การกินเพื่อคลายเครียด ที่แท้แล้วพ่อแม่ฝึกให้มีนิสัยแบบนั้น

นิสัยการกินที่มากเกินไปเวลาเครียดหรือเศร้าซึม (Emotional Overeating: EOE) เป็นทักษะที่ต้องถูกฝึกมา ไม่ใช่นิสัยที่แฝงฝังอยู่ในดีเอ็นเอ!

ครั้นต้องเผชิญหน้ากับความเครียด กดดัน เศร้าซึม วิธีการระบายอย่างหนึ่งที่ดูสาแก่ใจ พบเห็นบ่อย และเข้าใจได้ทุกครั้งที่ผู้คนเลือกระบายออกด้วยวิธีนี้ นั่นคือการกิน ทั้งได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยหลายชิ้นด้วยว่า สารเคมีจากอาหารบางประเภทช่วยผ่อนความเครียดบางขณะ และทำให้เรากลับมาสดชื่นได้จริง

หาก…เรื่องมันซับซ้อนไปมากกว่านั้น

ทีมวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์ทางสุขศึกษาตั้งสมมุติฐานว่า จริงหรีอว่า…เราจะมีนิสัยการกินเกินควบคุม ทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับความสับสนและตึงเครียด

ใช่หรือไม่ว่า เราอาจถูกสอนมาให้จัดการกับความเครียดด้วยอาหาร?

เริ่มต้นตรวจสอบสมมุติฐานด้วยงานวิจัยสองโครงการ โดยทีมที่ประกอบด้วย มอริทซ์ เฮิร์ล (Moritz Herle) นักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ด้านสุขศึกษา มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) อลิสัน ฟิลด์ส (Alison Fildes) เยาวชนแลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยลีดส์ (University Academic Fellow, University of Leeds) แคลร์ ลูเวลลิน (Clare Llewellyn) นักวิจัยด้านพฤติกรรมด้านสุขภาพต่อโรคอ้วน มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และรองศาสตราจารย์วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซิลเย สไตน์เบ็ค (Silje Steinsbekk) มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอร์เวย์ (Norwegian University of Science and Technology)

หนึ่ง – ทำงานวิจัยกับฝาแฝดชาวอังกฤษและนอร์เวย์ราว 2,402 คู่ เพื่อดูแนวโน้มว่า EOE มีผลมาจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู หรือแฝงฝังอยู่ในยีน
สอง – ทำงานวิจัยกับเด็กชาวนอร์เวย์ 801 คน เพื่อดูว่าพ่อแม่ดีลกับลูกๆ เวลาพวกเขาอารมณ์ไม่ดีอย่างไร

เฉพาะงานวิจัยแรก ทำการศึกษาโดยแบ่งคู่แฝดเป็นสองกลุ่ม ติดตามตั้งแต่พวกเขาอายุ 16 เดือน และทดลองอีกครั้งเมื่ออายุ 5 ขวบ กลุ่มแรกคือแฝดแท้ (Identical Twins) ที่ยีนเหมือนกัน ขณะอีกกลุ่มเป็นแฝดเทียม (Non-Identical Twins) ที่ยีนไม่เหมือนกัน คู่แฝดทั้งสองกลุ่มจะถูกเลี้ยงในบ้านเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน ทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่า ภายใต้สภาวะแวดล้อมเดียวกัน พวกเขามีพฤติกรรมด้านการกินอย่างไร และเกี่ยวไหมว่า เป็นพฤติกรรมการกินที่เกิดจากยีนหรือดีเอ็นเอ

งานวิจัยถัดมา ทำการทดสอบด้วยการติดตามผู้ปกครองและเด็กๆ ชาวนอร์เวย์ ตั้งแต่เด็กๆ อายุ 4 ขวบ และติดตามอีกครั้งเมื่อพวกเขาอายุ 6, 8 และ 10 ปี

ทั้งสองงานวิจัยให้ผลลัพธ์ที่สรุปได้ว่า นิสัยการกินล้นเกิน (สวาปาม) เพื่อการบำบัด ไม่ได้เกิดมาเดี่ยวๆ โดดๆ หากพวกเขาถูกสอนมาให้บำบัดความเครียดของตัวเองด้วยวิธีการนี้ พ่อแม่มักมีแนวโน้ม สอน ปลอบประโลม ให้กำลังใจ กระทั่งทำให้พวกเขาสงบ ด้วยมื้ออาหารหรือสแน็ค


ที่มา: qz.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า