‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ องค์การ Oxfam ประเทศไทย จัดวงเสวนาพูดคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ ที่สยามสมาคม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายวงการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าว ประกอบไปด้วย สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและกรรมการผู้จัดการบริษัทป่าสาละ นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วินัย ดิษฐจร ช่างภาพแนวข่าวและสารคดี และ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร Way Magazine

ก่อนเริ่มการพูดคุยในเรื่อง ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ จากมมุมมองวิทยากรแต่ละท่าน องค์การ Oxfam ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลประเด็นหนึ่งคือ สังคมไทยในปัจจุบัน คนรวยที่สุดหนึ่งคน สามารถครอบครองความมั่งคั่งในปริมาณที่มากกว่าประชากรที่เหลือทั้งหมดรวมกัน[1]

ภาพ: อารยา คงแป้น

มุมมองจากมุมผู้เคยมีส่วนแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยสะท้อนมุมมองการแก้ปัญหาจากภาครัฐในหลายประเด็น

ชัชชาติเริ่มถกในประเด็น ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ ด้วยการบอกว่า สภาวะความเหลื่อมล้ำที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่เป็น Fifty Shades of Inequality

“คือถ้าเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำเป็นขาวกับดำ เช่น คำอธิบายว่า คนรวยแปดคน ที่มีรายได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ หรือว่ามีการถือที่ดินกี่เปอร์เซ็นต์ มันดูไกลตัวเกินไป ดำกับขาวเกินไป”

ชัชชาติเสนอว่า ในความเป็นจริงความเหลื่อมล้ำมันอยู่ทั่วไปรอบตัวคนทุกคน ซึ่งมีตั้งแต่สีขาว สีเทาอ่อน สีเข้ม ฯลฯ สาเหตุนั้นอาจจะเนื่องมาจากสังคมไทยชินกับความเหลื่อมล้ำ

“เรายอมรับกันไปแล้วว่ามันมีหลายเฉด ถ้าเรามองในชีวิตประจำวันวัน เช่น คนขายของอยู่ริมถนน หรือคนที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะเพื่อขายของ และถ้าหากสมมุติว่า ผมไปสยามเสาร์-อาทิตย์ เห็นเด็กกวดวิชาจนเต็มไปหมด แต่เด็กต่างจังหวัดไม่สามารถมาเรียนได้ เราเห็นสิ่งนี้เต็มไปหมดจนเราชินแล้วหรือไม่”

ชัชชาติถามกลับผู้ร่วมงานกว่า 200 คนว่า

เรายอมรับว่ามันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สามารถยอมรับได้ใช่หรือไม่ บริบทของสังคมไทยตอกย้ำให้เราเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นบุญวาสนา ผมไม่ได้คิดหรอกว่าความจริงแล้วต้นเหตุมันมาจากอะไร ฟังแล้วเราอาจจะกลับมาย้อนคิดว่ามิติความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยมีอะไรบ้าง

แม้ความเคยชินจะช่วยรักษาสถานะของความเหลื่อมล้ำเอาไว้ ชัชชาติยังคงเห็นว่า แก่นสำคัญของปัญหานี้คือความไม่ยุติธรรมทางโอกาส โดยอุปมาเหมือนคนที่วิ่งแข่งกัน แต่จุดสตาร์ทไม่เท่ากัน

รัฐควรทำหน้าที่ในการสร้างความเท่าเทียม

วิธีการสำคัญของรัฐคือต้องสร้างความสมดุลระหว่างระบบทุนนิยมกับการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

“หน้าที่ของรัฐมีอยู่สองส่วน คือสร้างความเจริญให้ประเทศ (growth) แล้วกลับมากระจายให้กับคนที่มีรายได้น้อย ทั้งสองส่วนต้องบาลานซ์กัน growth คือ ทุนนิยม (capitalism) สองคือประชาธิปไตย คือเราต้องเอาให้คนส่วนใหญ่อยู่ได้ ของเรามักอยู่ในเรื่อง growth เป็นหลัก เราจะภูมิใจกับจีดีพีโต แต่เราไม่ภูมิใจกับรายได้เฉลี่ยประชากรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า มิติของรัฐเอง บางทีเราลืมมิติที่สอง”

นอกจากนี้ในยุคที่ชัชชาติมีบทบาทเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาพบว่า แท้จริงแล้วการคมนาคมเป็นตัวอย่างสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่คนส่วนใหญ่เห็นชัดเจนแต่มองข้ามไป เพราะในชีวิตประจำวัน ทุกๆ เช้า คนทุกคนจะต้องแบ่งปันพื้นที่ท้องถนนร่วมกับคนอื่นๆ ในแง่นี้ท้องถนนจึงเป็นส่วนผสมของความไม่เท่าเทียมกันที่สุด

“คนทั่วไปมักคิดถึงการศึกษา หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล”

ข้อมูลของชัชชาติที่ใช้อธิบายตัวอย่างคือ ในกรุงเทพฯ มีรถเก๋งจำนวน 4 ล้านคันต่อวัน ที่สัญจรอยู่ตามถนน ขณะที่ขนส่งมวลชนซึ่งผู้ใช้บริการมากที่สุดอย่างรถเมล์ พบว่ามีอยู่เพียง 5,000 คันเท่านั้น

วิธีการอย่างหนึ่งที่เขาเห็นว่าน่าสนใจคือ อาจให้สิทธิ์รถเมล์มากกว่ารถเก๋ง โดยทำเป็น bus lane แต่ย้ำว่าประเทศไทยต้องมีรถเมล์ที่ดีก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ จำกัดการใช้รถเก๋งลง

รถเมล์หนึ่งคัน โดยสาร 60 คน เท่ากับรถเก๋ง 60 คัน ที่ขับคนละคัน ความจริงแล้ว นโยบายที่เราไปเน้นเรื่องรถไฟฟ้านั้น ความจริงแล้วเราลืมเรื่องเบสิค คือการเดินทางของคนส่วนใหญ่

ชัชชาติชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างในกรณีนี้คือ ความต้องการของกรุงเทพฯในการสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย ใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท ขณะที่รถเมล์ ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท

จากการคุลกคลีและจับตาประเด็นนี้มาโดยตลอด เขาพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอนี้ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ แม้ว่าจะพบปัญหาที่เห็นกันตรงหน้าอยู่ว่า คนจนส่วนใหญ่ยังคงโดยสารผ่านรถเมล์ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคนต่อวัน ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีจำนวนผู้โดยสาร 700,000 คน ต่อวัน รถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 400,000 คนต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รถเมล์คือหัวใจการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“รถเมล์ธรรมดา 200 บาทต่อเดือน รถเมล์แอร์ 800 บาท ต่อเดือน ถ้าขึ้นบีทีเอส 1500 ก็ต้องถามว่าใครจะสามารถอาศัยอยู่ตามรายทางบีทีเอสได้ คอนโดตารางเมตรละ 150,000 หรือ 200,000”

ตัวอย่างการสร้างความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายด้านการคมนาคมที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า คนจนถูกผลักออกไปอยู่ข้างนอก รถไฟฟ้ากลายเป็นช่องทางของคนมีอันจะกินแทน

ต่อประเด็นที่พิธีกรของวงคุยถามชัชชาติ ถึงปัญหาการข้อจำกัดของคนธรรมดาที่อยากมีธุรกิจ โดยเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐ

ชัชชาติให้ความเห็นกว้างๆ ไว้ว่า ระบบทุนนิยมทำให้บริษัทใหญ่ๆ เข้าไปครอบครองตลาดทั้งหมด บทบาทของรัฐ จึงต้องคนที่เข้าไปเกลี่ยความยุติธรรมตรงนี้ โดยที่รัฐจะต้องไม่ถูกกลืนหรือถูกครอบงำจากบริษัทใหญ่ๆ ได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะต้องบาลานซ์กับทุนนิยมได้คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องเอาเสียงส่วนใหญ่ของคนอื่นมารับฟัง

“สิ่งที่โน้มน้าวความเชื่อของเราคือสื่อ บริษัทใหญ่มีพลังตรงนี้เยอะ ความจริงเรามีรายละเอียด ในอนาคตถ้าภาครัฐไม่เข้มแข็ง สุดท้ายก็จะเอาประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่ม ถ้ามีการแข่งขันที่ดีความเหลื่อมล้ำจะลดลง ยกตัวอย่างเช่น low-cost airline ปัจจุบันคนทุกจังหวัดมีสิทธิ์ขึ้นเครื่องบิน คนที่มีรายได้น้อยก็มีโอกาสในการขึ้นเครื่องบิน นี่เป็นตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำที่ได้มาจากการแข่งขันที่เป็นธรรม”

มุมมองจากภาคเอกชนในสายตาของชัชชาติ

เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาสู่การเป็นผู้บริหารของภาคเอกชน ชัชชาติเห็นว่า ภาคเอกชนมีความสำคัญในการสนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้

“สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้แก้จากรัฐบาลหรอก มันต้องเริ่มจากตัวเรา ต้องเห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำ จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราต้องเห็นความสำคัญของชีวิตผู้อื่นด้วย หากเราทำงานในบริษัทเราต้องคิดถึงพนักงานที่มีครอบครัวเหมือนเช่นกับเรา สิ่งนี้ต้องอาศัยการค่อยๆ ปลูกฝัง ทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องเท่ากัน ชีวิตคนมีคุณค่าเท่ากัน”

ชัชชาติเห็นความเข้าใจดังกล่าวจะนำมาสู่ เรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมากอย่างหนึ่งคือการคอร์รัปชั่น

เขาเห็นว่าคอร์รัปชั่นกับความเหลื่อมล้ำมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ตั้งแต่ระดับบนถึงล่าง วิธีการในแก้ปัญหาอย่างแรก เขายืนยันว่า นโยบายต้องเข้มแข็ง ต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ดี โดยยึดหลักการสำคัญคือการเก็บภาษีแล้วมากระจายโอกาส สิ่งนี้สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

หากเราใช้ไปผิดทาง ไปใช้งบประมาณที่ไม่ได้สร้าง productive (ผลิตภาพ) เช่น เอาไปซื้ออาวุธ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลดความเหลื่อมล้ำ ต่อให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกทาง แต่ใช้งบประมาณอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก มันก็ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายก็เป็นคอร์รัปชั่นพื้นฐาน กินสังคมไปเรื่อยๆ และจะแก้ไม่ได้ทั้งสองเรื่อง


[1] อ้างอิงข้อมูลจาก: รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย, จัดทำโดย องค์การ Oxfam ประเทศไทย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า