ความบรรลัย 5 ประการ เมื่อ ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตร

ผลการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 (อีกแล้ว) ปล่อยผีการยื่นขอรับสิทธิบัตรกว่า 12,000 ราย ที่ค้างเติ่งยาวนาน 10-20 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเวลาสามเดือน-พิจารณากันง่ายดายอย่างนั้นเชียว?

ตัวอย่างง่ายๆ คือ การถือสิทธิบัตรยาคือ 20 ปี นับตั้งแต่วันยื่นคำขอ แต่ยาตัวหนึ่งมีหลายคำขอ ถ้าไม่มีการตรวจพิจารณาจริงจัง ยาบางตัวที่ไม่สมควรได้สิทธิบัตรก็จะได้สิทธิ์ในการผลิตออกมาขาย ซึ่งมาตรา 44 กำลังทำหน้าที่นั้น รีบๆ เปิดกล่องแพนโดราโดยไม่สนใจใครหน้าไหนว่าจะมีอะไรหลุดออกมาบ้าง

ความรวบรัดดังกล่าวดูพิลึกพิลั่น กับทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งควรเป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ แต่พิจารณาพรวดพราดโดยไม่สนใจผลที่ตามมาว่าจะนำไปสู่การกีดกันผูกขาดมากน้อยแค่ไหน

ในฐานะผู้บริโภค กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะ ‘ประชาชน’ คือปลายทางที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ

และนี่คือความ ‘บรรลัย’ ในเบื้องต้น หลังผีจำนวนมากมายถูกปล่อยออกมาด้วยอุปกรณ์วิเศษอย่างมาตรา 44


1. คุมกำเนิดนวัตกรรมใหม่

กล่าวได้ว่าผลของการออกคำสั่งพิเศษที่จะออกมาฉบับนี้สวนทางกับหลักคิดการสร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยทั่วไปสิ่งประดิษฐ์ที่จะได้สิทธิบัตรซึ่งหมายถึงสิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว และผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ต้องอาศัยสามองค์ประกอบหลักคือ หนึ่ง-นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์นั้นต้องมีความใหม่ ไม่ปรากฏมาอยู่ก่อน สอง-สิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นมาต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นหรือมีนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับจากผู้รู้ในแวดวงนั้นว่า มีนวัตกรรมจริงๆ ไม่ใช่ความรู้ดาษๆ สาม-ต้องสามารถประยุกต์ในเชิงอุตสาหกรรมได้

การใช้มาตรา 44 ในการเร่งรีบปล่อยผีภายในสามเดือนจึงสวนทางและขัดแย้งกับหลักการนี้แน่ๆ

หน้าที่ของรัฐบาลคือ ต้องให้สิทธิกับคนที่คิดค้นใน ‘ช่วงระยะเวลาหนึ่ง’ เท่านั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการได้สิทธิบัตร เช่น 20 ปี ผู้ผลิตรายอื่นต้องสามารถนำความรู้ที่เปิดเผยในสิทธิบัตรไปผลิตซ้ำได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เจ้าของสิทธิบัตรรายเดิมผูกขาดการผลิตใช้งานต่อไปเรื่อยๆ ชั่วลูกชั่วหลาน โดยอาศัยแทคติคการขอที่ไม่มีนวัตกรรมจริง แต่ได้สิทธิผูกขาดเพราะมาตรา 44

มาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสิทธิบัตรยา เพราะในจำนวน 12,000 รายชื่อ ประมาณการว่า มีคำขอสิทธิบัตรด้านยาคั่งค้างอยู่กว่า 3,000 ราย ซึ่งบางคำขออาจยื่นขอมานานกว่า 10-20 ปี ในกลุ่มนี้มี ‘evergreening’ หรือที่ถูกเรียกว่า ‘คำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ เป็นคำขอที่เปลี่ยนรายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ ขอไปเรื่อยๆ จนไม่น่าเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม ซึ่งคำขอที่แทบไม่มีการเปลี่ยนรายละเอียดอะไรเลยนอกจากเติมคำว่า ‘การใช้สารเคมีนั้นๆ เพื่อ…’ มีจำนวนมากถึง 84 เปอร์เซ็นต์

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ผลิตภัณฑ์ A มีอายุ 20 ปี สักพักก็จะยื่นขอ A+ ตามด้วย A++ และ A+++ ก็จะได้สิทธิ์ต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครสามารถผลิต ‘A’ ออกมาสู่ท้องตลาด

ทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา อินเดีย ซึ่งตรงกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ ใช้คู่มือตรวจสอบที่เข้มงวดในการกำจัดคำขอประเภทนี้ออกไป ในกรณีของการจดสิทธิบัตรด้านยา เมื่อสิทธิบัตรตัวต้นโมเลกุลที่สมควรได้รับสิ้นสุดอายุลง นั่นคือ เมื่อพ้นระยะ 20 ปีแล้ว ผู้ผลิตยาชื่อสามัญก็สามารถใช้ข้อมูลที่เป็นสาธารณะนั้น ผลิตและออกจำหน่ายได้ เมื่อในตลาดมีตัวเลือกมากขึ้น ยาตัวนั้นๆ ก็จะมีราคาถูกลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทันที

การที่รัฐจะใช้คำสั่งพิเศษเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐกำลังเดินไปสู่หนทางที่ตรงกันข้าม และตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งว่ารัฐบาลมองไม่เห็นปัญหาที่ผ่านมาว่า สิทธิบัตรยาในไทยประสบปัญหาอย่างไร เมื่อการขอจดสิทธิบัตรจำนวนมากไม่ได้สร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ขึ้นมาเลย

2. ลดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งาน

ธรรมชาติของคำสั่งพิเศษฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ที่เอื้อให้กระบวนการผลิตถูกถือครองไว้ในมือของคนคนเดียวหรือเจ้าเดียว อุตสาหกรรมใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นได้ยาก การให้สิทธิบัตรแบบที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างฉับพลันและเร่งด่วนจนน่าจะข้ามความรอบคอบนี้ คาดการณ์กันว่าผลที่ตามมาจะนำไปสู่ ‘การผูกขาด’ จนทำลายแรงบันดาลใจของผู้ผลิตที่ต้องการต่อยอดหรือขยับฐานะจากผู้ตามเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม

ในระดับนักวิจัยของไทย คำขอที่มีลักษณะ Makush Claim ที่รู้เพียงแค่บางส่วนของโมเลกุล และจดสิทธิบัตรครอบไว้ทั้งหมด จะกีดกันการสร้างสรรค์ของนักวิจัยคนอื่นๆ ทันที แม้จะอ้างว่า อยากทำวิจัยก็ทำได้ แค่วิจัย แต่ผลิตและขายไม่ได้ ใครอยากจะทำบ้าง

อีกตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือกรณีของ ‘กระท่อม’ ที่นักวิจัยญี่ปุ่นยื่นขอผ่าน PCT (The Patent Cooperation Treaty) ที่ไทยเป็นภาคี มีคำถามว่าหากมีการรวบรัดจดสิทธิบัตรแล้ว จะมีการแบ่งปันผลประโยชน์แก่นักวิจัยไทยที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ไปก่อนแล้วหรือไม่ หรือการยื่นขอจดสิทธิบัตรของต่างชาติจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร คำสั่งหัวหน้าของ คสช. มาตรา 44 จะแก้ไข้ปัญหาหรือซ้ำเติมปัญหานี้

3. คนได้ประโยชน์คือนักลงทุนต่างชาติ คนรับภาระคือคนไทย

การเปิดช่องให้มีการจดสิทธิบัตรแบบเทกระจาดครั้งใหญ่นี้ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ธุรกิจในประเทศ แต่คือกลุ่มธุรกิจจากต่างชาติที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจสูง

จากการสำรวจคร่าวๆ ในกรณีของสิทธิบัตรด้านยา ผู้ขอยื่นขอส่วนใหญ่มาจากสหรัฐและสหภาพยุโรป โดยมีสัญชาติอเมริกัน 33 เปอร์เซ็นต์ เยอรมัน 13 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไทยมีการขอจดสิทธิบัตรอยู่เพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า บริษัทยาในสหรัฐ ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการออกคำสั่งพิเศษนี้ จะทำให้คำขอที่เป็น evergreening ได้สิทธิบัตร ยืดอายุการผูกขาดต่อไปอีกยาวนาน ไม่ใช่แค่ 20 ปีตามอายุสิทธิบัตร แต่ลากยากจนถึงสิทธิบัตรสุดท้าย ยาบางตัวมีคำขอ 13 คำขอ หากได้รับสิทธิบัตรทั้งหมด จะยืดการผูกขาดออกไปมากถึง 31 ปี

ผลที่ตามมาคือ จะไม่มีการพัฒนานวัตกรรมการผลิตยาในประเทศไทย และผู้ผลิตรายเล็กจะประสบปัญหาไปจนกระทั่งสูญพันธุ์ และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด

4. การรุกคืบของระบบทรัพย์สินทางปัญญา ผลกระทบต่อพันธุ์พืชและภาคการเกษตรไทย

ประเทศไทยซึ่งเคยประสบผลสำเร็จในการยืนยันให้ได้รับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามพันธกรณีของความตกลงขององค์การการค้าโลกว่าด้วยประเด็นทางการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินทางปัญญา (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPs) นั่นคือ ต้องใหม่จริง ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนต้นทางพันธุ์พืชที่นำมาพัฒนา และปกป้องสิทธิเกษตรกร แต่ต่อไปจะไม่สามารถต้านทานอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติได้ เพราะคำสั่งพิเศษนี้จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดช่องให้บริษัทข้ามชาติทะลุทะลวงเข้ามายึดเมล็ดพันธุ์และจุลชีพ

ในความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำให้ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม หากประเทศใดจะทำมากกว่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนา กฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่ให้สิทธิบัตรแก่สิ่งมีชีวิต รวมทั้งจุลชีพ แต่กฎหมายสิทธิบัตรญี่ปุ่นให้สิทธิบัตรจุลชีพ กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐให้สิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ยันไปจนถึงการผ่าตัดและวินิจฉัยโรค

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพยายามยื่นคำขอจดสิทธิบัตรจุลชีพ หรือจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำหมักต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทั้งกลุ่มธุรกิจ SME และเกษตรกรไทยใช้อยู่มีมูลค่านับแสนล้าน แม้กฎหมายไทยไม่อนุญาต โดยได้พยายามผลักดันมานานนับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ถ้าหากการปฏิบัติตามคำสั่งพิเศษนี้ ปล่อยสิทธิบัตรออกไป เพราะต้องเร่ง-ต่างประเทศจดแล้ว-ขอมาเกิน 5 ปีแล้ว กลุ่มธุรกิจของไทยจะไม่มีสิทธิ์ใช้เลยใช่หรือไม่ ธุรกิจในประเทศจะหมดอำนาจในการต่อรองกับบริษัทข้ามชาติ ผลิตภัณฑ์ไทยที่เคยผลิตได้จะหายไปทันที

ในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ขอจดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ถ้าหากไม่มีการตรวจแล้วยังเร่งให้เพื่อให้ได้ตามเงื่อนเวลาที่คณะรัฐมนตรีและ คสช. กำหนด ผลที่ตามมา กรณีกลิ่นของข้าวหอมมะลิ ก็จะตกอยู่ในมือบริษัทใหญ่จากสหรัฐแทน

นี่คือแรงผลักดันหลักจากธุรกิจด้านการเกษตรขนาดใหญ่โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ผนวกเข้ากับภาคธุรกิจด้านการเกษตรภายในประเทศที่เป็นตัวเร่งกระบวนการแปลงทรัพยากรพันธุ์พืช จากที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน ให้กลายเป็นทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล (Private Property) แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่พื้นที่ของคนเล็กคนน้อย รวมทั้งผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่

5. วิบากกรรมการฟ้องร้อง

ในแง่กระบวนการให้สิทธิบัตรนั้น พบว่า จุดเน้นของคำสั่งพิเศษที่จะออกมาเพื่อการนี้ ให้ความสำคัญไปที่การให้สิทธิแก่ ‘คำขอสิทธิบัตรของต่างประเทศ’ ซึ่งน่าสงสัยว่าจะส่งผลร้ายต่อธุรกิจไทยอีกหลายสาขา เช่น เครื่องมือ เครื่องยนต์ สิ่งประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์บางชนิด หรือไม่ และเปิดช่องให้มีการหาผลประโยชน์ใหม่ๆ

โดยพบว่าขั้นตอนที่น่ากังวลก็คือ เมื่อคำขอจดสิทธิบัตรของไทย ตามกฎหมายที่ต้องยื่นเป็นภาษาไทย โดยแปลจากสิทธิบัตรจากต่างประเทศ การแปลถูกต้องชัดเจนเพียงไร จะมีการเปลี่ยนคำหรือประโยคเพื่อขยายสิทธิหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะไม่มีคำตอบเลย หากทุกอย่างอยู่ภายใต้มาตรการพิเศษนี้โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างถ้วนถี่

ส่วนที่โฆษกรัฐบาลอ้างว่า สามารถฟ้องร้องเอาผิดกันได้ภายหลัง จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แค่กรณีของสิทธิบัตรยา มีคดีความเจ้าของสิทธิบัตรซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องในศาลทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวหาบริษัทยาชื่อสามัญของไทยละเมิดสิทธิบัตร ประมาณ 3-4 คดี ทุกคดีใช้เวลาการต่อสู้ยาวนานกว่า 5-7 ปีในแต่ละศาล แม้ในที่สุดยังไม่มีคดีใดเลยที่บริษัทยาชื่อสามัญของไทยแพ้ แต่ภาระค่าที่ปรึกษากฎหมาย การวิ่งหาผู้เชี่ยวชาญมาขึ้นศาล การถูกบริษัทยาข้ามชาติกล่าวหากับทางโรงพยาบาลต่างๆ ที่ซื้อยาชื่อสามัญ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทยาชื่อสามัญที่ไม่ใหญ่พอต้องถอดใจ ส่วนบริษัทใหญ่ที่ตัดสินใจจะสู้ก็ต่อเมื่อเป็นยาที่ทำกำไรสูงๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ยาจำเป็น

สำหรับยาจำเป็น เคยมีคดีตัวอย่างคือ ยา ddI ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรพื้นฐาน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เคยฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรที่บริษัทยาข้ามชาติได้ไปอย่างไม่สมควร ก็ต้องเผชิญการต่อสู้ยาวนาน ภาระหนักอึ้งทุกด้าน พร้อมๆ กับหลายชีวิตที่ต้องจากไป เพราะทนรอใช้ยาไม่ไหว

“หากมีการอนุญาตให้สิทธิไปโดยไม่มีการตรวจสอบ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ผลที่ตามมาที่เป็นคุณ ขณะที่ทางตรงข้ามในประเทศที่ยังไม่พัฒนา จะมีผลเป็นโทษ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศด้อยพัฒนาและยังเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี ถ้าหากมีการเง้มงวด จะไม่มีนัยยะในเชิงบวกแต่อย่างใด” นี่คือข้อสรุปจากงานวิจัยของจากผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาไทยคนหนึ่ง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า