Documentary Station: ฐานที่มั่นของหนังสารคดี (1/2)

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / อภิรดา มีเดช / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

ก่อนหน้านี้เราเคยแปลกใจที่ผู้กำกับอินดี้อย่าง เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ชอบดูหนังสารคดี แต่แล้วความแปลกใจนั้นก็ค่อยๆ คลี่คลายลง เมื่อคลับที่ไม่ลับของคนรักหนังสารคดี ‘Documentary Club’ ที่ปลุกปั้นโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope มีเสียงตอบรับดีเกินคาด!

ไม่แปลก ถ้าคุณยังมีความคิดว่าหนังสารคดีเป็นของขม เป็นสายพันธุ์แปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคย และมีคำว่า ‘สาระ’ เป็นตัวถ่วงน้ำหนักบนหนังตา ชวนให้คิดถึงหมอนและที่นอนนุ่มๆ แต่ด้วยการคัดเลือกหนังในนามของ Doc Club ทำให้นิยามของ ‘หนังสารคดี’ ในความเข้าใจบางคนเปลี่ยนไป ภาพยนตร์ที่มีหน้าตาไม่ต่างจากหนังเล่าเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการห่อหุ้มหวือหวา เปลือกนอกแสนธรรมดา แต่รสชาติของมันคือ ‘ความจริง’ – real ที่ผ่านการปรุงโดยฝีมือผู้กำกับมากหน้าหลายตา พวกมันทั้งดูสนุก เปี่ยมอารมณ์ขัน ประณีตในด้านงานภาพ และบางครั้งภาษาของหนังสารคดียังมีพลังดราม่าเหนือกว่าหนังธรรมดาอยู่หลายขุม

นอกจากผลตอบรับน่าทึ่งจากกลุ่มคนดูหน้าใหม่ ที่ไม่ได้เข้ามาตีตั๋วเพราะเป็นคอหนังจ๋า แต่สนใจในประเด็นของแต่ละเรื่องเป็นพิเศษแล้ว เรายังพูดคุยกับบรรณาธิการสาวคนนี้ในฐานะผู้จัดจำหน่ายหนังรายเล็ก หนึ่งในผู้เห็นปัญหาในวงการภาพยนตร์ ตลอดจนวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทยที่ถูกบั่นทอนด้วยอะไรหลายๆ อย่างจนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง

หมายเหตุ: ด้วยความยาวของบทสัมภาษณ์ที่อยู่ในข่ายไม่ธรรมดา เราขออนุญาตช่วยคุณผู้อ่านด้วยการแบ่งบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ออกเป็นสองตอน สามารถติดตามตอน 2 ได้ในสัปดาห์หน้า

ตอนตัดสินใจทำ Doc Club เริ่มจากอะไร แล้วทำไมถึงเลือกมาทางสารคดี

คือจริงๆ ชอบดูหนังสารคดีมานานแล้ว ตอนที่ทำ Bioscope ก็พยายามหาโอกาสทำสิ่งที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น Bioscope จะมีโปรเจ็คท์หนึ่ง ชื่อ ‘หนังสารคดีข้างบ้าน’ ซึ่งเราก็จะรู้สึกว่าหนังสารคดีในมุมของคนทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นคนทำ คนดู อันหนึ่งก็คือมันจะน่าเบื่อ เวลาได้ยินคำว่า สารคดี จะนึกถึงรายการข่าว หรือนึกถึงสารคดีทีวี ซึ่งมีฟอร์แมตของมันอยู่

คนจะไม่ค่อยนึกถึง documentary ที่เป็น feature หรือ documentary ที่มีความเป็นหนัง คือไม่ค่อยนึกถึงความเป็นหนังของมัน อันนี้ก็อย่างหนึ่ง

ในมุมของคนทำ ขณะที่เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย…ในต่างประเทศมีคนทำสารคดีเกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกวัน มีหนังสารคดีที่น่าสนใจขึ้นทุกวัน เพราะว่าเทคโนโลยีการถ่ายทำมันเปลี่ยน คือตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นกล้องดิจิตอล แม้แต่มือถือก็ถ่ายหนังได้ เมื่อก่อนหนังสารคดีทำเรื่องหนึ่งใช้เวลานาน เพราะอุปกรณ์มันยาก แล้วก็ใช้วิธีการของหนัง คือการตามเก็บสถานการณ์ของหนัง แล้วก็ใช้เวลาเยอะโดยตัวของมันอยู่แล้ว

แต่พอมีเทคโนโลยีที่ฉับไวขึ้น ก็ทำให้มีหนังสารคดีที่พูดถึงประเด็นความเป็นไปในเชิงที่ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น  เหตุการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย หรือเรื่องผู้อพยพ ผ่านมาปีเดียวมีหนังแล้ว เมื่อก่อนมันไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้

คือนับวันเรารู้สึกว่ามันมีแบบนี้เพิ่มขึ้น แต่เฮ้ย พอมองกลับมาในบ้านเรา ทำไมไม่มีสิ่งเหล่านี้ปรากฏเลยวะ เอาในแง่คนทำ คนทำจำนวนมากก็ไม่ได้นึกถึงฟอร์แมตสารคดี เพราะมีความรู้สึกว่ามันยุ่งยาก หรืออะไรก็แล้วแต่ หลายเงื่อนไข

เพราะคำว่า ‘สารคดี’ มันดูเป็นอะไรที่ใหญ่โตหรือเปล่า

โครงการนั้น (หนังสารคดีข้างบ้าน) ของ Bioscope ก็ทำขึ้นมาด้วยคอนเซ็ปต์ตามชื่อเลย คือ ‘สารคดีข้างบ้าน’ ก็คือ ให้คนมีความรู้สึกว่า จริงๆ สารคดีมันไม่ต้องไปทำเรื่องมหภาคใหญ่โต เรื่องแบบป้าข้างบ้าน ลูกตัวเอง ก็ทำหนังได้หมด ก็เลยทำคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา แล้วให้คนเขียนส่ง โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำหนัง ก็เขียนมาว่ามีเรื่องไหนที่อยากทำ แล้วโปรเจ็คท์ก็เกิดขึ้นมาแบบนั้น โดยที่เราควักทุนส่วนตัว (หัวเราะ) เหมือนเป็นโปรดิวเซอร์ แต่ก็ไม่ได้แพงมาก แล้วมันก็เกิดขึ้นมาได้ ก็กลายเป็น feature ขึ้นมา

คือพยายามหาโอกาสที่จะทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสารคดีมาเรื่อยๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วเราก็ยังรู้สึกว่า สำหรับคนดูทั่วๆ ไป หนังสารคดีเป็นอะไรที่ลับแลอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ตลาดในเมืองนอกเห็นชัดเจนว่ามันโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ในบ้านเราไม่มีพื้นที่นี้เลยก็ว่าได้ ไม่ต้องพูดถึงในโรงหนัง แม้แต่ในทีวีก็หาไม่ได้ที่มันเป็น feature แบบนี้จริงๆ

ก็คิดมาเรื่อยๆ แต่ว่าก่อนหน้านั้นปรึกษาใครก็จะมีแต่คนบอกว่า เฮ้ยแก…การที่มันไม่มีเกิดขึ้นมาในประเทศไทย มันก็บอกอยู่แล้วว่า แกไม่ควรทำ (หัวเราะ) เราก็ เฮ้ยจริงเหรอวะ เข้าใจเลย แต่ว่ามันต้องมีทางอะไรสักอย่าง

ระหว่างนั้นคือสภาพแวดล้อมของการจัดจำหน่ายหนังในบ้านเรามันก็มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ด้วย อย่างเช่น มีโรงหนังเฮ้าส์ ลิโด้ ที่เริ่มมีภาพชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของหนังทางเลือก SF เริ่มมีโปรเจ็คท์ประเภทเอ็กซ์คลูซีฟ คือมันก็ผุดพื้นที่ประเภทนี้ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นการเบิกทางแบบหนึ่งว่ามันมีพื้นที่เล็กๆ ประเภทนี้อยู่

ถ้าหากจะพูดให้คนดูเข้าใจง่ายๆ ว่าสารคดีที่ออกทางทีวี กับหนังสารคดีมันมีความแตกต่างกันยังไง

โดยฟอร์แมตของทีวี พฤติกรรมคนดูทีวีไม่ได้มีลักษณะของการจดจ่ออยู่ภายใน space และ time ที่ถูกบังคับให้ต้องดูความต่อเนื่องอะไรบางอย่าง เราดูทีวีก็ดูบ้างไม่ดูบ้าง แล้วคนดูทีวีก็หลากหลายกลุ่ม ลูกเด็กเล็กแดง พ่อค้าแม่ขาย ซึ่งไม่ได้มีสมาธิอยู่กับสิ่งนี้ หรือว่ามีภาษาบางอย่างร่วมกันไปหมด

ทีนี้ทีวีก็ต้องมีลักษณะของการอธิบายความสูง เช่น จะเล่าเรื่องผู้อพยพ อยู่ดีๆ โผล่มาแล้ว เป็นภาพเวิ้งว้างของประเทศ คนดูไปสัก 10 วินาที เริ่มไม่เก็ตว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นฟอร์แมตทีวีก็อาจจะต้องมีตัวช่วยเยอะ มีพิธีกรอธิบายก่อน มีภาพข่าว มีการอธิบายความเยอะ เพื่อที่จะสรุปประเด็นเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายภายในเวลาจำกัด

แต่ว่าหนังสารคดีจริงๆ แล้วก็คือหนังแบบหนึ่ง เพียงแต่เป็นหนังที่ไม่ได้ถ่ายทำแบบมีตัวแสดง ไม่ได้เซ็ตเหตุการณ์ขึ้นมาทั้งหมด มันเป็นการตามถ่ายจากบุคคลจริง วิธีการเล่าก็มีวิธีการทางภาพยนตร์ของมัน อย่างที่บอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรมาอธิบายว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แต่สามารถเล่าด้วยภาพและเสียงโดยที่บางครั้งไม่ต้องมีคำพูด ไม่ต้องมีคำบรรยายเลย แต่คนถูกบังคับให้เห็นบรรยากาศอันนั้น แล้วภายในเวลา 20 นาที ก็สามารถเข้าใจความบางอย่าง คือภาษาในการเล่ามันต่างกัน

แนวคิดแบบ Doc Club ต้องใช้ทุนจากไหน

ในแง่ส่วนตัว เราเองเราไม่ได้มีทุนตั้งต้น แต่ว่าพอหลังจากนั้นช่วงประมาณปี 2556-57 ก็พอดีทั้งตัวเองและในนาม Bioscope ก็ไปเกี่ยวข้องกับองค์กรทางสังคมหลายแห่ง ที่เขาเริ่มมีความรู้สึกว่าเขาอยากใช้หนังเป็นตัวช่วยพูดประเด็นที่เขาทำงานอยู่ แล้วหนังที่เหมาะก็คือหนังสารคดี

อย่างเช่น โปรเจ็คท์ Social Change Film Festival ของ สกส. (สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) เขาก็เอาหนังเข้ามาแล้วให้เราช่วยโปรโมตเฉพาะตรงเทศกาลหนัง ตอนแรกเราก็แบบ โห…หนังแต่ละเรื่องนี่มันอะไรกัน อย่าง Google Brain แบบนี้ (หัวเราะ) คือเขาเลือกไว้ก่อนแล้ว เพราะเขาเลือกจากประเด็นที่ตรงกับสิ่งที่เขาทำอยู่ คือเราเห็นประเด็นแล้วแบบ…ใครจะมาดูนะอะไรแบบนี้

พอได้ลองทำตรงนั้นแล้วมีความรู้สึกว่า จริงๆ มีพอยต์บางพอยต์ในหนังแต่ละเรื่องที่สัมผัสคนได้ ก็เลยลองโปรโมตทางเฟซบุ๊ค ซึ่งก็มีผลตอบรับเยอะ (เน้นเสียง) กว่าที่คิดมาก อันนั้นเหมือนเป็นจุด inspire อันหนึ่งว่า จริงๆ แล้วคนที่เขารู้สึกว่าหนังสารคดีมันทำงานกับเขาในเชิงประเด็น หนังที่พูดถึงข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างที่เขาหาดูไม่ได้ในโรง

ก็ค่อยๆ รวมจากประสบการณ์ตรงนั้นตรงนี้ จนสุดท้ายก็มาเจอกับน้องที่ทำเว็บเทใจ (taejai.com) ซึ่งเป็นเว็บระดมทุนโปรเจ็คท์ทางสังคม เขาก็เลยชวน บอกว่าถ้าพี่ไม่มีทุนพี่ก็มาระดมทุนตรงนี้สิ เพราะจริงๆ โปรเจ็คท์แบบนี้ก็มีนัยทางสังคมอยู่ในตัวของมัน เราก็เลยลองดู แล้วปรากฏว่าพอทำ crowdfunding ก็มีคนที่ให้เงินค่อนข้างเยอะพอสมควรจนเริ่มต้นได้

ทุนที่ได้คือมีคนให้เป็นก้อนใหญ่เลย?

มีหมดเลย… จริงๆ แล้วมันคือ crowdfunding เหมือน Kickstarter คือจะร่วมด้วย 500 บาทหรือพันเดียว แบบนี้ก็ได้ ก็จะได้ตั๋วหนังกี่ใบอะไรแบบนี้ แล้วแต่คนจะมีจิตศรัทธา

แล้วก็มีคนที่ให้ 100,000 ก็มี คนเดียวเลย คือไม่รู้จักเขามาก่อนเลยนะ ซึ่งทีแรกทั้งเราทั้งเทใจเป็นห่วงมากว่า กดโอนเงินผิดหรือเปล่า (หัวเราะ) โทรเช็คกันใหญ่เลย เทใจก็โทรถาม อันนี้ไม่ได้โอนผิดใช่ไหม เขาก็บอก ไม่ๆๆ ตั้งใจโอนมาแบบนี้ อันนี้ก็ค่อนข้างมหัศจรรย์

IMG_9421-

 

เริ่มด้วยการระดมทุน แต่ตอนนี้อยู่ได้ด้วยตัวเองในทางธุรกิจแล้วใช่ไหม

ใช่ค่ะ จริงๆ ตอนระดมทุนก็พยายามเซ็ตให้คนรู้ว่าเราทำอะไร เพราะว่าไม่เคยมีโปรเจ็คท์แบบนี้ที่มาขอตังค์คน เพราะฉะนั้นเราก็เซ็ตให้เห็นชัดๆ ว่าเราจะเป็นโปรเจ็คท์ทดลองปีเดียวนะ หนึ่งล้านบาท หนึ่งล้านบาทนี้เอาไปใช้อะไรบ้าง คำนวณแล้วน่าจะซื้อหนังได้เจ็ดเรื่องในหนึ่งปี นั่นคือ ถ้าเรามีเงินครบหนึ่งล้าน ก็แปลว่าคุณจะได้ดูหนังครบเจ็ดเรื่องแน่ๆ แต่ถ้าโปรเจ็คท์นี้ล้มเหลว คือแต่ละเรื่องไม่มีคนสนใจ ไม่สามารถจะอยู่ได้ทางธุรกิจ ก็เลิก ให้เห็นชัดเจนว่าเงินที่เสียไปมันจะเป็นอะไรกลับมา

ทีนี้พอตอนที่เริ่มระดมกันมันก็ได้แสนแรกมาเร็วมาก คือตอนแรกหนึ่งล้านนี้วางไว้หนึ่งปี ทีนี้พอโยนไปแล้วมันได้ครบแสนเร็ว ภายในสามสี่วันได้แสนแรก ก็มีความรู้สึกกว่า เฮ้ย ไม่ควรรอครบปีนะ เพราะคนที่เขาจ่ายมาแล้ว 5,000 บาท ให้เขารอปีหน้าแล้วค่อยมาตาม มันไม่ได้

เทใจก็บอกว่า เอาอย่างนี้ พี่จัดเลย ถ้าเฉลี่ยๆ มาแล้ว 100,000 ต้นๆ พี่ก็จัดเรื่องหนึ่งเลยไหม มันก็เหมือนกับกระตุ้นคนอื่นที่รอดูอยู่ว่าเราทำอะไร ก็เออ เอาๆ

เรื่องแรกก็คือ Finding Vivian Maier เป็นเรื่องของตากล้อง ซึ่งก็จังหวะดี เราหยิบเรื่องมาแล้วมันแจ๊คพ็อตด้วย ฉายโรงแล้วได้เงินเยอะพอสมควร เหมือนกับพอเรื่องแรกปั๊บมีกำไรเลย แล้วระหว่างการจัดการของเรื่องแรกก็คือ มีเงินเข้ามาอีกเรื่อยๆ จากการ crowdfunding ก็มาจนถึง 400,000 เราก็เลยมีความรู้สึกว่ามันเริ่มชัดเจนแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่เดี๋ยวเรื่องสองมา เรื่องสามมา เริ่มเข้าสู่ลูปที่เป็นไปได้

เราเลยคุยกับเทใจว่า เท่ากับตอนนี้เรามีเงินก้นถุง 400,000 แล้ว มีหนังเรื่องแรกที่ได้กำไร คนก็เห็นๆ อยู่แล้วว่าได้กำไร แล้วเรายังจะบอกคนว่าช่วยกันระดมอีก 600,000 ให้ครบๆ ด้วยนะ (หัวเราะ) มันก็ไม่ใช่แล้วรึเปล่า แล้วหลังจากนี้ถ้าหนังฉายแล้วเราจะอธิบายกับคนดูว่าอะไร เราก็เลยตกลงกับเทใจว่าเราจบเลยดีกว่า แล้วก็ประกาศเลยว่า เราโอเคแล้ว เราสามารถดำเนินการโปรเจ็คท์ที่ทุกคนช่วยได้แล้ว และเราไม่ระดมต่อแล้วนะ คุณก็รอดูหนังที่เอาเข้ามาแล้วกัน จะได้ไม่เบียดบังจนเกินไป

หมายความว่าจบการระดมทุนหลังเรื่องแรกเลยหรือเปล่า

ใช่ ก็เลิกระดมประมาณต้นๆ ปี 2558 คือ Finding Vivian Maier เข้าปลายพฤศจิกายน 2557 หลังจากเห็นรายได้นิ่งๆ ของหนัง ก็ประมาณต้นปี

ค่าใช้จ่ายหลักในการเอาหนังเข้ามาฉายมีอะไรบ้าง

หลักๆ มันคือค่าสิทธิ์หนัง วิธีการมันคือว่า คนทำหนัง แล้วคนทำหนังก็หาคนที่จะจัดจำหน่ายให้เขาทั่วโลก ก็จะมีระบบเหมือนเอเจนซี ว่าเราทำหนังมา แล้วเป็นหนังที่มีศักยภาพ ก็จะมีบริษัทจัดจำหน่ายต่างประเทศบอกว่า เออ…มาสิเดี๋ยวเขาเป็นคนขายสิทธิ์ในประเทศอื่นๆ ให้ เราก็ไปดีลกับบริษัทนี้ ซึ่งก็จะมีรายละเอียดวิธีการดีลหลายแบบ

จริงๆ สิทธิ์ที่ซื้อกันในค่ายหนังทั่วไปเขาเรียกว่าสิทธิ์ all rights คือซื้อสิทธิ์ทุกอย่าง หมายความว่าถ้าเราซื้อ all rights ของหนังเรื่องนี้มา เราจะเป็นเจ้าของสิทธิ์การฉายโรง เราขายช่องทีวีได้ ออกดีวีดีได้ ขายวีโอดีได้ในประเทศนี้

แต่ตอนนั้นเราก็คิดว่าโปรเจ็คท์เพิ่งเริ่ม ก็ไม่รู้ว่าอนาคตมันจะรอดไม่รอด แล้วตังค์ก็ไม่ได้เยอะนะ ในตอนต้นเลยไม่ได้ซื้อแบบนั้น ก็ทดลองซื้อเหมือนฉายเทศกาล เขาเรียก festival rights คือเหมือนซื้อมาจำกัดว่าเราจะฉายแค่ 20-30 รอบนะ ตอน Finding Vivian Maier ก็เริ่มต้นแบบนั้น

แล้วค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าโรงภาพยนตร์?

ก็จะมีค่าสิทธิ์ที่เยอะที่สุด แล้วอื่นๆ ก็เป็นค่าจัดการ จะเรียกว่าค่า P&A คือ Promotion and Advertising ได้แก่ค่าการจัดการทั้งหลายก่อนที่หนังจะฉาย เพื่อให้หนังได้เข้าโรง

หมายถึงตั้งแต่ค่าแปลซับไตเติล เตรียมวัสดุภาพยนตร์ ซึ่งสมัยนี้เป็นระบบ DCP (Digital Cinema Package) ก็ต้องไปเข้าแล็บ ทำใส่รหัสตัวล็อคที่จะเข้าไปฉายในโรงได้โดยไม่โดนก๊อปปี้ แล้วก็ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ แต่ค่าโรงนั้นเราไม่ได้เสีย เพราะโปรเจ็คท์ Doc Club คือการไปคุยกับ SF ว่าเป็นเหมือนโปรเจ็คท์ exclusive คือฉายที่ SF ที่เดียว และการดีลกันก็คือแบ่งรายได้กัน

ต้องมีการเซ็ตทีมขึ้นมาใหม่สำหรับการทำ Doc Club โดยเฉพาะหรือเปล่า

อืม…ทำอยู่คนเดียว จริงๆ มีอยู่สองคน (หัวเราะ) จนถึงบัดนี้คือจริงๆ ตอนนี้เริ่มหนักแล้ว มันทุกสิ่งทุกอย่างเกินไปหรือเปล่า แต่ประเด็นคือ ตอนเริ่มต้นเราไม่รู้ความอยู่รอดของมัน คือเราก็ไม่ได้มีความพร้อมแบบไปชวนใครมาช่วยทำอะไรมากมายเต็มไปหมด

จริงๆ จากประสบการณ์ทำ Bioscope มา ก็มีความรู้สึกว่า ความยากมาก (ลากเสียง) ที่สุดเลยของการทำอะไรที่มันอยู่รอดหรือเปล่าแบบนี้ คือการมี fixed cost โดยเฉพาะ fixed cost ค่าคน ก็เลยมีความรู้สึกว่า Doc Club เป็นโปรเจ็คท์เล็กๆ แล้วกัน ทำในศักยภาพที่เราทำได้ แล้วก็ทำเองเป็นส่วนใหญ่ และมีน้องในทีมบางคนที่คิดว่าเขาช่วยเราได้ มีความคล่องตัวเรื่องการติดต่อประสานงาน ก็ชวนเขามาเป็นฟรีแลนซ์ให้ จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

IMG_9439

 

จากการทำหนังสือ การกระโดดมาทำตรงนี้ความท้าทายมีมากขึ้นไหม

มันก็มีส่วนที่ยังเหมือนเดิมอยู่เยอะเหมือนกัน อย่างหนึ่ง คือ มันก็ยังเป็นเรื่องหนังที่เราชอบ กับสิ่งที่คิดว่ามันเป็นเส้นเดียวกัน เพียงแต่ว่าอาจจะเปลี่ยนรูปแบบ ก็คือการสื่อสารกับคนอ่าน เพราะว่าการทำหนังสือคือการเขียนคุยกับคนอ่านใช่ไหม ซึ่งตอนนั้น Doc Club เราก็รู้สึกว่าพาร์ทนี้เป็นพาร์ทที่สำคัญ เพราะว่าตัวหนังสารคดีไม่ได้มีจุดขายอย่างอื่น มันไม่ได้มี เบน เอฟเฟล็ค เล่น ซึ่งก็ต้องอธิบายเยอะว่าความน่าดูของหนังคืออะไร มันก็คือทักษะของการทำแมกาซีนที่เอามาใช้

อีกอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าค่ายจัดจำหน่ายหนังนอกกระแสโดยทั่วไปในบ้านเรา จะไม่ค่อยสนใจเรื่องคอนเทนต์ อย่างพอเราทำ เราจะคุยกับเพื่อนที่เป็น buyer ของค่ายหนังในบ้านเรา แล้วก็มีหนังนอกกระแสอยู่ในค่ายเยอะ เขาก็ยังบอกว่า เออ จริงๆ สิ่งที่เราทำมันก็สำคัญเหมือนกัน กับการจัดจำหน่ายหนังนอกกระแส เพราะหนังนอกกระแสจริงๆ ก็อยู่ในภาวะแทบจะเหมือนกับหนังสารคดีนี่แหละ อย่าง Lobster ถ้าคุณไม่สามารถสื่อสารได้ว่าความเจ๋งมันอยู่ตรงไหน ใครจะไปดู คนทั่วๆ ไปก็จะไม่รู้ว่าเป็นหนังอะไร แต่ถ้าจับจุดถูกว่าอะไรบ้างคือจุดที่ต้องพูด มันก็จะดึงคนขึ้นมาได้

แต่หนังนอกกระแสส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจเรื่องแบบนี้ เพราะความที่ค่ายมีตำแหน่งทำโฆษณา ทำพีอาร์ การตลาด ก็เป็นคนที่ทำพีอาร์ โฆษณา การตลาด ซึ่งไม่ใช่คนทำคอนเทนต์ ไม่ใช่คนรู้วิธีการทำคอนเทนต์ คนที่ทำคอนเทนต์ก็ทำคอนเทนต์ ไม่รู้วิธีการทำตลาด (หัวเราะ)

แต่เรามีความรู้สึกว่า สารคดีมันอาจจะเป็นสองอย่างนี้ที่มันผสมเข้ากันพอดี การทำคอนเทนต์ก็กลายเป็นการทำการตลาดแบบหนึ่ง ใช้ทักษะหรือวิธีการบางอย่างที่เราคุ้นเคยจากอาชีพเดิมอยู่แล้ว และการใช้โซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่หลักในประเทศนี้

สิ่งที่เพิ่มเติมมาหลักๆ คือพาร์ทธุรกิจมากกว่า เพราะว่าตอนที่ทำ Bioscope เราก็มีพี่หมู (สุภาพ หริมเทพาธิป) ช่วยดู คนนั้นช่วยดูบัญชี ตั้งแต่ภาพใหญ่จนถึงภาพเล็ก พอมาทำเองแล้วแบบ นี่คืออะไร ใบหักภาษี 3 เปอร์เซ็นต์คืออะไร ทำยังไง ก็ต้องทำเองหมดทุกสิ่ง

มันจะเป็นเรื่องการจัดการประเภทที่เราไม่มีความเชี่ยวชาญมาก่อน รวมทั้งการต้องพูดคุยกับคนในเรื่องธุรกิจ ซึ่งเราไม่ชำนาญอย่างแรง การไปต่อรองนั่นนี่ก็ต้องอาศัยคนที่ช่วยชนเรื่องพวกนี้ ซึ่งเราไม่สามารถ ก็ต้องมีน้องที่แบบ เฮ้ย…โทรไปต่อรองค่า VPF (Virtual Print Fee-ค่าฉายภาพยนตร์ระบบดิจิตอล) ให้หน่อยสิ น้องมันก็หน้าซื่อโทรไปขอกันดื้อๆ ซึ่งเราทำไม่ได้ (หัวเราะ)

ค่า VPF เราสามารถต่อรองกับโรงหนังได้หรือเปล่า

มันต่อรองได้ คนทำหนังส่วนใหญ่ไม่รู้นะ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นแบบนี้กับโรงทุกเครือหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ก็มีอยู่สองเครือเท่านั้นแหละที่เก็บเงินอยู่

ที่ตั้งข้อสังเกตว่าห้าปีจะคุ้มทุน หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

จริงๆ VPF คือค่าชดเชยระบบของโรงที่อ้างว่า อุตส่าห์เปลี่ยนจากฟิล์มเป็นดิจิตอลแล้ว จริงๆ ก็ไม่ได้เริ่มจากประเทศไทย (บริษัท Sony จัดทำข้อตกลงเรื่องนี้เมื่อปี 2005-กองบรรณาธิการ) คือเขาก็ต้องการให้คนทำหนังเปลี่ยนจากการใช้ฟิล์มมาเป็นดิจิตอล ซึ่งคิดว่า แม้แต่การเปลี่ยนอันนั้นก็เกิดจากแรงกดดันทางการการตลาดของธุรกิจดิจิตอล แล้วโรงก็ถูกบังคับให้เปลี่ยน เพราะต้องรองรับหนังแบบใหม่ที่เลิกใช้ฟิล์มกันแล้ว

ทีนี้พอโรงต้องเปลี่ยน โรงก็โวยวายว่า อะไรกัน ฉายฟรีมาตั้งร้อยปีแล้วอยู่ดีๆ ให้เปลี่ยนเป็นดิจิตอล มันลงทุนเยอะนะ แล้วฉันมีเป็นพันโรงทั่วอเมริกา ก็เลยเกิดการเจรจากันว่า สตูดิโอต้องช่วยแบกรับภาระ คือเมื่อเราอยากให้คุณเปลี่ยน คุณเปลี่ยนแล้ว เดี๋ยวเราช่วยจ่ายค่าชดเชย ซึ่งก็คือค่าชดเชยในการที่คุณต้องเปลี่ยนเครื่อง

VPF ก็คือการช่วยจ่ายค่าเครื่องฉายดิจิตอล แต่ทุกคนจะเลี่ยงไม่กล้าพูด จะเรียกด้วยคำว่า VPF ก็คือ Virtual Print Fee เป็นค่าชดเชยที่คุณไม่ต้องไปพรินท์ฟิล์มสำหรับแต่ละโรงแล้ว คุณประหยัดค่าฟิล์มไปเยอะ คุณก็มาช่วยชดเชยตรงนี้

ถ้าพูดตรงๆ ว่ามันคือค่าช่วยออกค่าระบบติดตั้งดิจิตอลที่ทางโรงลงทุนไปนั้น ก็จะเห็นชัดว่า ความคุ้มทุนอยู่ตรงไหน หรือจะเก็บไปถึงเมื่อไหร่ สมมุติคุณลงทุนไปสามบาท หนังคุณได้กำไรปีละหนึ่งบาท คุณเก็บสามปีก็ถูกแล้ว มันก็เลยเกิดข้อตกลงกันมาแบบนี้

ในเมืองไทยก็ตกลงกับค่ายแรกที่เซ็นว่าจะเริ่มมีการจ่าย VPF ตกลงกันว่าห้าปี ซึ่งห้าปีที่ว่าจะหมดกรกฎาคมปีนี้ แปลว่าทุกค่ายถ้าถึงกรกฎาคมปีนี้ก็เลิกจ่าย ฉายฟรี ไม่ต้องมีค่า VPF ทีนี้ก็จะเริ่มมาแล้วว่า ไม่ได้ ห้าปีเฉพาะคนที่เซ็นสัญญารอบแรก คนที่เซ็นสัญญาหลังจากนั้นก็ต้องนับต่อไปให้ครบห้าปี ตกลงหลักการคืออะไร ความคุ้มค่าของเครื่องวัดจากอะไร เริ่มงงตรงนี้

ยังไม่พอ ยังมีการลือกันอีกว่าค่ายใหญ่ก็ต่อรองได้ กรกฎาคมนี้ค่ายใหญ่เลิกจ่าย แต่ค่ายเล็กยังต้องจ่ายต่อไป มันคืออะไร เราก็งง แต่ก็รอดูกันว่าสุดท้ายกรกฎาคมนี้จะเป็นยังไง แต่สังเกตว่าฝ่ายโรงเองจะไม่พูดตรงนี้ชัดๆ พูดคลุมไปว่าเป็นค่าชดเชยฟิล์ม อย่างนี้เราก็ต้องจ่ายตลอดไปชั่วกาลนานเลยสิ

IMG_9426

 

เพราะมันดูประหนึ่งเป็นค่าธรรมเนียมไปแล้ว?

ใช่ ประเด็นนี้สำคัญนะ จริงๆ ถ้าบอกว่าเป็นค่าชดเชย มันจะมีระยะเวลาที่ชัดเจนว่าความคุ้มทุนอยู่ตรงไหน แต่พอคุณเรียกว่า ค่าธรรมเนียมการฉาย แปลว่าไม่มีวันหยุด คุณต้องจ่ายต่อไปทุกครั้งที่คุณใช้โรงนี้ และไม่เท่านั้น คือเขาไม่ยอมรับต่อสื่อหรอกว่า เขาบันทึกสิ่งนี้ว่าไม่ได้เป็นค่าชดเชยที่มีระยะเวลากำหนด เขาบันทึกว่ามันคือรายได้ส่วนหนึ่งของโรง

มีคนวิเคราะห์ว่า โรงทุกวันนี้ขยายสาขาเสียจนไม่มีกำไร จริงๆ แล้วถ้าไม่ใช่วันที่ Batman เข้า มันมีคนเข้ากี่คนกัน ในทุกๆ สาขา คือเขาแบกความขาดทุนตรงนี้เยอะมาก ดังนั้นจึงต้องหารายได้จากสิ่งอื่น และจริงๆ วงการหนัง แม้แต่ในอเมริกา ก็เป็นที่พูดมาโดยตลอดว่า จริงๆ รายได้จากการขายตั๋ว ต่อให้มีคนเต็มบ้างบางวันก็ไม่คุ้ม เพราะส่วนใหญ่คนไม่เต็ม ดังนั้นโรงหนัง Multiplex ทุกที่ต้องหารายได้จากป๊อปคอร์น กำไรจากเครื่องดื่ม นี่คือรายได้หลักของโรงนะ มันจึงเป็นที่มาว่าทำไมราคามันจึงสูงขนาดนี้

นี่คือรายได้ เพราะนี่คือสิ่งที่มีต้นทุนต่ำที่สุดของเขา ดังนั้น VPF ก็ถูกบันทึกเป็นรายได้ด้วย ซึ่งถ้าคุณบันทึกเป็นรายได้ หมายความว่าคุณจะทำให้มันหายไปไม่ได้ ถูกไหม

แล้วก็มีอีกเยอะแยะ ถ้าจับตาดูเราก็จะเห็นอะไรแปลกๆ อยู่เรื่อยๆ อย่างวิธีการขายบัตรสมาชิกเติมเงิน ขายสปอนเซอร์ คนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนเสียสิทธิ์ คือเยอะมาก จุ๊กจิ๊กๆ อะไรที่จะเป็นแหล่งรายได้ ซึ่งผู้บริโภคเราก็ตามไม่ค่อยทัน เราก็จะคิดว่าโรงอยู่ได้ด้วยค่าตั๋ว

โรงแบบ Multiplex อยู่ได้ด้วยค่าพวกนี้เลยใช่ไหม

จริงๆ ยังงงเลยนะ ว่าขยายโรงขนาดนี้กำไรจริงๆ เหรอ สาขาเปิดใหม่ไม่มีคนน่ะ วันก่อนโรงที่เพิ่งเปิดใหม่แถวเอกมัย-รามอินทรา เรื่อง ไซอิ๋ว มีคนดูอยู่เจ็ดคน หนังเพิ่งเข้านะ ซึ่งมันจะอยู่ได้ยังไง ปกติโรงเงียบมากๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆ ธุรกิจการฉายหนัง คุณขยายเสียจนมันโอเวอร์ดีมานด์ซัพพลายขนาดนี้ มันไม่น่าจะอยู่ได้

สัดส่วนของ VPF ต่อการฉายต่อรอบอยู่ที่เท่าไหร่

หลักการคิด VPF ในเมืองนอกคิดที่การใช้โรงหนึ่งโรง หมายถึงจอเดียวต่อการฉายหนังหนึ่งโปรแกรม เขาคิดประมาณ 800 เหรียญ ในเมืองไทยก็มาสรุปกันที่ตัวเลข 800 เหรียญ คือประมาณ 24,000 บาท ก็เลยเป็นเกณฑ์แบบนี้ สมมุติว่าเราเอาหนังเข้า SF เซ็นทรัลเวิลด์ หนึ่งโรง แล้วฉายโรงนี้ครบโปรแกรม คุณจะต้องเสียค่า VPF ให้กับโรงนี้ 24,000 บาทในช่วงสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะไม่เก็บในประเภทนี้

หมายความว่า ถ้ามีหนังไทยเรื่องหนึ่งแล้วอยากให้คนเห็นเยอะๆ เราไปคุยกับโรงแล้วโรงมีความรู้สึกว่า เออ…น่าจะขยายหลายโรงได้ น่าจะมีคนดู เอาไปเลย 10 โรง ก็แปลว่า 240,000 บาท ในเบื้องต้นนี่แค่ค่าฉายนะ ยังไม่ได้พูดถึงรายได้ แต่เดี๋ยวมีไปฉายเชียงใหม่ ฉายโรงนั้นโรงนี้ ก็คิดค่า VPF อีก สุดท้ายก็เหลือเงินกลับมาไม่กี่บาท

คือโดน VPF ไปหนักขนาดนี้ก็เป็นเพราะฉายเยอะ พอฉายเยอะคนทำหนังก็ดีใจ แต่ในความเป็นจริง คือโอเค ที่ผ่านมาคนก็เข้าใจแหละว่ามันเป็นข้อตกลงร่วมกันไปแล้ว เพียงแต่ว่า หนึ่ง มันมีรายละเอียดเยอะ เช่น การเจรจาต่อรองให้ได้มาซึ่งโรงนั้น มันก็ทำให้เราสงสัย คนทั่วไปก็จะเริ่มสงสัยว่า ในจังหวะที่โรงไม่มีหนังแข็งแรงเข้า เลยมีลักษณะของการสาดหนังเพื่อหวังค่า VPF หรือเปล่า เมื่อก่อนเราก็ตกใจกับความคิดนี้นะว่า เขาจะมาหวังอะไรกับความจุบจิบเล็กๆ น้อยๆ แต่อันนี้เราก็ไม่สามารถจะไปเคลมได้ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจริงไม่จริง

เราคิดว่าคนทำหนังกับโรงไม่มีการคุยกันเหรอว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร โรงหนังไม่มีคำแนะนำที่ดีจริงๆ เหรอว่า หนังคุณมีศักยภาพประมาณหนึ่ง ฉาย 15 โรงเยอะไป เอาไปสักเจ็ดโรงพอ แล้วเราเลือกสาขาร่วมกัน กำหนดรอบร่วมกันที่วินวิน แล้วให้เวลาคุณหนึ่งอาทิตย์ทดลองนะ แล้วคุณก็พยายามพีอาร์ให้หนังคุณมีคนดูให้ได้ หลังจากหนึ่งอาทิตย์แล้วถ้าไม่มีคนดูค่อยว่ากัน

ทุกวันนี้การเจรจาต่อรองที่อยู่บนความรู้สึกว่าปฏิบัติต่อกันอย่างดีทั้งคู่แบบนี้มันไม่มีนะ

เวลาเจรจาเรื่องโรงฉาย คุยกันในลักษณะไหน

คือคุยกันแบบนี้ สมมุติเอาหนังไป โรงก็จะบอกว่าจะเอากี่โรง กี่สาขา 15 สาขาเยอะไป แต่ไม่เป็นไร สัปดาห์นี้ ไม่มีหนังใหญ่ เดี๋ยวลองดูแล้วกัน 10 สาขา แล้วสมมุติหนังฉายไปพฤหัส-ศุกร์ ไม่มีคน วันเสาร์ เดิมกำหนดไว้ห้ารอบ ผู้กำกับอาจจะหวังว่ากลุ่มตัวเองจะมาดูเช้าบ้าง ดึกบ้าง แต่วันพฤหัส-ศุกร์ที่ผ่านมาไม่มีคน ตัดเหลือสองรอบพอนะ วันอาทิตย์ก็ไม่มีคน วันจันทร์เหลือรอบเดียวพอนะ 15 สาขาที่ตกลงไว้เหลือสามสาขาพอนะ

คือทั้งหมดอยู่ในการคิดของโรง โดยที่ผู้กำกับไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะรู้ว่า จริงๆ 15 โรงตอนแรกอาจจะเยอะไป แต่ที่ตัดรอบวันจันทร์จนเหลือสามโรงก็คงไม่ใช่นะ หรือพอถึงวันอังคารหรือสัปดาห์ที่สอง มีรอบ 11 โมงกับ 5 ทุ่มครึ่งนั้นมันไม่ใช่แล้วหรือเปล่า

คือเหล่านี้คนทำหนังแทบไม่ได้รู้ พอเราพูดเรื่องแบบนี้ โรงก็จะบอกว่า อ้าว ก็หนังคุณไม่ได้สตางค์ คุณจะเรียกร้องอะไร หรือคนดูก็จะบอก อ้าว ก็หนังคุณมันห่วย ใครจะไปดู เพียงแต่เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากที่คุณได้ทดลองทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือเปล่า

แต่ว่าสิ่งที่มันไม่มีคือการนั่งคุยกันบนความรู้สึก มันอาจจะมีการนั่งคุยกัน แต่มันไม่ได้นั่งคุยกันบนความรู้สึกว่าอะไรคือสิ่งที่เราวิน มันจะนั่งคุยกันบนความรู้สึกว่า ฉันเป็นเจ้าของ ไหนเอาหนังแกมาดูสิ มันเป็นแบบนี้

IMG_9372-

ฟังดูเหมือนกับวงการหนังถูกกุมอำนาจโดยโรงหนังไม่น้อยเลย?

ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ ก็เขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เพียงแต่ประเด็นนี้อาจต้องพูดถึงเรื่องการผูกขาด ว่าคุณเป็นเจ้าของพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโรงในประเทศ แล้วทำให้คุณมีอำนาจต่อรองที่มันผิดการเจรจาทางธุรกิจปกติ อำนาจต่อรองที่มันมีสิ่งที่นอกเหนือจากการคุยกันในตอนต้นด้วย

อย่างเรื่องที่เราโวยวาย เช่น เรื่องบังคับซื้อโฆษณา หรือเรื่องการตัดรอบโดยที่คุณไม่ถาม ไม่หือไม่อือ ไม่ช่วยกันดูทางออก หรือจริงๆ มันมีสิ่งที่ตามมากับการผูกขาดอีกเยอะแยะ เช่น การเสียเงินไม่ให้โรงคู่แข่งเกิดได้ ซึ่งมันมีข่าวแบบนี้อยู่ตลอดเวลาในวงการ

ถามว่ามีอำนาจไหม ก็มีอำนาจอยู่แล้วโรงหนังน่ะ ตราบใดที่หนังยังคิดว่าตัวเองต้องฉายในโรงเขาก็ต้องมีอำนาจอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องถามว่า อำนาจนั้นมันใช้โดยมีความยุติธรรมหรือเปล่า ขณะที่หนังใหญ่เข้าคุณสาดโรงไป 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วหนังเล็กเขี่ยทิ้งทันที แบบนี้มันโหดไป

มันก็ขึ้นอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งเป็นธุรกิจของเขาไม่ใช่หรือ

มันเป็นเรื่องธุรกิจอยู่แล้วล่ะ คือจริงๆ แล้วเราคิดว่าเราจะไปเรียกร้องโรงว่า คุณต้องมีพื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรม คิดว่าเขาคงฟังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร

คิดว่าในเบื้องต้น เรียกร้องแค่นี้ เวลาที่คุยกัน คือคุณน่ะฟังบ้าง คนทำหนังเขาโวยวายว่ามันอยู่ไม่ได้ มันต้องมีปัญหา ในสังคมที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า กูอยู่ไม่ได้ โดนบีบคั้น มันต้องมีการกระทำที่ไม่ถูกเกิดขึ้นใช่ไหม ทำไมไม่มีการคุยกันแบบที่ว่านี้

อีกอย่างคือ โรงชอบพูดคำว่า อยากสร้าง ‘วัฒนธรรมการดูหนัง’ แต่เราไม่เข้าใจว่านิยามคำว่าวัฒนธรรมการดูหนังของเขาหมายถึงอะไร หมายถึงเวลา Batman vs Superman เข้า แล้วทุกคนต่างแห่แหนกันเข้าโรงหรือเปล่า หรือวัฒนธรรมการดูหนังหมายถึงการดูในโรงของฉัน ซึ่งคุณไม่ได้ดูความรู้สึกของผู้บริโภค ว่าคนดูหนังไม่ได้มีพฤติกรรมแบบที่คุณคิดว่าเป็นเสมอไป

โอเค คุณทำกระแสทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนไปดู แต่แล้วเมื่อคนไปต้องทรมานใจกับการเสียสตางค์แพงมาก พาลูกไปดู ต้องซื้อป๊อปคอร์น หูย…หมดไปเป็นพันบาท เพื่อที่จะดูหนังเรื่องเดียว แล้วเดือนที่เหลือคุณไม่มีสตางค์ดูหนังเรื่องอื่นอีกเลย หนังกลางหนังเล็กไม่ได้ดู นี่มันใช่วัฒนธรรมการดูหนังหรือเปล่า

เราไม่ได้คาดหวังว่าหนังอย่าง อนธการ คนดูจะมหาศาล แต่หมายความว่า หลังจากคุณดู Batman แล้ว อาทิตย์ต่อไปคุณก็ยังไปดู The Intern ได้อีก หนังที่เป็นฟอร์มกลางๆ ก็ยังพอมีเงินเหลือ เฮ้ย มีหนังไทยน่าสนใจ ไปดูอีกสักเรื่อง แต่ตอนนี้วัฒนธรรมการดูหนังที่โรงสร้างคือ เมื่อมีหนังใหญ่มา ทุกคนแห่ไปดู ใช้เงินกับตรงนั้นให้หมด แล้วหนังเรื่องอื่นๆ ช่างมัน เราว่าอันนี้ไม่ใช่แล้ว


ติดตาม Documentary Station: ฐานที่มั่นของหนังสารคดี / ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ตอนที่ 2 ได้ที่นี่

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า