คุณครูตีน่า: ครูประจำชั้นของเด็กๆ ฟินแลนด์

ภาพ: Dahed Photography

นี่เป็นการมาเมืองไทยครั้งที่ 3 ของ ตีน่า เมาส์เต (Tiina Malste) ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปลายทางอยู่ที่สมุย แต่สองครั้งหลัง ตีน่ามาในฐานะครูฟินแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญหลักด้านการฝึกอบรมครูจาก EduCluster Finland (ECF)

ปัจจุบัน อาชีพหลักของตีน่า คือ ครูประจำชั้น หรือ Classroom Teacher ที่เธอทำมาตลอด 25 ปีหลังเรียนจบปริญญาโท

แล้ว ‘Classroom Teacher’ ของฟินแลนด์ มีความหมายต่างจากครูประจำชั้นไทยๆ อย่างไร?

ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อธิบายไว้ว่า ครูประจำชั้นของฟินแลนด์จะต้องสอนวิชาพื้นฐานทุกวิชา ตั้งแต่คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ พลศึกษา วรรณกรรม ยกเว้นวิชาเฉพาะอย่างชีววิทยา เคมี สิ่งทอ ฯลฯ เพื่อให้ครูสามารถติดตามดูแลนักเรียนในห้องอย่างใกล้ชิด

 

คุณครูตีน่า มาทำไม?

เมษายนที่ผ่านมา ตีน่าเปิด ‘ห้องเรียนฟินแลนด์จำลอง’ ให้เด็กไทยวัย 6-9 ขวบมาทดลองเป็นนักเรียนฟินแลนด์ โดยครูตีน่ารับหน้าที่สอนตลอดสองชั่วโมง

“ฉันจะเริ่มสังเกตเด็กๆ ทุกคนตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในห้อง” ตีน่าบอกสิ่งที่ทำเป็นอันดับแรก

ข้อสังเกตแรกของตีน่าคือ เด็กผู้ชายค่อนข้างเรียบร้อย ส่วนเด็กผู้หญิงเข้ามาหยิบหนังสืออ่าน แล้วก็นั่งเรียบร้อยเหมือนกัน เปรียบเทียบกับเด็กฟินแลนด์แล้ว ตีน่าบอกว่า ทำให้สงบยากกว่า

“แปลว่า ซนกว่าเยอะ (หัวเราะ)”

พอจับให้ทุกคนรวมกลุ่มกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกลายมาเป็นเซอร์ไพรส์อันดับแรกของครูฟินแลนด์ นั่นก็คือ

“เด็กแต่ละคนไม่มองหน้าหรือสบตากันเลย ซึ่งฉันคิดว่าเด็กๆ ควรเริ่มจากการคุยกัน ทำความรู้จักกัน”

แต่พอเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างการเล่นเกม เคล้าเสียงดนตรี ความตื่นตัว กระตือรือร้นของเด็กๆ ในการอยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ช่วยกันทำให้บรรยากาศการเรียนอยู่ในระดับน่าพอใจ ซึ่งไม่ได้ทำให้ตีน่าแปลกใจ เพราะเข้าใจดีว่า เด็กๆ ที่มาเข้า ‘ห้องเรียนฟินแลนด์จำลอง’ ผ่านการคัดเลือกมาพอสมควร อย่างน้อยก็จากพ่อแม่ที่สนใจการศึกษาในความหมายที่ต่างออกไป

เซอร์ไพรส์ที่สองของตีน่าคือ ความตั้งใจและเรียบร้อยจนถึงขั้นเงียบของเด็กบางคน แม้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอยู่บ้าง แต่สุดท้ายด้วยวิธีการสอนแบบไม่สอนของตีน่า ก็พาเด็กๆ ปิดคลาสด้วยรอยยิ้มกันทุกคน

สำหรับครูฟินแลนด์อย่างตีน่า การทำความรู้จักนักเรียนไทยเพิ่งเปิดประตูขึ้น…

ความรู้ไม่ได้อยู่หน้าชั้น

“ฉันไม่เคยเข้าไปในห้องเรียนไทย แต่เคยรับรู้ว่า การเรียนการสอนของไทยค่อนข้างมีศูนย์กลางอยู่ที่คุณครู ครูยืนอยู่หน้าชั้น แล้วเด็กๆ ก็จะนั่งฟังหันหน้าหาคุณครู คอยเขียน ฟัง และอ่าน แต่การศึกษาตามความเข้าใจของฉัน อาจต้องเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีขึ้น ต้องเปลี่ยนให้ศูนย์กลางการเรียนการสอนอยู่ที่เด็ก ไม่ใช้ให้ครูแอคทีฟคนเดียว”

ตีน่าอธิบายว่า หลักการเรียนรู้ของฟินแลนด์ตั้งอยู่บนพื้นฐาน Social Constructivism – การสร้างความรู้โดยผู้เรียนเอง “หมายความว่า ต้องให้ความสำคัญกับทักษะเรียนรู้เบื้องต้นของผู้เรียน พูดให้เข้าใจง่ายคือ ในฐานะครู เราจำเป็นต้องออกแบบการเรียนการสอนที่เฉพาะ แตกต่างกันไปตามแต่ละห้อง เพราะระดับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน”

สำหรับตีน่า แง่มุมหนึ่งที่สำคัญคือ การเรียนรู้ย่อมเกิดจากการร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์กัน ยิ่งความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กๆ มีมากเท่าไหร่ การเรียนรู้ย่อมเกิดมากเท่านั้น

“การเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) ระหว่างครูกับนักเรียนคือสิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนเอง นั่นคือสิ่งที่เราเชื่อมาตลอด”

เกรด D แล้วไง

การออกแบบการเรียนการสอน ควรตั้งอยู่บนพื้นฐาน ระดับความสามารถ ทักษะการเรียนของเด็กๆ และเราต้องเข้าใจให้ได้ว่า เด็กไม่ได้เก่งทุกคน

“เด็กทุกคนไม่มีทางเหมือนกัน ถ้าวัดตามอเมริกา เด็กมีทุกระดับ A B C D มีเด็ก A และเราก็ต้องผลักดันเขาไปให้ถึงระดับ A ส่วนเด็ก D เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เขาไม่สามารถทำได้มากกว่านี้แล้ว ตรงนี้ต่างหาก ที่เราจำเป็นต้องหาวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างให้เขา และยอมรับมันให้ได้ ทั้งครู พ่อแม่ และเด็ก มันคือวิธีที่ดีที่สุดแล้ว”

การตั้งเป้าหมายเดียวกันให้เด็กๆ ทุกคน คือความผิดพลาดอันเลวร้าย การทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กๆ ได้เกรด A คือเรื่องไร้สาระ

“มันไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราก็เรียกร้องให้เด็กๆ ฉลาดในมาตรฐานนั้น”

ตีน่าย้ำว่า ถึงจะเรียนไม่ได้เกรด A แต่เด็ก C หรือ D ก็มีพรสวรรค์อย่างอื่น เช่น ทักษะสังคม หรือทักษะทางอารมณ์

“หนูอาจเรียนเลขไม่เก่ง แต่หนูเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของทุกคน หนูเป็นเด็กตรงต่อเวลา มีน้ำใจ สิ่งเหล่านี้คือพรสวรรค์เท่าๆ กับความสามารถทางวิชาการ เพราะพรสวรรค์ไม่ควรมีนิยามหนึ่งเดียว”

สำหรับปีที่ 26 ของการทำหน้าที่คุณครูประจำชั้น ตีน่าบอกว่าเธอมีความสนุกกับการสอนมากขึ้นทุกปี และคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังได้ยินเด็กๆ ในห้องพูดว่า “หนูมีความสุข หนูอยากมาโรงเรียนจังเลย”


วานิลลา กับ มิลิน สองพี่น้องกับห้องเรียนทดลองฟินแลนด์

วันนั้น ด้วยความสนใจส่วนตัวของคุณแม่ วานิลลา คนพี่ (ป.3) กับ มิลิน คนน้อง (ป.1) จึงได้มาทดลองเป็นนักเรียนฟินแลนด์อยู่สองชั่วโมง

Q: ประเทศฟินแลนด์น่าจะเป็นยังไง

วานิลลา: หนาว

Q: เวลาเรียนกับครูตีน่า ชอบอะไรที่สุด

มิลิน: ไม่ต้องนั่งโต๊ะ ชอบ

วานิลลา: คุณครูตีน่าใจดีกว่า ไม่ดุเวลาเราทำผิด

Q: ต่างกับที่โรงเรียนยังไงบ้าง

มิลิน: ที่โรงเรียน ครูสอนแล้วให้เขียนตามกระดาน แต่ชอบแบบนี้มากกว่า เพราะได้นั่งพื้น คนน้อย เกมที่โรงเรียนเอามาเล่นก็ยากกว่า พอเราตอบผิดปุ๊บ ครูก็จะให้เพื่อนคนอื่นตอบต่อปั้บ

Q: เสียใจไหม

มิลิน: ไม่เป็นไรค่ะ


Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า