มอง Ebola แบบคนบ้าๆ

Ebola_virus_em

เรื่อง: กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

อีโบลา เป็นไวรัสที่รู้จักกันดีว่ามีอยู่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว (แต่ไม่กระจาย) การแพร่กระจายของอีโบลาเกิดขึ้นครั้งแรกในซาอีร์ เมื่อปี 1976 มันจู่โจมโรงพยาบาลทั้งคนไข้ หมอ พยาบาล แม่ชี ตายเรียบ ขณะที่คนอื่นนอกโรงพยาบาลรอด

สาเหตุนั้นชัดเจนคือ มันเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลในชุมชนที่ยากจน และพื้นที่ที่ไม่มีสถานพยาบาลมากพอ ด้วยคุณภาพที่ย่ำแย่ของการรักษาพยาบาล และการใช้เข็มที่ติดเชื้อ ขณะที่ย่านคนมีอันจะกิน และชุมชนคนต่างชาติ (สหรัฐและยุโรป) ที่ได้รับการบริการสาธารณสุขชั้นเยี่ยมไม่มีปัญหานี้

นักระบาดวิทยารู้ดีว่า การเกิดขึ้นของโรคมักจะเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับบริบททางสังคม

ถอดความจากหนังสือ Infections and Inequality: The Modern Plagues
โดย Paul Farmer, 1999

ณ เวลาที่เขียนคอลัมน์นี้ ไวรัสอีโบลาได้คร่าชีวิตพลโลกไปแล้วทั้งสิ้น 1,350 คน จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 2,473 รายที่พบในแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

บอกความรู้สึกของตัวเองไม่ถูกเหมือนกัน เมื่ออ่านข่าวแพทย์อาสาชาวอเมริกัน 2 รายที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจากการไปทำงานที่ไลบีเรียได้รับการรักษาจนหาย และออกจากโรงพยาบาลในเมืองแอตแลนตา สหรัฐ ได้แล้ว ขณะที่ชาวไลบีเรียในชุมชนแออัด ‘เวสต์พอยต์’ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของกรุงมันโรเวียของประเทศ ถูกประกาศเป็นพื้นที่กักกัน มีการสร้างรั้วด้วยเศษไม้และลวดหนามไม่ให้มีใครเล็ดลอดออกมาได้ โดยอ้างว่าเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา และกองทัพยังใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริงขับไล่ผู้ประท้วงที่ขว้างปาก้อนหินด้วยความไม่พอใจที่ถูกกักกันและปล่อยให้อดอยากขาดแคลน

นายแพทย์พอล ฟาร์เมอร์ อาจารย์แพทย์ผู้อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ยากในประเทศยากจนอย่างมุ่งมั่น ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ของฮาร์วาร์ดจนถึงทุกวันนี้ เคยบอกว่า คนจนไม่ใช่ ‘คนอื่น’ ในบริบทของเชื้อโรค เพราะเชื้อโรคไม่รู้จักพรมแดน เชื้อโรคเป็นโลกาภิวัตน์ วันนี้มันอาจจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ของคนยากจน แต่ใครจะมั่นใจได้ว่า มันจะจำกัดตัวเองในกรอบแค่นั้น

เมื่อเดือนที่แล้ว เขาเพิ่งเดินทางไปแอฟริกาตะวันตก และพบว่ามีการติดตั้งเครื่องตรวจอุณหภูมิร่างกายที่ท่าอากาศยาน นั่นอาจเป็นสัญญาณทางบวกที่ประเทศเหล่านี้เริ่มมีระบบสาธารณสุขป้องกัน

“แต่หนทางที่ดีที่สุดในการหยุดไวรัสอีโบลา คือ การไปสร้างระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในแอฟริกา ที่คนไข้สามารถเข้าถึงการบริการรักษาได้ แม้อยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล และสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเมือง มันเป็นการแก้ปัญหาการระบาดของโรคที่ยั่งยืนกว่า แม้แต่กับโรคระบาดที่ติดต่อทางลมหายใจที่รุนแรงมากกว่าอีโบลา”

จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนของโลก อีกข้อเสนอแนะคือ “ในพื้นที่ยากจนมากๆ และไม่มีสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน การทำให้รักษาโรคอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโครงการเหล่านี้ให้เงินสนับสนุน และมีการสนับสนุนทางโภชนาการที่ดี พูดง่ายๆ คือ ต้องให้ผู้ป่วยมีกินก่อน เขาจึงมีปัญญาที่จะรักษาตัวเอง”

แต่สำหรับคุณหมอฟาร์เมอร์แล้ว เขาไม่แปลกใจเลย ที่พบว่าไม่มีใครใส่ใจในสิ่งที่เขาเสนอ ระบบสาธารณสุขของรัฐในประเทศเหล่านี้ยังคงถูกทอดทิ้ง ไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่มียา ไม่มีบุคลากร ไม่มีอะไรทั้งนั้นสำหรับคนจน ยังไม่นับบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกดูดไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้วจนเกือบหมดประเทศ

จะว่าไป นี่อาจเป็นมุมมองของหมอบ้าๆ คนหนึ่ง ที่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์เคยได้รับใบทวงหนี้ก้อนใหญ่จากโรงพยาบาลแห่งเมืองบอสตันที่เขาทำงานอยู่ เพราะเขาเล่นเอายา วัสดุ เครื่องมือทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ไปใช้รักษาคนจนที่ประเทศเฮติ

คนสติดีๆ ต้องไปติดตามการแก้ปัญหาอีโบลาที่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาความมีประสิทธิผลของยา ZMapp และยาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในมนุษย์ แต่เพราะวิกฤตินี้ ทำให้มันได้รับการอ้าแขนรับ แม้กับองค์การอนามัยโลก

แทบไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำไปว่า TEKMIRA บริษัทไบโอเทคเล็กๆ เจ้าของยา ZMapp มีผู้สนับสนุนทางการเงิน 2 เจ้าใหญ่ในโครงการพัฒนายาตัวนี้ คือ Monsanto อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก ที่เป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรมเกินกว่าค่อนโลก และกระทรวงกลาโหม สหรัฐ

และเชื่อว่า ไม่มีใครใส่ใจว่ายา ZMapp ถูกพัฒนามาจากการตัดต่อพันธุกรรมต้นยาสูบที่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องผลข้างเคียงของยา และการปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายระยะยาว

กล่าวให้ถึงที่สุด มีไม่กี่คนที่รู้ว่า ขณะนี้ไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ที่ระบาดในอูกันดาเมื่อปี 2007 ถูกจดสิทธิบัตรโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevaention: CDC) ของสหรัฐ ที่ครอบคลุมทั้งตัวไวรัส จีโนม วิธีการแบ่งตัว การควบคุมการแบ่งตัว วิธีการเตรียมวัคซีน ฯลฯ

ทำให้ ไมค์ อดัม ผู้สื่อข่าวของ The Health Range คิดบ้าๆ ไปว่า นี่อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการนำ นายแพทย์เคนท์ แบรนท์เลย์ และ แนนซี ไรท์โบล แพทย์อาสาชาวอเมริกันที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจากไลบีเรีย กลับมารักษาที่โรงพยาบาลในสหรัฐ ทั้งที่อาการป่วยเขาไม่ได้หนักหนาเลย

“สิทธิบัตรฉบับนี้กำลังช่วยอธิบายว่า ทำไมผู้ป่วยอีโบลาจึงถูกส่งกลับสหรัฐ และอยู่ภายใต้ความดูแลของ CDC เพราะคนไข้เหล่านี้กำลังแบกทรัพย์สินทางปัญญาอันทรงมูลค่าในรูปของไวรัสอีโบลาที่จะทำให้ CDC สามารถขยายการถือครองสิทธิบัตรให้กว้างขวางออกไปจากสายพันธุ์ที่ครอบครองอยู่”

อะจ๊าก!!! คิดบ้าๆ

อีตานักข่าวของ The Health Range รายนี้ยังไม่หยุดฟุ้ง เที่ยวไปจับผิดวัคซีน ซึ่งขณะนี้บริษัทที่เป็นเจ้าของและประเทศร่ำรวยใจอารีส่งไปทดลองในมนุษย์ แม้จะอยู่ในช่วงการทดลองในสัตว์ก็ตาม

…ไม่ต้องลากไปถึงทฤษฎีสมคบคิดใดๆ แต่ขอให้เบิ่งตากว้างๆ ดูว่า ใครจะได้กำไรมหาศาลจากการระบาดคราวนี้บ้าง…

“น่าเศร้าที่ในประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุขชี้ชัดว่า อุตสาหกรรมยา ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐ องค์การอนามัยโลก มักจะเล่นบทบาทที่สอดคล้องจนนำไปสู่การสนับสนุนยอดขายยา

“ผมไม่ได้กำลังบอกว่า การระบาดครั้งนี้ไม่จริง หรือไม่น่าเป็นห่วง มันเป็นเรื่องจริง แต่เราจำเป็นต้องสงสัยว่าใครบ้างจะได้รับกำไรดอกผลจากการระบาดของโรคติดต่อครั้งนี้

“จำกันได้ไหม บริษัทผู้ผลิตวัคซีนทำกำไรเป็นพันล้านจากไข้หวัด 2009 และอีกหลายร้อยล้านจากการที่ประเทศต่างๆ ต้องสำรองวัคซีนจำนวนมากที่ต่อมาก็ต้องทำลายวัคซีนเหล่านั้นเมื่อไม่นานมานี้”

เฮ้อ!!! โลกใบนี้มีคนบ้ามากจริงๆ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
naturalnews.com
matichon.co.th
manager.co.th
pri.org/programs/the-world
รายงาน ‘Power & Health’ จาก prachatai.com

**********************************************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Itchy world นิตยสาร WAY ฉบับที่ 77)

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า