แสงอาทิตย์หลังเที่ยงคืน

02

                                                                                                                                                                                           เรื่อง : ณัฐกานต์ อมาตยกุล / ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

สาวตาหวานร่างเล็กนั่งด้วยท่าทางสบายๆ แขนข้างหนึ่งเท้าโต๊ะไว้ ยกแก้วน้ำอัดลมขึ้นจิบระหว่างพักเหนื่อย ใบหน้าอ่อนโยนนั้นมีฉากหลังเป็นกำแพงอิฐของร้านอาหาร ‘โซฟาแดง’ ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนอยู่ ร้านที่ผสมผสานดนตรี เครื่องดื่ม อาหาร และบรรยากาศยามราตรีไว้ด้วยกัน ระหว่างที่เรากำลังตบส้นเท้าเบาๆ ไปกับจังหวะเพลง Viva la Vida ของวง Coldplay เธอวางแก้วลง เงยหน้า…แล้วยิ้ม

พลัน – เหมือนว่านาฬิกาจะหยุดหมุน ราวกับยามราตรีนี้จะทอดยาวไปไกล แสงทองของพระอาทิตย์ถูกบอกเลื่อนนัด เพื่อให้ค่ำคืนนี้เรามีเวลานั่งฟังเธอพูดและมองรอยยิ้มอิ่มอุ่นสว่างไสวนั้นไปนานๆ

เมื่อชีวิตของเธอคือโลกของคนร้องเพลงกลางคืน ตุ๊กตา-จมาพร แสงทอง ลืมตาตื่น และดำเนินกิจกรรมส่วนใหญ่เมื่อหลังอาทิตย์ตกดินไปแล้ว แต่ละวันเธอเดินทางมาที่ร้าน ‘โซฟาแดง’ ช่วงใกล้ค่ำ ดูแลกิจการในร้าน บางครั้งบางคราวก็จับไมค์ขึ้นมาร้อง ตี 3 เดินทางไปทำงานต่อที่ Route66 ย่านอาร์ซีเอ แปรเปลี่ยนรัตติกาลธรรมดาให้กลายเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ด้วยเสียงเพลง

เสร็จภารกิจ ได้มาล้มตัวนอนก็เกือบรุ่งสาง เวลาเดียวกันกับที่มนุษย์เงินเดือนเหยียดแข้งข้า ปัดป่ายมือไปปิดนาฬิกาปลุก

ตุ๊กตา-จมาพร ใครหลายคนเรียกเธอว่านางฟ้า เมื่อได้ดูเธอร้องเพลงผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ในรายการ The Voice อาจมีคนเข้าใจผิด ว่าเธอเป็นหนึ่งผู้ฝันอยากคว้าดาว แต่เมื่อพูดคุยกันในระยะโต๊ะคั่น เราพบว่าเธอเป็นดาวฤกษ์
มีแสงในตัวเอง-เชื่อมั่นในพลังงานภายใน – รักการโคจรสำรวจจักรวาลชีวิต

 

+ แค่อยากจะร้อง…ไม่ต้องดัง

“ไม่ได้มีแรงบันดาลใจว่าอยากร้องเพลงหรอก แค่อยากทำงาน แล้วพอดีว่าถนัดร้องเพลง ไม่อยากขอเงินพ่อแม่แล้ว 500 ก็ยังดี”

ตุ๊กตาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมีอาชีพนักร้อง ตั้งแต่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 แลกกับค่าตอบแทนไม่มากนัก เพราะมองว่าเป็นการ ‘ลอง’ ทำ ต่อมาสายสัมพันธ์คนดนตรีใน CU BAND ก็ทำให้เธอมีโอกาสก้าวจากงานเล็กๆ ไปสู่การร้องเพลงใน Route66 “ได้เงินสะสมมาเรื่อยๆ จนตอนปี 4 พ่อแม่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมให้เลย ตอนนั้นเราก็รู้สึกดี ว่าได้ทำอะไรด้วยตัวเอง”

เพลงแรกที่เธอร้องใน Route66 ในวันศุกร์ที่มีคนคับคั่ง และประสบการณ์เพียงน้อยนิด เธอคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นเพลง “อยากจะร้องดังๆ” ของปาล์มมี่ เมื่อบวกกับการร้องแข่งเสียงดนตรี การเต้น และพูดคุยเพื่อเอนเตอร์เทนคนดู สำหรับคนที่ยังร้องเพลงไม่แข็งแรงนัก ก็ถือเป็นงานที่สาหัสเอาการ

“มันเหมือนการถีบคนลงไปในสระว่ายน้ำแล้วให้ว่ายเอง” เธอสับสน แต่ก็พยายามทำให้เต็มที่เพื่อให้คนดูมีอารมณ์ร่วม “เรามีแต่ใจอย่างเดียวเลย ต้องว่ายน้ำ ก็ เอาวะ!” สุดท้าย ก็ยอมรับว่าครั้งแรกทำได้ไม่ดีนัก

“ล้นเลย พูด ‘ขอเสียงหน่อย’ ตลอดเวลา แล้วก็ค่อยปรับไปเรื่อยๆ มันบังคับให้เราต้องพัฒนาตัวเองอย่างรุนแรง เพราะทุกคนเขาเก่ง” เธอเอ่ยชื่อนักดนตรีมืออาชีพหลายคนที่เคยฝากผลงานไว้ตามค่ายเพลง โชคดีที่เธอได้อยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้น รับคำติจากคนอื่นๆ เพื่อนำไปแก้ไข

เมื่อเรียนจบ ทำงานประจำคู่กับงานร้องเพลงกลางคืนอย่างที่เคยทำ ผ่านห้วงเวลาทรมานที่ต้องไปแอบนอนในห้องน้ำระหว่างเวลางาน เพราะร้องเพลงเหนื่อยมาเกือบทั้งคืน ในที่สุด เธอก็ปล่อยมือข้างหนึ่งมาจับงานที่ใจจดจ่ออยู่กับมัน เขียนนิยามคำว่า ‘งานที่มั่นคง’ ในแบบฉบับของตัวเอง

“เราชอบการร้องเพลงตอนกลางคืนเพราะว่า เวลาเราร้อง คนเขามาฟังเสียงเราน่ะ” อาจมีบางครั้ง ผู้คนเข้ามานั่งในร้านด้วยเรื่องทุกข์ใจ และบางบทเพลง สามารถสื่อความหมายที่อาจทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ แล้วกลายเป็นอีกคนหนึ่งเมื่อเดินออกจากร้าน สำหรับเธอ การร้องเพลงให้ใครสักคนฟัง ไม่เพียงเป็นการเปล่งเสียงให้ไพเราะ แต่มันคือการ ‘แบ่งปัน’ เธออยากเป็นผู้ทำหน้าที่นั้น – หน้าที่ซึ่งมีค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว ตุ๊กตาจึงพูดอย่างหนักแน่นว่า ไม่เคยคิดฝันอยากจะมีอัลบั้ม

 

+ คนฉวยทุกโอกาส

รู้เพียงว่าตัวเองพอจะร้องเพลงได้ การไปคัดตัวเข้า CU Band เป็นเพียงการอยากทดสอบฝีมือว่าอยู่ในระดับไหน นับแต่นั้น สังคมดนตรีก็เปลี่ยนเธอให้กลายเป็นคนรักเสียงเพลง “เหมือนเราเรียนคณะซียูแบนด์ แล้วอยู่ชมรมอักษรศาสตร์” เป็นนักร้องมือใหม่ ก็โดนติเรื่องการร้องที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเป็นธรรมดา “แต่พออยู่ไปก็ได้รู้ว่า การร้องเพลงไม่ใช่การร้องเพลงเพราะ เมื่อเราชอบอะไรสักอย่างหนึ่งจริงๆ มันจะไม่ใช่ว่าเราอยากได้มัน แต่เราอยากเรียนรู้มัน แล้วดนตรีก็เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ไม่จบเลย”

ร้องคอรัสให้ โต้ สุหฤท เล็ก Greasy Cafe ฯลฯ เล่นมิวสิควิดีโอของวงเลม่อนซุป เป็นนางเอกหนังสั้นคู่กับ กั๊ป วงจิดา ออกซิลเกิลเพลง รู้นะ ของค่ายสมอลล์รูม ทำหนังสือสอนเล่นอูคูเลเล – นี่คือรายการสิ่งที่เธอเคยทำมา…เท่าที่เราพอจะรู้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะเธอเป็นนักเปิดโอกาส

“เราเป็นคนที่ เขาให้ทำอะไรเราจะทำ เพราะเราอยากเรียนรู้ นี่คือเหตุผลที่ไม่ไปเรียน เพราะเรารู้สึกว่าทุกอย่างที่วิ่งเข้าหาเรามันคือการเรียนรู้หมดเลย สมอลล์รูมให้เราทำอะไร เราทำหมด ไม่ถามก่อนว่าพี่ให้เงินหนูเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าที่ได้มาก็คือกำไรแล้ว ความกลัว…ก็มีนะ แต่เรากลัวจะไม่ได้ทำมากกว่า”

ผลงานเหล่านี้คือสิ่งที่สั่งสมมากับช่วงเวลาบนถนนสายดนตรี ดำเนินไปอย่างเงียบๆ เป็นห้องเรียนที่สงบเสงี่ยมของตุ๊กตา “เราทำทุกอย่างมา 6 ปี มันมาระเบิดตอนนี้ แล้วก่อนนั้นก็ทำแบบไม่ได้หวังผลนะ แล้วสิ่งที่ทำไปมันก็วิ่งกลับมา”

 

+ ฉันคิดฉันจึง แตกต่าง

คงเป็นเรื่องที่ต้องอ้าปากหวอสักหน่อย ถ้าจะบอกว่าตุ๊กตาเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ เอกปรัชญา แขนงวิชาที่ส่งผลต่อความเป็นตัวของเธอทุกวันนี้อย่างมาก

“ปรัชญามันสนุก” เธอโปรดปรานลักษณะข้อสอบวิชาปรัชญาที่เน้นการบรรยายความคิดเห็นของตัวเอง คำถามประเภท ‘จงอภิปรายอย่างกว้างขวาง’

“ตอนเรียนไม่เคยรู้สึกเลยว่า ‘จะรู้ไปทำไม จะคิดไปทำไม’ คิดแค่ว่า เออ…ดี ถูกต้องแล้ว เนี่ย! คนเราต้องตั้งคำถาม” เธอทำท่าเมามันกับการเขียนคำตอบด้วยปากกาล่องหนไปบนโต๊ะ

“ไม่งั้นชีวิตมันก็เป็นกรอบ จริงๆ เธอไม่ต้องทำงานประจำก็ได้ ถ้าเธอมีหนทางของเธอ

“ปรัชญาทำให้ความคิดเรามันลึก…หรือประหลาดขึ้นไม่รู้นะ เรื่องที่ส่งผลชัดเจนคือ เราไม่อยากแต่งงาน ไม่ได้อยากมีครอบครัว ไม่ได้เชื่อในเรื่องรักแท้เลย อาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ตอนนี้เราคิดแบบนี้ อาจเพราะพ่อแม่แยกกันด้วยมั้ง เออ คนจะชอบเรียกเราว่าซัมเมอร์” เธอพูดถึงนางเอกภาพยนตร์เรื่องโปรด (500) Days of Summer ตัวละครที่ไม่ยึดติดกับอะไร แม้แต่สิ่งที่บอกว่ารัก

“แต่เรียนปรัชญาแล้วอยากจะตีความไปหมด เหนื่อย…ขนาดดูการ์ตูนยังอยากจะตีความ” เธอยิ้ม

 

04

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

+ ก้าวดีๆ แต่ล้มก็ได้

หน้าตาหวานใสก็จริง แต่ตุ๊กตาเป็นคนห้าว และตลก เรายืนยัน แต่คงไม่เพียงแค่เรื่องผิวเผินเท่านั้น เธอห้าวกับชีวิตและกล้าเสี่ยง

“เราเป็นลูกคนกลาง แม่สอนมาอย่างนี้ว่า ถ้าล้มมันก็คือล้ม ลองทำให้รู้ว่ามันไม่ดียังไง แล้วก็จะเข้าใจว่าล้มแล้วมันลุกเองยังไง” คำพูดนี้คงพิสูจน์ได้จากการเลือกสายการเรียน เส้นทางอาชีพ และการกระโดดลงในสระว่ายน้ำใหม่ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อรู้ว่าการเป็นนักร้องมีความเสี่ยง เพราะเสียงอาจหายไปด้วยเหตุปัจจัยอันคาดเดาไม่ได้ ตุ๊กตาจึงนำเงินที่เก็บสะสมจากการร้องเพลงที่เตรียมไว้มานานแล้ว นำมาลงทุนเปิดร้าน

“ไม่ได้อยากเปิดร้านเหล้าหรอก แต่ร้านเหล้ามันมีดนตรี ซึ่งจริงๆ อยากทำร้านกาแฟที่มีดนตรีเล่นตอนกลางวันเหมือนกัน เพราะอาจมีเด็กที่อยากฟังเพลง แต่ไม่ได้อยากมากินเหล้า มันควรจะมีดนตรีตอนกลางวันบ้าง”

ชีวิตผันผวนเป็นพิเศษในช่วงนี้ แต่เธอก็มีหลักเตือนตัวเองอยู่ “มองให้เป็น 1-2-3-4 ใจเย็น หายใจ เราอยู่ขั้นไหน ค่อยๆ ดู อย่าปนกัน อย่างการมีชื่อเสียงขึ้นมา มันก็มีปัญหา โดนด่าบ้าง แต่เราก็พยายามคิดเป็นขั้นตอนแบบนี้ ตำแหน่งที่เราอยู่มีคนดูตั้งมากมาย ก็ต้องเจอแบบนี้อยู่แล้ว คนชอบและไม่ชอบ นอยด์อยู่แล้ว แต่มันต้องแลกกัน”

แล้วอนาคตล่ะ โอเค…เรื่องแต่งงานลืมไปก่อน

ต่อไปนี้คือความฝันวันข้างหน้าของผู้หญิงคนนี้ ที่ไม่ได้หดหายไปพร้อมกับผลการตัดสินบนเวทีใด หรือโดยใครก็ตาม

“เป็นคนชอบดูหนัง ก็เลยอยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องหนัง อยากไปเรียนเพื่อมาทำโปรดักชั่นเฮาส์ และก็เปิดร้านกาแฟที่มีดนตรี อย่างที่บอกไป อยากไปอยู่เชียงใหม่ด้วย รู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่ทำให้จินตนาการโลดแล่น

แต่ร้องเพลงนี่ก็ต้องทำไปตลอด เพราะเป็นส่วนหนึ่งไปแล้ว ถึงเสียงจะเสีย ก็แค่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ”

 

**********************

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Face of Entertainment นิตยสาร Way ฉบับ 68

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า