‘พอ-นิยม’ ชมเศรษฐศาสตร์ผ่านร่างกายมนุษย์

Transaction-still-2

เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

ภาพ: ฐานะมาศ เถลิงสุข

 

 

ณ ที่นี้ ไม่มีม่าน

สายฝนกระทบกำแพงอิฐของสถาบันปรีดี พนมยงค์ พร้อมๆ กับชะล้างภาพจำของเราเกี่ยวกับละครเวทีทั้งหลายที่เราเคยได้สัมผัสมา

ละครเวที ทำให้นึกถึงการซ้อมบทสนทนา ตำแหน่งการเดิน และท่าทาง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามสร้างเหตุการณ์เดิมๆ ให้ดูเปี่ยมอารมณ์ราวกับมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย เพื่อให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยมากที่สุดในวันแสดง

แต่กับละครเวทีเรื่อง พอ-นิยม ที่เรากำลังจะเข้าไปชมการซ้อม ไม่ได้นิยมชมชอบกระบวนการดังกล่าว เหตุเพราะความไม่คงเส้นคงวาคือ จุดขายของมัน และความแตกต่างสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละรอบ

เราเดินไปตามสะพานไม้ เข้าไปสู่ลานกว้างรูปกลมตรงกลางอาคาร เขายืนอยู่ตรงนั้น ผู้กำกับหนุ่มในเสื้อกล้ามสีดำสวมกางเกงยีนส์ กำลังยืนพาดตัวกับผนัง แววตาครุ่นคิด

แปลกดี…ชายผู้รุ่มรวยความคิดคนนี้ ไม่ลังเลที่จะเผยยิ้ม เมื่อเราเดินเข้าไปทักทาย

 

เศรษฐศาสตร์ผ่านสายตาศิลปิน

ตั๋ม-ธนพล วิรุฬหกุล ผู้กำกับหนุ่มที่เติบโตทางด้านสายการแสดงมาจากภัทราวดีเธียเตอร์ เก็บเอาประสบการณ์เกือบสิบปีจากการเป็นนักแสดงผู้สร้างสรรค์งานเดี่ยวของตัวเองอย่างต่อเนื่อง มาผลิตเป็นงานละครเวทีแนวทดลองเรื่องล่าสุด พอ-นิยม (transaction) ละครเวทีที่จะเล่าเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้ทุกคนฟัง

ไม่แน่ใจว่าคำว่า ‘เศรษฐศาสตร์’ จะดึงดูดหรือผลักไสลูกค้าในทางการขาย แต่ลองฟังเขาก่อน คุณอาจจะอยากซื้อขึ้นมาก็ได้

Transaction-still-1
ตั๋ม-ธนพล วิรุฬหกุล

“มันเป็นเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบไทยๆ” ธนพลขยายความ ใช่แล้ว เศรษฐกิจทั่วโลกก็อาจจะเป็นแบบนี้ แต่ตัวละครที่มีบทบาทอาจจะต่างไป และประเทศไทยก็อาจเป็นตัวแทนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งโลก

ใครๆ ก็คงรู้ว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว แค่ตื่นมานับเงินว่าเหลือเท่าไหร่ช่วงปลายเดือน และต้องใช้จ่ายอย่างไรให้รอดชีวิตไปได้ ไม่เป็นหนี้ เราก็ต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของระบบเศรษฐกิจแล้ว

แต่ธนพลมองว่า อย่างไรก็ดี คำว่า ‘เศรษฐศาสตร์’ ก็เป็นคำที่ดูใหญ่ หลายคนอยากเบือนหน้าหนี รีบชิงพูดว่า “ไม่เข้าใจ” ก่อนจะฟังคำอธิบายอันตามมาหลังศัพท์แสลงหูนั้น  ทั้งๆ ที่มันผูกพันกับชีวิตของผู้คนยิ่งกว่าธนบัตรสีเขียวเปื่อยยุ่ยในกางเกงของพวกเราเสียอีก

เขาหันมาพูดกับเรา–ผู้สัมภาษณ์โดยตรง

“แม้แต่ตอนนี้ เราอยู่กันอย่างนี้ก็เป็นเศรษฐศาสตร์ เราต่างก็มีความต้องการบางอย่างซึ่งไม่เหมือนกัน และอาจจะไม่เท่ากัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราพยายามเอาความต้องการของเรามาเจอกัน ที่เราจะได้แบบ win-win เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์ของเราก็จะเน้นไปที่เรื่อง ‘ความต้องการ’ คนอื่นอาจจะพูดไปถึงศัพท์อย่าง – อุปสงค์ อุปทาน ทรัพยากรจำกัด – แล้วก็คิดว่ามันไกล แต่อย่าลืมว่าคำเหล่านั้น มันก็คือความต้องการ ที่จะได้ ที่จะให้ ถามว่าทรัพยากรจำกัดของเราตอนนี้คืออะไร…เวลา ครับ”

หากใครเรียนเศรษฐศาสตร์ คงไม่ต้องทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เขารู้ว่าเวลาก็มีมูลค่าของมัน

แต่เราหลายคนลืมไป แล้วคิดเพียงว่าการใช้จ่ายและได้เงินมาเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ คนเก๋ๆ ติสท์ๆ ถึงไม่อยากพูดเรื่องเงินบ่อยนัก – มันดูไม่ค่อยเท่

ข้อสังเกตข้างต้นไม่ได้ลดความเท่ของผู้ที่อยู่ตรงหน้าเรา เขาอธิบายต่อไปถึงแรงผลักดันที่ทำให้เขาตัดสินใจลงลึกกับเรื่องนี้ตลอด 7 เดือนผ่านมา

“อย่างแรก คือข่าว Occupy Wall Street ที่เขาประท้วงกันแล้วมันก็เริ่มกระจายไปทั่วโลก ไปเจอว่าเขาประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คือมีคนอยู่จำนวนน้อยมากๆ ถือทรัพยากรทั้งหมดเอาไว้และที่เหลือก็เสียอะไรไป ซึ่งบ้านเราก็เป็นอย่างนั้น เราก็เลยสนใจว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางโอกาส ภายใต้สังคมตลาด ทุกอย่างขายได้ แม้แต่พื้นที่หน้าผากเพื่อแปะโฆษณา การจ้างตั้งครรภ์แทน หรือซื้อสเปิร์ม เราก็อยู่ใต้ระบบนี้แหละ เลยสนใจว่ามันเกิดมาจากระบบ หรือการกระทำของพวกเราเอง”

 

สัญชาตญาณนักช้อป

เมื่อเกิดความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว เขาก็มิได้นั่งๆ นอนๆ เพียงเพื่อรอไอเดียผุดพรายมาเอง แต่ไปค้นคว้าข้อมูลงานทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ งานวิจัย และหัดใช้สายตามองสิ่งรอบข้างแบบนักเศรษฐศาสตร์

“มีงานวิจัยออกมาบอกว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องวิชาหรือชุดความคิด แต่เป็นเรื่องของสัญชาตญาณของสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เช่น ลิงที่หาเห็บให้กัน ง้องๆ แง้งๆ เราก็มองว่า โอ๊ยน่ารักจังเลย มันรักกัน แต่ใต้ภาพนั้น ลิง A หาเห็บให้ลิง B อยู่ สิ่งที่ลิง A ประมวลตอนนั้น คือเขานึกถึงความไม่แน่นอนในอนาคต ถ้าลิง A มีเห็บบ้าง ใครจะมาหาเห็บให้เขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำก็คือ เขากำลังค้าขายบริการ

ถ้าเกิดลิงใช้เงินเป็น เขากล่าวต่อ เราก็อาจเห็นภาพตัวเองจากการกระทำของลิงพวกนั้นก็เป็นได้

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า เศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวเรายิ่งกว่าธนบัตรยี่สิบบาทซึ่งเอาไว้ซื้อข้าวแกงได้จานเล็กๆ มันลงลึกไปถึงเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วย

“เคยเจอใครยิ้มให้แล้วไม่อยากจะยิ้มกลับไหม มีเนอะ เพราะว่าอะไร เทียบง่ายๆ รอยยิ้มเขา ถ้าตีเป็นมูลค่า เขาอาจจะยิ้มให้เราเหมือนเขายื่นเงินให้เราห้าบาท แต่ปกติตัวเราจะยิ้มให้ใคร เราจะให้ร้อยหนึ่ง ไม่อย่างนั้นก็เลือกจะไม่ยิ้มเลย ถ้าไปเจอยิ้มห้าบาท เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม เราถึงไม่ชอบสถานการณ์แบบนี้”

เขาตั้งข้อสังเกตที่ทำให้เราเกิดอาการเหวอ แต่พอคิดตามแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริง

 

ผู้กำกับร่างกาย-ร่างนโยบายการเคลื่อนไหว

แนวละครเวทีเรื่อง พอ-นิยม จะออกมาในรูปแบบไหน พอเอ่ยคำว่าแนวทดลองแล้วอาจมีบางคนขวัญกระเจิง ทำลายอุปสงค์ในการดูละครไปทันที

“งานของผมส่วนใหญ่จะเป็นงานคอนเซ็ปต์ ถ้าเกิดเป็นนักดนตรี เราก็เขียนโน้ตเพลง แต่งเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง แล้วโยนเนื้อไปให้นักแสดง ซึ่งเขาอาจจะเล่นในโน้ตนี้แล้วอิมโพรไวส์ข้างในก็ได้ เรากำลังทำหน้าที่เหมือนนักแต่งเพลง เป็นการ embody เข้าไป เราไม่ได้กำหนดลีลา แต่ออกแบบโครงสร้างที่ไปกำหนดการเคลื่อนไหว หรือการกระทำของคนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง”

เส้นเรื่องหรือ…ไม่มีหรอก แต่การไม่มีเส้นเรื่องคือความสนุกของละครเวทีแนวนี้ ที่ไม่ต้องเล่นบทเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา หรือมีเค้าลางอะไรบางอย่างที่เดาตอนจบได้ตั้งแต่สองฉากแรก

การมีตัวบทไม่ใช่แนวทางการทำงานของธนพล เขาออกตัวตั้งแต่ต้นว่าเป็นคนทำงานด้วยการสร้างคำถาม  นับตั้งแต่ยังไม่เข้ามาสู่วงการละครเวที

“งานธีสิสจบของวารสารฯ ธรรมศาสตร์ เอกภาพยนตร์ เราทำออกมาเป็นเชิง Documentary เราตั้งคำถามให้ตัวเอง และต้องการถามคนอื่นด้วยว่า พระเครื่องคืออะไร เราก็เลยทำช็อคโกแลตรูปพระเครื่องไปนั่งขายที่ท่าพระจันทร์ ข้างแผงอื่นๆ ต้องการจะรู้ว่ามันคืออะไร ต่างกันอย่างไร

นี่คือการทำงานของเรานะ อาจจะไม่มีเรื่อง แต่พยายามทำคำถามนี้ให้ออกมาเป็นประสบการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ก็มีคนเดินผ่าน มองนะ แต่ไม่หยุด ไม่ได้เข้ามาดูว่า นี่ช็อคโกแลตหรอ จนลุงข้างๆ ที่ขายพระจริงๆ เริ่มเอาพระของเขามาใส่ให้ ช่วยจัดให้ เราทำของจำลองลงไปในพื้นที่จริง มันจะเกิดปฏิสัมพันธ์จากพื้นที่จริงขึ้นมา

สุดท้ายมันก็ขายไม่ได้ เลยเอาพระช็อคโกแลตไปให้เซียนพระส่อง เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ นี่มันช็อคโกแลต! แล้วพระคืออะไร พระจริงก็คือ มันต้องมีผงอิทธะเจ ผงปถมัง มวลสารโน้น มวลสารนี้ แต่ถ้าผมจะซื้อ ก็ต่อเมื่อผมหิว – นั่นก็แปลว่า อ๋อ นี่ไม่ใช่พระ นี่มันช็อคโกแลตสิเนอะ เราก็เลยเอาพระเราไปลองให้คนกิน ก็เจอว่า มีคนไม่ยอมกิน…เพราะว่ามันเป็นพระสำหรับเขา แล้วก็เจอกรณีที่ กินนะ อ้อ มันช็อคโกแลต กำลังจะเข้าปาก แต่หยุดชะงัก แล้วยกมือไหว้ก่อน แล้วก็กิน สุดท้ายสิ่งที่เราค้นพบก็คือ ลองไปวางให้มด มดก็ขึ้น…เอาไปตั้งกลางแดด มันก็จะค่อยๆ ละลายไป พอมันละลายก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรแล้ว ไม่มีคำถามว่านี่พระหรือไม่ใช่พระ”

เอาล่ะ…คุณคงพอเห็นภาพสินค้าตัวนี้คร่าวๆ แล้ว

พอ-นิยม จะลองตั้งโจทย์ง่ายๆ ให้กับคุณ คำถามที่ง่ายยิ่งกว่า “เช้านี้จะขึ้นรถเมล์หรือแท็กซี่ดี”

เตรียมโอนย้ายเงินในบัญชีเพื่อแลกเปลี่ยนกับประสบการณ์หรือยัง?

 

******************************

Transaction-poster-2

ภาพ: ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ (Teeraphan Ngowjeenanan)

 

ละครเวทีเรื่อง พอ-นิยม

 

แสดงวันที่ 15-19 และ 22-26 สิงหาคม 2556

เวลา 20.00 น. ที่ เดโมเครซี่ เธียเตอร์ สตูดิโอ

 

ราคาบัตร 399 -599 บาท

ดูรายละเอียดราคาบัตรในแต่ละรอบการแสดงที่นี่

https://www.dropbox.com/s/we7pl0iqw2ybciy/Ticket%20Price.jpg

 

วิธีการชำระเงิน

1) ชำระเงินสด หน้าโรงละครก่อนการแสดง

2) โอนเงินชำระผ่านบัญชีธนาคาร

ธนาคารไทยพาณิชย์ : SCB acc > 403-310710-0 < acc name pavinee s.

ธนาคารกสิกรไทย : KBank acc > 710-2-52435-1 < acc name pavinee s.

ธนาคารกรุงเทพ : BBL acc > 036-003598-4 < acc name pavinee s. ”

 

พร้อมส่ง sms ยืนยันการโอนที่ 085 160 1677, 081 498 7660 หรือส่งสลิปทาง Facebook ใส่ข้อความว่า “โอนแล้ว เข้าบัญชีธนาคาร… จำนวนเงิน… จาก…(ชื่อที่ใช้ในการจอง) เบอร์โทรศัพท์… จองรอบ…”

 

สอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ 0851601677, 081 498 7660, [email protected]

 

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.facebook.com/transaction2013/events

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า