ดื่มเพื่ออิสรภาพ

เรื่อง / ภาพ:  อาทิตย์ เคนมี

สังคมเรามีทั้งคนชอบดื่มและคนไม่ชอบดื่ม ในเมื่อเสรีภาพในการดื่มหรือไม่ดื่มเป็นของทุกคน ไม่มีอำนาจใดที่จะบังคับขู่เข็ญให้ทุกคนเลิกดื่มได้ แต่ทำอย่างไรสังคมจึงจะอยู่ร่วมกันได้โดยที่ฝ่ายหนึ่งไม่ผลักไสอีกฝ่ายหนึ่งให้เป็นผู้ร้าย และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่ายอย่างเสมอหน้ากัน

เวลานี้ไม่เฉพาะนักดื่มเท่านั้นที่ถูกบีบคั้นจนแทบไม่เหลือที่ยืน แม้แต่กลุ่มผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยก็กำลังถูกรุกไล่อย่างหนัก

แรงกดดันเช่นนี้ทำให้พวกเขาอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดสังคมของคนตัวเล็กๆ ที่นิยมชมชอบในการดื่มจึงถูกกดทับด้วยข้อจำกัดสารพัดและมักตกเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ร่ำไป

ปรากฏการณ์คราฟท์เบียร์

นาทีนี้กลุ่มคนคอเบียร์มีการรวมตัวกันเป็นคลื่นใต้น้ำ เคลื่อนไหวกันอย่างสงบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

คำถามที่พวกเขาตั้งข้อสงสัยคือ เหตุใดประเทศนี้จึงมีเบียร์ให้เลือกดื่มเพียงไม่กี่ยี่ห้อ กับรสชาติที่ซ้ำซากจำเจแบบเดิมๆ ใช่หรือไม่ว่าการไม่มีทางเลือกก็คือการมัดมือชกผู้บริโภคอย่างหนึ่ง และในเมื่อไม่มีทางเลือก พวกเขาจึงเสาะแสวงหาหนทางออกด้วยการหมักเบียร์ดื่มเอง

พ.อ.วิชิต ซ้ายเกล้า พี่ใหญ่แห่งวงการคราฟท์เบียร์เมืองไทย ผู้บุกเบิกกรุยทางให้กับนักดื่มที่ต้องการเป็นอิสรภาพจากเบียร์ที่มีอยู่จำกัดเพียงไม่กี่เจ้า เขาเริ่มลงมือทำจริงจังเมื่อปลายปี 2555 จนถือกำเนิดเป็นเบียร์ทำมือชื่อดังระดับพรีเมียมแห่งเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และกำลังเดินหน้าโปรเจ็คท์ ‘โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์’ เพื่อขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เบียร์ของเขาเป็นผลิตผลจากการคิดค้น ทดลอง และล้มลุกคลุกคลานมาด้วยตนเอง บนฐานคิดที่ต้องการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับนักดื่ม และขยายแนวร่วมไปยังกลุ่มคนที่มีความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกัน

การขยับของเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องธุรกิจเป็นพื้นฐาน เพียงแต่ต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่คิดและรู้สึกคล้ายๆ กันว่า คนธรรมดาอย่างเราก็สามารถหมักเบียร์ดื่มเองได้ เพื่อจะดึงอำนาจการผลิตให้กลับมาอยู่ในมือผู้บริโภค แทนที่จะขึ้นอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ แค่ไม่กี่ราย

พ.อ.วิชิต มองว่า ประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยก่อนปี 2500 เกิดขึ้นจากระบบสัมปทาน ผู้มีอภิสิทธิ์และใกล้ชิดอำนาจเท่านั้นที่จะเดินเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ ปัจจุบันแม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 60 ปี แต่โครงสร้างอำนาจเดิมกลับไม่เคยเปลี่ยน ขณะที่โลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวไกล มีวัตถุดิบให้เลือกมากมายในการจะผลิตเบียร์ ฉะนั้น ทุกคนจึงควรมีอิสระที่จะเรียนรู้ได้

“การทำเบียร์ก็เหมือนฮอบบี้อย่างหนึ่ง เหมือนงาน DIY ทั่วไป มันเป็นเรื่องของเสรีภาพในการดื่มการกินที่ใครก็ห้ามไม่ได้” เขาบอก

คราฟท์เบียร์ในความหมายของ พ.อ.วิชิต คือศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง นักทำเบียร์ต้องเรียนรู้เรื่องรส กลิ่น สี บอดี้ และการควบคุมคุณภาพ ต่างจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่คำนึงถึงต้นทุน กำไร เป็นที่ตั้ง

เราคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เบียร์อร่อย ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนเป็นลายเซ็นของเราเอง เราไม่ได้กังวลว่าวัตถุดิบที่ใส่ลงไปจะแพงแค่ไหน ซึ่งสวนทางกับวิธีคิดในเชิงธุรกิจอย่างที่บริษัทใหญ่ๆ เขาทำกัน

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการทำเบียร์อาจมีข้อจำกัดหนักหน่วงยิ่งกว่าการต้มเหล้า โดยเฉพาะพระราชบัญญัติสุรากำหนดว่า ผู้ผลิตต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หากเป็นโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ส่วนโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 100,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะสามารถผลิตได้ตามหลักเกณฑ์

ประเด็นนี้ พ.อ.วิชิต มองว่า กลุ่มคนทำเบียร์เป็นการรวมตัวกันด้วยเรื่องสุนทรียศาสตร์เป็นหลัก การจะเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาจเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลความจริง และถึงแม้ว่าการทำเบียร์ดื่มเองจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เขาก็ยอมที่จะเผชิญความเสี่ยง เพราะหากไม่มีผู้ริเริ่มก็ย่อมไม่มีผู้เดินตาม

“พลังของเราอาจยังน้อยเกินไปที่จะไปงัดกับอำนาจที่ใหญ่กว่า เราคงไม่สามารถทำสิ่งที่ใหญ่เกินตัว ขอแค่มีที่ยืนเล็กๆ ให้เราอยู่ได้ วันนี้อยากให้ทุกคนตั้งใจทำเบียร์ของตัวเองให้ดีที่สุดก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปลมอาจจะเปลี่ยนทิศก็ได้ ใครจะรู้ว่าอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แต่จินตนาการของผมก็คือ ภายในปี 2020 น่าจะเป็นวันของเรา

“ที่ผ่านมาผมเองก็เปิดหน้าชกตลอด ก็กังวลเหมือนกันว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับตัวเองบ้าง แต่เมื่อคิดดูแล้วว่าสิ่งที่จะได้มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่จะสูญเสียหลายเท่าตัว คือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เพื่อแลกกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นต่อไป มันก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยง”

Power of sharing

ปรัชญาพื้นฐานของขบวนการคราฟท์เบียร์ไทย เชื่อว่าพลังแห่งการแบ่งปันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า วันนี้กลุ่มผู้ผลิตคราฟท์เบียร์รายเล็กรายน้อยได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว และกำลังสร้างตำนานเบียร์ไทยทำมือในแบบฉบับของพวกเขาเอง

ศุภกร รักใหม่ หนึ่งในผู้รู้ของวงการคราฟท์เบียร์ เล่าว่า หลังจากได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษทำให้โลกทัศน์ของเขาเปลี่ยนไป เขาพบว่าปัญหาในการหมักเบียร์ในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องของอุณหภูมิ แต่ติดอยู่ที่กฎหมายซึ่งเป็นเหมือนประตูที่ปิดตาย ยิ่งเมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธด้วยแล้ว การทำเบียร์จึงอาจเป็นเรื่องที่ขัดต่อความรู้สึกของคนบางกลุ่มได้

ทุกวันนี้กลุ่มคราฟท์เบียร์ต้องลักลอบผลิตกันเอง ดื่มกันเองภายในครัวเรือน เพราะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม แม้กระทั่งการมีอุปกรณ์การผลิตไว้ในครอบครองก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย ปรับ 5,000 บาท หากผลิตเพื่อขายมีโทษปรับ 10,000 บาท

มันเป็นเรื่องน่าคิดว่า เมืองไทยเราอิมพอร์ตเบียร์ได้ แต่ทำไมทำเองไม่ได้ ซึ่งมันไม่เมคเซ็นท์ ทั้งที่ทุกคนสามารถทำกินเองได้ อร่อยกว่าและถูกกว่าเบียร์ในท้องตลาดเสียอีก

ศุภกรบอกว่า กลุ่มคราฟท์เบียร์เมืองไทยหากคิดเป็นสัดส่วนแล้วถือว่าน้อยนิดมาก ไม่มีทางที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากรายใหญ่ได้ การทำเบียร์ของผู้ผลิตรายย่อยจึงเป็นเหมือนการประกอบอาหารไว้รับประทานเองที่บ้านมากกว่าจะเป็นการผลิตในเชิงพาณิชย์ เมื่อกฎหมายปิดช่องทางก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถพัฒนาเบียร์ไทยให้มีคุณภาพขึ้นได้

เช่นเดียวกับ ศิริศักดิ์ วิเศษเสนีย์ ผู้คลุกคลีกับวงการคราฟท์เบียร์มองว่า ตลาดเบียร์เมืองไทยผลิตขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายของผู้ดื่ม มีเพียงเบียร์ลาเกอร์ (lager) ไม่กี่ยี่ห้อ ขณะที่เบียร์เอล (ale) ซึ่งมีรสชาติที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่า แต่กลับไม่มีให้เลือกมากนัก เป็นเหตุให้ผู้บริโภคเบื่อหน่ายจนต้องลุกขึ้นมาทำเบียร์เองแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม

ศิริศักดิ์เปรียบว่า ปรากฏการณ์คราฟท์เบียร์ขณะนี้เป็นเหมือน ‘โมเดลสนามหญ้า’ เมื่อมีใครสักคนเดินลัดสนามและมีคนเดินตาม กฎที่ถูกวางไว้ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เขาเชื่อมั่นว่ากระแสที่เกิดขึ้นนี้จะขยายไปสู่วงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ความไม่เป็นธรรมมีอยู่ในทุกวงการ กลุ่มคนต้มเหล้าหมักเบียร์แม้จะเป็นคนส่วนน้อยนิดในสังคม แต่ยิ่งถูกปิดกั้นมากเท่าใด ความอึดอัดคับข้องก็ยิ่งสั่งสมมากขึ้นเท่านั้น เหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ


(ที่มา: บางส่วนจากคอลัมน์ Subway นิตยสาร WAY ฉบับที่ 87 เดือนกรกฎาคม 2558)

 

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า