Editor 06

เนื้อเพลงของ เซอร์เอลตัน จอห์น ที่ว่า “Sorry seems to be the hardest word” คงจะเป็นเรื่องจริง ว่าสิ่งที่หนักปากมนุษย์ที่สุดก็คือคำขอโทษอย่างจริงใจนี่แหละ

‘ขอโทษ’ ดูเหมือนจะเป็นคำติดปากเราๆ ท่านๆ แต่คำขอโทษก็มีน้ำหนักหลากหลาย “ขอโทษนะครับ” “โทษทีค่ะ” เราเอ่ยคำนี้เมื่อแทรกตัวหาที่ว่างในรถไฟฟ้า เหยียบเท้าคนบนรถเมล์ หรือแม้แต่ตอนเดินผ่านพนักงานร้านสะดวกซื้อขณะที่เขาหรือเธอกำลังก้มหน้าก้มตาถูพื้น

ผมไม่ค่อยแม่นยำเรื่องที่มาของคำ ‘ขอโทษ’ ‘ขออภัย’ ว่าต่างกันอย่างไร แต่เอาจากรูป คำแรกคือการเรียกหาโทษ “ลงโทษฉันเถิด” แต่คำหลังขอการให้อภัย ซึ่งดูไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่

ทีนี้ก็เลยลองไปค้นภาษาอังกฤษดูว่ามีความลักลั่นซับซ้อนแบบนี้หรือเปล่า แล้วก็พบว่า การขอโทษ หรือ apology มีต้นทางและการใช้สอยที่น่าสนใจทีเดียว

apology มาจากคำกรีกว่า apologia ในความหมายเดิม คือการพูดเพื่อป้องกันตนเอง แก้ตัวด้วยการยกเหตุผลต่างๆ นานาขึ้นมาอ้าง แต่สำหรับบริบทของโลกสมัยใหม่กลับไม่ใช่แบบนั้น การขอโทษมีมิติที่เปลี่ยนไป การขอโทษที่แท้จริงไม่ใช่การแก้ตัว แต่คือการยอมรับผิด แสดงความเสียใจ อย่างต่ำๆ ของการขอโทษต้องมีน้ำเสียงที่ปราศจากคำแก้ไขหรือกล่าวอ้างเพื่อแก้ตัว นั่นคงเป็นสิ่งที่ทำให้การขอโทษเข้าใกล้คำว่า ‘สารภาพ’

แต่สองคำนี้ก็ยังมีข้อต่าง การขอโทษคือการสื่อสารโดยตรงที่ส่งจาก ‘ผู้กระทำ’ ถึง ‘ผู้ถูกกระทำ’ -“ผมผิดไปแล้วที่เชื่อว่า บลาๆๆ” ไม่เหมือนคำสารภาพที่เราพูดกับใครก็ได้ เราสารภาพผิดกับเพื่อนสนิท “สารภาพเลย ผมรู้สึกผิดกับพวกเขาที่ บลาๆๆ” เราสารภาพกับบาทหลวง สื่อสารถึงพระเจ้าเพื่อขอไถ่ถอน ไถ่บาป และการให้อภัย ตรงนี้น่าจะทำให้การกล่าวคำว่า ‘ขอโทษ’ อย่างจริงใจมีความหมายมากกว่าการสารภาพ

เพราะการขอโทษคือการยอมรับผิดนี่แหละครับ มันจึงเป็นการถอดหน้ากาก เปลือยความผิดให้สาธารณะได้รับรู้ มันมีลักษณะของความน่าละอายมากว่าการสารภาพ อาจถูกหมิ่นหยาม ตราหน้าว่าทำผิด เลยทำให้ ‘ขอโทษ’ เป็นหนึ่งในคำที่พูดออกมาได้ยากเย็นทีเดียว

แต่สำหรับคนที่ไม่รู้เลยแม้แต่นิดว่าการกระทำของตัวเองนั้นฝากผลอะไรเอาไว้บ้าง เมื่อเขาไม่คิดว่าทำอะไรผิด ก็ไม่ต้องคิดถึงคำขอโทษ-ก็ถูกตามตรรกะของเขานะ ในอีกด้าน เราก็ไม่จำเป็นที่จะเรียกร้องการสำนึกอะไร เพราะแม้จะถอดหน้ากากออกมา แต่ความยโสและความขลาดเขลาก็ยังทำหน้าที่ต่างเข็มและด้ายที่เย็บปากของเขาไว้ เสียงที่เล็ดลอดออกมาก็คงเป็นคำขอโทษที่ไม่มีทางแปลเป็นคำสารภาพ อย่างมากก็เป็นได้แค่ถ้อยคำแก้ตัว ฟอกตัว เพื่อให้ตัวเองได้สบายใจ ได้มีที่เหยียบยืนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขอโทษคือส่วนหนึ่งของการเมืองด้านความสัมพันธ์ในสังคมมนุษย์ เมื่อมีผู้เอ่ยคำขอโทษ จึงมีผู้เอ่ยคำให้อภัย และการยกโทษหรือการให้อภัยก็ถูกสร้างให้มีความสูงส่งในมุมศีลธรรม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่ ก็ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ คือความเมตตา เป็นสิ่งสุดยอดที่มนุษย์พึงมอบให้แก่กัน แม้การขอโทษอย่างจริงใจจะไม่ได้เรียกร้องขอการให้อภัยก็ตาม

ที่จะพูดคือ การให้อภัยไม่ใช่สิ่งเลวร้ายครับ แถมเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะมันช่วยเยียวยาได้ในทางความคิด ความรู้สึก และซ่อมแซมสิ่งนามธรรมอีกหลายอย่าง ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่หากมองที่ผลของการกระทำ โครงสร้างบางอย่างถูกโค่นลง คงไม่มีใครสามารถทำหน้าที่พระเจ้าไปไถ่ถอนบาปให้ใครต่อใครได้หมดจด

มีคำกล่าวว่า “การให้อภัยคือการแก้แค้นที่ทำให้คาวเลือดมีรสละมุนที่สุด” การให้อภัยคือการผลักให้ผู้เอ่ยคำขอโทษต้องอยู่กับความผิดของตนเอง ต้องเผชิญหน้ากับอดีต คำขอโทษ ความเสียใจ คำสารภาพ จึงตกเป็นสมบัติของเขา ตีตราผูกตรวนติดไว้กับเขา แม้ว่าเราจะมอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการให้อภัยไปแล้วก็ตาม

ที่สำคัญ สองคำที่กล่าวมา ขอโทษและให้อภัย ถึงจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ก็ไม่มีอะไรแก้ไขหรือลบล้างอดีตที่เป็นต้นกำเนิดของเหตุการณ์ในปัจจุบันได้

และไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นบนทางข้างหน้า บาปนี้จะติดอยู่กับพวกเขาไปอีกนาน

 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า