โปรดหยุดสร้างความไม่เท่าเทียมด้วยความเท่าเทียม!

คอลัมน์: Dualism

เรื่อง: นเรศ ดำรงชัย

 dualism-online-01

 

นอกจากได้ให้กำเนิดสมาชิกครอบครัวตัวน้อยแล้ว พี่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แกเขียนไว้ที่หน้าแฟนเพจเล่าเรื่องความสำเร็จที่ผ่านมาว่า ในรอบปีนี้ไม่เพียงแกได้เดินทางรอบโลก แต่ทุกวันยังมีสมาชิกมาใช้เฟซบุ๊คของแกเรื่อย ๆ (นับที่ใช้งานจริง) วันละไม่ต่ำกว่าพันล้านคน…

…แกกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาจีนเป็นครั้งแรก และบริษัทของแกสร้างฝูงบินไร้คนขับเพื่อแพร่สัญญาณอินเทอร์เน็ตลงมาจากท้องฟ้าให้ชาวบ้านที่ยากจนใช้ฟรี…

แถวบ้านผมที่สุพรรณ คงจะอยากเรียกโครงการนี้ว่า ‘เทกระจาดดิจิตอล’

ยินดีกับพี่มาร์คด้วยครับ นี่ยังไม่นับรวมที่พี่ประกาศจะบริจาค 99 เปอร์เซ็นต์ ของทรัพย์สินบริษัทเพื่อ ‘ความเท่าเทียมของเด็กๆ รุ่นต่อไปในอนาคต’ ด้วยการเอาเงินเกือบทั้งหมดของเฟซบุ๊คไปช่วยเรื่องการเรียนรู้ สู้โรคร้าย และสร้างชุมชน (ให้หมดแล้วยังจะมีเงินเหลือไว้ใช้ส่วนตัวอีกหลายร้อยล้านเหรียญ)

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ถ้ามีคน 10 คนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เก้าคนในนั้นอาจจะยังจนต่อไป แต่หนึ่งคนจะหลุดพ้นความจน

ถ้าจริง สิ่งที่พี่มาร์คพยายามทำตอนนี้ ด้วยการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรีถึงคนที่ยังขาดการเชื่อมต่อเน็ต ให้เข้าถึงหน้าเว็บเบสิคพวกข้อมูลการศึกษา การเกษตร การค้าได้ทางมือถือ (ในเมืองไทยดูเหมือนมีสองค่ายใหญ่เข้าร่วมโครงการแล้ว) ก็น่าจะช่วยให้คนหายจนไปได้แล้วไม่น้อยกว่าล้านคน

ถือว่าเริ่มต้นได้ไม่เลว ยินดีกับพี่มาร์คด้วยครับ

เรื่องราวของมหาเศรษฐีที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความยากจนแทนรัฐบาลไม่ใช่เรื่องใหม่ และเริ่มทำได้โดยที่ตัวเองไม่ต้องโดดเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ทำอยู่ตรงนั้นแล้วชวนรัฐบาลให้เดินเข้ามาร่วมโครงการด้วย (แน่ะ!)

ก่อนหน้านี้ บิล เกตส์ และภรรยา ก็ทำมาแล้ว มูลนิธิของเกตส์มุ่งช่วยแก้ปัญหาโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาหนักในหมู่ประชากรที่ยากจน

ในประเทศร่ำรวยยังมีเศรษฐีนักบุญแบบนี้อีกหลายคน ทำไม?

อาจเพราะประเทศเหล่านี้จนลง สิ่งแวดล้อมมันเริ่มไม่ดีเหมือนก่อน พวกมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยขึ้นมาตั้งแต่ยังหนุ่ม พอแต่งงานมีลูกเสร็จ ก็เริ่มคิดว่า นี่ฉันจะให้ลูกของเราเติบโตขึ้นมาในโลกแบบไหน จะให้อยู่ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ต่อไปล่ะหรือ?

อย่ากระนั้นเลย เศรษฐีขอลุกขึ้นสร้างโลกที่มันเท่าเทียมมากขึ้นดีกว่าไหม

ตอนนี้มีประเทศที่ยากจนลงและความไม่เท่าเทียมในสังคมพุ่งขึ้นสูงเห็นๆ ก็คือสหรัฐอเมริกา เด็กในอเมริการุ่นนี้จะต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างรุนแรง หนังสือเล่มล่าสุดชื่อ Human Capital ของ บริงค์ ลินซีย์ (Brink Lindsey) บอกว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มที่รายต่ำมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ พวกปานกลาง 0.8 เปอร์เซ็นต์ แต่พวกรายได้สูงเพิ่มขึ้นถึง 1.8 เปอร์เซ็นต์ ประเทศอื่นก็มีอาการคล้ายๆ กัน ในเยอรมนีความยากจนเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งเทียบกับ 15 ปีก่อน สวีเดน อังกฤษ กับญี่ปุ่น ที่เคยเป็นแม่แบบของสังคมที่เท่าเทียมกัน ตอนนี้ก็เริ่มมีคนจนเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก

ถ้าจะย้อนกลับไปถึงสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ตำราฉบับเก่าๆ ของนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า มันเป็นผลมาจากสงครามระหว่างเทคโนโลยีกับการศึกษา เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป อุตสาหกรรมเปลี่ยน ก็สร้างความต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น แต่ระบบการศึกษาไล่ตามผลิตแรงงานที่มีทักษะไม่ทัน บรรดาแรงงานที่มีทักษะสูงจึงได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นจากพรีเมียมที่เกิดขึ้น ส่วนแรงงานราคาถูกก็ยิ่งถูกลง

ผลก็คือ ความเหลื่อมล้ำ ที่ถูกกระแสโลกาภิวัฒน์ตามมาตอกย้ำ และทำให้งานของกลุ่มที่ทักษะต่ำหายวับไปกับตา (ช่วงนี้ไปโผล่อยู่แถวประเทศจีน) เป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงเรียบร้อย

ก็คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า นอกจากคนจนเพิ่มขึ้นแล้ว ต้นเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำก็มาจากพวกอยู่บนยอดปิรามิดที่ร่ำรวยอยู่แล้วยิ่งรวยขึ้น รวยระเบิด รวยเละเทะ แบบพี่มาร์คของเรานี่แหละครับ

เพราะว่าความเหลื่อมล้ำมันมาพร้อมกับระบบทุนนิยม ใน 10 คนที่ได้รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่พี่มาร์คและพวกเทกระจาดลงมาให้ เมื่อเข้าถึงเว็บไซต์เบสิคต่างๆ โอกาสที่ได้รับหยิบยื่นให้นั้นก็จะถูกนำไปใช้ทำให้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ หรือทำกิจการเล็กๆ ของตัวเอง เอาเป็นช่องทางไปลงทุนบ้างอะไรบ้าง

ถ้าลองมองโลกแง่ดีสุดๆ ไม่แน่ว่า ในที่สุดหนึ่งใน 10 คนนั้นก็อาจจะผันตัวเองมาเป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ ได้ดิบได้ดีถึงขั้นเป็นเศรษฐี สามสี่คนอาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากโอกาสที่ได้รับทำให้กลายเป็นผู้ประกอบการ หรือมีความรู้พอที่จะเป็นลูกจ้างที่ดีได้ แต่อีกห้าหกคนอาจจะยังอยู่ในสภาพยากจนต่อไปเหมือนเดิม เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะใช้โอกาสที่ได้มาไปทำอะไรดี

สรุปก็คือ ถึงพี่มาร์คจะออกตัวอย่างสง่างาม ให้โอกาสคนอื่นเพื่อให้เขาเลือกที่จะหลุดพ้นความจน แต่ก็กลับทำให้สังคมต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมที่มากขึ้นค่อนข้างแน่นอนอยู่ดี

ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นได้แบบพี่มาร์ค วันนี้และในอีกหลายวันข้างหน้า พวกเราส่วนใหญ่จะยังอยู่ในตลาดแรงงาน ทุกๆ ครั้งที่เกิดการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ในแบบของชุมปีเตอร์  (Joseph Schumpeter) เจ้าของลัทธิ creative destruction ที่ในแวดวงนวัตกรรมชอบพูดถึง มันได้เกิดการผลัดเปลี่ยนความต้องการของแรงงาน จากยุคเกษตรมาสู่ยุคอุตสาหกรรม และตอนนี้เข้าสู่ยุค ‘หลังอุตสาหกรรม’ มาเป็นยุคบริการ แรงงานในสังคมแบบเดิม การศึกษาแบบเดิม ก็จะขาดทักษะใหม่ ทำให้ ‘ไปไม่เป็น’

ยิ่งโอกาสในการได้รับการศึกษา โอกาสในการจ้างงานในสังคมเริ่มเกิดความเท่าเทียม เราก็ยิ่งเริ่มเห็นความไม่เท่าเทียมมากขึ้น อันหนึ่งที่น่าสังเกตคือ อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะชายปรับตัวไม่เก่งเท่าหญิง

ในโลกยุคหลังอุตสาหกรรมวันนี้เราเน้นการบริการ ผู้หญิงเริ่มมีโอกาสมากกว่าผู้ชายแล้ว และไม่ใช่เฉพาะโอกาสในการทำงานเท่านั้นนะครับ สมัยนี้ผู้หญิงถ้าไม่เลือกเป็นโสด ก็มักเลือกแต่งงานกับชายที่มีฐานะและการศึกษาดีกว่า หรือพอๆ กัน

ตรงนี้มีผลสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคมสูงมาก เพราะคู่หญิงชายที่ฐานะดี การศึกษาดี ก็จะสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว ปีนบันไดสังคมได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น และกลุ่มนี้ก็จะรวยขึ้นเร็วกว่ากลุ่มอื่น เหมือนที่ปรากฏในอเมริกาอย่างที่บอกไปตอนต้น ถึงผู้หญิงโสด ก็มีแนวโน้มจะเลี้ยงตัวเองได้ดีในโลกยุคนี้ และถ้ามีลูก ผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะดูแลลูกได้ดีกว่า

ฉะนั้นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุดคือ พวกผู้ชายที่รายได้น้อย การศึกษาต่ำ โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวันสำหรับพวกเขา เพราะสังคมเดียวกันนี้ทำให้พวกเขามีโอกาสหางานได้น้อย และหาคู่ครองได้ยากพร้อมๆ กันยิ่งไปกว่านั้นยังมีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า เด็กชายที่มาจากครอบครัวที่หย่าร้างจะสร้างความมั่นใจในตัวเองได้น้อยกว่าเด็กชายจากครอบครัวที่อบอุ่น

หากบ้านและครอบครัวเป็นเวิร์คชอปที่มีไว้ผลิตทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยม คุณภาพของแต่ละเวิร์คชอปที่แตกต่างกันก็คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต่อให้มีโอกาสที่เท่าเทียมกันทั้งโลกในการเข้าถึงความรู้ด้วยต้นทุนที่ต่ำเพียงใด ถึงในอนาคตห้องสมุดทุกแห่งในโลกจะเข้าไปอยู่ในอินเทอร์เน็ตและเปิดอ่านได้หมดอย่างไรก็ตาม…

…ความสามารถของมนุษย์ในการฉกฉวยโอกาสเหล่านั้น ก็ย่อมมีไม่เท่ากัน

แปลว่า ระบบทุนนิยมน่ะ น่าจะต้องการกลไกเสริม เพื่อลดความ ‘ถ่าง’ ระหว่างคนมีมากกับคนมีน้อย ให้มันเหลือน้อยลงหรือช้าลงระดับหนึ่ง เพราะความถ่างจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา นอกจากอินเทอร์เน็ตแล้ว จากนี้ไปเรายังจะต้องเจอกับความแพร่หลายของระบบพิมพ์สามมิติ ความจริงเสมือน นาโนเทคโนโลยี ยาฆ่ามะเร็งประสิทธิภาพสูง ฯลฯ แม้แต่ฝูงบินไร้คนขับของพี่มาร์ค (ก็คือหุ่นยนต์ประเภทหนึ่ง) ก็ทำให้เกิดความถ่างเหมือนกัน

ทุกอย่างแม้แต่เทคโนโลยีที่ช่วยรักษาชีวิตหรือเพิ่มคุณภาพชีวิต ก็ล้วนเพิ่มความเหลื่อมล้ำทั้งนั้นในระยะแรก ถึงแม้ต่อมาเทคโนโลยีที่เคยใหม่จะกลายเป็นของซื้อของขายราคาถูกเหมือนน้ำประปาหรือโทรศัพท์มือถือวันนี้ก็ตาม แต่ก็จะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างความเหลื่อมล้ำได้อยู่เรื่อยๆ เพราะมันคือสิ่งที่ผู้คนในโลกปัจจุบันพยายามแสวงหา เพื่อสร้างความแตกต่างและ ‘ระดับ’ ให้กับตัวเอง

ณ วันนี้สองมือของรัฐจึงมีหน้าที่ชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มือขวาของรัฐจะต้องใช้กลไกภาษีที่พอเหมาะ คือมากพอที่จะถึงเงินมาจากมือของคนรวย แล้วกระจายรายได้กลับไปยังกลุ่มที่รายได้น้อยและทั่วถึง แต่ไม่มากเกินไปจนถึงขั้นทำลายแรงจูงใจในการเข้าสู่ธุรกิจหรือประกอบกิจการในอุตสาหกรรมใหม่…

และมือซ้ายของรัฐก็จะต้องเร่งเอาภาษีที่เก็บได้ มาสร้างเบาะรองรับคนที่บอบช้ำจากความไม่มั่นคงในชีวิต ที่เกิดขึ้นมาจากความผันผวนของโลกทุนนิยมนี่เอง แต่ก็ต้องมีวิธีช่วยให้คนเหล่านั้นที่ล้มลงบนเบาะ ให้ลุกขึ้นมาสู้ได้ใหม่อย่าทำเบาะให้นุ่มเกินไป จนคนที่ล้มลงไปเอาแต่นอนเฉยๆ ไม่อยากจะลุกขึ้นมา

ความมั่งคั่งร่ำรวยที่สร้างขึ้นมาจากระบบทุนนิยม กับความเป็นรัฐสวัสดิการคงเป็นสองสิ่งที่หนีกันไม่พ้น ประเทศต้องพยายามสร้างรายได้แต่ยิ่งมีรายได้มากขึ้น ก็ยิ่งต้องเอารายได้มาดูแลคนที่ไม่ได้ถูกเหลียวแล ทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็น feature ของระบบทุนนิยมที่ต้องไปคู่กัน

สำหรับพวกเราที่วันนี้ยังฝันอยากจะเป็นเหมือนอย่างพี่มาร์ค ระหว่างที่ยังมีวันเวลา สงสัยว่าจะต้องช่วยกันลดความต้องการมหาศาลทางวัตถุ สร้างครอบครัวที่ดี และหล่อเลี้ยงชุมชนให้มีศักดิ์ศรี และมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ แล้วหาไอเดียดีๆ ที่เอาวัตถุใกล้ตัวมาใช้อย่างสร้างสรรค์ก็ไม่เลว

โทรศัพท์มือถือแบรนด์ดังเครื่องละ 30,000 มีแล้วก็ไม่ต้องเลิกใช้หรอก แต่ถ้าวันนี้จะเลือกซื้อก็ขอเอาชนิดเครื่องละไม่กี่พัน มันทำได้เหมือนกันทุกอย่าง ลองใช้มันให้คุ้มดีไหม เพราะในมือของคนจน นี่ก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับสร้างรายได้เหมือนกัน

ยิ่งบ้านเรามีทุกอย่างพร้อม ไม่ต้องรอให้มีใครมาเทกระจาดก็ทำอะไรได้เยอะอยู่นะครับ

 

Author

นเรศ ดำรงชัย
นักคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี ผ่านงานในสายวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งศึกษาวิจัยและบริหาร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ นเรศ ดำรงชัย รักที่จะหยิบเรื่องราวของงานวิจัยล่าสุดมาแบ่งปันในคอลัมน์ Dualism เสน่ห์ที่เป็นจุดเด่นคือการแบ่งปันมุมมองที่เปี่ยมอารมณ์ในทุกตัวอักษร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า