พลาดหัวข่าว: ชีวิตที่คืนกลับมาหลังการลั่นกระสุนนัดนั้น

นี่คือหนึ่งในซีรี่ส์ ‘พลาดหัวข่าว’ ตั้งต้นงานวิจัยประเด็น ‘ผลกระทบของเด็กที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง’ บทความชิ้นแรกพูดถึงผลกระทบในเชิงวิชาการ และหลักการในการทำข่าวของสื่อมวลชน หากเรายังต้องการสะท้อนเสียงของผู้ที่ตกเป็นข่าว ทั้งผลกระทบในการใช้ชีวิตและเรื่องเล่าอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะมิติความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

บทสนทนาเหล่านี้เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า เด็กที่กระทำความผิด เป็นปีศาจ เป็นคนเลวโดยสันดาน หรือส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจากการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพของกระบวนการยุติธรรม การทำงานของสื่อมวลชนที่ร่วมกันประกอบสร้างความเป็นปีศาจให้ประทับร่างลงในตัวตนของเด็กที่ก้าวพลาด

บทสนทนาถัดจากนี้ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเรื่อง ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก ในวันที่พวกเขาพร้อมจะพูดคุยผ่านพื้นที่สาธารณะ และพร้อมจะบอกกล่าวกับทุกคนในสังคมนี้ว่า ปีศาจตนนั้นได้ดับสูญไปจากจิตวิญญาณของเขาแล้ว

ขีดเส้นใต้ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งว่า เจตจำนงของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มิได้ต้องการจะสนับสนุนว่า คดีความที่พวกเขาได้ก่อขึ้นนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง และปฏิเสธไม่ได้ว่าความสูญเสียที่เกิดกับเหยื่อและครอบครัวผู้เกี่ยวข้องมีอยู่จริง ไม่อาจมีสิ่งใดมาลดทอนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

หากเพียงอีกด้านหนึ่งในความรู้สึกส่วนลึกของผู้กระทำผิด พวกเขาเองก็ได้รับบาดแผลในใจเฉกเช่นกัน แม้ไม่อาจเทียบได้กับสิ่งที่พวกเขาทำ แต่อย่างน้อยบาดแผลนั้นก็บ่งบอกให้รู้ได้ว่า พวกเขายังคงมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวในตน และรอคอยการ ‘ให้อภัย’ จากสังคม


ตาล, 19 ปี

ชีวิตที่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนแรกผมเข้าไปอยู่สถานแรกรับที่นนทบุรีก่อน อยู่ได้เกือบ 10 เดือน เขาก็ให้ไปลงที่ ‘บ้านกรุณา’ จังหวัดสมุทรปราการ พออยู่ไปสัก 9 เดือน ถึงได้สมัครและย้ายมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ

ทุกๆ วัน เด็กในบ้านกาญจนาฯ ต้องดูข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดูจากทีวีที่บ้านพักและจากหนังสือพิมพ์ที่มาส่งทุกเช้า แล้วก็ต้องเอามาแชร์กัน มาแสดงความเห็นกันว่าเราคิดกับข่าวนั้นยังไง ส่วนกิจกรรมในห้องจะไม่เหมือนกัน ขึ้นกับวิชาเรียน แต่ที่เหมือนกันทุกวันคือช่วงบ่ายสามถึงสี่โมงเย็น คือจะมีการวิเคราะห์ข่าว ต้องทำทุกวันเลย พอเลิกกิจกรรมตอนสี่โมงเย็นก็จะปล่อยให้ทำธุระส่วนตัว

เช่นวันพฤหัสบดีก็จะเป็นวันที่ได้ดูหนัง ป้าจะหาหนังมาให้ดู ในห้องดูหนังมีหนังเป็นพันๆ เรื่องเลย แต่ป้าจะดูมาก่อนแล้วแล้วก็ตั้งคำถามเอาไว้ว่า เรื่องนี้เขาต้องการจะสื่ออะไร อยากให้เราตั้งใจดูตอนช่วงไหน แล้วก็เอามาวิเคราะห์กันต่อ

ธุระส่วนตัวหลังสี่โมงเย็นทำอะไรกันบ้าง

คือหลังสี่โมงเป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะทำอะไรก็ได้ เขามีสนามฟุตบอล ห้องสมุด โต๊ะสนุ๊ก ห้องดูหนัง หรือไปทำอะไรส่วนตัวก็ได้ บางคนซักผ้า บางคนก็เล่นกีตาร์ แล้วต้องทำทุกอย่างให้เสร็จก่อนสามทุ่มครึ่ง เพราะหลังจากนั้นทุกคนต้องเข้าบ้าน แต่เขาไม่ได้บังคับว่าต้องนอน ถ้านอนไม่หลับก็ดูทีวี หรือไม่ก็เล่นกีตาร์ คืออยู่ที่บ้านยังไงก็ทำยังงั้น

ทำไมถึงสมัครเข้ามาอยู่บ้านกาญจนาฯ

จริงๆ ผมไม่รู้อะไรเลย ปกติเขาจะเปิดรับสมัคร 2 เดือนครั้ง รู้แค่ว่าที่นี่สบาย แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยที่ผมมา แต่ผมมาเพราะว่าอยู่ใกล้บ้าน เพราะก่อนหน้านี้พ่อผมต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปเยี่ยมที่บ้านกรุณา สมุทรปราการ แต่บ้านกาญจนาฯ จะใกล้บ้านผมมากกว่า ถึงจะได้กลับบ้านเดือนละแค่ 3 วัน แต่ก็โอเคกว่ามาก เพราะพ่อมาเยี่ยมได้บ่อยๆ

ความเป็นอยู่แตกต่างกันไหม

เยอะครับ ที่อื่นเขาจะใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก เจ้าหน้าที่กับเด็ก หรือว่าเด็กกับเด็กเอง ทุกอย่างเขาขีดไว้หมดแล้ว เราเดินตามแค่นั้นพอ

ที่อื่นๆ เขาก็ให้เรียนวิชาชีพ แต่ก็ไม่ได้เรียนหรอก รอระฆังกินข้าว เสร็จปุ๊บก็เข้าไปนอน รอสัญญาณอาบน้ำ รอสัญญาณตรวจเช็คร่างกายก่อนขึ้นหอนอน ส่วนความรุนแรงมันก็มีอยู่แล้ว เด็กกับเด็ก แบ่งบ้านกัน ต้องมีคนคุมบ้าน เขาจะเรียกว่าหัวบ้าน แต่เป็นเด็กด้วยกันเอง เป็นขาใหญ่ อะไรประมาณนี้

เวลาอยู่ที่บ้านนั้น แล้วต้องเจอกับคนที่ใช้อำนาจ รู้สึกยังไง

รู้สึกแย่ครับ แต่ทำอะไรไม่ได้ เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ไม่เข้าก็อยู่ไม่ได้ แต่พอย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่แรกๆ ผมยังงงเลย ตอนที่ปล่อยกิจกรรม ผมไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ เพราะที่นู่น เวลาจะทำอะไรเขาจะขีดไว้หมดแล้ว แต่ที่นี่เขาคืนความเป็นตัวของเราให้เรา มาแรกๆ ผมก็งง ตอนนี้รู้แล้วว่าหน้าที่ของเราต้องทำอะไรบ้าง แบ่งเวลาถูก ทำอะไรถูก

เรื่องที่ประทับใจที่สุดในบ้านกาญจนาฯ คืออะไร

เขาคืนทุกอย่างให้กับผม มีกิจกรรมให้ออกข้างนอก ไม่ใช่มีแต่กิจกรรมในสี่เหลี่ยม ผมชอบกิจกรรมจิตอาสา และการได้ออกไปเพิ่มต้นทุนให้กับชีวิต การได้ออกไปช่วยงาน ได้เพื่อนใหม่ ได้เจอสังคมใหม่ๆ ไม่มีความรุนแรง ได้รู้ว่าสังคมมีอีกด้าน ส่วนงานที่ผ่านมาที่ชอบคือ TedXBangkok ผมก็ได้ไปเป็นปีแรก ได้ฟังอะไรดีๆ และเป็นแรงบันดาลใจเยอะเลย

เหมือนเขาทำให้เราโตขึ้น ผมไม่รู้ว่าถ้าผมยังอยู่ที่เดิม ผมจะเป็นยังไง อยู่ที่เดิมผมได้กลับบ้าน 7 วันก็จริง แต่กลับไปผมไม่มีความคิดอะไรเลย กลับไปก็อยู่ไปวันๆ แต่อยู่ที่นี่ ถึงจะได้กลับไม่บ่อย ได้แค่ 3 วัน แต่เป็น 3 วันที่ผมรู้สึกเลยว่า เวลามีค่า

เคยคิดหนีไหม เพราะดูเหมือนหนีได้ง่ายมาก

ไม่เลยครับ เพราะพ่อผมขอไว้ พอพ่อได้มาเห็นบ้านหลังนี้ เขาสบายใจ เขาโอเค เขาบอกว่า อย่าหนีนะ ถึงจะมีปัญหายังไง ขออย่างเดียว อย่าหนี ผมก็คิดว่า ผมก็โตแล้ว คงไม่ทำอย่างนั้นหรอก ถ้าหนีไป ผลกระทบมันเยอะ

กลับบ้านไปทำอะไรบ้าง

ยังมีเพื่อนเก่าๆ มาหาบ้าง เพราะยังไงเราก็ยังอยู่ที่เดิม ยังไงก็ต้องเจอกัน แต่เราก็โตขึ้นแล้ว ความคิดเราโตขึ้น และมันก็ไม่คุ้ม เพราะเราได้กลับไปแค่ไปเยี่ยมบ้าน ไม่ได้มีอิสระเต็มตัว ยังไงเราต้องรักษาโอกาสไว้ก่อน และเอาจริงๆ เขาก็ไม่ได้ชวนไปตีรันฟันแทงทุกวัน เขาก็ถามแค่ว่า สบายดีมั้ย นู่นนี่นั่นมั้ย เต็มที่ก็ซื้อเบียร์มานั่งกินกัน ชวนกันคุยมากกว่า เพราะเพื่อนๆ ผมก็ทำงานกันหมดแล้ว เขาก็ต้องแบ่งเวลาทำงาน เย็นๆ ก็มาเจอกัน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ไม่ค่อยเอาอะไรเลย

ถ้าวันหนึ่งที่ได้กลับออกไป แล้วต้องเจอกับสถานการณ์เดิม ปัญหาเดิม จะรับมือกับมันยังไง

ที่นี่เขาจะมีกิจกรรมกลุ่ม เขาเรียกกลุ่ม empower คือการปรับความเข้าใจกับคนในครอบครัวเรา เพราะเราไม่ได้อยู่ที่นี่ตลอดชีวิต สักวันเราต้องกลับไปยังครอบครัว เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้เปิดใจคุยกัน ความเข้าใจกับคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เราก็ปรับความเข้าใจกัน เมื่อก่อนเราเองไม่คุยกับพ่อ โดนพ่อด่าก็เดินหนี แต่เดี๋ยวนี้เราพูดคุยกับเขามากขึ้น

แต่ก่อนเขาดุครับ เพราะเรากับเขาไม่เข้าใจกัน แต่พอโตมาเขาก็ไม่ได้ตีเหมือนตอนเด็กๆ กลายเป็นว่าเริ่มมาสนิทกัน คนอื่นเห็นเขายังนึกว่าเราเป็นพี่น้องกัน (หัวเราะ) คุยเล่นกันเหมือนพี่น้อง แต่จริงๆ เป็นพ่อลูก

เพื่อนข้างบ้านหรือคนที่เห็นเราในข่าวหน้า 1 เขายังคิดกับเราเหมือนเดิมไหม

อันนี้ผมก็เคยได้ยิน แต่ไม่ใช่เพื่อนข้างบ้าน เพราะคนแถวบ้านเขารู้อยู่แล้วว่าผมไม่ใช่คนที่เลวร้ายอะไร ผมไม่เคยไปหาเรื่องใครก่อนเลย

ผมเคยได้ยินบ้างเวลาขี่รถแถวบ้านแล้วไปเจอพวกวัยรุ่นบอกว่า เฮ้ย… มันออกมาแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ไปสร้างปัญหาหรือทำนักเลงใส่ใคร เราก็วางตัวเหมือนเดิม เขาอาจจะคิดว่าเราเหมือนเดิม แต่จริงๆ เขาก็ไม่ได้มาใส่ใจกับชีวิตเรามากมาย มันอยู่ที่เราว่าจะทำตัวอะไรยังไง

กังวลไหมถ้าวันหนึ่งบังเอิญกับไปเจอกับญาติของผู้เสียชีวิต

ไม่ได้กังวล แต่รู้สึกผิดมากกว่า เพราะคนที่เสียชีวิต เขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย เขาโดนลูกหลง แต่ถ้าเจอหน้ากันจริงๆ ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดกับเขายังไง กลัวว่าถ้าเข้าไปขอโทษเขาแล้วจะกลายเป็นรื้อฟื้น

ในกิจกรรมวันสันติภาพโลก บ้านกาญจนาฯ จัดงานเพื่อให้เราได้ทำพิธีขอขมาเหยื่อ แต่เหยื่อไม่ได้มาอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ เขาเสียชีวิตไปแล้ว เราไม่รู้จะไปขอขมาเขายังไง แต่เราได้เขียนขอขมา เราสำนึกผิด ขอเริ่มต้นใหม่

ย้อนกลับไปยังวันที่เกิดเหตุ รู้ไหมว่าตัวเองตกเป็นข่าวหน้า 1 แล้ว

รู้ครับ มีคนโทรบอกว่าออกข่าวนะ จริงๆ คุยกับพ่อก่อนจะมามอบตัว พ่อบอกให้กลับมา บอกว่าเป็นข่าวนะ เขาตามจับอยู่ หนีได้ประมาณ 5 วัน ตั้งใจจะกลับมามอบแต่ยังรวมตัวกับเพื่อนไม่เสร็จ ตอนนั้นยังนั่งดูข่าวตัวเองอยู่เลย แต่เป็นข่าวในอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ทีวี เพราะที่ห้องเช่าไม่มีทีวีดู

วันแรกที่รู้ว่ามีคนตาย ผมก็รู้สึกแย่ และยิ่งมารู้ทีหลังว่าคนตายเป็นผู้หญิง ผมจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเลย ใจสั่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรเหมือนกัน

คือเราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เขาตาย?

ถามว่าตั้งใจมั้ย ผมตั้งใจยิงจริงๆ ครับ แต่ไม่ได้ตั้งใจยิงคนนั้น ตั้งใจยิงคนที่มาหาเรื่องผมมากกว่า แต่เขาหลบทัน กระสุนเลยพลาดไปโดนคนนั้น ถ้ามีโอกาสผมก็อยากขอขมาเขา

ติดตามซีรีส์ ‘พลาดหัวข่าว’ อื่นๆ ที่
พลาดหัวข่าว: โรงละครในข่าวรายวัน กับผลกระทบที่ไม่จบแค่หน้าจอ
พลาดหัวข่าว: คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง (1)
พลาดหัวข่าว: คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง (2)
พลาดหัวข่าว: คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง (3)

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า