คนแก่ ยาบำรุง และคำโฆษณา

ที่มาภาพ: web.kalid.com.cn
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี

 

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่ปี 2548 [ข้อมูลจากรายงาน สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2557 โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ]

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์มิเตอร์ประเทศไทยแห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (thailandometers.mahidol.ac.th) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบประชากรไทยที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์จำนวนกว่า 65 ล้านคน ในจำนวนนี้มีบุคคลที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปกว่า 10 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลสำคัญของตลาดสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมากทุกปี อาทิ ธุรกิจประกันภัย การสื่อสารและโทรคมนาคม และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพโดยเฉพาะ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์

จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนา ‘ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา’ เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ในงานประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2559 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

วิ่งเข้าสู่ยุคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

“ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในทุกวันนี้คือการเป็นโรคที่รักษาไม่หาย จึงนำไปสู่การวิ่งเข้าไปหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในช่วงหลังที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ใช้ Health Claims หรือข้อความบอกอ้างสรรพคุณ ที่จะบอกว่าวิตามินตัวนี้รักษาโรคตัวนี้ตัวนั้นได้ แล้วทำให้เราหรือผู้บริโภคไปเชื่อมโยงกันเอง เชื่อมไปเชื่อมมาเลยทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินเลยการบำรุงสุขภาพ บำรุงร่างกายไป”

คือความเห็นจาก ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)

ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ได้อธิบายปัญหาและพฤติกรรมการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้คนในปัจจุบันว่า เป็นเพราะการพัฒนาทางการแพทย์ทำให้เรามีอายุยืนยาวขึ้นและเสียชีวิตด้วยปัจจัยและโรคอื่นๆ จากเดิมที่เรามักเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็เปลี่ยนไปเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ เช่น ความดันสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ กระดูกข้อเสื่อม ฯลฯ

เพราะโรคเหล่านี้นั้นไม่มีทางหายขาด การรักษาเป็นแต่เพียงรักษาตามอาการ คนไข้ส่วนมากจึงมีแนวโน้มที่จะหันไปหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้มีปัญหาค่อนข้างซับซ้อน ตั้งแต่ปัญหาขนาดตัวหนังสือในฉลากที่เล็ก ภาษากฎหมายที่อ่านไม่เข้าใจ การใช้ฉลาก อย. กับผลิตภัณฑ์ยา รวมทั้งเรื่องที่ลูกหลานซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายหรืออาหารเสริมมาให้ญาติด้วยความรักและหวังดี

“การรับรองตรา อย. ในปัจจุบันใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารเท่านั้น และเมื่อพูดถึงอาหารจึงต้องไม่แสดงสรรพคุณอ้างการรักษาโรค โดยผลิตภัณฑ์ยาจะได้รับ ‘ทะเบียนกำกับยา’ และในกรณียาแผนโบราณสำหรับมนุษย์ ต้องได้รับการรับรองเป็น ‘เลขทะเบียนตำรับยา’ เท่านั้น”

 

drug-prices1

ไม่หาย ไม่ตาย และเปลืองตังค์

ปัญหาหนึ่งที่วิทยากรในภาคส่วนชุมชนที่ลงพื้นที่จริงและมูลนิธิผู้บริโภคเห็นต้องตรงกันคือปัญหาการโฆษณา ทั้งการโฆษณาในสื่อหลักอย่างโทรทัศน์และวิทยุ ยังรวมไปถึงสื่อใกล้ตัวอย่างวิทยุชุมชน การเคาะประตูตามบ้าน รถหนังขายยา รวมทั้งสื่อใกล้ตัวจากความรักของลูกหลานเอง

“จากประสบการณ์การลงชุมชนตรวจเยี่ยมคนไข้ตามบ้านเรือน สิ่งที่คนไข้มักมีติดบ้านไว้ประจำคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเภทยาสมุนไพรที่เมื่อนำไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีสเตียรอยด์และน้ำตาลอยู่จำนวนมาก” สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรหญิงประจำโรงพยาบาลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูล

สถานการณ์ที่คนไข้มักหาซื้อยามาบริโภคเองเช่นนี้ ภญ.สุภาวดี และ ศิริชัย สายอ่อน สาธารณสุขอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี เห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาซับซ้อนของสังคมปัจจุบันที่คนในชุมชนส่วนมากต้องทำงานอย่างหนัก เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพอันเป็นอุปสรรคในการทำงาน ชาวบ้านย่อมต้องหาวิธีอย่างไรก็ได้เพื่อมาบรรเทาอาการเจ็บป่วย และเมื่อรวมกับพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่มักอยู่บ้าน ดูโฆษณาทางเคเบิลทีวี มีรถหนังขายยาเข้ามาเคาะประตูเพื่อพูดคุยตามบ้าน จากคำการันตีของชาวบ้านด้วยกันเอง และเพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักได้เงินจากลูกหลาน มีกำลังซื้อเพียงพอซื้อหายาเพื่อบริโภคเอง ส่งผลให้มีปัจจัยในการซื้อเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันพบว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือการตอบสนองการใช้ยาที่เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจำนวนหนึ่ง เมื่อสืบหาและลงพื้นที่พบว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งที่บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาแผนโบราณที่หาซื้อตามชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย บางรายเราอาจพบว่าคนไข้กินยาตามที่หมอบอกทุกประการแต่พบน้ำตาลในเลือดสูง หรือความดันขึ้น พอตามไปพูดคุยที่บ้านก็พบว่าเป็นเพราะกินยาเสริมอาหารที่มีน้ำตาลมาก” ภญ.สุภาวดีกล่าว

ภญ.สุภาวดีอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะแต่ยาแผนโบราณที่ตรวจพบสารเคมีเช่น สารสเตียรอยด์ การบริโภคยาชุดที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายของชำในชุมชน หรือแม้กระทั่งในร้ายขายยาเอง ก็เป็นปัญหาที่พบเจอมากเช่นกัน

“ยาชุดคือยาหลายๆ อย่างที่จัดรวมอยู่ในชุดเดียวเพื่อรับประทานพร้อมกันสองเม็ดขึ้นไป โดยตัวยาแต่ละชนิดคือยาที่ผ่านการวินิจฉัยว่ารักษาโรคนั้นๆ ได้จริง เช่น แอสไพริน (aspirin) คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine) เพรดนิโซโลน (prednisolone) ฯลฯ แต่หากนำมารวมกันแล้วบริโภคจำนวนมากย่อมเป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่า เช่น หากคนไข้เป็นโรคไตอยู่แล้วบริโภคยาชุดเข้าไป ก็อาจเป็นการบริโภคยาเกินขนาดได้ แต่ยาชุดก็ได้รับความนิยมมากเพราะถูก และดูเหมือนจะรักษาอาการได้รวดเร็ว”

 

pill
ที่มาภาพ : theodysseyonline.com

ด้วยรักและการโฆษณา

“เราไม่ได้โง่ เราแค่อยากหาย” คือประโยคเปิดที่ สถาพร อารักษ์วทนะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อ้างคำพูดของ แม่ทองม้วน นพแก้ว ผู้สูงอายุจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ขึ้นพูดบนเวทีเสวนาช่วงเช้าในประเด็น ‘ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย’ ที่แม่ทองม้วนกล่าวถึงโฆษณาในทีวีว่าหากไม่มีความน่าเชื่อถือ แล้วปล่อยให้มีการโฆษณามาได้อย่างไร

สถาพร ได้ฉายตารางเปรียบเทียบการโฆษณาในช่องดิจิทัลจำนวน 16 ช่องทีวีดาวเทียม และหนึ่งช่องทีวีดิจิทัลสำรวจในช่วงวันที่ 25-30 สิงหาคม 2558 พบว่าแทบทุกช่องมีการโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมง* และเป็นโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายด้วย

ช่อง 3HD, ONE HD และ Workpoint คือ ช่องทีวีดิจิทัลที่มีเวลาการโฆษณาที่เกินกฎหมายกำหนดสามลำดับแรก

“โดยจากผลสำรวจพบว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์บำรุงและเสริมอาหารเหล่านี้ปัจจุบันมีสารส่งถึงผู้สูงอายุโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโรคเครียด การชะลอความชรา สมองเสื่อม บำรุงหัวใจ หลอดเลือด เทคนิคของเขาคือการบรรยายสรรพคุณการรักษาโรค ตั้งแต่ปวดหัวยันสมองเสื่อม และตบท้ายการโฆษณาด้วยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะแก่ผู้สูงอายุ”

โดยในประเด็นการโฆษณาที่เจาะลงไปกลุ่มผู้สูงอายุนี้ ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งคือความรักความหวังดีจากลูกหลาน ที่อยากมอบสิ่งที่ดีให้แก่คนในครอบครัว บางทีมาในรูปของฝาก หรือเพราะเห็นว่าในโฆษณาเขาว่ากันว่าดี คนก็มีแนวโน้มจะเลือกซื้อเพราะความรักด้วย

 


 * หมายเหตุ:
เวลาการโฆษณาที่เกินกฎหมายกำหนด (เกิน 12 นาทีครึ่ง/1 ชั่วโมง)
ช่องทีวีดิจิทัล เวลาต่อชั่วโมง ช่วงเวลาที่พบมากที่สุด
ช่อง 3 HD
18 นาที 34 วินาที
วันเสาร์ ละครหลังข่าว
ช่อง One HD
16 นาที 54 วินาที
วันพุธ 15.26-16.26 น.
ช่อง Workpoint
16 นาที 37 วินาที
คืนวันเสาร์ 23.56-01.56 น.
ช่อง 7 HD
15 นาที 49 วินาที
วันพุธ ละครหลังข่าว
ช่อง 8
14 นาที 15 วินาที
วันเสาร์ 16.10-17.10 น.
ช่อง MONO 29
13 นาที 38 วินาที
วันพุธ 23.00 – 24.00 น.

 

logo sponsor

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า