Freedom for the Press: 3 พฤษภาคม วันแห่งเสรีภาพสื่อ

 ภาพประกอบ: antizeptic

 

เมื่อสื่อมีเสรีภาพ และทุกคนสามารถอ่านได้ ทุกสิ่งจะปลอดภัย

โธมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

หน้าที่ของสื่อมวลชน เข้าใจในความหมายอย่างง่ายได้ว่า “เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อกลางเพื่อนำข่าวสาร และเนื้อหาสาระ เพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์สื่อดิจิตอล” หรือในรูปแบบใดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถสื่อ ความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป”

อ้างอิงจากแนวคิดของ เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) นักการเมืองและนักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ แบ่งพื้นฐานทางจารีตประเพณีเดิมของอังกฤษไว้สี่ฐานันดรได้แก่

  • ฐานันดรที่หนึ่ง กษัตริย์
  • ฐานันดรที่สอง ศาสนา
  • ฐานันดรที่สาม รัฐสภา
  • ฐานันดรที่สี่ หนังสือพิมพ์

 

Watchdog

นอกจากการเผยแพร่ข่าวสาร ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights) ยังเคยกล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นเสมือนผู้ควบคุมดูแล (Watchdog) ของระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับแนวคิดของ แฮโรลด์ ดี. ลาสเวลล์ นักทฤษฎีสื่อสารมวลชนประการหนึ่งที่ว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมในสังคม

หน้าที่สอดส่องและเฝ้าระวัง เป็นปากเสียง เป็นช่องทางขยายเสียงเล็กๆ ของประชาชนให้ขยายไปสู่วงกว้าง ไปถึงคอยตรวจสอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐ และบทบาทสื่อเหล่านี้ ทำให้บางครั้งต้องยืนอยู่ตรงข้ามกับอำนาจหลายรูปแบบ ทั้งอิทธิพลนอกกฎหมาย และบางครั้งคือการยื่นมือเข้ามาบีบให้สื่อมวลชนเดินเข้าสู่ถนนแคบๆ ด้วยการกำกับควบคุมของรัฐ ไม่ว่าจะออกกฎหมายโดยตรง หรือมีส่วนในคณะกรรมการตรวจสอบ การควบคุม กลั่นกรอง และใช้อำนาจเซ็นเซอร์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้สื่อมวลชนมีปัญหาด้านเสรีภาพในการรายงานสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา

การสำรวจในปี 2016 เกี่ยวกับการคุ้มครองสื่อในยุโรป 28 จาก 47 ประเทศในยุโรป พบว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ตัวเลขการคุกคามสื่อฝั่งยุโรปมีจำนวนมากขึ้น โดยผลสำรวจจากสื่อ 940 ราย ระบุว่า

  • 69 เปอร์เซ็นต์ถูกทำร้ายร่างกาย
  • 53 เปอร์เซ็นต์ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (cyberbullying)
  • 50 เปอร์เซ็นต์ถูกคุกคามจากผู้เสียผลประโยชน์
  • 46 เปอร์เซ็นต์ถูกข่มขู่ด้วยกำลัง
  • 43 เปอร์เซ็นต์ถูกกลุ่มการเมืองคุกคาม
  • 39 เปอร์เซ็นต์ถูกติดตาม
  • 35 เปอร์เซ็นต์ถูกตำรวจข่มขู่

 

เสรีภาพสื่อ

เราเคยอ่านและได้ยินคำว่า ‘ทุ่มด้วยโพเดียม’ หรือ ‘จับยิงเป้า’ ที่ผู้มีอำนาจไทยกล่าวถึงสื่อมวลชน นี่คือตัวอย่างส่วนน้อยที่ทำให้อันดับเสรีภาพสื่อของไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ไม่มีเสรีภาพ’ และดัชนีเสรีภาพสื่อปี 2017 ของ Reporters without Borders ไทยอยู่ในอันดับที่ 142 (ทั้งหมด 180 ประเทศ) จากที่เคยอยู่ในอันดับ 136 เมื่อปีก่อน เป็นรองทั้งปากีสถาน อัฟกานิสถาน และเมียนมาร์

ขณะที่สหรัฐก็อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีปัญหากับสื่อมวลชนบ่อยครั้ง ทั้งในกรณีข่าวปลอม ข่มขู่ด้วยวาจา หรือกระทั่งเคยตะเพิดนักข่าวและให้การ์ดหิ้วออกไปจากห้อง สหรัฐจึงมีอันดับหล่นลงมาจาก 41 เป็น 43

ดัชนีเสรีภาพสื่อปี 2017

นอร์เวย์

อันดับที่ 1 (3 ในปี 2016)

รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ปี 1814 มาตรา 100 ถือว่าเป็นการปูทางให้กับพื้นที่เสรีภาพสื่อของนอร์เวย์ได้อย่างดี ปัจจุบันสื่อของนอร์เวย์ไม่มีความกังวลว่าจะถูกจำกัดหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ หรือถูกแทรกแซงทางการเมือง แม้จะมีภาพกลุ่มมุสลิมสุดโต่งมาคุกคามสื่อบ้างเป็นครั้งคราว แต่ความรุนแรงต่อตัวผู้สื่อข่าวก็เป็นเรื่องที่หาดูได้ยาก

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เรื่องวุ่นวายของสื่อในนอร์เวย์กลับเป็นส่วนแบ่งตลาด ตามกฎหมายการถือครองธุรกิจสื่อสารมวลชน (Media Ownership Act) ในหมวดต่อต้านการกระจุกตัว (anti-concentration law) ปี 1997 ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแบนกลุ่มสื่อชั้นนำ เช่น Egmont, Schibsted และ Amedia ด้วยสาเหตุว่า สื่อเหล่านี้มีส่วนแบ่งในตลาดวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์สูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

โดยปกติรัฐบาลนอร์เวย์ได้ให้ความช่วยเหลือสื่ออยู่แล้ว เช่น การไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสื่อสิ่งพิมพ์ หรือให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญแก่สื่อ

มีนาคมที่ผ่านมา สื่อนอร์เวย์ได้จัดแคมเปญ #ETTMINUTT โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนคำนึงถึงความสำคัญของความหลากหลายของสื่อมวลชน และความเป็นอิสระในการจัดหาข่าวสารและข้อมูลที่เชื่อถือได้

เมียนมาร์

อันดับที่ 131 (143 ในปี 2016)

หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แวดวงสื่อสารมวลชนของเมียนมาร์ต่างคาดหวังว่า สื่อมวลชนจะมีเสรีภาพในการนำเสนอมากขึ้น และหลังจากนี้จะไม่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือกองทัพอีกต่อไป

แม้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่ถูกจับกุมในยุคของรัฐบาลเต็งเส่ง จะถูกปล่อยตัวออกมาแล้วก็ตาม แต่นโยบายเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censorship) ของรัฐบาลและกองทัพก็ยังดำเนินต่อไป รัฐบาลเมียนมาร์ใช้อำนาจเพื่อกดดันและแทรกแซงสื่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จึงกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะหลังเลือกตั้งพื้นที่เสรีภาพของสื่อในประเทศยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

ยิ่งกว่านั้น ความคิดเหยียดชนชาติหรือถือชาติพันธุ์กลับแพร่ขยายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปิดกั้นเสรีภาพของชาวโรฮิงญาและการคุ้มครองวิกฤติมนุษยธรรมในรัฐยะไข่

สิงคโปร์

อันดับที่ 151 (154 ในปี 2016)

ในสิงคโปร์ องค์กรพัฒนาสื่อ (Media Development Authority) มีอำนาจเต็มในการเซ็นเซอร์เนื้อหาของสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะในออนไลน์หรือออฟไลน์

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ต่อการใช้นโยบายควบคุมสื่อเป็นไปอย่างเข้มงวดและไม่มีการยืดหยุ่น มาตรการดังกล่าวมีตั้งแต่ฟ้องร้อง กดดันให้ออกจากวงการสื่อ ไปจนถึงการบังคับให้ออกนอกประเทศ

ข้อหาหมิ่นประมาท กลายเป็นข้อหาที่ถูกใช้มากที่สุดต่อกลุ่มคนวงการสื่อ ซึ่งบางครั้งมาพร้อมกับข้อหาปลุกปั่นให้ก่อความไม่สงบหรือต่อต้านรัฐบาล และโทษสูงสุดก็คือ การจำคุก 21 ปี

อย่างไรก็ตาม ผลสรุปอันดับดัชนีเสรีภาพสื่อที่ปรากฏออกมาจาก Reporters without Borders ชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพสื่อของวงการสื่อสารมวลชนสิงคโปร์ถูกจำกัดเพิ่มมากขึ้น จนอยู่ในระดับพื้นที่สีแดงไปเรียบร้อยแล้ว

มาเลเซีย

อันดับที่ 144 (146 ในปี 2016)

ภายใต้กฎหมายการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ (Printing Presses and Publications Act) ส่งผลให้หนังสือพิมพ์มาเลเซียจำต้องต่อสัญญากับรัฐบาลทุกปีเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ กฎหมายดังกล่าวนำโดย นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค (ซึ่งเกี่ยวข้องกับข่าวฉาวกรณีฉ้อโกงกองทุน 1MDB เมื่อปีที่ผ่านมา) เพื่อจับตามองสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงควบคุมไม่ให้สื่อมีอิสระในการทำข่าวมากจนเกินไป

ปี 2016 รัฐบาลได้บังคับให้เว็บไซต์ข่าวภายในของมาเลเซียปิดตัวลง ขณะเดียวกันก็เข้าไปเล่นงาน ซุคิฟลี ซัม อันวาร์ (Zulkiflee Sm Anwar Ulhaque) หรือ ซูนาร์ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ด้วยข้อกล่าวหาปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

รัฐบาลมาเลเซียกำลังแก้ไขข้อเพิ่มเติมหลายฉบับเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสื่อให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม Sedition Act หรือกฎหมายการปลุกระดมยังคงเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับวงการสื่อของมาเลเซียเช่นเดิม

เกาหลีเหนือ

อันดับที่ 180 (179 ในปี 2016)

หลัง คิมจองอึน ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในปี 2012 เกาหลีเหนือกลายเป็นระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบ ประชาชนถูกปิดหูปิดตาและห้ามออกนอกประเทศ รวมถึงห้ามบริโภคสื่อทุกชนิดจากต่างประเทศ

The Korean Central News Agency (KCNA) คือ สื่ออย่างเป็นทางการเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ ที่ทุกบ้าน ทุกครอบครัวในเกาหลีเหนือเสพได้ แม้บางครั้งรัฐบาลเกาหลีเหนือจะเชิญสื่อต่างประเทศเข้ามาทำข่าวบ้าง แต่ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐบาลวางพล็อตเอาไว้ให้

กันยายนปี 2016 สำนักข่าวฝรั่งเศส Agence France-Presse (AFP) จับมือกับ KCNA เพื่อทำข่าวร่วมกันคล้ายกับที่สำนักข่าว AP เคยร่วมมือมาก่อนแล้วเมื่อปี 2012 อย่างไรก็ตาม ด้วยระบอบการเมืองดังกล่าว ข่าวหรือข้อมูลจากเกาหลีเหนือทุกอย่างจึงถูกควบคุมอย่างพิถีพิถันโดยรัฐบาลเช่นเดิม

 

กลไกสังคมประชาธิปไตย

สัญญาเตือน: เสรีภาพสื่อลด ประชาธิปไตยลง

ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2017 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย RSF แสดงให้เห็นว่า สื่อของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยชั้นนำของโลก

“ประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของเสรีภาพสื่อ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ปัจจุบันเสรีภาพสื่อทั่วโลกกำลังถูกกัดกร่อน ส่งผลให้ประชาธิปไตยตกอยู่ในอันตราย” คริสโตเฟอร์ เดลัวร์ (Christophe Deloire) เลขาธิการของ RSF แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันมากหรือน้อยแค่ไหน แต่การที่โดนัลด์ ทรัมป์ถูกโหมกระหน่ำด้วยกระแสสื่อ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้สำเร็จ เช่นเดียวกับกระแสแคมเปญ Brexit ในอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองที่เป็นประเทศชั้นนำในโลกประชาธิปไตย แต่เสรีภาพสื่อกลับถูกโจมตีและบิดเบือนจนผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุค post-truth กล่าวคือ อารมณ์และความเชื่ออยู่เหนือความจริงทั้งมวล และข้อมูลข่าวสารกลายเป็นข่าวลวงอย่างแท้จริง

หลายๆ ประเทศที่ชูความเป็นประชาธิปไตยเริ่มหลงใหลไปกับการควบคุมและเฝ้าระวังสื่ออย่างเข้มงวด โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปตามหลักความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงการเกิดขึ้นของการควบคุมสื่อรูปแบบใหม่ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ยิ่งส่งผลให้เสรีภาพสื่อถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐ (อันดับที่ 43 จาก 41 ในปี 2016) อังกฤษ (อันดับที่ 40 จาก 38 ในปี 2016) นิวซีแลนด์ (อันดับที่ 13 จาก 5 ในปี 2016) และ ฟินแลนด์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด ติดอันดับหนึ่งด้านเสรีภาพสื่อของโลกมาตลอดหกปี แต่ในปีนี้กลับต้องมอบมงกุฎดังกล่าวให้นอร์เวย์ (ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) และได้อันดับที่ 3 ไปแทน ด้วยเหตุผลว่า สื่อของฟินแลนด์ได้รับแรงกดดันทางการเมือง รวมถึงเกิดการขัดกันทางผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

“ดัชนีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยกำลังอยู่ในจุดพลิกผัน สำหรับพวกเราแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เพราะหากเสรีภาพสื่อยังไม่ปลอดภัย กระนั้นแล้วคงไม่มีเสรีภาพใดได้รับการรับประกันว่ามันปลอดภัยอีกต่อไป” คริสโตเฟอร์กล่าว

สถานการณ์สื่อในตุรกี

หลายปีที่ผ่านมา ตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน หันเหจากความเป็นประชาธิปไตยใกล้เคียงกับรูปแบบเผด็จการมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมสื่อมวลชน ไม่ให้รายงานข่าวที่พวกเขามองว่า ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ ผู้วิจารณ์รัฐบาลถูกจับ ไม่ต่างกับนักข่าวและนักวาดการ์ตูนล้อเลียนที่อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน

จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1991 โดย Committee to Protect Journalists (CPJ) พบว่า ในปี 2016 ตุรกีจำคุกนักข่าวและสื่อมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ปิดสำนักข่าวและสำนักพิมพ์ 178 แห่ง ใช้มาตรการฉุกเฉินและกฎหมายอื่นๆ ปิดองค์กรสื่อ รวมถึงการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ปิดการเข้าถึงสื่อออนไลน์ภายนอก โดยไม่ต้องใช้คำสั่งศาล

การคุกคามไล่ปิดสื่อทวีความเข้มข้นกว่าเดิม หลังการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลตุรกีคงกฎหมายฉุกเฉินไว้ตั้งแต่กรกฎาคม 2016 และ 29 เมษายน รัฐบาลใช้กฎหมายฉุกเฉินตามคำสั่ง 689 (Decree 689) ให้ปิดแมกกาซีนฝ่ายซ้าย Yürüyüş และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Van İpekyolu Haber ด้วยข้อหาก่อการร้ายและเป็นภัยต่อความมั่นคง

ไม่ใช่แค่ปิดสื่อ หลายปีก่อน โอเมอร์ เชลิก (Ömer Çelik) บรรณาธิการข่าวของ Dicle News Agency (DiHA) กล่าวว่า เขาถูกตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างควบคุมตัว ด้วยการสาดน้ำเย็นใส่และขังเขาไว้นอกอาคารท่ามกลางอากาศหนาว

ล่าสุด ตุรกีบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์วิกิพีเดีย โดยให้เหตุผลว่า วิกิพีเดียสนับสนุนแนวคิดก่อการร้าย มีการอ้างอิงว่า ทางการตุรกีได้ติดต่อไปยังวิกิพีเดียให้นำข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ทำให้ตุรกีดูเหมือนอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มก่อการร้าย ออกไปจากเว็บไซต์ เมื่อทางวิกิพีเดียปฏิเสธ รัฐบาลตุรกีจึงปิดกั้นการเข้าถึงวิกิพีเดียจากภายในประเทศ สำนักข่าว NTV ในตุรกีอ้างว่า ทางการต้องการให้วิกิพีเดียมาเปิดสำนักงานในตุรกี เพื่อให้ “เคารพกฎหมายนานาชาติ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่คอยใส่ความตุรกี” และ “เพื่อให้เคารพคำสั่งของศาลตุรกี”   

ฐานันดรที่ห้าในโลกที่ปิดกั้นไม่ได้

หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ แนวโน้มของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งการปิดตัว ลดจำนวนพนักงาน พร้อมๆ กับการเข้ามาแทนที่ของสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ที่ทั้งรวดเร็วและทันสถานการณ์มากกว่า เช่นเดียวกับสื่อหลักอย่างทีวีที่ถูกแทนที่ด้วยคอนเทนต์เคเบิลและการถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดีย  

การสำรวจของ Pew Research Center เมื่อมกราคม 2016 พบว่า ผู้ใหญ่อเมริกันเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่า หนังสือพิมพ์หลักคือแหล่งข่าวสำคัญสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี 1 ใน 3 จากตัวอย่างทั้งหมดที่อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้ว ปริมณฑลของสื่อในสายตาของพวกเขาคือ เคเบิล สถานีโทรทัศน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์  

จากนั้นยังมีการนำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิตอล เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่า นี่คือแหล่งข่าวต้นทางของจริง (original report) โดยการรายงานแบบ virtual reality ที่ทำให้ผู้ชมเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ เช่น The New York Times และ The Des Moines Register ขณะที่บางสำนักข่าวใช้ chatbot เพื่อสำรวจรสนิยมการเสพข่าวและส่งข่าวในหมวดนั้นๆ ตามความสนใจผ่านกล่องข้อความเฟซบุ๊คมาถึงเราโดยตรง เช่น Washington Post และ Quartz

ปริมณฑลที่เปลี่ยนไปของสื่อนี้ทำให้ ‘ฐานันดรที่ห้า’ มีตัวตนมากขึ้น

ฐานันดรที่ห้าไม่ใช่ของใหม่ ความหมายเดิมของมันคือ สื่อกระแสรอง ไม่ใช่สำนักข่าว ตัวอย่างที่เห็นมานานคือบรรดาบล็อกเกอร์ นักข่าวออนไลน์ หรือแม้กระทั่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วๆ ไป เผยแพร่คอนเทนต์ที่น่าสนใจสู่สังคมในวงกว้าง

ฐานันดรที่ห้าช่วยขยายพื้นที่ แม้แต่เข้าไปแทนที่ฐานันดรที่สี่เดิม โดยเฉพาะบรรดาสื่อกระแสหลักที่ถูกควบคุมและเซ็นเซอร์จากอำนาจรัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ง่าย

นักปรัชญาและนักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวซาอุฯ นายิฟ อัล-รูดัน (Nayef Al-Rodhan) มองว่าบล็อกหรือเว็บบล็อกก็คือฐานันดรที่ห้า เนื่องจากมันส่งผลและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายรัฐได้จริง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง การรายงานข่าวจากพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท รวมถึงการวิพากษ์นโยบายของบรรษัทหรือนโยบายรัฐที่มีปัญหา

จากการสังเกตการณ์ อัล-รูดันพบว่า บล็อกหรือแหล่งข่าวอิสระเหล่านี้ช่วยทลายกรอบคิดเกี่ยวกับฐานันดรต่างๆ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสามารถมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความมั่นคงในแบบไร้พรมแดน

แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่ค่อยเห็นอิทธิพลของบล็อกเหล่านี้มากเท่ากับสเตตัสเฟซบุ๊คของเหล่าผู้มีอิทธิพลทางความคิดมากนัก แต่การใช้บล็อกมีข้อสังเกตน่าสนใจหลายประการ เช่น ไม่ต้องผ่านสายตาบรรณาธิการ เข้าถึงได้ง่าย แต่ถูกเซ็นเซอร์หรือควบคุมได้ยาก และสามารถตอบโต้ได้ในแบบเรียลไทม์

บล็อกสามารถส่งผลต่อการกำหนดนโยบายได้ ด้วยการให้ข้อมูลหรือเป็นจุดเชื่อมโยงความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน สนับสนุนพลังรากหญ้า ดิสเครดิตนักการเมืองหรือทุกคนที่เล่นการเมือง ไปจนถึงเสนอนโยบายที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม อัล-รูดันมองว่ารัฐบาลควรเพิ่มการสอดส่องบล็อกที่มีความเคลื่อนไหวไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะที่อาจเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย พร้อมกับหากลไกหรือเครื่องมือที่จะป้องปรามการกระทำเหล่านี้

เควิน วอลล์สเทน อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท ลองบีช (California State University, Long Beach) พูดถึงอิทธิพลของฐานันดรที่ห้าตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2004 จากการรวบรวมข้อมูล วอลล์สเทนวิเคราะห์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกระแสหลักและบล็อกนั้นค่อนข้างซับซ้อนและเป็นไปแบบสองทิศทาง คือมีการตอบโต้กันและกันอยู่ตลอดเวลา  


อ้างอิงข้อมูลจาก: rsf.org
merlin.obs.coe.int
journalism.org
cpj.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า