‘ถึงคน…ไม่คิดถึง’: กูลาแล้ว วงการหนังไทย

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี

*เรต: แตะนิดสปอยล์หน่อย เรื่อยๆ ไปอย่างเมามันส์

จำข้อความแม่นๆ ในประโยคนั้นไม่ได้ แต่คร่าวๆ ประมาณว่า

ทำยังไงเราจึงจะควบคุมตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ และอยู่กับคนที่ไม่ได้ปรารถนาที่สุด แต่ก็รักคนนั้นอย่างจริงใจ ทำไมเราจะทำแบบนั้นไม่ได้”

ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘From Bangkok to Mandalay’ พูดถึงตัวละครอย่าง ‘ธูซา’ ผู้หญิงที่ยังค้างคาใจจากรักต่างฐานันดร เธอถูกสังคมคาดหวัง แต่ก็เป็นเธอที่ตัดสินใจก้าวเดินออกมาเอง

จริงเนอะ…ความท้าทายปนความเท่ในชีวิต ส่วนหนึ่ง-อาจคือการประคองความหวานหอมที่อยู่ในจินตนาการ ลุยเริ่มความสัมพันธ์กับใครคนใหม่ได้ด้วยความรักจริงใจ แต่ก็ขีดเส้นชัดเจนว่า ความทรงจำที่เคยเกิดขึ้น เป็นจริง และเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของฉันกับใครอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคนตรงหน้าอยู่ดี

ประโยคที่ยกมาข้างต้น คือคำพูดของท่านผู้กำกับฯ บนเวที ‘Movie + Talk: From Bangkok to Mandalay’ งานจัดฉายหนังของ Documentary Club ในเย็นวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559

สารภาพตามตรงว่าตอนที่ดูหนังจบ เราส่งเมสเสจหาเพื่อนไปว่า

‘หนังน้ำเน่าแบบป๊อปเวอร์ แต่ฉันหลงรักพระเอกพม่า -นายโมนาย (ไซ ไซ คำ แลง)- เข้าไปเต็มเปา’

สิบห้านาทีต่อมา ผู้กำกับภาพยนตร์, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชน และลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นเวทีแล้วสาวเอาความหมายที่ (ต้อง) ซ่อนอยู่ของหนังออกมา

ทั้งการสร้าง ‘ธูซา’ จากเค้าโครงของ ‘สาย สีมา’ ในนิยายเรื่องปีศาจเสนีย์ เสาวพงศ์, การส่งสารอย่าง ‘พม่าเขาไปถึงไหนแล้ว ขณะที่คนไทยยังมองเขาเป็นข้าศึกอยู่’, การเลี่ยงประเด็นทางการเมืองโดยใช้ความเป็น popular culture ของตัวหนัง

ขณะที่นักประวัติศาสตร์อย่างลลิตา ก็อัดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (ที่เธอบอกว่า..เล่าไว้เพื่อเพิ่มระดับความฟิน) ทั้งความศิวิไลซ์สมัยเก่าของพม่า การเมืองในเพลงแรพ พม่าไม่ได้มองไทยเป็นศัตรู แต่มองอิสลามเป็น

ตบท้ายด้วยความเห็นจากผู้สร้างหนังเรื่องนี้ว่า

“กูลาแล้ววงการหนังไทย”

ภาพ: Documentary Club

 

ธูซา กับ สาย สีมา เธอช่างเหมือนกันราวถูกจัดสร้าง

“ฉากบนโต๊ะอาหาร คือการคารวะ สาย สีมา คารวะ เสนีย์ เสาวพงศ์”

ฉากนี้แหละ ที่ว่าน้ำเน่าสุดฤทธิ์ แต่ช่างชวนร้องไห้ เจ็บใจ อับอาย จนอยากร้องกรี๊ดใส่โชคชะตา โดยเฉพาะฉากที่ธูซา ถูกเรียกมาเชือดจากศักดินาสูงศักดิ์ หากเธอสาดคำพูดกลับสีหน้าและน้ำเสียงที่หยิ่งทระนงว่า

“ปีศาจของกาลเวลา ศักดิ์ศรีจะฆ่าคุณเอง”

ธูซา (เช่นเดียวกับ สาย สีมา) เดินออกไป เสียใจแต่ก็รักตัวเอง

จากนั้นเริ่มมีการต่อสู้บนเวที เพราะศิโรตม์พยายามส่งคำถามว่า ‘คุณซ่อนประเด็นทางการเมืองที่ร้อนฉ่า ไว้ใต้ความป๊อปของหนังใช่หรือไม่ ที่ต้องถามยิ่งกว่า คือคุณซ่อนมันไว้อย่างมิดชิดรอดพ้นสายตากองเซ็นเซอร์พม่า และคนดูหนังไทย (จำนวนหนึ่ง) ได้อย่างไร’

“ผมค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์เดือนตุลาฯ และความรักชาติที่เกิดจากการลากเส้นพรมแดน” – ผู้กำกับฯ

คำถามบนเวทียังส่งให้ผู้กำกับฯ บอกเล่าทิศทางการทำหนังในพม่าขณะนี้ว่า ‘เฟื่องฟู’ อย่างร้ายกาจ ฐานคนดูหลากหลาย และทั้งความคึกคักของผู้ลงทุน แต่แน่นอน กองเซ็นเซอร์ยังคงทำงานอย่างหนัก ทั้งบทและการส่งสปายเข้ามาในกอง

ซ่อนยังไงให้ไม่มิด

หันไปถามนักวิชาการประวัติศาสตร์ ลลิตาเริ่มบรรเลงด้วยการตั้งคำถามถึงความสดใสด้านแฟชั่น และความศิวิไลซ์อย่างตะวันตกในฉากหนัง ซึ่งคนไทยที่ดูอาจตั้งข้อสงสัยไปว่า

“พม่าเคยมีอย่างนี้ด้วยหรือนี่”

เคยมี และเคยมีในสมัยยุค นายพลเน วิน เสียด้วย

– 1947 สิบเอ็ดเดือนก่อนพม่าได้รับเอกราช นายพลออง ซาน ถูกฆ่า
– 1948 พม่าได้รับเอกราช
– 1948 – 1958 พม่าปกครองด้วยรัฐมนตรีพลเมือง นำโดย อู นุ
– 1958 เน วิน ทำการรัฐประหารเงียบๆ
– 1960-1962 อู นุ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีพม่า
– 1962 เน วิน ทำรัฐประหารอีกครั้ง
– 2011  ริเริ่มการเปิดเสรีและปฏิรูปการเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

“นายพลออง ซาน ถูกฆ่าในปี 1947 จากนั้น นายอู นุ คนสนิทของ ออง ซาน ก็ได้ขึ้นเป็นผู้นำพม่า แต่นับแต่นั้น กองทัพพม่าก็ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับกองทัพพลเรือน อ่ะ…ไม่รู้กันละสิ”

ลลิตาเล่าว่า จริงๆ แล้วครั้งที่ นายพลเน วิน เป็นผู้นำประเทศในปี 1958 ช่วงนั้นประเทศพม่าเป็นอย่างฉากในหนัง คือแต่งตัวอย่างตะวันตกสวยงาม เวลาว่างผู้คนไปเต้นลีลาศ ใช้ชีวิตและกินอยู่ไม่ต่างจากตะวันตก นายพลเน วิน ขณะนั้นนิยมความเป็นสมัยใหม่มาก

หากในปี 1962 นายพลเน วิน รัฐประหารอีกครั้ง แล้วหลังจากนั้นประเทศพม่าก็มุ่งสู่การปิดประเทศ อันจะเห็นได้จากฉากที่บาทหลวง (ศิโรตม์ใช้คำว่า ‘กลุ่มผู้มีความรู้’) กระทั่งธูซาต้องนั่งรถไฟออกนอกประเทศ

ลลิตาเล่าต่อไป ด้วยการยกตัวอย่างเพลงป๊อปของพม่าว่า

“ต้องเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการใช้ชีวิตในพม่า มันคือการเมืองทั้งหมด ชัดเจนมากในบทเพลง เคยมาแล้วที่นักร้องแรพเพอร์ กลายเป็นนักการเมืองยอดนิยมในที่สุด”

เหมือนกันกับเหตุผลว่า ‘ทำไมประเด็นการเมืองหนักๆ แบบนี้ จึงหลบซ่อนจากสายตากองเซ็นเซอร์ได้มิดชิด’

เพราะรัฐฟังแล้วไม่เข้าใจ เหมือนกับ ปีศาจ ที่ถ้าคนไม่ได้มีแนวคิดเบื้องหลังมาก่อน ก็จะไม่เข้าใจสารลึกๆ ที่ผู้แต่งงัดมาเสนอ เขาจะเจอเพียงความป๊อป ความสนุกตามธรรมชาติของหนังเท่านั้น”

กูลาแล้ว วงการหนังไทย

ก่อนวันจัดฉาย หนังเรื่องนี้โด่งดังด้วยข้อสังเกตว่า “นี่เป็นหนังไทยหรือเปล่า?” ทั้งหนังยังถูกถอดจากโรงอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผลทางการตลาด

“เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องโด่งดังเป็นพลุแตก และกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากชวนดู ก็คือแรงงานพม่าในไทย แต่ข้อเท็จจริงพบว่า คนพม่าไม่กล้าออกมา ทั้งๆ ที่เขาอาจมีบัตรอย่างถูกกฎหมาย แรงงานทำงานหกวันต่อสัปดาห์ เวลาว่างที่เหลือเขาเพียงอยากพักผ่อนและตั้งวงคุย

และอีกข้อสังเกตที่คิดว่าเป็นจริง คือเขาทำงานได้เงินวันละ 300 บาท แต่หนังในวันเสาร์-อาทิตย์ที่นั่งละเกือบ 200 บาท มันไม่สมจริงใช่ไหมที่จะเอามาซื้อตั๋วดูหนัง

ต่างกับที่พม่า หนังเรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะนักแสดงนำสามคนในเรื่องเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในประเทศพม่า แต่ในความเห็นของชาติชาย เขาว่าส่วนหนังเป็นเพราะฐานคนดูหลากหลาย เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่

ไม่เหมือนคนไทย ที่ถูกสปอยล์ (spoiled) ให้มีความชอบเพียงหนังบางประเภท ฐานคนดูจึงเริ่มหลุดหายตายจากไป

นาทีนี้ศิโรตม์กล่าวว่า “หนังอินดี้ก็ไม่มีคนดู หนังดีก็ถูกเซ็นเซอร์ แถมหนังป๊อปประเด็นยาก ที่ซ่อนแล้วซ่อนอีก ก็ยังไม่มีคนดู ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการหนังบ้านเรา”

“คือกูลาแล้ว วงการหนังไทย” – ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘From Bangkok to Mandalay’ ถึงคน…ไม่คิดถึง

ฟังจนจบ เราส่งเมสเสจหาเพื่อนคนเดิมว่า “เออ ไม่ใช่แค่หนังน้ำเน่าแล้วแหละ”


***ความในใจของผู้เขียน: ประเด็นเล็กน้อยยังเหลือหล่นในเสวนาอีกเพียบ อยากชวนกดเข้าไปฟังรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ ในวันที่หนังจริงหาดูยากไปสักนิด

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า