ขยะวิทยา

freegan 2

 

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

 

กรุงเทพฯคือเมืองที่สามารถกินได้ 24 ชั่วโมง แต่ในเมืองเดียวกันนี้คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้

วุฒิเกียรติ ศรีบุญไทย ใช้ชีวิตหลับนอนอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน มื้อเช้าของเขาคืออาหารก้นบาตรวัดละแวกนั้น เขาช่วยพระสงฆ์ชราหิ้วข้าวปลาอาหารของญาติโยมยามเดินบิณฑบาต กลับมากวาดลานวัดในช่วงสาย แลกกับข้าวมื้อเช้าและเก็บตุนไว้มื้อเที่ยง ส่วนมื้อเย็นนั้น เขาบอกว่า “ไม่เน้น”

นี่คือวิถีการกินของชีวิตในที่สาธารณะที่ ‘อยู่ตัวแล้ว’ ของวุฒิเกียรติ

แต่วิถีการกินของคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะส่วนใหญ่อาจแตกต่างในรายละเอียด ข้อเท็จจริงก็คือพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เหมือนคนกรุงเทพฯจำนวนมาก และไม่มีแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในฐานะประชากรของประเทศไทย

แหล่งอาหารของคนกลุ่มนี้ คือ วัด และถังขยะ

คนไร้บ้านหรือคนใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยข้าวก้นบาตร ในวัดเขตพระนครอย่างวัดสุทัศน์ฯ วัดมหาธาตุฯ วัดบวรฯ ขณะที่คนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตย่านสถานีขนส่งหมอชิตจะอาศัยวัดไผ่ตันพวกเขาต้องแบ่งอาหารมื้อเช้าตุนไว้เผื่อมื้อกลางวันด้วย แต่สูตรนี้ใช้ไม่ได้ในในฤดูร้อน เพราะอาหารที่เก็บตุนไว้จะเริ่มส่งกลิ่น หากไม่รีบบริโภคก่อนเที่ยง

ข้อมูลใหม่ที่ได้รับก็คือ แหล่งอาหารอย่างวัดดังกล่าวปรับนโยบายใหม่ หลังจากจีวร บาตร รองเท้าภายในวัดหายบ่อยหน วัดหลายแห่งไม่อนุญาตให้คนไร้บ้านเข้าไปรับอาหารได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องผ่านระบบตัวแทน นั่นคือ เด็กวัดหรือลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดพระภายในวัด พวกเขาเหมาซื้อข้าวก้นบาตรหรือได้รับด้วยความสิเน่หาก็ตามแต่ แล้วจึงนำมาขายต่อให้คนไร้บ้านในราคาถูก

จำเป็นต้องมองอย่างเข้าใจ คนไร้บ้านมีทั้งซื่อสัตย์สุจริตและคดเคี้ยวเล่ห์ร้อยแปด

สภาสังคมสงเคราะห์ คือแหล่งอาหารมื้อเที่ยงของพวกเขา แต่หยุดบริจาคอาหารในวันเสาร์-อาทิตย์ ย่านพาหุรัดจะมีโบสถ์ซิกข์บริจาคอาหารกลางวัน แต่คนไร้บ้านบางคนบอกว่า “แม้รสชาติอาหารจะไม่คุ้นลิ้น แต่ก็สามารถประทังชีวิตอยู่ได้”

ขณะที่มูลนิธิหลายแห่งใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในมิติต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ การบริจาคอาหารจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้อย่างไร แต่การให้พวกเขาอิ่มหนึ่งมื้อ และรับข้อมูลปัญหามาแก้ไขระยะยาว ก็ทำให้มองไม่เห็นว่าจะมีวิธีไหนดีไปกว่านี้อีก

“ผมจำวันแรกที่คุ้ยถังขยะได้ จำได้ว่ามันเป็นข้าวแกงที่เหลือข้าวครึ่งกล่อง เป็นวันที่ผมหิวอย่างบัดซบ และท้อแท้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” วุฒิเกียรติบอกให้ฟัง

ขี้เกียจ ไม่ทำงาน ฯลฯ เป็นเหตุผลของการไม่สามารถเข้าถึงอาหารหรือไม่ แต่อย่าลืมคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ ไม่มีสิทธิ์รักษาพยายาบาล ไม่มีบัตรประชาชน งานก็ไม่มั่นคง และมักจะถูกเอาเปรียบ

ปัญหาครอบครัวทำให้พวกเขาบางคนไม่อยากกลับบ้าน คนไร้บ้านทุกคนเคยมีบ้านมาก่อน และไม่ใช่ว่าบ้านจะถีบพวกเขาส่ง บางกรณีพวกเขาเลือกที่จะเดินจากบ้านมา เมื่อการกลับบ้านเป็นสิ่งปวดใจ เอกสารในการทำบัตรประชาชน บัตรเบื้องต้นของสิทธิพื้นฐานต่างๆ จึงเป็นไปได้ยาก

Garbology มาจากคำว่า ‘Garbage’ และ ‘Archaeology’ เป็นแนวทางการศึกษาเพื่ออธิบายถึงวัฒนธรรมหรือสังคมปัจจุบันผ่านกองขยะที่มีอยู่

ร้อยละ 64 ของจำนวนขยะ คืออาหารเหลือทิ้ง เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอย 9,000 ตันต่อวัน ปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 534.8 กิโลกรัม/คน/ปี กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับสี่ จาก 22 เมืองใหญ่ในทวีปเอเชีย อาหารที่เหลือทิ้งในกรุงเทพมหานครมีปริมาณร้อยละ 34.2 ของขยะทั้งหมด

ขยะอาหารเกิดในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผักและผลไม้ร้อยละ 15-50 และธัญพืชร้อยละ 12-37 ที่เพาะปลูกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้สูญเสียไประหว่างเส้นทางจากฟาร์มสู่ตลาด

กฎกติกาเรื่องความปลอดภัยในอาหารทำให้อาหารในร้านสะดวกซื้อเหลือทิ้งวันละร้อยละ 30 แต่ข้อเท็จจริงทางโภชนาการก็คือ อาหารที่แช่เย็นเหล่านั้นสามารถกินได้อีกห้าถึงเจ็ดวัน

ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารส่วนหนึ่งในยุโรป นำอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ไปทิ้งถังขยะหากขายไม่หมด เพียงเพราะเหตุผลทางการตลาด เพราะถ้านำไปบริจาค พวกเขาเกรงว่าคนจะรอรับบริจาคจนซื้อสินค้าน้อยลง พนักงานจะแกะห่อหรือกล่องเพื่อให้อาหารสกปรก เพราะเกรงว่าคนคุ้ยขยะจะนำไปกิน

freegan 1

หลายประเทศจึงมีนโยบายขยะอาหารหรือลดอาหารที่ถูกทิ้ง Loblaws ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในแคนาดาขายผักผลไม้ไม่สวยในราคาพิเศษ เป้าหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง โดยเริ่มต้นที่พืชผลหลักสำหรับทำซุป คือ แอปเปิลและมันฝรั่ง พืชผักเหล่านี้รูปร่างไม่สวย ตั้งราคาขายต่อผลสูงสุดไม่เกิน 30 เซนต์ในร้าน Loblaws ที่เมืองออนทาริโอและควิเบก บริษัทหวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยให้ยอดขายผักผลไม้ขี้เหร่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดในอนาคต

การบริจาคอาหารที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในกลุ่ม NGO อาทิ Feeding Hong Kong ธนาคารอาหารที่เน้นการแจกจ่ายอาหารส่วนเกินกลับสู่ประชาชนที่หิวโหย ผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ซูเปอร์มาร์เก็ตรวมทั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีการลดราคาอาหารใกล้หมดอายุ ห้างค้าปลีกแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า การรักษามาตรฐานความสดของอาหารทำให้ทางห้างมีการกำหนดระยะเวลาวางสินค้า อาหารทะเลจะมีระยะเวลาวางบนชั้น 48 ชั่วโมง เนื้อสัตว์และผักสามวัน

แน่นอนว่า อาหารเหล่านี้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการวางของห้างไปแล้วก็ยังสามารถบริโภคได้  แต่ด้วยการสร้างมาตรฐานความสดของอาหาร ทางห้างจึงต้องทิ้ง จำนวนอาหารที่เหลือทิ้งจะถูกควบคุมไว้ที่ร้อยละสามของยอดขาย

หาก ‘แพ็คเกจฟู้ด’ ในห้างค้าปลีกดังกล่าวถึงวาระลงจากชั้นวางสินค้า (ทั้งๆ ที่ยังบริโภคได้) วิธีการจัดการก็คือนำไปสับทิ้ง อาหารเหล่านั้นจะเข้าสู่การจัดการขยะของกรุงเทพมหานครเหมือนขยะชิ้นอื่นๆ ต่อไป

“เราสับทิ้ง เพราะหากดำเนินมาตรการอื่น เราเกรงว่าจะเกิดการทุจริตในหมู่พนักงาน” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งให้ข้อมูล

ในประเทศไทย คนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันและได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ทำกิจกรรมลดจำนวนอาหารที่เหลือทิ้งจากตลาดค้าผักขนาดใหญ่ พวกเขาไปเก็บผักที่ถูกทิ้งแล้วนำไปปรุงก่อนที่จะแจกจ่ายยังคนไร้บ้าน

พวกเขาบอกว่า อยากเข้าไปติดต่อบรรดาห้างซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สามสี่แห่ง เพราะเห็นว่าอาหารที่เหลือทิ้งนั้นน่าจะพอนำมาเลี้ยงปากท้องพี่น้องคนไร้บ้านของพวกเขาได้ แต่พวกเขาไม่รู้จะเข้าไปติดต่อกับใคร และเนื้อตัวพวกเขาก็มอมแมม

พวกเขาจึงเลือกวิธีเก็บผักที่ตลาดค้าผักแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้บอกกล่าวอะไรใครมากมายนัก ถ้ามีคนมาถามก็ตอบไปตามจริง แล้วนำไปแบ่งปันยังคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ เหมือนวิถีชีวิตของ Freegan

Freegan คุ้ยหาอาหารในถังขยะซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาและยุโรปแล้วนำกลับมาปรุงเพื่อบริโภค มองเผินๆ คนสองกลุ่มนี้มีวิถีการกินคล้ายกัน พวกเขากินอาหารที่ล้นเกินในระบบการบริโภคเหมือนกัน แต่กลุ่มแรกนั้นเลือกที่จะบริโภคด้วยแรงขับดันแบบนักต่อต้านการบริโภคที่ล้นเกิน แต่คนไร้บ้านในกรุงเทพฯเลือกไม่ได้

นอกจากยามพบเจออาหารในถังขยะสีเขียวของ กทม. (ถ้าเราแยกขยะทิ้งกันถูกถัง) วินาทีนั้นพวกเขามีสิทธิ์เลือกว่าจะกินหรือไม่กิน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
Posttoday.com
ชุดบทความ ‘อาหารที่ถูกทิ้ง’ (Food Waste) โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

……………………………………….

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Food Republic นิตยสาร Way ฉบับ84, เมษายน 2558)

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า