‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน? นุชนารถ แท่นทอง

ภาพ: อารยา คงแป้น

เราทุกคนล้วนต้องการโอกาส ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษา ที่อยู่อาศัย หรือการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เป็นต้น แต่ความจริงคือ คนที่เข้าถึงโอกาสเป็นเพียงคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายแล้วความเหลื่อมล้ำจึงเกิด ยิ่งช่องว่างมากเท่าไร ความยากจนก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำและความยากจนอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และบนเวทีวงเสวนาว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ นุชนารถ แท่นทอง จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือตัวแทนเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำในสายตาคนจน

รถไฟฟ้า ผลลัพธ์จากความเหลื่อมล้ำของคนในเมือง

นุชนารถมองว่า สถานการณ์การไล่รื้อที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหล่านั้น

“บางชุมชนอาศัยอยู่เป็น 100 ปี แต่กลับโดนฟ้องไล่ที่ บางคนมีคดีเยอะจนจำไม่ได้ว่าขึ้นศาลไปแล้วกี่ครั้ง”

แสดงให้เห็นความจริงที่น่าเศร้าว่า ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าที่สร้างเพื่อให้ชั้นกลางในเมืองมีความสะดวกสบายมากขึ้นกลับส่งผลกระทบให้กับกลุ่มคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนจนที่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า ยิ่งไปกว่านั้นคนใช้รถไฟฟ้ามีจำนวนน้อยกว่าคนใช้รถเมล์ ดังนั้นแล้วระบบรถเมล์จึงควรออกแบบให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

ไล่คนข้างนอกเข้าใน หรือไล่คนข้างในออกนอก

เธอเป็นห่วงคนจนในต่างจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการไล่รื้อที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กับคนในเมืองเช่นกัน

“เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 และ 66 (เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้) ที่ไล่คนออกจากป่าและพื้นที่ที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยอ้างว่าจะนำความเจริญมาสู่เมือง กลายเป็นคนแถวนั้นถูกขับไล่ออกมา ส่วนคนในเมืองก็ถูกขับออกไป เลยงงว่าภาครัฐจะเอาอย่างไร จะไล่คนข้างนอกเข้าในหรือไล่คนข้างในออกนอก ซึ่งเป็นปัญหามาก อีกข้อหนึ่งคือ คนเหล่านั้นไร้ที่ดินทำกิน เพราะถูกต่างชาติเข้ามาทำการปลูกพืชผักตัวเอง แล้วความมั่นคงทางอาหารของเราจะอยู่ตรงไหน แถมยังสูญเสียที่ดินไป ทั้งๆ ที่คนจนไม่มีโอกาสจะมีที่ดิน”

ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่สุดขั้ว โดยจากรายงานว่าด้วยความเหลื่อมล้ำภายในประเทศไทยโดยองค์การ Oxfam ประเทศไทยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า โฉนด 61 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทยตกอยู่ในมือเจ้าที่ดินรายใหญ่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ บุคคลเพียงคนเดียวเป็นเจ้าของที่ดินสูงถึง 600,000 ไร่ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอีกประการคือ คนที่จนที่สุดจำนวนมากในประเทศไทยที่ประกอบอาชีพอย่างเกษตรกร ก็ยังไม่สามารถมีที่ดินเป็นของตัวเองได้

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่น่าเป็นห่วง

จากความเหลื่อมล้ำที่ผลมาตกอยู่ที่คนจน นุชนารถพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า

“คนในสลัมถูกมองว่าพอลูกโตอายุได้ 14-15 ก็มีผัว ติดยาเสพติด พ่อแม่ไม่มีโอกาสส่งลูกไปเรียนพิเศษหรือฝากเรียนได้ ต้องส่งลูกเรียนที่ใกล้ๆ สถานศึกษาเกิดการแข่งขันสูง เกิดช่องทางการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ แต่เราไม่มี ขาดโอกาสที่จะแข่งขันทางการศึกษา ความรู้ไม่มี การศึกษาไม่สูงพอ งานก็ทำได้ไม่กี่อย่าง เป็นแรงงานเพราะไม่มีโอกาสให้เลือก การศึกษาจึงสำคัญ”

แม้ว่าสิ่งที่เธอจะเป็นความจริงในสังคมไทยทุกวันนี้ แต่ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การศึกษาเป็นบันไดสำคัญที่ทำให้คนๆ นึงสามารถไต่ไปอีกระดับหนึ่งได้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานฉบับเดียวกันที่เสนอว่า ภาครัฐควรจัดให้มีการศึกษาฟรีอย่างแท้จริง

ประชาธิปไตยคือคำตอบ

เธอมองว่าเมื่อก่อนความเหลื่อมล้ำไม่ได้หนักเท่านี้ เธออธิบายว่า

“อย่างเรื่องบัตรทองหรือโครงการบ้านมั่นคง ก็เป็นสิ่งที่พวกเราเป็นคนผลักดัน การมีประชิปไตย อย่างน้อยคนจนก็มีสิทธิแสดงออก เรามีทุกข์ มีความยากจน มีความยากลำบาก สามารถบอกนักการเมืองได้ และหากนักการเมืองไม่ทำ เราก็มีสิทธิ์ไม่เลือกได้เช่นกัน เราเป็นเจ้าของเสียง เป็นเจ้าของสิทธิ์ เราเลือกคนที่ทำงานให้สังคม เราจะมองถึงว่าพรรคหรือนโยบายไหนที่สามารถช่วยได้ แก้ไขปัญหาได้ เราไม่ได้มองที่ตัวบุคคลด้วยซ้ำ”

เธอมองว่า ความสำคัญของระบบการเมืองประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้น จะทำให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน จนที่สุด รวยที่สุด มีที่ดินมากสุด หรือไม่มีเลย แต่ทุกคนก็จะมีเพียง 1สิทธิ์ 1เสียงเท่ากัน

สุดท้ายแล้วเธอมองว่า ถ้าเราเห็นแก่ตัวน้อยลง เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มองคนจนแบบสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นในลักษณะเยียวยา มันไม่สามารถแก้ไขหรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างถาวร อีกทั้งนุชนารถยังได้เน้นย้ำว่า ควรจะเริ่มเปลี่ยนจากตัวเราเองเสียก่อนเพื่อให้คนทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า