ว่าด้วยเรื่องช้อนส้อม

fork-and-spoon

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

อาจเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนในยุคปัจจุบันใช้ส้อมเพื่อเกลี่ยข้าวเข้าช้อน เพราะฟังก์ชั่นของส้อมในห้วงเวลานำเข้ามาในสังคมสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ชนชั้นสูงยังคงมะงุมมะงาหราในการใช้ส้อม พวกเขาใช้ส้อมแทงหรือทิ่มอาหารส่งเข้าปาก พร้อมกับข้อสงสัยถึงประโยชน์ที่แท้ของส้อม ว่าส้อมอาจช่วยให้มือซ้ายไม่ต้องเปื้อนจากการใช้มือหยิบอาหาร!

แล้วตอนไหนที่เราใช้ส้อมเกลี่ยข้าวเข้าช้อน?

ในสังคมตะวันตกยุคกลางเป็นยุคเจริญรุ่งเรืองของการกินอาหารด้วยมือ พระราชาพระราชินีรวมถึงชาวไร่ชาวนาล้วนใช้มือกินอาหาร ชามซุปเป็นของส่วนกลางที่ผู้คนในวงข้าวต่างใช้ยกซดร่วมกัน หรือใช้ทัพพีหรือช้อน แต่ไม่ได้ใช้ในลักษณะช้อนกลางอย่างปัจจุบัน ถ้าลองนึกภาพวงข้าวในยุคกลาง การกินอาหารยุคกลางจึงค่อนข้างชุลมุน

บรรดาเครื่องมือการกินบนโต๊ะอาหาร ส้อมถือกำเนิดหลังสุด มีดเป็นเครื่องมือประกอบการกินที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ตะวันตก ส้อมไม่ปรากฏบนโต๊ะอาหารชาวกรีก ซึ่งประกอบด้วยช้อน มีด และมือของพวกเขา

ส้อมถูกผลิตขึ้นมาในช่วงคริสศตวรรษที่ 11 แต่กว่าจะถูกนำมาใช้งานบนโต๊ะอาหาร ก็ต้องรอจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และกลายเป็นแบบแผนการกินอันมีมารยาทของชาวตะวันตก

เมื่อดูจากลักษณะของส้อม ปลายแหลมของมันเป็นเหมือนเครื่องมือปลิดชีวิตมากกว่าเครื่องมือในการส่งอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ดุจจินตนาการความน่าสะพรึงกลัวในบทกวีที่ชื่อว่า ส้อม (The Fork) ของชาร์ลส์ ซีมิค (Charles Simic)

เจ้าสิ่งประหลาดนี้

มันต้องคืบคลานมาจากอเวจี

มันละล้ายคล้ายตีนนก

ที่พันอยู่รอบคอพวกกินซากศพ

เมื่อคุณถือมันไว้ในมือ

เมื่อคุณแทงเข้าไปชิ้นเนื้อ

ประหนึ่งภาพชิ้นส่วนที่เหลือของนกตัวนั้น

หัวของมันประหนึ่งราวกำปั้น

ทั้งใหญ่ ล้านเลี่ยน ไร้จะงอยปาก และตาบอด

antique_fork

ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 การยกซดซุปเริ่มเป็นกิริยาน่ารังเกียจ พวกเขาจะรินซุปใส่ชามตรงหน้าตัวเอง กติกามารยาทบนโต๊ะอาหารยังกำหนดให้เช็ดช้อนของตนให้สะอาดเสียก่อนที่จะตักซุปในชามกลางครั้งต่อไป นี่คือมาตรฐานที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น จนเกิดการแยกช้อมส้อมและถ้วยซุปของแต่ละคนออกจากกัน

แต่ถ้าเรามองการใช้ช้อนตักของเหลว ใช้ส้อมทิ่มอาหารของชาวตะวันตกเมื่อหลายศตวรรษก่อน ก็จะเกิดคำถามด้วยสำนึกคนสมัยปัจจุบัน ว่าทำไมเรื่องง่ายๆ สมเหตุสมผลอย่างนี้จึงใช้เวลาก่อตัวตั้งหลายศตวรรษ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชนชั้นสูงชาวสยามเริ่มรับวัฒนธรรมการใช้ช้อนส้อมและมีดเข้ามาเป็นแบบแผนการกินอาหาร แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏว่ามีการใช้ช้อนกันอยู่แล้ว ซึ่งจะใช้ตักอาหารที่เป็นของเหลว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำช้อนมีทั้ง ช้อนตะกั่ว, ช้อนมุก, ช้อนถ้วย, ช้อนทอง และช้อนหอย

วัสดุที่แตกต่างกันทำหน้าที่สร้างความแตกต่างทางชนชั้น ชาวบ้านทั่วไปคงไม่สามารถใช้ช้อนมุกหรือช้อนทอง ในสมัยนั้นพระสงฆ์จะเป็นกลุ่มที่ใช้ช้อนมุก ซึ่งถูกยกให้อยู่สูงกว่าคนทั่วไป สำหรับช้อนหอยซึ่งทำจากเปลือกหอยก็ไม่มีความสวยงามเท่าช้อนมุก สามัญชนคนทั่วไปจึงใช้ช้อนหอยในวงกับข้าว

เมื่อสังคมเปลี่ยน การเลื่อนลงมาของวัสดุมีค่าสู่สามัญชนคนธรรมดาจึงเกิดขึ้น เมื่อปรากฏบันทึกที่ระบุว่า ชาวบ้านสามัญชนในสมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มใช้ช้อนมุกกันแล้ว

แต่การใช้ช้อนในสมัยนั้นไม่ได้ใช้เป็นของส่วนตัวเหมือนวิวัฒนาการของสังคมตะวันตกช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในบันทึกของสังฆราชปาลเลกัวซ์ บรรพบุรุษชาวสยามของเรายังคงนั่งกินอาหารบนเสื่อหรือพรม ผู้คนไม่ใช่ช้อนส้อมหรือมีดโต๊ะ แต่พวกเขาใช้ช้อนมุกตักกับข้าว นอกจากนั้นก็ใช้นิ้วมือเปิบข้าว

การใช้ช้อนของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการใช้ ‘ช้อนรวม’ ไม่ใช่ ‘ช้อนกลาง’ ลักษณะการใช้ช้อนรวมคือสามารถใช้ช้อนคันเดียวกันนี้ ตักน้ำแกงจากสำรับกลางแล้วตักเข้าปากได้เลย แล้วคนอื่นก็ทำเหมือนเรา

fork

การติดต่อสัมพันธ์ ธรรมเนียมการทูต และงานเลี้ยงแบบตะวันตกช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ค่อยๆ ฝึกฝนทักษะการใช้ช้อนส้อมและมีดของชนชั้นสูงให้มีมารยาทตามแบบแผนตะวันตก การฝึกฝนมารยาทการกินอาหารแบบชาวตะวันตกยังเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงสยามเข้ามามีส่วนร่วมบนโต๊ะอาหาร ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้หญิงต้องรอให้สามีกินอิ่มเสียก่อน พวกเธอจึงจะสามารถกินข้าวได้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชนชั้นสูง

และนั่นทำให้ผู้หญิงและเด็กๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จำต้องฝึกฝนการกินอาหารด้วยช้อนส้อมและมีดแบบชาวตะวันตกไปด้วย การฝึกฝนกินอาหารด้วยช้อนส้อมและมีดไม่ได้เป็นไปอย่างสะดวกนัก มันค่อนข้างมีลักษณะมะงุมมะงาหรา

วัฒนธรรมการใช้เครื่องมือในการกินของสังคมสยาม แต่ไหนแต่ไรจะใช้นิ้วมือเปิบข้าว จะใช้ช้อนก็แต่ในวาระโอกาสที่ต้องการซดน้ำแกง เมื่อต้องกินอาหารด้วยช้อนส้อม ทำให้ต้องจัดระเบียบมือใหม่ ในระหว่างมื้ออาหาร มือขวาต้องถือช้อน มือซ้ายถือส้อมตลอดเวลาในการกิน ถ้าเป็นอาหารตะวันตก มือขวาจะถือมีด มือซ้ายถือส้อม

การฝึกฝนใช้ช้อนส้อมในแง่หนึ่งมันคือการสร้างความหมายให้แก่ชนชั้นตนเอง เพราะการใช้ช้อนส้อมในสมัยนั้นคือการแสดงถึงความศิวิไลซ์

ขึ้นชื่อว่าการฝึกฝนย่อมต้องลำบาก เพราะการใช้ส้อม 2 ง่าม 3 ง่าม หรือ 4 ง่าม ก็ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร การฝึกฝนใช้ช้อนส้อมของชนชั้นสูงก็พบปัญหา เราสามารถพบความประดักประเดิดต่อวัฒนธรรมใหม่ได้จากจดหมายของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่บรรยายถึงความไม่สะดวกในการใช้ส้อม 2 ง่าม

สำหรับการใช้ช้อนไม่ปรากฏเป็นปัญหาสำหรับกรมพระยาฯดำรง เพราะคุ้นเคยว่าใช้ตักของเหลว แต่ ‘ส้อมสำหรับจิ้มอะไร’ เพราะกับข้าวในจานก็สามารถใช้มือหยิบได้ทั้งนั้น ข้อสันนิษฐานถึงประโยชน์ของส้อมในความคิดของกรมพระยาฯดำรง ก็คือ

“คิดดูเห็นจะใช้ส้อมเมื่อประสงค์จะแยกกับข้าวออกเป็นหลายชิ้น เอามือซ้ายถือส้อมแทงอาหารไว้อยู่กับที่ เอามือขวาฉีกอาหารออกไปเป็นอีกชิ้นหนึ่ง คือใช้ส้อมไม่ให้มือซ้ายเปื้อนเท่านั้นเอง”

ชนชั้นนำค่อยๆ เรียนรู้ว่าส้อม 2 ง่ามเหมาะกับการใช้มีด ขณะที่ส้อม 4 ง่าม ซึ่งมีลักษณะแบนมากกว่า ควรใช้คู่กับช้อน การกินอาหารของคนไทยในยุคปัจจุบันใช้ส้อม 4 ง่ามเป็นหลัก (ถ้าเรากินอาหารไทย) และหน้าที่อย่างหนึ่งของส้อม 4 ง่ามคือ เกลี่ยข้าวเข้าช้อน

แล้วมันเป็นไปตั้งแต่ตอนไหน เรายังไม่พบบันทึกหรืองานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งหากพิจารณาจากรูปลักษณ์ของส้อม มันน่าจะมีไว้ทิ่มอาหารมากกว่า แต่ด้านหลังของส้อมซึ่งมีลักษณะแบนกลับทำประโยชน์ทางอ้อมอย่างการเกลี่ยข้าวเข้าช้อนได้อย่างลงตัว หรือว่าการฝึกฝนการใช้ช้อนคู่กับส้อมที่สั่งสมมารุ่นต่อรุ่น ทำให้เกิดลักษณะการใช้งานอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเพียงการคาดเดาล้วนๆ

**************************************

อ้างอิงข้อมูลจาก :
– อาหาร: การสร้างมาตรฐานการกินกับอัตลักษณ์ทางชนชั้น โดย กมลทิพย์ จ่างกมล
– slate.com

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Food republic นิตยสาร Way ฉบับ 71)

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า