยกว่า สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็มีงานวิจัยจาก American College of Obstetricians and Gynecologists ช่วยให้สบายใจได้ว่า การได้รับกาแฟ 12 ออนซ์ต่อวัน ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการตั้งครรภ์

เมื่อเห็นประโยชน์ของทั้งชาและกาแฟแบบนี้ ใครบ้างจะไม่สบายใจ แต่ช้าก่อน สิ่งที่ผู้บริโภคพึงระวังก็คือ ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญจาก Mayo Clinic เว็บไซต์ด้านสุขภาพออนไลน์เตือนว่า แม้การได้รับคาเฟอีนจากกาแฟ 4 แก้วหรือ 400 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง จะถือว่าปลอดภัยและไม่ส่งผลร้ายใดๆ ต่อสุขภาพก็ตาม แต่ปกติแล้ว ปริมาณที่แนะนำคือไม่เกิน 100 มิลลิกรัมหรือ 1 แก้วต่อวัน

ผลของการดื่มกาแฟมากกว่า 5 แก้วต่อวันอาจทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ วิตกกังวล ไม่สบายท้อง หัวใจเต้นถี่ ไปจนถึงทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อสั่นในบางราย

การบริโภคกาแฟมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ไปจนถึงทำให้เกิดก้อนเนื้อในเต้านม แต่ก็พบเช่นกันว่าหากหยุดรับคาเฟอีนก็จะช่วยให้ก้อนเนื้อนั้นยุบตัวและหายไปได้

การดื่มกาแฟที่ไม่ผ่านการกรอง อาทิ การใช้ที่ชงแรงดันแบบฝรั่งเศส หรือ French press อาจทำให้เสี่ยงต่อการมี LDL หรือระดับคอเลสเทอรอลไม่ดีสูงขึ้นได้

กาแฟช่วยให้ตื่นตัวและกระชุ่มกระชวยได้มากกว่าชา แต่จะออกฤทธิ์ในช่วงที่สั้นกว่า หากเทียบกันตัวต่อตัว หนึ่งหน่วยบริโภค กาแฟ 1 แก้วจะมีปริมาณคาเฟอีน 80-185 มิลลิกรัม ขณะที่ชามีคาเฟอีนราว 15-70 มิลลิกรัม

หากคุณกำลังมองหาเครื่องดื่มที่ได้สุขภาพ ชาอาจเป็นตัวเลือกแรกๆ แต่ถ้าจะเลือกดื่มกาแฟก็ไม่ผิดอะไร เลิกกังวลเกินกว่าเหตุแล้วเลือกเครื่องดื่มที่คุณชอบดีที่สุด สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือเตือนตัวเองว่าอย่าดื่มมากเกินไป และพยายามลดน้ำตาล นม วิปครีม หรือส่วนผสมอื่นๆ ที่มากับชาหรือกาแฟถ้วยโปรดของคุณจะดีกว่า

 

ที่มา: alternet.org

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า