การเมืองอยู่รอบตัวเรา

ก่อนจะคุยกัน ดูภาพที่ผมแปะไว้น่าจะชัดเจนนะครับว่า จุดยืนของผมในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ขออภัยหากสร้างความชิงชังหมั่นไส้

แต่เวลาเราจะพูดคุยถึงการตัดสินใจทางการเมือง สิ่งที่เราควรแสดงออกในเบื้องต้นคือความแจ่มชัด เนื่องจากจุดยืนทางความคิดมันไม่ใช่เทคนิคทางถ้อยคำ วาทศิลป์ หรือวรรณกรรม ที่ต้องอาศัยความคลุมเครือ ยอกย้อน เล่นลิ้น ปลิ้นอยู่ในปลักของถ้อยคำสำนวน กระทั่งเรียกร้องการตีความโดยไม่จำเป็น

เมื่อจุดยืนชัด ค่อยมาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล และเมื่อได้คุยกันด้วยเหตุด้วยผลแล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องประกาศผลแพ้ชนะให้โลกรับรู้ทันทีทันใดเวลานั้นก็ได้

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันลงประชามติ มีเพื่อนสื่อมวลชน นักรณรงค์ นักศึกษา นักกิจกรรม แวะเวียนมาใช้สอยให้ผมพูดเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง และเท่าที่ได้พูดคุย มีคำถามสำคัญคล้ายคลึงกันอยู่สองสามข้อ

หนึ่ง – ผมได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือยัง

คำตอบคือ ผมอ่านแล้ว เนื่องจากวิชาชีพที่ผมทำมาตลอด 20 กว่าปี สอนให้ผมย้อนกลับไปหาข้อมูลต้นทางเสมอก่อนที่จะวินิจฉัยเรื่องใดๆ การอ่านแค่คำวิจารณ์หรือการตีความชั้นสองชั้นสาม ก่อให้เกิดความผิดพลาดมานักต่อนัก

ไม่ต้องถามผมก็ตอบต่อว่า แต่ด้วยความรู้อันจำกัด ผมย่อมไม่สามารถตีความหรือทำความเข้าใจเทคนิค ภาษา เจตนารมณ์ทางกฎหมายได้หมดจดเที่ยงตรงทุกถ้อยคำ จำเป็นต้องอาศัยไถ่ถาม ติดตามอ่านคำวิจารณ์ประเด็นสำคัญๆ จากผู้มีความรู้ อาทิ นักกฎหมายมหาชน นักรัฐศาสตร์ เพื่อชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบ เช็คไขว้ไปไขว้มาตามธรรมชาติคนทำงานสื่อ

+ + +

คำถามที่สอง อะไรคือสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประเด็นสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อนี้ตอบได้กว้างขวางมาก แต่ถ้าหากเรายอมรับในหลักที่ว่านี่คือการตัดสินใจทางการเมืองอย่างหนึ่ง ผมก็ได้รับคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์มาว่า นิยามที่รวบรัดที่สุดของคำว่าการเมือง ก็คือ ‘การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ’

เมื่อรัฐธรรมนูญคือข้อตกลงหลักในการอยู่ร่วมกันของคนทั้งประเทศ ผมจึงสนใจว่า แล้วความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมนั้น มันถูกออกแบบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างไร

ข้อสรุปในเรื่องนี้หลังจากที่ผมได้จากการอ่านก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบไว้โดยเพิ่มน้ำหนักให้ ‘อำนาจพิเศษ’ มีบทบาทสูงขึ้น ความเชื่อมโยงระหว่างเสียงและความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะผ่านอำนาจบริหาร หรือการออกแบบกติกากฎหมายผ่านอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตของเราถูกริบทอนลง ทั้งโดยข้อกำหนด กติกา ที่มาของ สส. สว. และการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายตุลาการที่มาจากการแต่งตั้ง

แนวคิดเรื่องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ มันสะท้อนถึงทัศนะและเจตนารมณ์ของการเขียนร่างรัฐธรรมนูญว่า เขามองประชาชนอย่างไร แต่เราอย่าเพิ่งเอาไปปนกับการตรวจสอบถ่วงดุล จะเพื่อป้องกันทุจริตหรือเพื่อผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนควรได้รับก็ตาม

พูดตามตรง สองปีที่ผ่านมา หากเรายังหลงเหลือสติสัมปชัญญะอยู่บ้าง เราก็คงตระหนักรับทราบบ้างแล้วว่า มันไม่ได้มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่โกงเป็น ในบรรดาค่าโง่ค่าเสียโอกาสอันเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันก็ไม่ได้มาจากน้ำมือนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียว

ที่ผ่านมา นักการเมืองถูกตรวจสอบพบทุจริตเพราะระบบเปิดให้ตรวจสอบ นักการเมืองถูกจิกหัวด่าอย่างคล่องลิ้นคล่องปาก เพราะระบบมันออกแบบไว้อย่างนั้น แต่ลองนึกใหม่ให้ดีๆ ก็ได้ว่า แล้วมันมีองค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันใดอีกบ้าง ที่ไม่อนุญาตให้เรามองเห็นและตรวจสอบ

หากจะชูจุดขายว่า นี่คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แนวคิดสำคัญของการตรวจสอบคือต้องเปิดเผย มองเห็น และยึดโยงกับผู้คน ไม่ใช่การแต่งตั้งผ่านเครือข่ายอำนาจที่ยากแก่การตรวจสอบ

พ้นไปจากเรื่องน่าเบื่อเหล่านี้ ประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจ ยังสามารถดูได้จากเจตนารมณ์ในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนสิทธิ์เดิมที่ประชาชนเคยมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสุขภาพ รวมถึงการต้องตีความนับปีเรื่องสวัสดิการการศึกษาพื้นฐาน การดูแลสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงทรัพยากรท้องถิ่น กลายมาเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลจัดให้

สิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดก็คือ จากสิทธิ์และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เคยมี กลับกลายเป็นว่าหลายๆ อย่างต้องรอให้ทานรอการสงเคราะห์จากรัฐ

+ + +

คำถามที่สาม ทำไมผมจึงเลือกโหวตโน ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่ากระบวนการไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น แล้วจะเข้าไปร่วมสังฆกรรมทำไม

ความไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้นทางของร่างรัฐธรรมนูญ อันไม่ได้ยึดโยงผ่านตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมัติจากคนส่วนใหญ่เป็นปัญหาหนึ่ง กระบวนการระหว่างการทำประชามติที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เรื่องนี้เราท่านต่างรู้ดี

แต่ของแบบนี้บางทีมันมีตัวแปรและวิธีคิดตัดสินใจมากกว่าเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทางการเมือง

มันไม่ใช่แค่ว่า ถ้าตัดสินใจโนโหวตแล้วจะนับคะแนนอย่างไร จะหาตัวชี้วัดเจตนารมณ์อย่างไร อะไรเป็นหลักฐานยืนยันรูปธรรมของวิธีคิดแบบนี้หรอก

ถูกผิดไม่แน่ใจนะครับ แต่การโหวตโนเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับวัตรปฏิบัติของผมโดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องดัดแปลง หรือสรรหาถ้อยคำมาเล่นลิ้นอธิบาย เช่น หลายครั้งเรารู้อยู่แก่ใจว่ากติกาเวทีนี้ไม่เป็นธรรม แต่ครั้นจะไม่ขึ้นไปสู้ ก็จะเกิดคำถามรบกวนจิตใจไปอีกนาน

พูดภาษาเด็กผู้ชายก็คือ เวลาชกกับคนตัวใหญ่กว่า เขาอาจทุบเราจนกองกับพื้น แต่หมัดที่เราทิ่มหน้าเขาไปเพียงครั้งเดียวนั้น ส่วนใหญ่มักจะสร้างความจดจำให้กับคนตัวใหญ่ที่เกเรได้เสมอ

วันหน้าวันหลัง ไอ้คนตัวใหญ่นั้นมันจะไม่กล้าเกะกะระรานเราพร่ำเพรื่อ

+ + +

แน่นอนครับว่า ส่วนตัวผมแล้วการออกไปโหวตโนคือการแสดงออกทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผมไม่ยอมรับการรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับเพื่อนของผมอีกจำนวนมากเขาก็ไม่ได้คิดแบบผม อีกทั้งผมเองก็ไม่เคยบังคับขู่เข็ญให้ใครต้องมาคิดแบบผม

คุณจะโหวตเยสหรือโหวตโนก็ได้ กระทั่งจะโนโหวตก็มีถมไป

แต่สำหรับเพื่อนสองกลุ่มแรกที่จะออกไปส่งเสียงในคูหา ผมมักนึกถึงพฤติกรรมปกติในชีวิตประจำวันของเรา นึกถึงเวลาจะซื้อข้าวซื้อของชิ้นใหญ่เข้าบ้าน เรายังต้องเช็คข้อมูลแล้วเช็คข้อมูลอีก นอกจากอ่านโบรชัวร์ โฆษณา บรรยายคุณลักษณะสรรพคุณแล้ว เรายังต้องเข้าไปเช็คปฏิกิริยาคนที่เคยใช้ เข้าไปอ่านชุมชนคนที่เขาคลุกคลีกับเรื่องนั้นๆ อยู่นาน กว่าจะตัดสินใจเลือกอะไรเอาอะไร

+ + +

คำถามพ่วง: แล้วถ้าเช่นนั้นควรเริ่มอ่านจากอะไร

เนื่องจากเพื่อนมิตรส่วนใหญ่ของผมล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีต้นทุนทางสติปัญญา คำแนะนำซื่อๆ ของผมคือ ควรเริ่มด้วยการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มครับ

แล้วถ้าไม่มีเวลา ธุรกิจเยอะ ต้องดูแลครอบครัว ต้องทำมาหากิน จะให้ทำไง

คำตอบคือ ถ้าเช่นนั้นให้ลองอ่านเอกสารประชาสัมพันธ์ของ กกต. ที่ส่งไปที่บ้าน อ่านเอกสารเผยแพร่ของ กรธ. เป็นเบื้องต้น

จากนั้นก็อย่าลืมถามตัวเองว่า โดยปกติแล้วเวลาเราจะซื้อของชิ้นใหญ่ๆ เราเชื่อคำโฆษณาในโบรชัวร์ทันทีทันใดหรือไม่ เราเข้าเว็บพันทิพหรือเปล่า เราดูโซเชียลมีเดียที่เขาวิจารณ์เรื่องนี้ไหม

ถ้าตอบว่าใช่ ก็ลองดูครับ ข้อมูลมีเยอะแยะ แนะนำแบบไม่ต้องอ้อมค้อมก็คือ ลองเข้าไปอ่านเว็บ กกต. เว็บ กรธ. หรือจะอ่านเพจส่วนตัวคุณสมชัย อ่านเพจ กรธ. รายบุคคลก็ได้

จากนั้นลองกลั้นอกกลั้นใจคลิกเข้าไปอ่านเพจ iLaw ที่คนหนุ่มคนสาวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเขาตามติดศึกษาจับประเด็นเรื่องนี้ให้อ่านเข้าใจง่ายๆ เปรียบเทียบคุณภาพการจับประเด็นกับข้อมูลจากทางการ ถ้าไม่เชื่อที่เขาเขียน ก็กลับไปพลิกอ่านร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบและใช้ดุลยพินิจด้วยตนเองอีกครั้ง

การออกตัวว่าไม่สนใจการเมือง ไม่พอใจให้ใครหน้าไหนมาชี้นำ ไม่ว่าจะโหวตโนหรือโหวตเยส เอาเข้าจริงก็เป็นพฤติกรรมทางการเมืองชนิดหนึ่งครับ เพราะการเมืองก็คือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเรากับผู้อื่น

วันอาทิตย์นี้ออกไปแสดงความแจ่มชัดของตนเอง ด้วยข้อมูล ด้วยความรู้ ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยกันครับ

Author

อธิคม คุณาวุฒิ
เริ่มต้นชีวิตคนทำหนังสือหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รับหน้าที่บรรณาธิการครั้งแรกปี 2543 ปี 2549 ก่อตั้งนิตยสาร WAY รับหน้าที่บริหารจัดการควบคุมทิศทางองค์กรเป็นงานหลัก ให้คำปรึกษาหารือ ปัดเป่าทุกข์โศก แก้ไขปัญหาชีวิต อกหัก รักคุด ให้พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย เป็นงานอดิเรก มีงานเขียนรวมเล่มออกมาแล้ว 8 เล่ม ‘พ่อหล่อสอนลูก’ เป็นผลงานเล่มล่าสุดเมื่อปี 2559

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า